มีหนังมากมายหลายเรื่องที่ผู้เขียนดูโดยไม่รู้หรือไม่สนใจว่าใครกำกับ โปรดิวเซอร์เบอร์ใหญ่บิ๊กเบิ้มระดับไหนให้การสนับสนุน พูดง่ายๆ ว่าดูหนังเรื่องนั้นๆ โดยไม่พึ่งพาอาศัย ‘หน้าเสื่อ’ ของใครมาตีตรารับประกัน ยกเว้นเป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ ของผู้เขียนว่า ‘ลองดู’
‘ร่างทรง’ เป็นหนึ่งในเหตุผลข้างต้นที่ผู้เขียนยกมาอ้างอิง
เปิดเรื่องฉากแรกก็แปลก แปลกตรงที่ว่าตกลงนี่มันหนังหรือสารคดี
แล้วก็เพราะกลวิธีนี้ ‘ร่างทรง’ จึงมีความน่าสนใจใคร่รู้ ชวนติดตามอย่างน่าพิศวงสงสัย เนื่องจากสิ่งที่กำลังตั้งใจดูอยู่บนจอมันทับซ้อนจนแยกแยะไม่ออกระหว่างความเป็นหนังกับสารคดี
ยิ่งดูไปยิ่งดูไป ‘ร่างทรง’ ยิ่งถ่ายทอดให้เกิดความรู้สึกอึมครึม – คลุมเครือ แทบสรุปไม่ได้ว่าไหนจริง ไหนลวง
แน่นอนครับว่าทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ นั่นคือ ‘หัวใจ’ ของ ‘ร่างทรง’ โดยแท้
เหลือร้ายและร้ายเหลือไม่บันเบาเลยทีเดียวสำหรับผู้กำกับ ผู้เขียนบท รวมถึงโปรดิวเซอร์ด้วยก็ได้ที่สามารถทำให้บังเกิดความรู้สึกอึงอลปนเปขึ้นในความคิดของผู้เขียน
คงคล้ายๆ กับที่เคยเห็นคนถูกผีเข้า หรืออาจรวมถึงภาพข่าว ‘หมอปลา’ บุกไปหาคนถึงสถานที่มากมายหลายแห่งซึ่งปรากฏแทบจะไม่เว้นวัน
เอาเข้าแล้วมัน ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ กันแน่
ผู้เขียนแบ่ง ‘ร่างทรง’ เป็นสองครึ่ง อุปมาอุปมัยเหมือนเกมฟุตบอล ครึ่งแรกหรือชั่วโมงกว่าๆ มันคือการประสานงานกันของทั้งทีมจนส่งผลให้เกมออกมาน่าติดตาม ชวนต้องมนต์ไม่น้อย
ครั้นพอล่วงสู่ครึ่งหลัง หรือที่เหลืออีกชั่วโมงก่อนยุติเกม ผู้เล่นทั้งสนามของทีมเดียวกับที่โชว์ชั้นเชิงให้ชวนตะลึงในครึ่งเวลาแรกกลับหมดแรงเสียดื้อๆ นั่นคือไม่เหลือ ‘แท็กติก’ ความทับซ้อนของหนังกับสารคดีที่ดีมากหลงเหลืออยู่เลย
ประมาณว่าถ้าเอาปากกามาวง ตอนไหนหนัง ฉากไหนไม่ใช่สารคดีมีอยู่เพียบ แม้จะมีคำอธิบายกำกับให้รับรู้ว่ายังเป็นสารคดีที่ ‘แอบถ่าย’ ก็ตาม
‘ร่างทรง’ เป็นหนังดี เสียตรงที่ช่วงท้ายกลับเปลี่ยนไปจนหลุดกรอบเดิมราวจงใจให้ถูกใจคนส่วนใหญ่อย่างไรอย่างนั้น
เสียดายความคิดสร้างสรรค์ของครึ่งเวลาแรกครับ