xs
xsm
sm
md
lg

IPPD จัดงาน “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ปลุกคนไทยพร้อมรับ ปรับตัวกับความเสี่ยง สู่สังคมสุขยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานการประชุมวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together” ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 ชั้น 5 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อสรุปและเผยแพร่ผลงานและผลการศึกษาวิจัยในโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย และนำเสนอเครื่องมือและแนวทางใหม่ สำหรับการออกแบบและพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาของประชาชน 

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ตอกย้ำความสำคัญของการใช้เครื่องมือใหม่ การรับฟังเสียงใหม่ และเปิดมุมมองใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีขึ้นผ่านกระบวนการด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยในงานได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้ก่อตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มาบรรยายปาฐกถาเกียรติยศในหัวข้อ “วิวัฒนาการของนโยบายสาธารณะและการพัฒนาประเทศไทยจากอดีตสู่อนาคต” ที่เป็นแนวทางหลักในการนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันฯ ภายใต้มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร เพื่อเปรียบเสมือนเป็นเรือเล็ก เรือเร็ว เน้นความคล่องตัว ทำงานคู่ขนานไปกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดร.นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา กล่าวว่าสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ถูกตั้งขึ้นเป็นคลังสมอง (think-tank) และห้องปฏิบัติการทางนโยบาย (policy lab) ของประเทศ มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาระยะยาวที่ยั่งยืนของประเทศ บนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานที่ผ่านการศึกษาทดสอบและทดลอง ผ่านวิสัยทัศน์ในการมุ่งกระตุ้นสร้างสังคมให้ดีขึ้น ผ่านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาที่ดีขึ้น

ดร.นพ. สรภพ เน้นย้ำว่านโยบายและการพัฒนาจะดีขึ้นได้ หากเป็นนโยบายและการพัฒนาที่มองถึงและให้ความสำคัญกับอนาคต โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นเป้าหมายของการพัฒนา เป็นนโยบายที่ถูกออกแบบด้วยข้อมูลและหลักฐานที่หนักแน่น โดยมีพันธกิจและเป้าประสงค์ของสถาบันฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา ดังต่อไปนี้
• เพื่อส่งเสริมทัศนคติการให้ความสำคัญกับอนาคตและเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต
• เพื่อนำเสนอข้อแนะนำบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐาน
• เพื่อให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา 

จากพันธกิจและเป้าประสงค์ดังกล่าว สถาบันฯ จึงแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ห้องปฏิบัติการ (lab) คือ
1. Foresight & Futures Lab: วิเคราะห์ภาพอนาคตและสำรวจประเมินสิ่งที่อาจคาดไม่ถึงแต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบสูงเพื่อประกอบการออกแบบนโยบายและเพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ระยะยาว
2. Data & Intelligence Lab: วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริงในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ เพื่อช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และสร้างระบบเฝ้าระวังติดตามประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
3. Design & Testing Lab: ออกแบบทางเลือกของนโยบายและมาตรการต่าง ๆ และทดสอบ ทดลอง เพื่อพัฒนาปรับให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
4. Public Opinion & Dialogue Lab: เก็บรวบรวมความคิดเห็นสาธารณะ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งจากผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน ในการออกแบบนโยบายของประเทศ 

โดยมีโครงการวิจัยที่สำคัญ อาทิ
1. โครงการวิจัย Beyond Growth เปิดมุมมองใหม่ต่อเป้าหมายของการพัฒนาจากที่เน้นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งให้ ‘คน’ เป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา มุ่งศึกษาเพื่อให้เข้าใจสมการความสุข ความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย เข้าใจทัศนคติและความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง รวมถึงความสามารถในการปรับตัว
2. โครงการวิจัยเรื่องนโยบายและมาตรการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก นำเสนอทางเลือกการแก้ไขปัญหาถุงพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผ่านการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อมองภาพรวมของระบบนิเวศบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างครบวงจร 

นับตั้งแต่ที่สถาบันฯ ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ได้ดำเนินงานด้านวิชาการและงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสรุปและเผยแพร่ผลงานของสถาบันฯ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านนโยบายสาธารณะของประชาชน จึงจัดให้มีงานประชุมวิชาการประจำปี 2563 หัวข้อ “Thailand 2020s and Beyond: Building a Better Society Together”

ในช่วงเปิดประเด็นชวนคิด ดร.นพ. สรภพ ชวนตั้งคำถามและเผยผลการวิจัยที่สถาบันฯ ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังนี้
• นอกจากสังคมไทยติดกับดักรายได้ปานกลางแล้ว สังคมไทยยังติดกับดักความสุขปานกลาง การเข้าใจสมการความสุขของคนไทยที่แตกต่างและหลากหลาย จะช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น
• การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจกับความสุขไม่ไปด้วยกัน ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา GDP เพิ่มขึ้น 32.7% แต่ความสุข ลดลง 3.2%
• ความสุขเปราะบางกว่าเศรษฐกิจ เปรียบเทียบช่วงก่อน โควิด-19 จนถึงช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 GDP ลดลง 12.2% ความสุข ลดลง 21.0%
• ผลการสำรวจระดับประเทศในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2563 พบว่าคนไทยมองอนาคตไม่สดใส มีเพียง 23.9% เห็นว่าชีวิตในอนาคตจะดีกว่าเดิม และ 11.4% เห็นว่าชีวิตในอนาคตจะแย่กว่าเดิม

