หลังการเสียชีวิตของ “ยูโกะ ทาเคอุจิ” ในวัย 40 ปี ทำเอาแฟนคลับทั่วโลกต่างตกใจไปตามๆกัน เพราะเจ้าตัวเพิ่งจะแต่งงานใหม่อีกครั้งกับ ทาอิกิ นากาบายาชิ และเพิ่งให้กำเนิดลูกน้อยคนที่ 2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าการเสียชีวิตจะมีการสันนิษฐานว่าเกิดจากการฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังคงเป็นปริศนาให้กับแฟนๆต่อไป ว่าสาเหตุที่ทำให้นักแสดงดังตัดสินใจกระทำการดังกล่าวคืออะไรกันแน่
ในวัย 40 ปีของ ยูโกะ ทาเคอุจิ ถูกบันทึกว่าเป็นนักแสดงมากฝีมือที่โลดแล่นในวงการมากว่า 20 ปี มีผลงานมากมายทั้งทางจอเงินและจอแก้ว รวมถึงมีผลงานโฆษณาและถ่ายแบบอีกนับไม่ถ้วน จากข่าวการเสียชีวิตของ ยูโกะ ทำเอาวงการบันเทิงญี่ปุ่นถึงกับสั่นสะเทือน เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง มิอูระ ฮารุมะ และ อาชินะ เซอิ นักแสดงชาวญี่ปุ่นต่างก็ตัดสินใจจบชีวิตตนเองในเดือน ก.ค. และ ต้นเดือน ก.ย. ตามลำดับ จนเคสของ ยูโกะ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสร้างความตกตะลึงให้แฟนๆไม่น้อย เพราะเสียชีวิตแบบติดๆกัน
ยูโกะ ทาเคอุจิ เริ่มต้นงานในวงการจากผลงานละครทาง Fuji TV เรื่อง Cyborg เมื่อปี 1996 และมีบทเล็กๆแต่เป็นบทสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญสุดคลาสสิกของ ฮิเดโอะ นากาตะ อย่างเรื่อง Ring เมื่อปี 1998 รับบทเปนหลานสาววัยรุ่นของนางเอก ( นานาโกะ มัตสึชิม่า ) และเป็นเหยื่อคนแรกหลังจากเริ่มดูวิดีโอต้องคำสาป
หลังจากนั้น เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 1999 จากผลงานซีรีส์ตอนเช้าเรื่อง ASUKA ของสถานี NHK ยูโกะ ทาเคอุจิ ก็เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดในวงการบันเทิง เพราะเป็นคนที่ยิ้มสดใส มีใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์ จนทำให้เธอมีผลงานต่างๆตามมามากมาย และเห็นหน้าเธอปรากฏอยู่ไปทั่วญี่ปุ่น ทั้งในโปสเตอร์ภาพยนตร์ หน้าปกนิตยสาร ไปจนถึงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ด้วยความสวยและบุคลิกการแสดงออกของเธอถึงขั้นมีคนนิยามเธอว่า เหมือนกับ “ยาโมโตะ นาเดะชิโกะ” ( เป็นคำเรียกที่แสดงถึงผู้หญิงญี่ปุ่นในอุดมคติ ที่มีทั้งความสวย, ความใสซื่อบริสุทธิ์, จิตใจดี, สุภาพ, อ่อนน้อมถ่อมตน, อดทน, ซื่อสัตย์ )
เพราะเธอนั้น สุภาพ อ่อนโยน ใจดี ขณะเดียวกันมีความรับผิดชอบต่อการทำงาน เป็นมืออาชีพ ทำการบ้านและท่องบทมาเป๊ะจนทำให้การถ่ายทำง่ายขึ้นเพราะเทคเดียวผ่าน ความใจดีของเธอยังทำให้ทีมงานกองถ่ายต่างๆเรียกเธอว่า “ราชินีแห่งขนม” เพราะเธอมักจะมาถึงพร้อมกับอาหาร เครื่องเคียงต่างๆ รวมถึงขนมนมเนย พร้อมกับบอกให้ทีมงานกินเยอะๆ และคอยเป็นห่วงเป็นใยทีมงานเสมอ
