xs
xsm
sm
md
lg

22 ปี เพลง "ถอนตัว" เสียชีวิตไป 2 ได้รู้ใครเป็นเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"จากนี้ไปผมก็สามารถที่จะเอาเพลงมาใช้ได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาติดขัดอะไรแล้ว และผมสามารถกลับมาทำเพลงได้ เพราะอย่างน้อยชื่อเสียงเกียรติยศของผมก็ได้รับคืนกลับมาในวันนี้ ให้คนได้รู้กันว่าผมเป็นผู้ประพันธ์ที่แท้จริง และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวที่แท้จริง"

หนึ่งในคำบอกเล่าจาก "ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล" นักร้อง นักแต่งเพลงเผยความรู้สึกภายหลังจากที่ศาลมีการตัดสินคดีเกี่ยวกับบทเพลง "ถอนตัว" ซึ่งเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าตัวรู้สึกอย่างไรหลังจากที่ต้องอดทนเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานกว่า 22 ปี
...
"ก็เลยต้องถอน ตัว ถอน ตัว ทั้งๆ ที่ยังรัก แต่ทำได้ แค่ทำใจ ก็เลยต้องถอน ตัว ถอน ใจ ที่ให้ ความรักไป เธอไม่เคย จะเหลียวแล ซักนิด เลย..."

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับท่อนฮุคของบทเพลง "ถอนตัว" ที่ขับร้องโดย เบิร์ดกะฮาร์ท นี้เป็นอย่างดี แต่น้อยคนคงจะรู้ว่านอกจากความไพเราะแล้วบทเพลงนี้ยังมีเรื่องชวนวุ่นวายซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2543 "ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล" ซึ่งรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ทำอัลบั้ม 30 ปีให้กับทางช่อง 3 อยู่ได้ให้เพื่อนนักดนตรี "ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ" ช่วยทำเพลง "ถอนตัว" เพื่อนำมาใส่ในอัลบั้มของตน

โดยเจ้าตัวเป็นผู้คิดคอนเซ็ปท์เนื้อหา รวมถึง แต่งคำร้อง ทำนองท่อนฮุคหลักให้กับต่อและร่วมแต่งคำร้องทำนองกับต่อตั้งแต่ต้นจนจบเพลง

ระหว่างที่รอบันทึกเสียง ปรากฏว่า "แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์" ซึ่งเป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงเช่นกันกันได้มีโอกาสฟังเพลงดังกล่าวจากการที่ "ต่อ" นำมาเล่นให้ฟังในวันเกิดจนเกิดความชอบและได้เอ่ยปากขอเพลงดังกล่าว แต่ทางด้านของ "ต่อ" ระบุว่าคงไม่ได้

เพราะตนเองแต่งร่วมกับ "ไบรท์" และเป็นเพลงของ "ไบรท์" ในอัลบั้มใหม่ "ไบรท์" ซึ่งหลังจากนั้นทาง "ต่อ" ก็ได้มีการเซ็นโอนลิขสิทธิ์เพลงนี้ให้ "ไบรท์" ในวันที่ 23 มิถุนายน 2543

ปีพ.ศ. 2544 เพลง "ถอนตัว" กลับไปปรากฏอยู่ในอัลบั้ม Meeting งานรวมเพลงศิลปินค่ายจีนี่ฯ โดยมี "เบิร์ดกะฮาร์ท" เป็นผู้ร้อง และระบุชื่อ "แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์" เป็นคนแต่ง ด้าน "ไบรท์" หลังทราบเรื่องจึงนำหลักฐานไปให้กับทางแกรมมี่ฯ เพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าของเพลงดังกล่าว

หลังพิจารณาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ สุดท้ายแกรมมี่ฯ จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์บทเพลง "ถอนตัว" ในสัญญา "หนึ่งต้นแบบ" กล่าวคือผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะในอัลบั้มดังกล่าว ก่อนที่เครดิตของเพลง "ถอนตัว" ในอัลบั้ม Meeting จะถูกแก้ไขเปลี่ยนเป็น "ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ" และ "ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล"

