ความอ้วน คือจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน การใช้ชีวิต บางรายที่มีความวิตกกังวลในรูปลักษณ์ของตน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตตามมา ยิ่งไปกว่านั้นยังเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค ในกลุ่มNCDs
พญ.กัลยาณี พรโกเมธกุล แพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลยันฮี แจงถึงผลการสำรวจประชากรโลก ที่เกี่ยวเนื่องกับคนที่มีปัญหาโรคอ้วน ล่าสุดพบว่า คนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกินกว่า 25 มีจำนวนสูงราว 2,000 ล้านราย หรือประมาณ 39% ของประชากรโลก ขณะที่สถิติอ้างอิงเมื่อปี 2557 พบว่า คนไทยมีปัญหาโรคอ้วนถึง 37.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แบ่งเป็นผู้หญิง 41.8% ผู้ชาย 32.9% ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ภาวะน้ำหนักเกินที่พบได้บ่อยมักเกิดจากความเคยชิน กับรสชาติของอาหารที่รับประทาน ในแต่ละวัน ที่มีทั้ง
รสหวาน มัน เค็ม อาหารที่ผ่านการทอด อบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและเบเกอร์รี่ประเภทต่าง ๆ โดยวิถีชีวิตประจำวันการใช้พลังงานไม่สมดุลกับการกิน
“ โรคอ้วน ควรได้รับการรักษาโดยทีมสหสาขา ซึ่งมีความพร้อมในการดูแลรักษาแบบองค์รวม ประกอบไปด้วย แพทย์อายุรกรรมที่รักษาผู้ป่วยที่มีโรคร่วม เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นักโภชนาการ คอยให้คำแนะนำและจัดตารางอาหาร แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ทีมเวชศาสตร์การกีฬา แนะการออกกำลังกายเพื่อให้เกิดการเผาผลาญอย่างมีประสิทธิภาพ จิตแพทย์ ช่วยดูแลจิตใจเกี่ยวกับสาเหตุและปัญหาของโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ตลอดจนพยาบาลที่ช่วยติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด” พญ.กัลยาณี เสนอแนวทางรักษา “โรคอ้วน” ตามหลักสหสาขาวิชาชีพ
ซึ่งดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง หาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเป็นรายบุคคล นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสุขภาพที่ดี ควบคุมน้ำหนักได้อย่างถาวร ปัจจุบันมีการรักษาภาวะโรคอ้วนด้วยวิธีการต่างๆ ตามระดับความรุนแรงและเหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรค เช่น การใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร โดยผ่านการพิจารณาแนวทางการรักษาโดยแพทย์
สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัม พญ.กัลยาณี มีคำแนะนำ เริ่มจากควรลดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มให้น้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการประมาณ 500-600 กิโลแคลอรี/วัน ร่วมกับการทำกิจกรรมที่ต่อเนื่อง หรือออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 200-300 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมปริมาณแคลอรี่ ควรบาลานซ์ให้ปริมาณพลังงานที่ร่างกายได้รับน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ไปในแต่ละวัน เริ่มง่ายๆด้วยตัวเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง จะช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่าการทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำหรือมีไขมันต่ำได้ 2-3 เท่า และอาหาร ที่มีโปรตีนสูง จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ พลังงานได้ถึง 80-100 กิโลแคลอรี/วัน เลือกทานผัก ผลไม้ เมื่อรู้สึกหิว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้น
“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ การควบคุมหรือลดน้ำหนักไม่ได้ผล ส่วนใหญ่มาจากการขาดความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว การใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปรับพฤติกรรม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการลดน้ำหนัก รวมทั้งการอดนอนจะขัดขวางการหลั่งฮอร์โมน ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญไขมันออกไปได้ ช่วงเวลาระหว่าง 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่ โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ทำงาน ร่างกายมีการเผาผลาญ การลดน้ำหนักที่ได้ผล ต้องลดให้ได้อย่างน้อย 5-10% ของน้ำหนักตัวที่เป็นต้นทุนเดิมภายใน 3-6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วมอันเนื่องมาจากโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาร่วมกันให้ได้ผล” พญ.กัลยาณี กล่าว