ในส่วนของผลงานเด่นๆนั้นยังอีกมากมายทั้ง The Queen of Lunch เมื่อปี 2002 และ บทนักสืบ เรโกะ ฮิมากาว่า ในซีรีส์ยาวเรื่อง Strawberry Night ส่วนชื่อเสียงที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์ก็คือการรับบทเป็น เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เวอร์ชันผู้หญิงในเรื่อง Miss Sherlock ที่ออกอากาศทางสถานี HBO เมื่อปี 2018
หากจะพูดถึงผลงานที่อยู่ในความทรงจำของคนญี่ปุ่นคงต้องยกให้กับ 6 ผลงานนี้
Yomigaeri ( 2002 )
เรื่องรักโรแมนติกแบบผีๆของผู้กำกับและนักเขียน อากิฮิโกะ ชิโอตะ ซึ่งนำแสดงโดย ทสึโยชิ คุซานางิ จากวง SMAP ผู้ตรวจการหนุ่มที่กลับบ้านเกิดเพื่อสืบสวนเรื่องราวที่คนตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำให้เขาได้กลับมาเจอกับเพื่อนเก่าที่นำแสดงโดย ยูโกะ ทาเคอุจิ ที่เป็นอดีตคนรักของเขา และฟื้นคืนชีพขึ้นมา
จากเส้นเรื่องดังกล่าว นับเป็นเรื่องตรงข้ามกับผลงานภาพยนตร์สร้างชื่อสุดโด่งดังอย่าง Be With You เมื่อปี 2004 ที่เปิดเผยเรื่องราวการคืนชีพของ ยูโกะ ทาเคอุจิ เมื่อฝนตก เพื่อได้กลับมาเจอสามีที่นำแสดง ชิโดะ นากามูระ ( อดีตสามีในชีวิตจริง ) และลูกชาย
Dog in a Sidecar ( 2007 )
เป็นหนึ่งผลงานที่ ยูโกะ ทาเคอุจิ ได้แสดงความสามารถของเธอในหลายๆด้านออกมา จนส่งให้เธอได้รับรางวัลมากมายจากผลงานละครเรื่องนี้ โดยเธอรับบทเป็น โยโกะ คนรักสาวของเซลล์แมนรถมือสองที่มี คาโอรุ ลูกติดวัย 10 ขวบ จากพฤติกรรมที่เปิดเผย สบายๆ ตรงไปตรงมา ที่ไม่เหมือนพ่อแม่เคร่งๆทั่วไป ก็ทำให้ คาโอรุ หวั่นใจกับการเข้ามาของว่าที่แม่เลี้ยง แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เติบโตขึ้นและเข้ากันได้เป็นอย่างดี
Airport ( 2013 )
เป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ที่มีความยาว 100 นาที บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สนามบินในชนบทเล็กๆ หลังจากเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่โตเกียวถูกส่งกลับเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย นี่จึงนับเป็นอีกหนึ่งผลงานการแสดงที่น่าจดจำ โดย ยูโกะ ทาเคอุจิ รับบทเป็น โอโคอุจิ หัวหน้าแอร์โฮสเตสสาวภาคพื้นดิน ที่ต้องคอยจัดการกับข้อเรียกร้องมากมายของผู้โดยสารจอมเรื่องมาก และยังต้องคอยดูแลจัดการสตาฟฟ์อื่นๆของสนามบิน รวมถึงจัดการเรื่องการขอแต่งงานของหัวหน้าจอมวิตกจริตที่นำแสดงโดย มาซาฮิโระ โคโมโตะ ด้วย
The Inerasable (2015)
ผลงานเรื่องนี้ คือการโคจรกลับมาเจอกันอีกครั้งของ ทาเคอุจิ กับ โยชิฮิโระ นากามูระ ผู้กำกับเรื่อง Golden Slumber เพื่อรับบทเป็นนักเขียนเรื่องลึกลับที่มีชื่อเสียงซึ่งรู้จักกันในชื่อ “I” ( ไอ ) ผู้ซึ่งสืบสวนเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในแฟลตของนักศึกษาหนุ่ม ที่รับบทโดย ไอ ฮาชิโมโตะ
เป็นอีกครั้งที่ ทาเคอุจิ รับบทเป็นนักสืบที่มีสมองเฉียบแหลม ที่ตามแกะรอยจากองค์ประกอบแวดล้อมต่างๆ ขณะที่ภาพยนตร์ภาพยนตร์สามารถจับภาพบรรยากาศสุดสะพรึงที่คืบคลานเข้ามา จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนนิยามใหม่ของหนังแนวสยองขวัญของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
