ชวนย้อนฟังเพลงดังแห่งยุคสมัยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ที่คนไทยนิยมเดินทางไปเป็นแรงงานที่ประเทศเศรษฐีน้ำมัน “ซาอุดีอาระเบีย” ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุ จะสะบั้นชะงักงันไปกว่า 30 ปี กระทั่งสามารถฟื้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งเกิดผลดีต่อประเทศไทยหลากหลายมิติ รวมถึงพี่น้องผู้ใช้แรงงานมีฝีมือ ที่ในอนาคตจะได้โกทูซาอุอีกครั้ง
การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุ หลังห่างหายไปนานกว่า 32 ปี ถือเป็นข่าวดี และข่าวสำคัญรับต้นปีเสือทอง โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 32 ปี
การเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เผยว่า เป็นการฟื้นความสัมพันธ์ในทุกมิติ โดยมี 9 เรื่องหลักที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ 1.การท่องเที่ยว 2.พลังงาน 3.แรงงาน 4.อาหาร 5.สุขภาพ 6.ความมั่นคง 7.การศึกษาและศาสนา 8.การค้าและการลงทุน 9.กีฬา
สำหรับแรงงานไทย นี่ถือเป็นโอกาสดีในการส่งออกแรงงานคุณภาพ แรงงานมีฝีมือของไทยไปโดยเงินจากเมืองเศรษฐีน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งในอดีตเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ซาอุเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานไทยเดินทางไปขุดทอง นำรายได้กลับมาประเทศเรามากมาย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดบทเพลงของผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุ ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
และนี่ก็คือ 5 บทเพลงไทยย้อนยุคที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับซาอุได้อย่างน่าสนใจและมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งบางเพลงยังคงเป็นอมตะ และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหลังเหตุการณ์ฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุครั้งนี้
1.รอรักจากซาอุ
“รอรักจากซาอุ” ขับร้องโดย “หงษ์ทอง ดาวอุดร” เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “คุณนายซาอุ” มาในแนวลำเพลิน ขับร้องในภาษาอีสาน บอกเล่าเรื่องราวของผู้สาวที่ตั้งหน้าตั้งตารอผู้บ่าว ที่เดินทางไปเป็นแรงงาน “ขุดทอง” ที่ซาอุ โดยฝ่ายหญิงก็ได้ร้องเพลงคร่ำครวญรอคนรักของตนที่ไปทำงานที่ซาอุว่าเมื่อไหร่จะกลับมา
2. ช้ำอกเพราะซาอุ
“ช้ำอกเพราะซาอุ” ขับร้องโดย “เฉลิมพล มาลาคำ” เป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำร่วมสมัยจังหวะสนุก ๆ บอกเล่าเรื่องเราช้ำอกช้ำรักของหนุ่มอีสานที่ต้องเดินทางไปทำงานที่ซาอุ หวังกลับมามีเงินมีทองแล้วจะขอผู้สาวคนรักแต่งงาน แต่ที่ไหนได้เมื่อชายหนุ่มกลับมาถึงเมืองไทย สาวคนรักดันนอกใจจะไปแต่งงานกับชายอื่นที่ร่ำรวยกว่าตน ทั้งที่ก่อนไปสัญญากันไว้อย่างดีว่าจะไม่นอกใจ
3.ลอยแพ
