xs
xsm
sm
md
lg

Virtual Concert มิติความบันเทิงเสมือนจริง ยุค New Normal

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ Covid-19 เปลี่ยนโลกของความบันเทิงจากการสามารถเข้าชมดนตรีในคอนเสิร์ตฮอลล์หรือการฟังดนตรีสดในร้านอาหารผับบาร์กลับถูกปิดกั้น ทำให้รายได้ของศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทีมงาน ช่างไฟ หรือแม้แต่คนขับรถก็หายไป

แนวคิดการสร้าง Virtual Concert หรือคอนเสิร์ตเสมือนจริงจึงเริ่มขึ้น เทคโนโลยีด้าน Virtual มีมานานแล้วแต่ที่ผ่านมาคนไทยไม่เคยนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ แต่เมื่อ Covid-19 มา มืออาชีพด้านการจัดคอนเสิร์ตทั้งสามท่าน อย่าง พล หุยประเสริฐ คอนเสิร์ตดีไซเนอร์ และผู้ก่อตั้ง H.U.I. จำกัด, สามขวัญ ตันสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง What the Duck และ เรืองฤทธิ์ สันติสุข นักสร้างสรรค์เทคนิคแสงสี Duck Unit พร้อมใจกันสร้าง Virtual Concert เพราะถึงเวลาแล้วที่ไทยควรมี Virtual Concert ซึ่งผลตอบรับกลับดีเกินคาด และคาดว่าอนาคต Virtual Concert จะยังคงอยู่ต่อไปแต่จะเป็นรูปแบบที่แตกต่างกัน

การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับคอนเสิร์ตครั้งแรกของ เรืองฤทธิ์ คือคอนเสิร์ตสแตมป์ภายใต้ธีมแอบดู เป็นการใช้เทคโนโลยีกรีนสกรีนแล้วซ้อนกราฟฟิกเข้าไป การทำ Virtual Concert ก็มีข้อดีที่สามารถสร้างฉากในงบประมาณที่จัดการได้ แต่การทำก็มีปัญหาในเรื่องของการไม่มีแอ็กชั่นระหว่างคนดูกับคนเล่น เพราะพฤติกรรมของคนมีความหลากหลายการทำ Virtual Concert ต้องทำให้คนดูมีแอ็กชั่นและสนุกกับการฟังเพลง

จากความสำเร็จของการทำคอนเสิร์ตให้กับ Whal & Dolph จนสามารถขายตั๋วคอนเสิร์ตได้หมดภายในเวลา 10 นาที ของ สามขวัญ ตันสมพงษ์ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำ Virtual Concert ก็ประสบความสำเร็จได้โดยจับมือกับ พล หุยประเสริฐ หลังจากคอนเสิร์ตแรกประสบความสำเร็จก็เกิดเป็นการทำมิวสิกเฟสติวัลครั้งแรกของไทย ประสบการณ์จากการทำ Virtual Concert แล้วประสบความสำเร็จทำให้มั่นใจว่า คอนเสิร์ตรูปแบบนี้ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายถึงคอนเสิร์ตฮอลล์จะตาย เพราะเป็นคนละกลุ่มกัน และจะมีการเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับศิลปิน อย่างการทำมิวสิกวิดีโอเสมือนจริง

การเรียนรู้การทำ Virtual Concert ทำให้พลเข้าใจว่า ปฎิสัมพันธ์กับคนดูเป็นสิ่งสำคัญ การดูคอนเสิร์ตแบบนี้บางคนกินกาแฟ บางคนเป่าผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ไม่เหมือนกับคอนเสิร์ตฮอลล์ ต่อไปสคริปต์คอนเสิร์ตแบบนี้จะต้องไม่ยาวแค่ 15 นาทีก็ต้องพักแล้ว

จะเห็นว่าสถานการณ์ Covid-19 ทำให้คนเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่แล้วแต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้ และต่อไป Virtual Concert จะยังคงอยู่ในรูปแบบของ live เพราะคนให้คุณค่ากับการดูแบบออนกราวน์มากกว่า

Virtual Concert แม้จะสนุกแค่ไหนก็ตามแต่สุดท้ายแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการพบปะสังสรรค์ พูดคุย จับมือ การได้สัมผัส การใกล้ชิด มากกว่าการเห็นกันผ่านจอ แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับจอก็เชื่อว่าจะหันมาให้ความสำคัญคอนเสิร์ตฮอลล์มากกว่า เพราะเขาเบื่อการแสดงออกทางจอแล้ว

 พล หุยประเสริฐ

เรืองฤทธิ์ สันติสุข

สามขวัญ ตันสมพงษ์


กำลังโหลดความคิดเห็น