xs
xsm
sm
md
lg

สสส. สสย.สู้วิกฤติโควิด19 แม้โรงเรียนจะปิด แต่เด็กต้องไม่หยุดการเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดต้นแบบโรงเรียนขนาดเล็กที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ใช้นวัตกรรมแนวคิด MIDL Inclusive City สู้วิกฤติโควิด19 แม้โรงเรียนจะปิด แต่เด็กไม่เคยหยุดเรียนรู้

โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นต้นแบบของการใช้แนวคิด 'MIDL Inclusive City -การใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อออกแบบและสร้างเมืองของทุกคน' คือโรงเรียนเทศบาลตำบลหาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญหน้าวิกฤติการเกือบถูกยุบโรงเรียน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเพียงแค่ 45 คน แต่ด้วยพลังชุมชนที่ต้องการให้โรงเรียนยังคงอยู่ จึงช่วยกันระดมความคิดปรับเปลี่ยนโรงเรียนด้วยการสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กผ่านกิจกรรม 'ปลุกคนปลูกผัก -ตลาดนัดมีสุข' เด็กๆ เรียนรู้การใช้สื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองชุมชน มีรายได้บริโภคอาหารปลอดภัย แม้โรงเรียนจะต้องปิดๆ เปิดๆ ด้วยวิกฤติโควิด 19 แต่เด็กๆ ก็ยังเรียนรู้ด้วยความสุขได้

ครูเชิงชาญ โนจา ครูอาสา ซึ่งเป็นคณะทำงานของโครงการฯ จากโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง )เล่าว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนจะถูกยุบ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กจำนวนน้อยแค่ 45 คน แต่คนในชุมชนไม่อยากให้ถูกยุบ จึงปรึกษาหาทางรอดร่วมกัน สุดท้ายได้มีการโอนถ่ายโรงเรียนมาเป็นของเทศบาล หลังการถ่ายโอนโรงเรียน ชุมชนได้มาร่วมกันคิดว่าทางรอดของโรงเรียน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องของอาหารการกินชีวิตประจำวัน องค์ความรู้ต่างๆ ควรจะมาจากชุมชนเรา จึงได้เกิดกิจกรรมปลุกคนปลูกผัก คือการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูกข้าว ปลูกผัก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาความรู้ของชุมชน แม้โรงเรียนจะไม่มีพื้นที่มากนัก แต่ก็สามารถปลูกผักอินทรีย์ได้ตามฤดูกาล ส่วนการปลูกข้าวเราใช้พื้นที่นาของคนในชุมชนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำนาแบบอินทรีย์ ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ผลผลิตที่ได้นำมาเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน ส่วนที่เหลือนำไปขายในโครงการตลาดนัดมีสุขทุกวันเสาร์ในชุมชน

"เราไม่ได้คิดว่าโรงเรียนสำหรับเด็กคือแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับวิกฤติโควิด19 ทำให้เรามองไปถึงการทำให้เด็กได้เรียนรู้ทุกวันผ่านทักษะชีวิตและการใช้สื่อรอบตัวกิจกรรมตลาดนัดมีสุข ทำให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การไปเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเกษตรอินทรีย์จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน การลงมือปลูกเองเก็บเกี่ยวถ่ายรูปผลผลิตที่ได้ไปสื่อสารขายในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการไปขายในตลาดจริง ในเวลาที่สถานการณ์คลี่คลายเด็กจะได้ทั้งคณิตศาสตร์ สังคม ภูมิศาสตร์ ภาษา บางครั้งเด็กๆ ยังได้ไปเล่นดนตรีในตลาด ได้ความกล้าแสดงออก เด็กๆ สนุกกับการได้ใช้การสื่อสารในโลกกว้าง การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ในโรงเรียนอีกต่อไป"