“ลอยแพ” ขับร้องโดย “พรศักดิ์ ส่องแสง” เจ้าของตำนานหมอลำล้านตลับผู้ล่วงลับ เพลงนี้แม้มาในจังหวะสนุก ๆ แต่เนื้อหากับสุดแสนรันทด ว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มยากจน ที่ยอมขายไร่นาส่งตัวเองไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่กลับถูกนายจ้างลอยแพแทบหมดเนื้อหมดตัว ชอกช้ำใจกลับมาเมืองไทยก็ยังเจอเคราะซ้ำกรรมซัด เพราะถูกสาวคนรักทิ้งไปมีรักใหม่กับไอ้หนุ่มนายร้อย นั่งรถเก๋งคันโก้หรูตามสมัยนิยมของยุคนั้น
4.น้ำตาเมียซาอุ
“น้ำตาเมียซาอุ” ขับร้องโดย “พิมพา พรศิริ” นักร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำสาวชื่อดัง เพลงนี้อยู่ในอัลบั้มชื่อเดียวกันคือ “น้ำตาเมียซาอุ” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงดังสุดคลาสสิกของพิมพา ว่าด้วยว่าด้วยเรื่องราวของคู่รักชาวอีสาน ที่สามีนำที่นาของภรรยาไปจำนองเพื่อส่งตัวเองไปทำงานที่ซาอุ แต่สามีกลับไม่ยอมส่งเงินกลับมาให้ฝ่ายหญิงบ้าง กลับส่งเงินไปให้แต่ฝั่งพ่อ-แม่ สามี ทำให้ลูก-เมีย เดือดร้อนไม่พอใช้ สุดท้ายแล้วเมียจับได้ว่าผัวตัวแสบไปแอบซุกเมียน้อยไว้ ซึ่งฟังแล้วน่ารันทดไม่น้อย
5.ซาอุดร
“ซาอุดร” ขับร้องโดย “คาราบาว” อดีตวงเพื่อชีวิตอันดับหนึ่งของเมืองไทย เพลงซาอุดร เป็นเพลงเอกในชุด “อเมริโกย” (2528) เพลงนี้เป็นเพลงร็อกโจ๊ะ ๆ สนุก ๆ ดนตรีมันมาก โดยเฉพาะพาร์ทกลองโซโล่ในช่วงกลาง ที่เล่นพร้อมกับโน้ตสัดส่วนจังหวะขัด ๆ ที่นักดนตรีทั้งหมดต้องแม่นเป๊ะในจังหวะมาก ๆ
เนื้อเพลงซาอุดร น้าแอ๊ด แต่งโดยอ้างอิงมาจากเรื่องจริงที่สมัยก่อนมีการหลอกแรงงานคนไทยไปลอยแพกันมาก (เหมือนเพลงลอยแพของพรศักดิ์) จนปรากฏเป็นข่าวดังอยู่บ่อยครั้ง
เพลงซาอุดร ว่าด้วยเรื่องราวของไอ้หนุ่มชาวไร่ชาวนา ที่จำเป็นต้องขายไร่นาเพื่อนำเงินไปให้นายหน้าส่งตัวเองไปทำงานที่ซาอุ ด้วยหวังว่าจะมีเงินเยอะ ๆ ส่งกลับมาเมืองไยให้ลูกเมียได้ร่ำรวยกัน
โดยชายหนุ่มได้นั่งเครื่องบิน บินเหินฟ้าไปด้วยความหวังว่าจะได้ไปขุดทองที่ซาอุดีอาระเบีย แต่สุดท้ายเครื่องบินพามาลงที่ ซาอุดร (อุดรธานี) เป็นอันว่าจบข่าว!
เพลงซาอุดร ถือเป็นอีกหนึ่งเคสคลาสสิกของ “ไทยต้มไทย” ที่คนยากจนไม่ทันเล่เหลี่ยม มักจะถูกพวกเจ้าเล่หลอกลวงอยู่เสมอ ซึ่งก็หวังว่าการเดินทางไปใช้แรงงานในอนาคตหลังการฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุ อีกครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้คงจะไม่เกิดขึ้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดูแลเข้มงวดกวดขันกันให้ดี
และนี่ก็คือ 5 เพลงดังซา สะท้อนยุคสมัยเมื่อกว่า 30-40 ปีที่แล้วที่คนไทยนิยมเดินทางไปขายแรงงานในประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่ได้ค่าตอบแทนสูง กลับมาสามารถตั้งตัวได้
อย่างไรก็ดีแม้ข่าวการฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุ จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ต่างยินดีต่อความสำเร็จครั้งนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนไทยบางกลุ่ม บางพวกรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น อาการคลุ้มคลั่งจนอกแทบแตกตายจากความสำเร็จครั้งนี้