สสส.-เครือข่ายพุทธิกา ชูความสำเร็จโมเดล 'คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม' ฝ่าวิกฤตสู่โอกาสเกื้อกูลสังคม ดึงพ่อค้า-แม่ค้าเป็นสะพานบุญ เดินหน้าชวนชาวไทยต่อยอดปรากฏการณ์แบ่งปัน 'ชุมชนอิ่มท้อง ร้านค้าอยู่รอด' ให้ยั่งยืนในสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา จัดงานเสวนา 'ปันกันอิ่ม จากวิกฤตสู่โอกาสเกื้อกูลสังคม' นำเสนอการทำบุญที่เหมาะกับยุคสมัยยุค New Normal และเผยความสำเร็จ 'คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม' ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการแบ่งปัน 'ชุมชนอิ่มท้อง ร้านค้าอยู่รอด' พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือในอีกหลากหลายชุมชน
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า แนวคิด 'ปันกันอิ่ม' เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการฉลาดทำบุญ ภายใต้แนวคิดที่ว่า การทำบุญเป็นรากฐานของสังคมไทย หากสามารถใช้การทำบุญให้เป็นไปอย่างฉลาดย่อมจะเกิดผลที่งอกงาม เกิดประโยชน์สุขทั้งกับผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมไทยก้าวเข้ามาสู่ในยุคที่ต้องประสบกับวิกฤตโควิด-19 แนวคิดปันกันอิ่มมีการประยุกต์และพัฒนาจนอาจเรียกได้ว่า 'นวัตกรรมการให้' ที่เหมาะและสอดคล้องกับสังคมยุค New Normal ในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง
“โครงการปันกันอิ่ม เป็นการทำบุญที่เป็นมิติใหม่ของสังคมไทย เพราะประการแรก เป็นการมุ่งสงเคราะห์ผู้ที่กำลังเดือดร้อน เช่น ผู้ที่กำลังขาดอาหาร ผู้ที่ไม่มีรายได้ในการหาอาหารมาใส่ท้องประทังชีวิต ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาร่วมช่วยเหลือ เกื้อกูล สมัยก่อนเรามีโรงทาน แต่โรงทานมีข้อจำกัดคือใช้เงินเยอะ และเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลาที่พิเศษ แต่สำหรับแนวคิดปันกันอิ่มนั้น ใครๆ ก็ร่วมแบ่งปันได้ เพียงนำเงิน 20 -30 บาทฝากไว้กับร้านอาหาร เท่านี้ร้านอาหารก็กลายเป็นโรงทานแล้ว อาตมาคิดว่าการทำบุญในยุคสมัยใหม่ที่จะยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีลักษณะสำคัญ 4 อย่างคือ 1. ทำง่าย สะดวก ไม่ต้องใช้เงินมาก ทำที่ไหนก็ได้ 2. ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องรู้จักกันก็แบ่งปันกันได้ ไม่ต้องร่ำรวยก็ทำได้ 3. สามารถบรรเทาความทุกข์ให้กับผู้เดือดร้อนได้จริงๆ 4. ช่วยเติมพลังบวกให้กับทั้งผู้รับและผู้ให้ โดยเฉพาะผู้รับ ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกต่ำต้อยเสียศักดิ์ศรี แต่ในทางตรงกันข้าม จะต้องเป็นการให้ที่ช่วยเติมความหวัง กำลังใจ ให้เขามีความพลังที่จะสู้ชีวิต มีพลังที่จะทำความดี ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ก็ตรงกับหลักการและแนวปฏิบัติของปันกันอิ่มทั้งหมด"
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุน สสส. กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม มาตรการปิดเมืองและผลของโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลอย่างรุนแรงต่ออาชีพการการงาน คนจำนวนมากขาดรายได้อย่างฉับพลัน และยังมีผู้ตกงานอีกจำนวนมาก ชีวิตความเป็นอยู่จึงเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด แต่ด้วยลักษณะวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่มีความอ่อนน้อม เกื้อกูลกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้สามารถนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาปรับใช้ ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดี
“ส่วนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากสังคมวัฒนธรรมไทยกับการรับมือปัญหาวิกฤตการระบาดของโควิด 19 คือทุนดั้งเดิม เรื่องความช่วยเหลือเกื้อกูล อันมีรากฐานทางวัฒนธรรมและสังคมไทย อาจเรียกได้ว่าเป็น old normal ที่ถูกส่งต่อมาในยุคสมัยใหม่ ผมว่าสิ่งนี้ปรากฏชัดขึ้นในช่วงการที่เราเผชิญโรคระบาดโควิด19 แต่แม้เป็นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิม ก็ยังต้องการการจัดการดูแลให้เหมาะสมกับยุคสมัย และต้องการตัวอย่างของการจัดการที่ดี ผมคิดว่า โครงการฉลาดทำบุญของพุทธิกาเคลื่อนมาถึงจุดสำคัญที่ทำอย่างไรเราจะยกระดับเรื่องนี้ให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่สังคมไทยเองก็น่าจะประจักษ์แจ้งแล้ว ถึงจุดแข็งของการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไปได้”
