รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการเสวนานโยบาย ปักหมุด Palliative Care ในกทม. แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด สร้างความเข้าใจการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
วันนี้ (10 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการเสวนานโยบาย ปักหมุด Palliative Care ในกทม. เพื่อให้คนในกทม. เข้าใจการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
การดูแลแบบประคับประคองเป็นการดูแลที่กำลังทวีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นตามลำดับในสังคมโลก โดยมีเป้าหมายหลักของการดูแลเพื่อลดความทรมานของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้ครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ ได้แก่ การดูแลด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคมของผู้ป่วย จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบ ในแต่ละปีพบว่ามีผู้ป่วยต้องการการดูแลแบบประคับประคองมากถึง 40 ล้านคนทั่วโลก แต่มีเพียง 20 ประเทศทั่วโลก มีการดูแลแบบประคับประคองในระดับดีเยี่ยม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองร้อยละ 14 เท่านั้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดูแลแบบประคับประคองไม่ครอบคลุมตามความต้องการของประชาชนคือ การขาดความตระหนักเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในเชิงนโยบาย ผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชนขาดการวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลเสียที่ผู้ป่วยรวมถึงระบบสุขภาพควรจะได้รับ ตลอดจนวัฒนธรรมความเชื่อของสังคมที่เกี่ยวข้องกับความตาย
ในปีนี้ The Worldwide Hospice Palliative Care Alliance ได้ประกาศ The World Hospice and Palliative Care Day Theme “ Healing Hearts and Communities” เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 และภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ การเตรียมตัวในการวางแผนชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย จึงเปรียบเสมือนการได้รับวัคซีนในการตั้งรับต่อสถานการณ์การสูญเสียที่อาจจะเข้ามาในทุกช่วงชีวิตได้ วันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ภาคีเครือข่าย ได้แก่ บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดงาน ปักหมุด Palliative Care ใน กทม. เพื่อให้คนในกทม. เข้าใจการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ในส่วนกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับการจัดระบบบริการการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ในผู้ป่วยทุกกลุ่มโดยเน้นให้ทุกโรงพยาบาลมีบริการการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแบบผู้ป่วยนอก โดยบูรณาการร่วมกับคลินิกผู้สูงอายุคลินิกอายุรกรรม และบริการการดูแลแบบประคับประคองแบบผู้ป่วยใน โดยจัดให้มี Palliative Bed หรือ Palliative Ward ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ เพื่อวางแผนการดูแลรักษาร่วมกัน กรณีผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองต้องได้รับการดูแลแบบต่อเนื่องที่บ้าน สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยมีระบบการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยผ่านระบบ BMA Home Ward และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนไป การสูญเสียแบบกะทันหัน และการต้องเผชิญกับความตายอย่างโดดเดี่ยวส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้สูญเสียเป็นอย่างมาก กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของการสูญเสียดังกล่าว จึงได้ผลักดันให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้คณะทำงานขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะฟื้นฟู ผู้ป่วยแบบประคับประคอง และคณะทำงานขับเคลื่อน sand box ราชพิพัฒน์ model
โดยในปี 2565 กรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลแบบประคับประคองเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยการติดตามผ่านกล้อง มีระบบบริการโทรปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง และได้จัดระบบขนส่งสาธารณสุข เช่น รถฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการในโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญในการสร้างระบบการดูแลแบบประคับประคองให้ครบวงจร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายอย่างทั่วถึง และมีแผนขยายผลทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร โดยจะผลักดันในคณะกรรมการ Service Plan สาขาการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ เช่น สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมด้วย กรุงเทพมหานครเชื่อมั่นว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ประชาชนในกรุงเทพมหานครจะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองที่น่าอยู่ต่อไป
สำหรับการเสวนาในวันนี้มี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรื่องแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมการเสวนา ณ หอประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์