เรื่องทั้งหมดน่าจะจบลง แต่ในปี 2558 บนเวทีคอนเสิร์ต 30 ปี "เบิร์ดกะฮาร์ท" ทาง "แชมป์ ศุภวัฒน์" ซึ่งเป็นศิลปินรับเชิญได้มีการนำเพลง "ถอนตัว" ไปร้องบนเวทีในฐานะผู้แต่งเพลงดังกล่าว

ขณะที่ทางด้านของนักร้องดูโอชื่อดังก็ได้มีการเอาเพลง "ถอนตัว" ไปเล่นรวมถึงบันทึกเสียงต่างกรรมต่างวาระ จนเป็นเหตุให้ทาง "ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล" ตัดสินใจฟ้องร้องในที่สุด

ทั้งนี้ในระหว่างการฟ้องร้อง ทาง "แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์" ได้สียชีวิตไปเมื่อปี 2563 (หัวใจวาย) จึงถูกจำหน่ายออกจากคดีพ้นสถานะจำเลย ขณะที่ "ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ" เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565

สำหรับการตัดสินเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 มี 5 ประเด็นใหญ่ๆ ก็คือ

1. ประเด็นผู้ประพันธ์เพลง : ศาลตัดสินให้มีสองคน คือ "ต่อ เอกภพ เกียรติพิริยะ" กับ "ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล" ไม่เกี่ยวกับ "แชมป์" ตามที่เจ้าตัวกล่าวอ้าง

2. ประเด็นความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ : เนื่องจากทาง "ต่อ" เองได้มีการโอนลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับ "ไบรท์" (มีหลักฐานเอกสารและพยานชัดเจน) ศาลจึงตัดสินให้ ไบรท์ วรวิทย์ นิมมานศิริกุล เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

3. ประเด็น "เบิร์ดกะฮาร์ท" มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ : ประเด็นนี้ดูโอ้รุ่นใหญ่ปฏิเสธโดยอ้างว่าทั้งสองเชื่อว่า "แชมป์" เป็นคนแต่งมาโดยตลอด รวมถึงทั้งสองยังมีหลักฐานยืนยันว่ามีการจ่ายเงิน 4 หมื่นให้กับ "ต่อ" เพื่อให้มอบลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวให้ด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อศาลพิจารณาจากหลักฐานที่แกรมมี่ฯ มีการแก้ไขชื่อผู้แต่งเพลง "ถอนตัว" ในอัลบั้ม Meeting หรือแม้แต่ปกดีวีดีที่ทั้งสองทำออกมาเองก็ระบุชื่อผู้ประพันธ์เพลง คือ "ต่อ" กับ "ไบรท์" เพราะฉะนั้นการอ้างว่าไม่รู้ของทั้งสองจึงไม่สามารถรับฟังได้ สรุปได้ว่าจำเลยทั้งสองคนรู้และมีเจตนาในการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้ทำการขออนุญาตก่อนการนำไปใช้งาน

ส่วนเรื่องที่ "ต่อ" รับเงิน 4 หมื่นบาทและโอนสิทธิ์เพลง "ถอนตัว" ให้ "เบิร์ดกะฮาร์ท" นั้น ศาลระบุว่า "ต่อ" เองไม่มีสิทธิ์กระทำดังกล่าวตั้งแต่ต้น เพราะได้โอนสิทธิ์ให้กับ "ไบรท์" ไปแล้ว และการกระทำของ "ต่อ" ก็ขัดแย้งกันเอง ตรงนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

4. ประเด็นในส่วนของคดีอาญา : เรื่องนี้จารณาว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รู้หรือน่าที่จะรู้และได้แจ้งความตามวันเวลาที่อยู่ภายในอายุความหรือไม่ (3 เดือน) ซึ่งศาลเห็นว่าโจทก์มีการแจ้งความโดยน่าจะเกินระยะเวลาดังกล่าวซึ่งทางของ "ไบรท์" เองก็ได้เตรียมจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

เช่นเดียวกับในส่วนของคดีแพ่งที่ทางด้านของ "ไบรท์" ได้เรียกร้องเงินเป็นจำนวน 5 ล้านบาทนั้น แม้เจ้าตัวจะสามารถนำเอาคำพิพากษาครั้งนี้ไปใช้แต่ก็เป็นเรื่องที่คู่กรณีจะต้องต่อสู้กันต่อไป...











กำลังโหลดความคิดเห็น