ด้าน อ.ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนา จากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงทัศนะในกิจกรรมครั้งนี้ว่า ปกติเวลาทำงานสื่อสารเรามักจะมุ่งไปที่เด็กโต แต่ที่นี่พิเศษและน่าสนใจ คือเป็นเด็กระดับประถมศึกษา เราเห็นพลังของเด็กที่มีมวลประสบการณ์ในพื้นที่ของสังคมเกษตรกรรม เขาสามารถใช้องค์ความรู้ที่เขามีมาผนวกกับการเรียนรู้เรื่องของ MIDL หรือการเท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล พอพลังสองส่วนนี้มาผนวกกับพลังของชุมชน เราก็เลยเห็นการเปลี่ยนแปลงเด็กๆ สามารถปรับกระบวนการเรียนรู้ของเขาร่วมไปกับคุณครูกับความรู้ในพื้นที่ ทำให้สุดท้ายนอกจากเขาจะได้ความรู้ทักษะต่างๆ แล้วเขายังเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วย เขาเข้าใจชุมชนเห็นคุณค่าเกิดความรักหวงแหน และอยากจะรักษาสิ่งดีๆในชุมชนของเขา

"วันนี้เด็กไม่ได้ตั้งรับอย่างเดียวแล้ว เขาสามารถผลิตสื่อที่เป็นมวลความรู้ของเขาเองแล้ว ที่สำคัญเขายังสามารถเอาสื่อที่เขาทำไปช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชน มันอาจจะเป็นการผลิตสื่อง่ายๆ ตามวัยของเขา เช่นการวาดภาพถ่ายรูปลงกรุ๊ปไลน์ แต่มันแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของเด็ก ที่ไปสัมพันธ์กับวิถีชีวิตประจำวันการที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ทำให้เกิดภาพการเป็น Inclusive City ที่ชัดเจนขึ้นมา นั่นคือความเป็นเมืองที่เกิดจากพลังร่วมกันระหว่างเด็กและชุมชน"

ในส่วนของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ด.ญ.สุธีรา ยกกรเลิศ และ ด.ญ.อชิรญาณ์ ยกกรเลิศ กล่าวสะท้อนความรู้สึกว่ารู้สึกมีความสุขที่ได้ไปคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ได้สัมภาษณ์เรื่องของวิธีการปลูกผักได้ลงมือปลูกผักรดน้ำเก็บเกี่ยวทำให้รู้สึกมีความสุขภูมิใจในตัวเอง

ขณะที่ ด.ช.ธนกฤติ ขันเขียว และ ด.ญ.ณัฏฐิชา ยอดแก้วเรือง กล่าวว่าได้มีโอกาสทำคลิปตอนเพื่อนๆ ช่วยกันปลูกข้าวเอามาตัดต่อเองในโทรศัพท์มือถือ รู้สึกสนุกและภูมิใจที่ได้โชว์ฝีมือให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าเด็กๆ ที่นี่ก็ทำสื่อที่ดีมีประโยชน์ได้เหมือนกัน

กิจกรรม 'ปลุกคนปลูกผัก -ตลาดนัดมีสุข' ของโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ได้ถูกบันทึกและถ่ายทอดในรูปแบบสารคดี ในกิจกรรมโครงการสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล เพื่อเมืองของทุกคนประจำปี 2563 MIDL for Inclusive Cities 2020 : "ละอ่อนฮ่วมใจ๋ตีฆ้องแป๋งเมือง" ภายใต้นวัตกรรมแนวคิด MIDLโดยสสย.ร่วมกับสสส. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนพลเมืองดิจิทัลสื่อสารอย่างเท่าทัน และสร้างสรรค์เพื่อสร้างสังคมไทยสุขภาพดีไปด้วยกัน

ผู้ที่สนใจต้องการรับชมสารคดี สามารถเข้าไปชมได้ฟรีที่เว็บไซต์ HealthyMediaHub.com ศูนย์ข้อมูลสื่อสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ โดยสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญาสสส.







กำลังโหลดความคิดเห็น