นางสาวอภิญญา จารุวัฒนชัยกุล เจ้าหน้าที่โครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่า โครงการ 'คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม' เป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่นำแนวคิดปันกันอิ่มเข้าไปประยุกต์ช่วยเหลือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการว่างงานและกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โดยมีวิธีการคือ นำคูปองอาหารไปมอบให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในชุมชนแทนเงินสดที่ได้จากการรับบริจาคมาจากผู้ใจบุญ เพื่อนำไปซื้ออาหารกับร้านค้าของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยหน้าที่ของร้านค้า คือ ทำอาหารที่สดใหม่ ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โครงการคลองเตยปันกันอิ่มแจกคูปองให้กับทุกคนในชุมชนเป็นเวลา 3 เดือน และจะขยายไปยังชุมชนอื่นอีก 5 ชุมชน โดยให้ผู้นำในชุมชนนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินงานเอง เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการคลองเตยดีจังเป็นผู้คอยแนะนำ
“ในช่วงโควิด 19 ทางคลองเตยดีจังมีการช่วยเหลือชุมชนทั้งการนำข้าวกล่องและนำคูปองปันกันอิ่มไปแจก เมื่อเรากลับไปสอบถามกับคนในชุมชนว่า ระหว่างเอาข้าวกล่องมาให้กับเอาคูปองมาให้ เลือกอันไหน ประมาณ 90 เปอร์เซนต์บอกเลือกเป็นคูปองดีกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชุมชน ผู้ป่วย คนพิการ จะพูดว่า ให้เป็นคูปองดีกว่า เพราะเขาไม่มีแรงที่จะไปต่อคิวรับข้าวกล่อง คนในชุมชนก็หาเช้ากินค่ำ ช่วงกลางวันไม่ค่อยอยู่บ้าน แต่คนที่ไปมอบของให้มักไปตอนกลางวัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะกลับมาอีกทีก็ค่ำ แต่การที่ให้เป็นคูปอง เขาสามารถเลือกเองได้ว่าจะใช้เมื่อไหร่ ร้านค้าในชุมชนก็มีรายได้เข้ามา”
'โครงการปันกันอิ่ม' ถือเป็นการทำบุญรูปแบบใหม่ ที่ทำได้ในง่ายในชีวิตประจำวัน เหมาะกับยุคสมัย โดยผู้ให้จ่ายเงินซื้ออาหารไว้ที่ร้านค้าล่วงหน้า ซึ่งร้านค้าจะเปลี่ยนเป็นคูปอง ให้ใครก็ได้สามารถมารับอาหารไปรับประทานฟรี โดยมีคือร้านขายอาหารเป็น 'สะพานบุญ' เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ วิธีนี้นอกจากช่วยให้ผู้รับอิ่มท้องแล้ว ร้านอาหารในชุมชนก็อยู่รอด ทำให้ในชุมชนมีเงินหมุนเวียน นับได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนที่จะช่วยให้เกิดสังคมที่มีความเกื้อกูล มีวิถีชีวิตสุขภาวะที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ขณะนี้มีร้านเข้าร่วมโครงการ 68 ร้านค้า และศูนย์อาหาร 1 แห่งซึ่งในอนาคตแนวคิดปันกันอิ่มอาจไม่จำเพาะแค่ร้านอาหารต่อไป แต่ปันกันได้ทั้งร้านขายของชำ ร้านขายยา เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากให้กับผู้เดือดร้อน
ภายในงานเสวนายังมี นายสมศักดิ์ เชี่ยวชาญยนต์ เจ้าของร้านมาราธอน ข้าวหมูทอด คุณเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และยังได้รับเกียรติจากอดีตนางเอกละครชื่อดัง 'ดา ชฎาพร รัตนากร' ซึ่งเจอวิกฤตโควิด19 ทำให้ธุรกิจความงามของเธอนั้นต้องปิดชั่วคราวเป็นเวลาหลายเดือน แต่เธอไม่จมอยู่กับความทุกข์ที่เจอ กลับเลือกที่จะมาแบ่งปันอาหารให้คนในชุมชน 'เปลี่ยนเพื่อนทุกข์ ให้สุข เพราะอิ่มท้อง' สำหรับร้านค้าหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมโครงการปันกันอิ่มกับเครือข่ายมูลนิธิพุทธิกา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : พุทธิกา ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา
……………………………………………………..