ว่ากันตามสัตย์ซื่อ ผู้เขียนชั่งใจอยู่นานกว่าจะลงมือเขียนเรื่องนี้ ครั้นสารตะโดยไตร่ตรองอย่างรอบด้านก็ตัดสินใจเขียนถึงโดยหวังเพียงว่าถ้า ‘ผู้ปกครอง’ ของเด็กสักคนบังเอิญผ่านมาอ่าน อาจได้ประโยชน์บ้าง
.
ชีวิตส่วนตัวของผู้เขียนไม่มีครอบครัว ทว่าตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ใช้ชีวิตมา(ไม่รวมช่วงวัยเด็ก) ผูกพันกับ ‘ลูกนอกไส้’ มาไม่ต่ำกว่าร้อยคน มีทั้งเด็กชาย เด็กหญิง มีทั้งเป็นลูกแท้ๆ ของครอบครัวยากจน พอมีพอกิน หรือกระทั่งกินใช้ไปจนตายก็ไม่น่าจะหมด
.
เด็กๆ ทุกคนส่วนใหญ่จะรู้จัก และอุ้ม รวมทั้งเวียนไปเล่นหัวด้วยตั้งแต่แบเบาะตราบจนชีวิตของพวกเขาเริ่มสู่มัธยมต้นก็ถึงเวลาคลายวงแขนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหญิงที่จบป. 4 แล้ว ผู้เขียนจะรักษาระยะห่าง เจอะเจอก็พูดคุย หยอกเย้าแต่ไม่แตะต้องเนื้อตัว
.
จนวันหนึ่งกลายเป็นส.ว. ‘ผู้สูงวัย’ จึงได้เห็นสังคมไทยยุคใหม่ที่พบเห็นคราวไหนก็ใจตกเมื่อนั้น
.
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นเด็กสมัยนี้ที่ว่ากันตามตรงยังเรียนไม่เกินประถมศึกษาปีที่ 6 จูงมือถือแขนกันราวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย เห็นคู่ไหน – คราวใด ให้ไพล่คิดถึงพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หากเขามาเห็นหรือล่วงรู้ว่าบุตรหลานไม่ได้ไปโรงเรียน หากกลับแวะเวียนมานอนขลุกกันอยู่ในห้องของอีกฝ่าย สภาพจิตใจผู้ปกครองจะเป็นอย่างไรกันหนอ?
.
ละแวกที่ผู้เขียนเช่าห้องพักอาศัยอยู่มีหลายคู่เชียวนะครับเดินตระกองกันลงมาจากอพาร์ตเมนต์ตอนเวลาโรงเรียนเลิก ไม่เว้นอีกหลายคู่ในช่วงเวลาหลังโรงเรียนเลิกเกี่ยวก้อยไปหามุมพร่ำพรอดกันในมุมหนึ่งมุมใดของสวนสาธารณะที่ผู้เขียนไปเดินยืดเส้นยืดสายในช่วงบ่ายสี่โมงไปจนค่ำมืด
.
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนับว่า ‘ต้องทำใจ’ กับ ‘คนยุคใหม่’ แต่เรื่องราวที่จะเล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ทำใจหล่นวูบ มึนตึ๊บจนคิดอะไรไปต่อแทบไม่ถูก
.
ช่วงเริ่มต้นโควิดระลอก 3 ผู้เขียนคลุกคลีกับเด็กหน้าปากซอย 3 – 4 คน แต่ละคนเรียนชั้นอนุบาล 1 ไม่ก็ 2 สองคนที่รักและสนิทค่อนข้างมากเป็นลูกของแม่ค้า ร้านหนึ่งขายลาบ อีกร้านหนึ่งขายอาหารตามสั่ง
.
ทั้งสองล้วนเป็นร้านเล็กๆ ไม่ได้มีลูกค้ามากมายจนมือเป็นระวิง
.
พลบค่ำวันหนึ่งผู้เขียนถามเด็กหญิงอนุบาลสอง “จีจี้ หนูชื่อจริงว่าอะไร” คำตอบที่ได้คือการส่ายหน้า จึงแนะว่า “ชื่อที่คุณครูเรียกหรือให้หนูเขียนลงในสมุดหรือหนังสือไงลูก เอ้า ลองเขียนมาให้ตาดูหน่อย”
.
ผ่านไปสักนาทีเดียวจีจี้เดินเอากระดาษสีขาวที่เขียนด้วยลายมือสวยงามมายื่นให้ ไม่มีชื่อจริง มีแค่ ‘จีจี้’ ผู้เขียนจึงหันไปถามเด็กผู้ชายวัยใกล้กันและให้เขาเขียนมาให้ดู ระหว่างนั้นจีจี้ชำเลืองมองแล้วลอกตามที่เพื่อนเขียน สมมติก็แบบ จี้จี้ – ดช. อภิเดช
.
แม่ของเด็กชายมากระซิบบอกว่าพ่อจีจี้เลิกร้างกับแม่ไปแล้ว จีจี้จึงอาจพร่องในชีวิตบางเรื่อง ผู้เขียนจึงเอ็นดูจีจี้มากขึ้นกว่าเดิม ว่างก็แวะเวียนไปหา ชวนคุย โดยทุกครั้งที่เจอกัน จีจี้เป็นเด็กคนเดียวที่ยกมือสวัสดีโดยไม่มีใครบอก
.
จนสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนเหลือบไปเห็นจีจี้ ‘เต้นรูดเสา’ อยู่คนเดียว สารภาพว่าใจหายวูบ มึนงงกับสิ่งที่เห็น หนูน้อยไร้เดียงสาไปจำเอาท่าเต้นเหล่านั้นมากจากไหน หันไปทางแม่ของเธอก็เอาแต่ก้มหน้าอยู่กับมือถือ กำลังจะลุกเดินไปปรามว่าห้ามเล่นแบบนี้ ดีที่ชั่งใจว่าไม่ควร เพราะรู้จักแต่จีจี้ ส่วนแม่ของเธอผู้เขียนไม่เคยพูดคุย
.
ถามตัวเองแต่หาคำตอบไม่ได้ว่าอะไรทำให้เด็กวัยอนุบาลบางคนในสังคมไทยใช้ชีวิตในพื้นที่ที่หาใช่วันวัยของเธอ?!?