กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMD) ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( มศว ) ผนึกพลังผู้เชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ร่วมกันยกระดับผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพ จัด “โครงการการพัฒนาธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อเข้าสู่ตลาดทุนอย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสในการขยายผลเชิงพาณิชย์ให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไปสู่ตลาดทุน อันเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่การดำเนินธุรกิจให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ปัจจุบันโอกาสการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ไทยเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ย > 5% ต่อปี มูลค่าของภาคอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ไทย มีบทบาทสำคัญเพราะจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถยกระดับผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรม สูงสุด ภายใน ปี 2580 ตามแนวนโยบายของทีเซลล์ (TCELS) อาทิ เรื่องของการบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร การบริหารและพัฒนา เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์และ หุนยนต์ทางการแพทย์ขั้นสูง และ เวชนครและ สารสนเทศชีวการแพทย์ ซึ่ง ทีเซลล์ (TCELS) ให้การสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความพร้อมของธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ มีทิศทางและแนวโน้มในการขยายธุรกิจให้เหมาะสม เติบโต มั่นคง พร้อมเข้าสู่ตลาดทุนอย่างยั่งยืนได้
โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ 5 บริษัท ที่น่าจับตามองในด้านธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ได้แก่ 1. บริษัท อีออนเมด จํากัด 2. MP Group (Thailand) CO.,LTD 3. โรงพยาบาลศรีสวรรค์ 4. บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค (BLC) จำกัด 5. บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ทั้ง 5 กิจการยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีองค์ประกอบที่สามารถพัฒนาศักยภาพในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่การดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถประสานความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีจากหน่วยงานหรือองค์กรทั้งในประเทศหรือต่างประเทศได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและการลงทุน ได้ผลักดันให้สร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค ( BLC ) และ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด
ล่าสุด บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค ( BLC ) หนึ่งในผู้ประกอบการที่ ทีเซลส์ (TCEL) ให้การสนับสนุน ได้นำคณะอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย RWTH AACHEN UNIVERSITY ประเทศเยอรมันนี เข้าศึกษาดูงานกระบวนการผลิตยาของ บริษัท บางกอกแล็ป ที่จังหวัดราชบุรี เพื่อพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โดยได้เข้าชมกระบวนการการผลิตยาในโรงงานการผลิต ความรู้ด้านการผลิตเวชภัณฑ์ การเพาะปลูกพืชสมุนไพร การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ผู้บริหารและทีมงาน บริษัท บางกอกแล็ป ยังได้ถ่ายทอดหัวใจของการเรียนรู้แบบเฉพาะ (PLEARN = PLAY + LEARN) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างพันธมิตรร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศขยายโอกาสทางการค้าในตลาดทุนได้ในอนาคต
ด้าน บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ก็นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ ทีเซลส์ (TCELS) ช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ได้รับโอกาสให้ร่วมงาน International Event BIO Korea 2022 ณ COEX กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2565 โดยบริษัท วิโนน่า เฟมินิน ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากการจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าหลายบริษัทในธุรกิจที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ บริษัท ' Biofarma ' Turkey จากเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ซึ่งเป็นบริษัทยาเก่าแก่ขนาดใหญ่และมีฐานผลิตโรงงานผลิตยาและขายยาเอง บริษัท วิโนน่า เฟมินิน คอสเมติกส์ ให้ความสนใจจะร่วมเป็นคู่ค้าด้วย เพื่อจะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ คือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับช่องคลอดแห้ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพของสุภาพสตรีโดยเฉพาะ (Woman Health) สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญชำนาญของแบรนด์วิโนน่าที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้หญิง การได้ร่วมงาน International Event BIO Korea ที่เกาหลีใต้นี้ จึงถือเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวิโนน่า คอสเมติกส์ได้สำเร็จ พร้อมที่จะขยายตลาดให้กว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยผลักดันผู้ประกอบการด้านการแพทย์และสุขภาพสู่ช่องทางการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น