xs
xsm
sm
md
lg

สดช. เปิดตัวโครงการ Digital Cultural Heritage เรียนรู้-เล่น-ภาคภูมิใจ ผลักดันวัฒนธรรมไทยสู่โลกดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยมีภารกิจเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน 

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “มรดกทางวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าในการแสดงออกถึงรากฐานและความเป็นมาของชาติ ประเทศไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ ปัจจุบันดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตและทิศทางในทุกภาคส่วน โครงการ Digital Cultural Heritage จึงนำเอาศักยภาพของข้อมูลดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงและเผยแพร่ไปได้ในวงกว้างมาใช้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยไว้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งจะยั่งยืน ไปได้ไกลขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เช่น ถ้านำมรดกทางวัฒนธรรมของแหล่งท่องเที่ยวและอาหารของชุมชนต่างๆ ไปสู่โลกดิจิทัล ก็จะเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการค้าขายออนไลน์ ทำให้เราได้พัฒนาศิลปวัฒนธรรมต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศได้มากขึ้นด้วย”

โครงการ Digital Cultural Heritage แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนงานหลัก ประกอบด้วย การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) เพื่อเป็นข้อริเริ่มทางนโยบายในการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561– 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content และเผยแพร่ผ่าน Digital Platform อันเป็นการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่หวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 

“ทั้งนี้ สดช. มีความคาดหวังผลใน 3 ด้าน ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ นั่นคือ 1.เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และเยาวชนรุ่นใหม่ ในการผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมสู่รูปแบบดิจิทัล  2.เพื่อให้เยาวชนช่วยกันอนุรักษ์หรือสืบทอดวัฒนธรรมไทยที่ดีงามของไทยเราให้ยั่งยืนต่อไปในรูปแบบดิจิทัล และ 3.เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้าน Digital Manpower หรือพัฒนาบุคลากรของไทยมีความสามารถเท่าเทียมกับนานาชาติ” นายภุชพงค์ โนดไธสง กล่าว

การดำเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในส่วนของ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ โดยเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับการจัดกิจกรรม รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดโครงการ

นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Google มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดโครงการ Digital Cultural Heritage และบริษัทฯ ได้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการนี้ ปัจจุบันในทุกภาคส่วนของสังคมได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน บริษัท Google  (ประเทศไทย) ยินดีสนับสนุน โครงการ Digital Cultural Heritage อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้าถึงและเข้าใจศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทยและต่อยอดในการสสร้างโอกาสและประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ดีงามต่อไป” 

บริษัท Google  (ประเทศไทย) ได้เริ่มสนับสนุนการนำเนื้อหาศิลปวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มของ Google Art and Culture ตั้งแต่ปี 2561 เช่น ในโครงการ Great and Good Friends ด้วยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในการทำงานกับกรมศิลปากร และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร 

“ข้อมูลเชิงศิลปวัฒธรรม มีความสำคัญในการสร้างความเข้าใจใน “ความแตกต่างและความหลากหลาย” ของคนในสังคมที่อยู่ร่วมกัน หากนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ดิจิทัล และใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้และเชื่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้ ก็จะทำให้เราได้ค้นพบ “ความเหมือน” ในความแตกต่าง ได้ไม่ยาก เราจะเกิดความเข้าใจและภาคภูมิใจ อีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้นี้ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย” นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว กล่าว 

สำหรับการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล กล่าวว่า “ขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องแล้ว ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก หรือเมืองสองแคว เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรรม (Cultural Heritage)  ที่มีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์  ทั้งวัฒนธรรมในอดีตและวัฒนธรรมร่วมสมัย” 

การจัดกิจกรรม Policy Lab มุ่งหวังให้มีต้นแบบของการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในยุคดิจิทัล  ซึ่งต้องสามารถสร้างคุณค่าได้จริง มีความคล่องตัว มีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีความยั่งยืน โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ นี้ ได้อาศัยมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นต้นแบบของการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ในด้านการนำมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากกิจกรรม Policy Lab ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์และชุดของโครงการที่ควรดำเนินการ พร้อมหน่วยงานรับผิดชอบและแหล่งงบประมาณ เพื่อสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรมนำร่องให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม   โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 2) กลไกการกำกับดูแล เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติให้มีความยั่งยืน และ 3) Public Dashboard เพื่อติดตาม ประเมินผล และถอดบทเรียนของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปรับปรุงและขยายผลอย่างต่อเนื่อง  

“กิจกรรม Policy Lab ที่จัดขึ้นภายใต้โครงการนี้ มุ่งที่จะแก้ปัญหาของการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศ ในด้านการนำมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และมีความเข้มแข็งสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้รับการตอบรับอย่างดีมาก จากพื้นที่นำร่อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในพื้นที่” นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล กล่าว 

ในส่วนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล นั้น จัดขึ้นในชื่อว่า “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม  เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้” ได้เชิญชวนนิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รวมทีม 4-6 แข่งขันกันถ่ายทอดเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทยทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใดก็ได้  ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวม 110,000 บาท  มีผู้ส่งผลงานทั้งหมด 66 ทีมจากหลากหลายสถาบัน และในวันนี้มีการเปิดตัว 20 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ โดย 20 ทีมมีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 98 คน มาจากหลากลายสถาบัน  ภาคกลาง กรุงเทพฯ 59 คน  ภาคเหนือ  23 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 คน และภาคใต้ 10  คน โดยมีหัวข้อทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจนำไปผลิตเป็นดิจิทัลคอนเทนต์  เช่น นวัตกรรมแห่งขนมไทย เครื่องปั้นดินเผา รำมวยไทย มหัศจรรย์แห่งทองคำ ศิลปะไทยฝีมือช่างเพชรบุรี ส้มตำ รามเกียรติ์ ประเพณีการบวชควายจ่า เป็นต้น

โดยทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ จะเข้าสู่กิจกรรมค่ายฝึกอบรม (Boot Camp) ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคมนี้ ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การบรรยายพิเศษเปิด Hackulture Bootcamp ช่วง Inspiration Talk โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในหัวข้อ Storytelling & Technology เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย ซึ่งในมุมมองของท่านผู้หญิงสิริกิติยาฯ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้าง Storyline หรือโครงเรื่องก่อนแล้วจึงนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ผ่านคำถาม Who What When Where Why  นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกูรูด้านการผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลอย่าง คุณมิ้นท์ มณฑล กสานติกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ I Roam Alone ซึ่งมาเผยถึงวิธีการเลือกคอนเทนต์ว่า จะต้องเลือกจากเรื่องที่ตัวเองสนใจ อยากรู้และสงสัยก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนี้ทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ จะต้องสร้างสรรค์ผลงานจริงร่วมกับ Mentor หรือที่ปรึกษาประจำกลุ่มเพื่อผลิตผลงานจริงรอบสุดท้าย และจะตัดสินพร้อมมอบรางวัลและจัดนิทรรศการในวันที่ 12 มกราคม 2565 ต่อไป











กำลังโหลดความคิดเห็น