เนื้อหาของงานประชุมมุ่งเน้นไปที่แนวคิดในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นร่วมกัน ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. Building a Resilient Society: สร้างสังคมไทยที่พร้อมปรับตัว ยืดหยุ่น
• สังคมที่มีการปรับตัวและยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ จะเป็นสังคมที่ฟื้นตัวได้เร็ว
• ทุกสังคมในโลกต่างมีโอกาสที่จะประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่การคาดการณ์ล่วงหน้าจะช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหาย และผลกระทบที่จะเกิดตามมาให้มีผลน้อยที่สุด
• สังคมที่มีการเรียนรู้การปรับตัวและยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะเป็นสังคมที่จะมีอนาคตที่ยั่งยืนกว่าสังคมที่ขาดการเรียนรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งสังคมไทยยังขาดการรับรู้และความตระหนักในเรื่องปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน
• วิกฤตการณ์ ความเสี่ยงระดับโลกอย่างโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งและเตือนใจให้ทุกสังคมในโลก เรียกหาความสุข ความปลอดภัย ความมั่นคงทางด้านต่าง ๆ นอกเหนือไปจากการแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีข้อสงสัย ส่งผลต่อการรื้อระบบความคิดเดิมไปสู่ความจริงที่ว่า โลกไม่สามารถยึดถือการพัฒนาแบบดั้งเดิม บนศูนย์กลางของเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเดียวได้อีกต่อไป
• โครงการวิจัย The Beyond Growth (เป้าหมายใหม่: ลดเสี่ยง เพิ่มสุข) ศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นเรื่องความสุขและความเสี่ยงของสังคมไทย และนำเสนอนัยยะทางนโยบาย ที่จะนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่มุ่งเน้นความอยู่ดีมีสุข และการปรับตัวรับมือได้ดี นอกเหนือไปจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

2. Building a Sustainable Society: สร้างสังคมไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน
• สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย่อมเป็นที่หนึ่งในความปรารถนาของคนไทย แต่จะมีวิธีการใดได้บ้างที่สังคมไทยจะไปถึงสิ่งนี้ได้ Foresight & Futures Lab และ Design & Testing Lab จึงได้ดำเนินกิจกรรมและงานวิจัยร่วมกับภาคีต่าง ๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษและ UNEP นำเสนอมุมมองการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะที่มองวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและรอบด้าน รวมถึงการมองเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
• จากการศึกษาพบว่าการจะไปสู่สังคมที่ดีขึ้นประชาชนต้องมีคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มจากการทำให้การรักษาธรรมชาติเป็นเรื่องง่าย
• หนึ่งวิธีในการสร้างสังคมยั่งยืนคือการสร้างบทบาทให้ธรรมชาติใกล้ชิดชีวิตคนมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นทั้งในและนอกเขตเทศบาล
• การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกคน โดยไม่ล่วงเกินศักยภาพในการทำงานของสิ่งแวดล้อม
• สถาบันฯ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องนโยบายและมาตรการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้วิเคราะห์และออกแบบทางเลือกเพื่อจัดการถุงพลาสติกหูหิ้ว พร้อมทั้งนำเสนอคู่มือการออกแบบนโยบายสาธารณะในรูปแบบของ checklist

3. Building a Trust and Data-Driven Society: สร้างสังคมไทยที่ขับเคลื่อนด้วยความไว้วางใจและข้อมูล
• Public Opinion & Dialogue Lab ศึกษาและวิจัยการสร้างสังคมที่มีความไว้วางใจกัน (trust) เพราะเมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจและยินดีที่จะมอบข้อมูลส่วนตัวที่ถูกต้องให้กับหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลที่ได้จะกลายเป็นข้อมูลที่สำคัญ ย่อมเป็นหนึ่งในความปรารถนาสูงสุดสู่การพัฒนาที่ดี
• ต้องมีการประชาสัมพันธ์นโยบายการเก็บรักษาข้อมูล ถ้าภาครัฐมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า จะนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ เพื่อประโยชน์ในการออกนโยบายสำหรับประเทศอย่างไร และทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า มีนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลอย่างแน่นหนา ก็จะสร้างความไว้วางใจของประชาชนในการให้ข้อมูลได้
• การสร้างความโปร่งใส (transparency) กล่าวคือ การตัดสินใจของทุกหน่วยงานของภาครัฐต้องสามารถตรวจสอบได้ด้วยข้อมูล หรือมีเหตุผลมารองรับ
• การทำให้สังคมเราเป็น data-driven ข้อมูลต้องเข้าถึงง่าย และควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสามารถนำข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้ในการออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากการศึกษาความไว้วางใจของประชาชน ในการให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว สถาบันฯ ยังได้เปิดตัว IPPD Map โดย Data & Intelligence Lab หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ผู้ออกแบบนโยบายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาความเชื่อมโยง และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลและระหว่างแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างบูรณาการมากยิ่งขึ้น และช่วยชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่มีความสำคัญในการพัฒนา และนําไปสู่การออกแบบมาตรการหรือนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานที่หนักแน่น

เราเชื่อว่านโยบายสาธารณะและการพัฒนาที่ดีขึ้นนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้เครื่องมือใหม่ๆ การรับฟังเสียงใหม่ๆ การเปิดมุมมองใหม่ๆ ดร.นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร กล่าวทิ้งท้าย












กำลังโหลดความคิดเห็น