xs
xsm
sm
md
lg

สสส. – ชีวามิตร จัดเสวนาปักหมุดนโยบาย Palliative Care เข้าใจวิถี “อยู่ดี” และ “ตายดี” ด้าน ผอ.รพ.จุฬาฯ ชี้ หลักสูตรดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ต้องเป็นวิชาบังคับนักศึกษาแพทย์ ลดขัดแย้ง ญาติ – ครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 ที่ หอประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จัดเสวนานโยบาย “ปักหมุด Palliative Care ใน กทม.” แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะปัญหา และแนะนำการขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับทุกช่วงเวลาของชีวิต 
พญ. วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญและเห็นความจำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ในการช่วยบรรเทาความทุกข์ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและครอบครัว ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในวันสุดท้าย และกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อการจับระบบบริการการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยทุกกลุ่มซึ่งเป็นผู้ป่วยระยะท้าย มีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะฟื้นฟู ผู้ป่วยแบบประคับประคอง และจัดทำ Sand Box ขึ้นแล้วสองแห่ง คือ ราชพิพัฒน์โมเดล (โรงพยาบาลราชพิพัฒน์) ดุสิตโมเดล (โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หรือมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) และมีแผนที่จะขยายผลทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

“วันนี้กรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ขึ้น เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคอง ที่จะรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้มากขึ้น รวมถึงใช้เทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยการติดตามผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine และมีระบบ Tele-Consult ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบขนส่งสาธารณสุข และสร้างระบบดูแลแบบครบวงจร เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการดูแลแบบประคับประคองได้สะดวกขึ้นและทั่วถึงขึ้น โดยมีแผนจะผลักดันผ่าน Service Plan ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีความเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ประชาชนในกรุงเทพมหานครจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในเมืองใหญ่ มีความท้าทายในปัจจุบัน เพราะบริบทใน กทม. ประชาชนมีสิทธิการรักษาซับซ้อนและหลายรูปแบบ ปัจจัยสำคัญคือ การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้นจนจบ เน้นการเข้าถึงชุมชนและบ้าน ที่ต้องมีสถานบริการสาธารณสุข หรือ Primary Care เป็นหน่วยงานหลัก แต่ใน กทม. ยังมีไม่ครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จึงเสนอให้สร้างเครือข่ายในชุมชน และเสริมกำลังให้ผู้ป่วยระยะท้าย 
ได้รับการดูแลแบบประคับประคองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากครอบครัวและชุมชน และผลักดันให้เกิดการวางโครงสร้างที่เหมาะสมรองรับกับสถานการณ์นี้ เช่น สร้างโรงพยาบาล หรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ 
“การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จะต้องอาศัยความรู้ของประชาชน งานวิชาการ และแพทย์เฉพาะโรคนั้นๆ โดยต้องวางระเบียบ กฎหมาย งบประมาณ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเหมาะสม หลักการสำคัญคือ ต้องบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรภาคบังคับของนักศึกษาแพทย์ ให้ได้เรียนรู้และเห็นแนวทางปฏิบัติว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าการดูแล ที่ให้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามสิทธิผู้ป่วย และต้องทำให้สังคมเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหน้าที่ของทุกคน” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพของ กทม. ยังไม่มีรูปแบบโซนนิ่งการส่งต่อ หรือเครือข่ายชัดเจนเหมือนต่างจังหวัด ทำให้การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะท้าย และการให้ยามอร์ฟีนยังไม่แข็งแรงพอ ที่จะนำไปใช้กับคนไข้ที่บ้าน รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมใน กทม. เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่เหมือนต่างจังหวัด ที่อยู่กันแบบเครือญาติ การจะทำให้ Palliative Care เกิดขึ้นใน กทม. ได้ ควรทำโซนนิ่งให้โรงพยาบาลเป็นแม่ข่าย หรือให้ศูนย์สาธารณสุขแต่ละพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน วางระบบยาให้คนไข้เข้าถึง และเติมความรู้ให้ศูนย์สาธารณสุขที่ทำหน้าที่เยี่ยมบ้าน เช่น การใช้ยามอร์ฟีน การจัดการอาการปวด การดูแลคนไข้ใกล้เสียชีวิตให้อยู่สุขสบาย รวมถึงการใช้วิธีสื่อสารเพื่อดูแลคนไข้ระยะท้าย ให้รักษาตัวที่บ้านได้จนกว่าจะเสียชีวิต รวมถึงการมีสถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) ทำหน้าที่รับส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาล มาดูแลต่อจนกว่าเขาจะเสียชีวิต หากไม่สามารถดูแลและเสียชีวิตที่บ้านได้ 

พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ได้ริเริ่มระบบการดูแลแบบ Palliative Care เมื่อปี 2558 และได้ขยายแนวคิดไปสู่โรงพยาบาลอื่นๆ ในขณะที่กรุงเทพมหานครก็ได้ผลักดันระบบ Palliative Care จนเดินหน้ามาได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย ประกอบกับเวลานี้กรุงเทพมหานครได้เข้าสู่การเป็นเมืองผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว การขับเคลื่อนจึงยังต้องเดินหน้าต่อ

