นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) หารือกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย โดย นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมฯ และนางสาวศิริพร ไชยสุต กรรมการบริหารสมาคมฯ และ ผู้แทน Act Now Children's Fund เพื่อความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมชั้น 9 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ มีการหารือร่วมกันเรื่องความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ซึ่งนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เตรียมงานและดำเนินการในระดับหนึ่งแล้ว สำหรับสิทธิเด็กที่มีปัญหาต่างๆ เกิดจากสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ซึ่งมีกฎหมายใหม่เพิ่มเติม ทำให้ครูในสถานศึกษา ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องมักจะไม่ทราบเรื่องของกฎหมาย ฉะนั้น ตนจึงอยากทำเรื่องดังกล่าวทั้งระบบเป็นการถาวรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรามีฝ่ายกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกัน จะไปติดต่อเครือข่าย คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำงานร่วมกับนักศึกษาสำหรับกิจกรรมการให้ความรู้ในชุมชน สถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในต่างจังหวัดด้วย เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบความผิด การคุ้มครองสิทธิต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะเด็กเล็ก รวมถึงการละเมิดสิทธิทางเพศของเด็กอีกด้วย นอกจากนี้ จะไปขอความร่วมมือจากสำนักงานอัยการสูงสุดอีกด้วย รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรเอกชน เพื่อให้สามารถทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จได้โดยเร็ว โดยวันนี้ ขอให้ภาคประชาชนมีความมั่นใจว่า เราจะจัดการปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น และจะไม่ปล่อยให้มีการสร้างบาดแผลทางใจกับเด็กซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตนขอยืนยันว่าจะทำงานนี้อย่างดีที่สุด เพื่อฟูมฟัก บ่มเพาะบุตรหลานของเรา ให้เติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคต
นางสาวศิริพร กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาสังคมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมีความซับซ้อน ทั้งเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นกฎหมายและสังคมจำเป็นต้องไปด้วยกัน ดังนั้น สมาคมฯ มีบทบาทในการให้ความรู้ด้านกฎหมายทั้งผู้ถูกกระทำและผู้ที่อาจจะเป็นผู้กระทำ หากตนรู้ว่ากระทำผิดก็อาจจะไม่ทำ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ไม่ใช่เพียงการเยียวยา ซึ่งเราต้องทำงานในเชิงรุก ด้วยการให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ในวัยต้นๆ รวมทั้งการหารือร่วมกันทั้งแผนระยะสั้นและยาว
นางสุภัชชา กล่าวว่า สำหรับกรณีเด็กอนุบาลถูกทำร้ายร่างกาย ทางกระทรวง พม. โดย ดย. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และเชิญผู้ปกครองพร้อมเด็กเข้ามาปฐมพยาบาลสภาพจิตใจเด็ก หลังจากที่มีการตั้งกลุ่มไลน์ อีกทั้งจะมีการวางแผนการทำงานร่วมกัน โดยทางอัยการจังหวัดและตำรวจจะดูแลเรื่องคดีกฎหมาย กระทรวงศึกษาดูแลเรื่องการศึกษา เพราะมีเด็กบางรายลาออกและย้ายโรงเรียน รวมถึงดูแลเรื่องการคุ้มครองเด็ก ในขณะที่กระทรวงสาธารณะสุขจะดูแลในเรื่องการฟื้นฟูจิตใจ โดยมีทีมนักจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิดพร้อมติดตามและประเมินเด็ก