สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย MIDL ภาคเหนือ จัดงานเสวนาออนไลน์ "ฟังเสียงเยาวชน : เมื่อ ดราม่ากระจายเร็วกว่า Covid" เปิดตัวอย่างสถานการณ์ข่าวลวง-ความเหลื่อมล้ำของแรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่ ชูนวัตกรรมแนวคิดรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) รับมือดราม่าข่าวลวงในภาวะวิกฤติโควิด-19 เน้นเด็กเยาวชนคือกำลังสำคัญในการร่วมสร้างเมืองปลอดภัย
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า "ในเมืองๆ หนึ่งมีความหลากหลายทั้งเรื่องของเพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ เวลาที่เมืองเจอกับภาวะวิกฤติ เช่น การระบาดของโควิด-19 ถ้าเราเห็นความหลากหลาย เราจะมองเห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การรับสื่อ ใช้สื่อที่ไม่เท่าเทียมกัน ด้วยเป้าหมายของ สสย. และ สสส. ที่เห็นความสำคัญในการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม เราจึงได้นำเอานวัตกรรมแนวคิดการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL) ที่เราพัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อเป็นกระบวนการในการส่งเสริม แก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมของคนที่มีความหลากหลายในเมือง แม้ว่าในสถานการณ์วิกฤติเราจะเจอกับข่าวลือ ข่าวลวง โฆษณาเกินจริง แต่ด้วยกระบวนการของ MIDL ที่เน้นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ภายใต้จิตสำนึกความรับผิดชอบของการเป็นพลเมือง จึงทำให้เราได้เห็นพลังการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความถนัดในการใช้สื่อดิจิทัล ได้เข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เมืองให้น่าอยู่และปลอดภัย"
ด้าน คุณพิมพ์สิริ จินาจันทร์ ตัวแทนเยาวชนสื่อสารสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ข่าวลวงว่า "การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองนั้นมีการเผยแพร่ข่าวลวงมากกว่าระลอกแรกเยอะมาก มีทั้งการนำข่าวเก่ามาทำให้ใหม่ เช่น การนำภาพเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดพื้นที่ในการระบาดระลอกแรกมาประกอบข่าวลวงว่าตอนนี้เชียงใหม่มีการปิดหมู่บ้านเนื่องจากการระบาดลุกลามไปมาก หรือแม้กระทั่งมีการนำข่าวเก่ากับข่าวใหม่มาเล่าผสมกัน ซึ่งข่าวลวงเหล่านี้สร้างความสับสนให้กับประชาชน ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่เยอะมากโดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว รวมถึงไปสร้างความเข้าใจผิดๆ เกิดการรังเกียจผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด ซึ่งทางจังหวัดก็มีการรับมือด้วยการจัดตั้งกลุ่มนักข่าวคอยคัดกรองข่าวลวงตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยตรง เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่ รวมไปถึงการใช้สื่อผู้นำชุมชน วิทยุชุมชน เป็นกระบอกเสียงที่ส่งตรงไปยังชาวบ้านที่ยังเข้าไม่ถึงสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข่าวลวงเหล่านี้จะสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในเมืองต้องช่วยกัน"
ในส่วนของ คุณแสงเมือง มังกร จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธ์ุ ได้กล่าวว่า "การระบาดของโควิด-19 ระลอกสองเป็นการค้นพบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการเสพสื่อที่ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงสักเท่าไร แม้เขาจะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย แต่การเข้าถึงง่ายก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์ได้ง่ายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่มีผู้ไม่หวังดีคอยมาหลอกให้เสียเงินเสียทองหลายต่อหลายครั้ง การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เราใช้การมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ชุมชน เยาวชน มาช่วยกันออกแบบสื่อที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย สร้างสื่อที่เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความถูกต้อง รวดเร็ว นำไปปฏิบัติได้จริง อยากฝากไว้ว่าเราต้องให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่สื่อที่มีข้อเท็จจริงมากขึ้น อย่าเห็นเพียงแค่ผลประโยชน์ในทางสื่อ การสร้างสื่อควรจะอยู่บนจิตวิญญาณในการทำให้สังคมมีความสุขร่วมกัน"
ด้านตัวแทนเยาวชนแรงงานข้ามชาติ คุณหนุ่มเมือง นาทอง กล่าวว่า "ช่วงโควิด-19 พวกเราเยาวชนแรงงานข้ามชาติมีการรวมตัวกันทางออนไลน์ ใช้การสื่อสารทางเฟซบุ๊กบ้าง ไลน์บ้าง ช่วยกันรณรงค์เรื่องโควิด-19 มีการทำป้ายรณรงค์ภาษาชาติพันธุ์ไปติดในพื้นที่ต่างๆ ของชุมชน พวกเราจะช่วยอธิบายเรื่องการดูแลตัวเองให้กับพ่อแม่ รวมถึงคอยคัดกรองข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เพราะบางทีพ่อแม่เขาจะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องความกังวลในการจดทะเบียนแรงงาน มีการหลอกลวงจ้างงานออนไลน์ ที่บางครั้งก็ได้ค่าแรงไม่ตรงกับที่บอกไว้ หรือการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ"
ขณะที่ คุณพิชชาพร วัฒนพันธุ์ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "เราเป็นคนต่างเมืองมาเรียนที่เชียงใหม่ ช่วงโควิดพ่อแม่และเพื่อนๆ ก็จะเป็นห่วงเรามาก เขาคอยส่งข่าวมาให้เราตลอดเวลา แต่ข่าวที่เขาส่งมาบางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง เราก็เลยต้องทำหน้าที่คอยคัดกรองข่าวให้กับคนรอบตัว คอยบอกสถานการณ์ในพื้นที่จริงให้กับคนข้างนอก ก็ยอมรับว่าบางทีข่าวที่เรารับมาก็เป็นข่าวลวงเหมือนกัน ก็ต้องตรวจสอบตามสื่อต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ อยากฝากเพื่อนๆ ว่าเราอยู่กับสื่อกันตลอดเวลามากกว่า 90% เมื่อรับข่าวมา ก็อย่าเพิ่งเหมารวมว่าทุกข่าวเป็นข่าวลวงไปทั้งหมดจนละเลยการป้องกันตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ขอให้ระวังไว้ก่อน อย่าเพิ่งนึกว่าเรารู้ดีอยู่แล้ว ขอให้เช็คความถูกต้องก่อนนิดหนึ่งแล้วจึงค่อยเชื่อหรือส่งต่อออกไป"
การเสวนาออนไลน์ฟังเสียงเยาวชน : เมื่อดราม่ากระจายเร็วกว่า Covid เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อเมืองของทุกคน ประจำปี 2563 MIDL for Inclusive Cities 2020 : "ละอ่อน ฮ่วมใจ๋ ตีฆ้อง แป๋งเมือง" ภายใต้นวัตกรรมแนวคิด MIDL โดย สสย. ร่วมกับ สสส. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนพลเมืองดิจิทัลสื่อสารอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสังคมไทยสุขภาพดีไปด้วยกัน