Creepy ( 2016 )
ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็น ทาเคอุจิ รับบทที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ในการแสดงผลงานสยองขวัญสุดโรคจิตของ คิโยชิ คุโรซาว่า ก็ทำให้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ นับเป็นอีกเรื่องที่สุดยอดมากๆของ ทาเคอุจิ
เรื่องราวเริ่มจาก ยาสุโกะ ( ทาเคอุจิ ) ได้ย้ายไปยังชนบทเงียบๆหลังจากที่สามีของเธอที่รับบทโดย ฮิเดโตชิ นิชิจิม่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากงานที่ทำ หลังจากนั้น ยาสุโกะ แสดงมิตรภาพ เผยถึงความอบอุ่น อ่อนโยน ต่อเพื่อนบ้านตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปถึง แต่แล้วเจ้าตัวก็ต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้าน ( เทรุยูกิ คากาว่า ) ที่แสดงความแปลกและชวนสับสนขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นความไม่สบายใจ และความหวาดกลัวต่อเพื่อนบ้านที่ค่อยๆเผยความสยองออกมาเรื่อยๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมอึดอัด สยอง กับจุดไคลแม็กซ์ชวนช็อกได้ไม่น้อยทีเดียว
การตัดสินใจจบชีวิตของ ยูโกะ ทาเคอุจิ ยังคงเป็นปริศนา
หากย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ที่เธอได้ให้ไว้เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2019 กับ Lee นิตยสารผู้หญิงของญี่ปุ่น เธอได้เผยความในใจว่า “ตอนนี้ ฉันในวัย 40 ปี ไม่ได้อยากมองย้อนกลับไป ทุกอย่างที่ฉันแบกไว้มันถูกปล่อยวางแล้ว ตอนนี้ฉันรู้สึกสบายตัวขึ้นแล้วค่ะ”
และเมื่อถามถึง ความรู้สึกที่ได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาดหนัก เจ้าตัวก็ดูจะมีความสุขดี “ฉันได้เฟซไทม์คุยกับครอบครัวหลายครั้งเลยค่ะ มันทำให้ฉันรู้สึกโอเค ได้เห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้นอีกนิด ในวัยสี่สิบ ฉันอยากจะใช้เวลาอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัว”
แม้แต่ทาง ทาอากิ นากิบายาชิ สามีคนปัจจุบันที่เป็นผู้พบศพ ก็ไม่ทราบสาเหตุของการตัดสินใจในครั้งนี้ของภรรยาเช่นกัน เพราะไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า “ผมนึกไม่ออกถึงเหตุผลใดๆว่าทำไมเธอถึงได้ทำแบบนี้ เธอดูปกติดีเหมือนเดิมทุกอย่าง”
ส่วนทางด้านชาวเน็ต ต่างเข้ามาแสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็น ภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด ไปจนถึง แรงกดดันในวงการบันเทิงญี่ปุ่น และการที่รัฐบาลไม่ให้ความใส่ใจอย่างเพียงพอต่อปัญหาสุขภาพจิตใจของชาวญี่ปุ่นเอง ที่ต้องรับความกดดันมหาศาลเพื่อให้มีปัจจัยในการดำรงชีวิตต่อไป และหากเทียบดัชนีความสุขกับประเทศอื่นๆแล้ว ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้ "ยูโกะ ทาเคอุจิ" ตัดสินใจจบชีวิตในที่สุด