ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ในปี 2565 ที่กำลังจะถึงนี้ โดยคิดเป็นสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในทุกๆ มิติ จึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน โดยเฉพาะในมิติของสุขภาพ
ปัญหาสุขภาพช่องปาก ก็ถือเป็นหนึ่งในมิติทางสุขภาพที่ต้องให้ความสำคัญพอๆ กับปัญหามิติอื่นๆ โดยปัญหานี้มักมาพร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2560 พบผู้สูงอายุมีโรคฟันผุ และโรคปริทันต์เป็นจำนวนไม่น้อย รวมทั้งมีฟันธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ โดยผู้สูงอายุวัยต้น (60-75 ปี) มีฟันธรรมชาติเหลือใช้งานอย่างน้อย 20 ซี่ (ฟันธรรมชาติ+ฟันเทียม) อยู่ที่ร้อยละ 54 และลดลงเหลือร้อยละ 22.4 เมื่อเข้าสู่วัย 80-85 ปี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การร่วมมือของ สสส. รวมทั้งภาคทันตบุคลากร หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” ครั้งนี้ ก็เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนจุดประเด็นทางสังคมในเรื่องสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสุขภาพฟันที่ดี และเหลือใช้งานอย่างน้อย 20 ซี่ แม้อยู่ในวัย 80 ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการบดเคี้ยวอาหาร อย่างไรก็ตาม นอกจากการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแล้วยังมีการร่วมผลักดันเรื่องระบบบริการทันตกรรม เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม
“ผมคิดว่า 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เป็นเป้าหมายที่ตั้งขึ้นมาอย่างเข้าใจผู้สูงอายุ และไม่ได้คาดหวังมากเกินไป ตามข้อมูลข้างต้นที่ว่าด้วยผู้สูงอายุเมื่อเข้าสู่วัย 80-85 ปี จะมีฟันธรรมชาติลดลงจากร้อยละ 54 เหลือเพียงร้อยละ 22.4 หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งผมหวังว่า เมื่อเรามีการขับเคลื่อนนโยบายนี้ออกไปสู่สังคม และสาธารณชนแล้ว ตัวเลขสถิติดังกล่าวจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของ สสส.เองก็มีความยินดีและพร้อมเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานปักธงร่วมกัน”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สสส. ก็ร่วมผลักดันเรื่องสุขภาพช่องปากในผู้คนทุกช่วงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งการรณรงค์และการทำงานเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อขจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งต่อสุขภาพช่องปาก อาทิ การรณรงค์เอาน้ำตาลออกจากนมผงสูตรต่อเนื่อง เพื่อชะลอการติดหวานของเด็กตั้งแต่แรกเกิด นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ภาษีเครื่องดื่มลดหวาน การลดปริมาณน้ำตาลแบบซอง ทางเลือกหวานน้อยในร้านกาแฟ พร้อมทั้งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่หลายคนมองข้ามอย่างการสูบบุหรี่ ที่ส่งผลกระทบต่อฟันสูงพอๆ กับการแปรงฟันไม่สะอาดเลยทีเดียว
“การมีปัญหาสุขภาพช่องปากนั้น แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจที่อาจส่งผลต่อการอยากเข้าสังคม หรือด้านร่างกายเนื่องจากการกินอาหารไม่ครบ การเกิดแผลในช่องปาก และการลำสักอาหารที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต นอกจากนั้นยังพบอีกว่า สุขภาพทางช่องปากยังส่งผลไปถึงกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบตันร่วมด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน ทพญ.วรางคนา เวชวิถี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่จะไปให้ถึงเป้าหมายตามนโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ อันดับแรกประชาชนต้องดูแลตัวเองในเบื้องต้นก่อนจะถึงวัยสูงอายุ รวมทั้งมีการเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและป้องกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องด้วยโรคสุขภาพช่องปากเป็นโรคที่มีอาการค่อนข้างช้า หรือบางครั้งไม่แสดงอาการ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเข้ารับการรักษาเมื่อมีอาการแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการรักษาที่ยุ่งยาก รวมทั้งต้องเสียค่ารักษาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้สูงอายุหลายคนจึงเลือกที่ไม่เก็บฟันเอาไว้
“ต้องยอมรับว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบการบริการที่ชัดเจน ในการนำวัยทำงานและวัยสูงอายุเข้าสู่การตรวจก่อนที่จะเกิดรอยโรค ซึ่งแตกต่างจากวัยเด็กที่มีระบบการบริการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเรียนจบ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องว่า จะสามารถจัดระบบบริการ ตลอดจนประสานความร่วมมือระหว่างทันตบุคคลากรจากภาคเอกชน 52% และอีก 48% จากรัฐเข้าด้วยกันได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตัวเลขสถิติที่น่าเป็นกังวล แต่เชื่อได้ว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้ประชาชนเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง พร้อมทั้งมีระบบบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานรองรับอย่างทั่วถึง และสมดุลต่อค่าครองชีพแล้ว เป้าหมายการเติมเต็มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้วยฟันดี 20 ซี่ เพื่อต้อนรับสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ในปีต่อไป ก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก