“เด็กชายชั้น ม.6 คนหนึ่ง ถูกเพื่อนชั้นเดียวกันทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เด็กคนดังกล่าว ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ระหว่างนั้นเด็กคนดังกล่าวได้ถ่ายภาพตนเอง พร้อมโพสต์รูปและข้อความลงในเฟซบุ๊ก บาดแผลฉกรรจ์จากการถูกของมีคมเฉือนลงที่บริเวณหลังคอ ดูแล้วน่าสงสารมาก จนทำให้กระแสความเห็นใจ คอมเมนต์ต่าง ๆ ถาโถม สาดใส่ ว่าร้าย กล่าวโทษ เด็กผู้ลงมือ เต็มประตู รวมถึงทิศทางการดำเนินคดีของตำรวจในตอนแรกก็ให้น้ำหนักไปในทางเดียวกัน แต่เรื่องกลับตาลปัตร เมื่อทางทีมงานจากโรงพยาบาล สหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ได้ลองสืบสาวราวเรื่องกับคุณครูที่โรงเรียน จนพบว่า เด็กชายที่ทุกคนตราหน้าว่าเป็นเด็กชั่วนั้น แท้ที่จริงแล้วก็มีปัญหาด้านจิตเวช โดยเป็นโรคซึมเศร้าร่วมกับมีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อกับแม่แยกทางกัน ส่วนเด็กที่ถูกกระทำก็มีพฤติกรรมเกเร ต่อต้านสังคม มีการรวมกลุ่มแก๊งในโรงเรียน โดยเด็กคนดังกล่าวได้กระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจต่อเด็กผู้ก่อเหตุมาก่อนเป็นระยะเวลานาน เช่น การให้กลุ่มเพื่อนรุมชกต่อย แต่ที่เจ็บที่สุด คือ การล้อเลียนว่าเป็นลูกพ่อแม่เลิกกัน ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน ซึ่งคำล้อเลียนนี้เองทำให้เด็กผู้กระทำผิดยอมรับว่า คำนี้มีผลต่อความรู้สึกของเขามาก และทำให้เขาควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้”
ส่วนหนึ่งจากเคสความรุนแรงต่อเด็กที่เปิดเผยประเด็นความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในเวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เครื่องมือขจัดความรุนแรงต่อเด็ก : ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติฯ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเปิดตัวคำแปลยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ฉบับภาษาไทย (United Nations Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) โดยมุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการคุ้มครองเด็ก สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงให้ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย
ยุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก เป็นตราสารระหว่างประเทศที่ได้รวบรวมหลักการเกี่ยวกับสิทธิเด็ก และแนวปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อให้รัฐสมาชิกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ คือ เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองจากปัญหาความรุนแรงทั้งที่เกิดขึ้นในบริบททั่วไป และในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติ ยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ มุ่งหวังว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากปัญหาความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที” ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ได้เล่าถึงวิวัฒนาการ “ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ การขจัดความรุนแรงต่อเด็ก” ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 ที่สหประชาชาติได้จัดทำรายงานที่พูดถึงการขจัดความรุนแรงต่อเด็กครั้งแรก จนกระทั่งในปี ค.ศ.2012 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในด้านการผลักดันนโยบาย ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ สมัยที่ 21 อีกทั้งในปีนั้น ยังมีรายงานเกี่ยวกับ การป้องกันและการสนองต่อการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการพินิจ ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก (Special Representative of the Secretary-General on Violence against Children) นับเป็นปีแรกที่เน้นการพูดถึงความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะ ประกอบกับในขณะนั้นก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการเจรจาปฏิญญาระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักนิติธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีการหารือกันถึงกระบวนการยุติธรรมในภาพใหญ่ จึงเป็นปีที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่สำคัญ ยังเป็นปีที่มีการเชิญชวนให้คณะกรรมาธิการของสหประชาชาติได้พิจารณายกกร่าง model strategies and practical measures อีกด้วย
“แม้ว่าลักษณะของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ จะมีลักษณะเดียวกันกับมาตรฐานและบรรทัดฐาน (standards and norms) ที่ไม่จำเป็นต้องให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตาม เพราะไม่มีพันธกรณีเหมือนกับกฎหมายระหว่างประเทศ แต่จุดเด่นของยุทธศาสตร์ฯ คือ ความยืดหยุ่น ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเองได้” นายวงศ์เทพ กล่าว
“นางสันทนี ดิษยบุตร” ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เน้นย้ำว่า ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหาย พยาน ผู้ถูกกล่าวหา หรือแม้แต่กรณีที่ศาลตัดสินแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด ก็ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้น ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นสอบสวน ไกล่เกลี่ย หรือสืบพยาน ต้องตระหนักเสมอว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดของเด็ก และ “ต้องคิดโดยเอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่คิดจากมุมมองของเราเอง”
“ยกตัวอย่าง การปฏิบัติงานของอัยการ ที่จะต้องสอบปากคำเด็กในชั้นสอบสวน โดยกฎหมายกำหนดให้มีผู้ร่วมสอบปากคำ ประกอบด้วย สหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อัยการ และ บุคคลที่เด็กร้องขอ เจ้าหน้าที่ต้องไม่คิดไปเองว่า บุคคลที่เด็กร้องขอ จะต้องเป็น “พ่อแม่” เท่านั้น เพราะเด็กอาจจะต้องการย่าหรือยาย หรือแม้แต่เพื่อนมากกว่า เด็กอาจไม่สบายใจที่จะพูดเมื่อมีพ่อแม่อยู่ด้วย นี่คือ การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” นางสันทนี กล่าวย้ำ
ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ยังอธิบายเนื้อหาสำคัญในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ เริ่มจากการห้ามมิให้กระทำความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ และการให้ความสำคัญกับงานวิจัยและเก็บข้อมูล โดยยกตัวอย่าง สถิติจากรายงานสถานการณ์การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่ระบุว่า มีกรณีผู้ขอความช่วยเหลือประมาณ 10,000 ราย แต่สถิติคดีที่ถูกส่งมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุด มีเพียง 174 คดี ซึ่งข้อมูลนี้ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์สถานการณ์
อีกทั้งปัจจุบัน ในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องพูดถึงแนวทางการพัฒนาความสามารถและศักยภาพของระบบยุติธรรมทางอาญา เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเพื่อคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเชื่อมประสานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็กซ้ำ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนาแชทบอท ที่เรียกว่า “มายซิส” (Mysis Bot) เพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นกับคนที่ถูกกระทำความรุนแรง และล่าสุดสามารถใช้เป็นเครื่องมือรับแจ้งเหตุได้แล้วด้วย
การป้องกันและการตอบสนองต่อความรุนแรงต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม เป็นอีกประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ที่นางสันทนี กล่าวถึง นั่นคือการพยายามลดจำนวนเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือ การป้องกันไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น การกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี หากกระทำความผิดแล้ว ไม่ควรรับโทษทางอาญา ซึ่งประเทศไทยกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาตามหลักการในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ จากเดิมที่กำหนดไว้อายุไม่เกิน 10 ปี และในยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ยังเน้นการใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการฟ้องคดี การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้เพื่อแก้ไขฟื้นฟูเด็กมากกว่าการลงโทษ
“นางวรภัทร แสงแก้ว” หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลปทุมธานี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการทำงานของศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง หรือ ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ซึ่งเป็นทำงานอย่างบูรณาการของสหวิชาชีพ โดยระบุว่า รูปแบบของการทำงานสหวิชาชีพถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กมากที่สุด ไม่ว่าเด็กจะเป็นผู้กระทำ หรือ ผู้ถูกกระทำก็ตาม โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานร่วมกับ ตำรวจ อัยการ เพื่อเน้นการแก้ปัญหาไปที่ต้นเหตุ คือ เมื่อพบความรุนแรงต่อเด็ก ก็จะต้องหาข้อเท็จจริงเรื่องราวมีที่มาที่ไป หาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในชั้นสอบสวนที่อาจจะไม่ได้สัมผัสกับเด็กมากนัก
นางวรภัทร กล่าวต่อว่า เด็กที่ได้รับความรุนแรง หรือ ครอบครัวที่ได้รับความรุนแรงจะได้รับการช่วยเหลือ 3 ส่วนหลัก คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการทางสังคม และด้านกฎหมายและการคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่ก็เสริมว่า อาจต้องปรับแนวทางการช่วยเหลือโดยคำนึงถึงในกรณีที่เด็กเป็น “ผู้กระทำรุนแรง” ด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะบางครั้งผู้กระทำรุนแรงก็มักจะถูกละเลย ซึ่งจริง ๆ เขาก็สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน
“ดร. สุนทรียา เหมือนพะวงศ์” เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 1 หนึ่งในทีมที่จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทยในการอนุวัติยุทธศาสตร์ ต้นแบบฯ กล่าวถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ว่า แม้เด็กจะเป็นผู้กระทำความผิด แต่ต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความประณีต
ดร. สุนทรียา สะท้อนถึงปัญหาในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมียุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก โดยระบุว่า คนในกระบวนการยุติธรรมต้องรู้เท่าทัน ในกรณีที่เด็กกระทำผิดจริง ต้องรู้เท่าทันเด็กที่มีพื้นฐานความรุนแรงจริง ๆ โดยไม่ปล่อยเด็กเหล่านี้ออกไปง่ายๆ เพื่อไม่ให้เป็นภัยต่อสังคมและต่อตัวเด็กเอง ดังนั้น ต้องมีวิธีแก้ไข ฟื้นฟู เด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ
ดร. สุนทรียา ยังมองว่าการทำงานเกี่ยวกับเด็กยังต้องมีการปฏิรูป และ ต้องมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาเสริม เพื่อให้เกิดการบูรณาการแก้ปัญหาเหยื่ออย่างเป็นระบบ ป้องกันไม่ให้เด็กที่เสี่ยงกลายเป็นเหยื่อหรือกลายเป็นโจร ด้วยการออกแบบแนวทางการป้องกันทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงปัญหาให้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่ “เด็กกระทำผิดจริง” ก็ต้องกำหนดมาตรฐานและมาตรการที่เหมาะสมกับเด็กให้ได้ และต้องบังคับให้มาตรการที่กำหนดเป็นไปได้อย่างแท้จริง รวมถึงต้องกำกับติดตามผลด้วย”
“หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์” เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกันแปล “ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา” ฉบับภาษาไทยขึ้น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานในการใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและขจัดความรุนแรงต่อเด็ก บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ อันเป็นหัวใจหลักของการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านนี้ รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ส่วน “Ms. Valerie Lebaux” ผู้อำนวยการส่วนงานยุติธรรม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวถึงความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก เพราะแม้ว่า เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรง การล่วงละเมิด และการแสวงประโยชน์ ที่มีอยู่ในมาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) แต่ก็ยังคงมีประเด็นที่เด็กเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับนี้ ในเดือนธันวาคม 2014 โดยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะจัดการกับความรุนแรงต่อเด็ก ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
ทั้งนี้ Ms. Valerie ยังได้กล่าว ถึงประเทศไทยในฐานะผู้นำในกระบวนการยกร่างยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ตลอดจนการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ ฉบับภาษาไทยจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณค่าสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และหวังว่ารัฐสมาชิกจะสามารถนำแนวทางไปประยุกต์เป็นเครื่องมือ โดยปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อไป