กรมการปกครอง เดินหน้านโยบายต่อเนื่องส่งเสริมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) โดย นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายปกครองท้องที่ กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในฐานะที่กรมการปกครองทำงานในเชิงภูมิภาคที่มุ่งเน้นให้แต่ละพื้นที่มีการบริหารจัดการในเชิงระบบโครงสร้างเพื่อให้แต่ละชุมชน หรือ หมู่บ้าน มีความเข้มแข็งและน่าอยู่แบบยั่งยืน สารพัดปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ของคนในหมู่บ้านถูกบั่นทอนให้ลดน้อยลง ดังนั้นตลอดระยะเวลาการทำงานของกรมการปกครองที่ผ่านมาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของการเดินหน้าส่งเสริมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปี 2565 ด้วย
สำหรับการดำเนินการล่าสุดได้มีการมอบรางวัลหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2564 จำนวน 93 รางวัลทั่วประเทศ เนื่องในวันคณะกรรมการหมู่บ้าน 9 มีนาคม 2565 โดยได้แบ่งประเภทรางวัลเป็นระดับจังหวัด 93 รางวัล, ระดับอำเภอ 887 รางวัล และ ระดับตำบล 7,069 รางวัล เพื่อสร้างกำลังใจและแรงกระตุ้นให้กับคนในชุมชน
นายพิริยะ เผยว่า กรมการปกครอง เล็งเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญต่อการช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีขีดความสามารถในการช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหา การหาทางออก การบริหารจัดการคนในพื้นที่ให้สามารถวางแผนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะนี่คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้ผลักดัน คณะกรรมการหมู่บ้าน ให้เป็น “รากฐานของแผ่นดิน” เนื่องด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านสามารถทำหน้าที่ในการนำนโยบายของภาครัฐไปปฏิบัติและขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในหมู่บ้าน ทำให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” ดังคำที่ว่า “ประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม.”
“กรมการปกครองได้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในการสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านประจำปี 2565 ขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ทรงคุณวุฒิ, สมาชิกสภาท้องถิ่น โดยบทบาทการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) จะแบ่งเป็นหมู่คณะทำงานต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือตลอดจนแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน เช่น คณะกรรมการด้านสตรีเด็กและเยาวชน, ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน, ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือด้านต่างๆ ตามที่แต่ละหมู่บ้านต้องการเพื่อให้สามารถครอบคลุมทุกมิติและวัตถุประสงค์ความช่วยเหลือปัญหาต่าง ๆ ตามสิ่งที่คนในหมู่บ้านต้องการได้อย่างถูกจุด
“ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 74,900 แห่ง ที่กรมการปกครองได้เข้าไปมีส่วนช่วยดูแลขับเคลื่อนเหมือนกันทั่วประเทศทั้งในเรื่องของการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และส่งเสริมบทบาทสำคัญ ๆ ในการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เช่น การปลูกจิตสำนึกของคนในหมู่บ้าน, การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในมิติของการทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมและมีความผิดชอบด้วยกันในหมู่บ้าน” รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าว
อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้พูดถึงความสำเร็จ หรือผลงานของการทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทั้งหมด รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า “ถ้าให้วัดในเชิงตัวเลขไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าวัดในเรื่องเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ตัวอย่าง การบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมา อาสาสมัครคนในหมู่บ้านต่างผนึกกำลังกันในการปกป้องหมู่บ้าน ตรวจสอบการเข้า-ออก ของคนในหมู่บ้าน เฝ้าตรวจตราระมัดระวังดูแลผู้รับเชื้อภายในหมู่บ้าน รวมถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ขาดหาย ทำให้มีปัญหาเรื่องขโมยมากขึ้น
“เรียกได้ว่าในเชิงวัดผลทางคุณภาพ เราเห็นได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นว่าบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ๆ ของกรมการปกครองในส่วนที่เรียกว่า 10 Flagships to DOPA All Smart 2022 ที่ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน และหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ การจัดตั้ง คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ดังที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น”
นายพิริยะ กล่าวเสริมว่า ในปี 2565 กรมการปกครอง มีทิศทางและนโยบายในการขับเคลื่อนพัฒนาหมู่บ้านในเรื่อง “ดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยจะมีการลงไปเก็บข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนทุกครัวเรือนผ่านระบบ thai qm ซึ่งเป็นระบบที่กรมการปกครองได้พัฒนาไว้ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด 19 โดยที่จะนำระบบนี้มาใช้เพื่อต้องการรู้ว่าพี่น้องประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องอะไร เพื่อจะนำมาวางแนวความคิดและหาหนทางออกในการช่วยเหลือได้ตรงความต้องการ และคาดว่าจะสามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้