“นโยบาย Sand Box เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสุขภาพดี ของ ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ ซึ่งเรื่องสุขภาพดีนั้นเป็นภารกิจสำคัญของทีมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. ที่ต้องมีการปรับการบริหารจัดการให้แพทย์ไปถึงประชาชน และยกระดับการบริการปฐมภูมิให้ก้าวหน้า โดยมีราชพิพัฒน์โมเดลเป็น System Manager ดูแลพื้นที่ห้าเขต คือ บางแค ทวีวัฒนา หนองแขม ตลิ่งชัน และภาษีเจริญ มีศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เป็น Area Manager และปัจจุบัน ราชพิพัฒน์โมเดลได้พัฒนาไปสู่การตั้งศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง และศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

“นอกจากนโยบาย Sand Box จะนำเทคโนโลยีและระบบขนส่งสาธารณสุขเข้ามาใช้แล้ว ยังมีระบบอาสาสมัครเข้ามาเป็นส่วนเสริม เช่น อาสาสมัครคอนโด อาสาสมัครหมู่บ้านจัดสรร มีอาสาสมัครซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ทำให้การดูแลคนไข้แบบประคับประคองสามารถเข้าถึงเส้นเลือดฝอยของ กทม.ได้ และในอนาคตจะมีการขยายไปสู่โซนอื่นๆ ต่อไป” 

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะ
ทางปัญญา สสส. กล่าวว่า “คำว่า ‘เพื่อนตาย’ หมายถึงบุคคลที่แวดล้อมผู้ป่วย ในการช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นอาสาสมัคร ที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่มีจำกัด โดยมีหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการประคับประคองในชุมชน กทม. ได้ เพราะในสังคมกรุงเทพฯ อยู่กันเป็นปัจเจก การเข้าถึง Palliative Care จึงแตกต่างจากระบบในต่างจังหวัด 
“อย่างแรกคือการทำให้ผู้ป่วยตระหนักและเข้าใจการไม่ยื้อชีวิต เข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตจนถึงระยะท้าย รู้สิทธิ์ในการแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาตัวเองในช่วงสุดท้ายของชีวิต (หรือการทำ Living Will) สองคือ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการผลักดันนโยบาย Palliative Care อย่างเป็นระบบ และสามคือ ความร่วมมือของโรงพยาบาลในทุกสังกัด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ที่หลายโรงพยาบาลมีบริการการดูแลแบบประคับประคองแล้ว แต่จะออกแบบอย่างไรให้สามารถนำการดูแลนี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยทำพื้นที่นำร่องเหมือนในต่างจังหวัดที่มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน และอาสาสมัคร สร้างชุมชนเล็กๆ ที่จะดูแลกันเอง 
“สิ่งสำคัญคือ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีความเข้าใจในการสื่อสารกับครอบครัวผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเองได้รับรู้ว่าคุณภาพของชีวิตระยะท้ายไม่จำเป็นต้องจบที่โรงพยาบาล แต่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้หากมีความพร้อม ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” นางญาณี กล่าว

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า ได้สนับสนุนการเสริมทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการอยู่ดีและตายดี ให้กับบุคลากรสาธารณสุขและประชาชน อย่างโครงการห้องเรียนชีวิต “วิชาเพื่อนตาย” ที่จัดอบรมให้บุคลากรสาธารณสุขมาแล้ว 2 ปี โดยอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ เข้าใจเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่รักษาอย่างเดียว แต่การสื่อสารที่ดี จะช่วยลดความขัดแย้ง ข้อพิพาท หรือข้อข้องใจของผู้ป่วยและญาติ ที่อยู่ในวาระท้ายได้ 

“หาก Palliative Care ใน กทม. เกิดขึ้นจริง โดยมีศูนย์ดูแลในโรงพยาบาลหรือชุมชน ที่ร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลหรือองค์กรต่างๆ คนกลุ่มเปราะบางจะเข้าถึงเรื่องนี้ได้ และช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะท้าย เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ในมุมหนึ่ง หากทุกคนมีความเข้าใจ และร่วมกันขับเคลื่อน” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว 

ในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ดร.นพ. สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยคณะกรรมการและผู้บริหารของชีวามิตร ได้แก่ ปวีณา วิริยประไพกิจ และไรรัตน์ รังสิตพล รวมทั้งดารานักแสดงชั้นนำ “ตวง” สาวิกา กาญจนมาศ 
เข้าร่วมงาน 

ติดตามข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อการ “อยู่ดี” และ “ตายดี” จากชีวามิตร ได้ที่
Website: https://www.cheevamitr.com
Facebook: https://www.facebook.com/Cheevamitr
Line: @cheevamitr
Youtube: Cheevamitr Social Enterprise













กำลังโหลดความคิดเห็น