คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ณ วันนี้ ความนิยม และกระแสของเพลง K-Pop ได้แพร่ขยายอาณานิคมไปสู่ประเทศตะวันตกอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
ไล่เรียงจากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า บทบาทของกลุ่มบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป ตลอดจนศิลปินเดี่ยวจากฝั่งเกาหลี ได้สร้างปรากฏการณ์ไว้มากมายบนตลาดโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จของวง BTS ที่ประกาศศักดาในฐานะที่เป็นผู้ชนะรางวัล Global Recording Artist of the Year Award ประจำปี 2020 (ประกาศผลในเดือนมีนาคม 2021) จาก สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ หรือ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รายงานยอดขายเพลงทั่วโลกของเหล่าศิลปินนักร้อง โดยเป็นศิลปินจากเกาหลีใต้และเอเชียกลุ่มแรก รวมถึงยังเป็นศิลปินรายแรกที่มีผลงานเพลงที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ศิลปินที่ได้รับรางวัลนี้จะมาจากฝั่งอเมริกาเหนือ อย่าง Taylor Swift, Drake หรือสหราชอาณาจักร อย่าง One Direction, Adele, Ed Sheeran
นอกจากนั้น เพลง "Butter" ยังสามารถขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต บิลล์บอร์ด ฮอต 100 (Billboard Hot 100) ซึ่งก็ส่งผลให้วง BTS เป็นศิลปินกลุ่มที่มีเพลงขึ้นอันดับ 1 รวม 4 เพลงเร็วที่สุด ขณะที่เพลง "Dynamite" ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 500 เพลงยอดเยี่ยมตลอดกาลจากการจัดอันดับโดยนิตยสาร โรลลิง สโตน (Rolling Stone)
ไม่เพียงเท่านั้น BTS ยังสามารถคว้ารางวัล ศิลปินแห่งปี จากงาน อเมริกัน มิวสิก อวอร์ดส์ (American Music Awards) ซึ่งนับเป็นศิลปินเอเชียรายแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
และหากจะนับย้อนไปจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า วง BTS เริ่มต้นเปิดประตูนำพากระแสดนตรี K-Pop เข้ามาสู่อุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ตั้งแต่เมื่อปี 2017 โดยในเดือนพฤศจิกายน BTS สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการดนตรี ในฐานะที่เป็นศิลปินกลุ่มจากเกาหลีรายแรกที่ได้แสดงสดในรายการโทรทัศน์ของอเมริกัน และยังต่อเนื่องไปถึงการคว้ารางวัลสุดยอดศิลปินโซเชียล มีเดียในงาน บิลล์บอร์ด มิวสิก อวอร์ดส์ (Billboard Music Awards) เป็นครั้งแรก และคว้ารางวัลเดียวกันได้อย่างต่อเนื่องในปีถัดมา
รวมถึงยังเป็นวงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ และสามารถขายบัตรคอนเสิร์ต จำนวน 50,000 ~ 70,000 ที่นั่งได้หมดเกลี้ยง !!!
ขณะที่วงอื่นๆ ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในสหรัฐไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในหลายๆ ประเทศ ก็ถือเป็นช่วงนาทีทองของศิลปินจากฝั่งเกาหลี ที่พร้อมใจกันลุกขึ้นมาตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลทางดนตรีไปสู่อมริกา และยุโรป นอกเหนือจากตลาดญี่ปุ่น , จีน และประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนเช่นที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ดนตรีแนว K-Pop มีความพยายามที่จะพาตัวเองแทรกซึมเข้าสู่ตลาดดนตรีตะวันตกมาตั้งแต่ยุค 90’s – ยุค 2000’s ผ่านผลงานของกลุ่มศิลปิน BIGBANG . 2NE1 , EXO และ Super Junior
แต่ปฐมบทที่ทำให้กระแสเพลง K-Pop สามารถสร้างปรากฎการณ์บนตลาดโลก เกิดขึ้นในปี 2012 เชื่อว่าทุกคนคงยังไม่ลืม “พัคแจซัง” (Park Jae-Sang) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ไซ” (Psy) ที่สามารถผลักดันให้เพลง “Gangnam Style” กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่เป็นเพลงฮิตในบ้านเกิดของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประตูบานใหญ่ที่ทำให้คนทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเพลง K-Pop อย่างเป็นเรื่องเป็นราว การันตีได้จากการที่สามารถติดชาร์ตเพลงฮิตในหลายๆ ประเทศ ถึงขนาดขึ้นถึงอันดับ 2 บนชาร์ตเพลงฮิต บิลล์บอร์ด ฮอต 100
ณ ปัจจุบัน กลุ่มศิลปินบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป ระดับหัวแถวในวงการ K-Pop ไม่ว่าจะเป็น BTS, BLACKPINK, TWICE, NCT 127, SEVENTEEN รวมไปถึง Stray Kids ต่างก็คาดหวังที่จะผลักดันให้ผลงานตัวเองติดอยู่ในชาร์ต บิลล์บอร์ด (Billboard) มากกว่าชาร์ตในประเทศด้วยซ้ำ สังเกตได้จากการที่มีผลงานเพลงของกลุ่มศิลปินเกาหลีเดบิวต์ใน บิลล์บอร์ด ฮอต 100 (Billboard Hot 100) เพิ่มขึ้นจาก 5 เพลง เป็น 17 เพลง นับตั้งแต่ปี 2020
เป้าหมายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตอนนี้ตลาด K-Pop ไมได้มีเป้าหมายอยู่ที่จีน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว แต่คาดหวังความสำเร็จจากตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ถือว่าเป็นตลาดที่สร้างรายได้สูงสุดในโลก สูงกว่าญี่ปุ่นถึง 3.7 เท่า และสูงกว่าตลาดจีนถึง 42 เท่า
ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องถือว่าพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือเลยทีเดียว
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2565