ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดในประเทศไทย ทั้งอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม สึนามิ แผ่นดินไหว รายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” พร้อมช่วยสังคมและประชาชนเสมอ ครั้งนี้จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนตกงาน ตกทุกข์ได้ยาก “เรื่องเล่าเช้านี้” จึงเปิดโครงการ ‘เรื่องเล่าแบ่งปัน’ เพื่อส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังผู้ที่ยากลำบากต้องตกงาน ขายของไม่ได้ ขาดรายได้ ให้พวกเขาได้ “อิ่มท้อง อิ่มใจ” โดยเรื่องเล่าเช้านี้ขอเป็นสื่อกลางประสานความช่วยเหลือ “ใครที่ต้องอดมื้อกินมื้อ ขอให้สังคมได้มีส่วนช่วยให้เขาได้อิ่มท้องสักมื้อ”
ไก่-ภาษิต อภิญญาวาท พิธีกรรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เปิดเผยว่า “โครงการเรื่องเล่าแบ่งปันเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนจนถึงวันนี้ (4 พฤษภาคม) เราแจกจ่ายมื้ออาหารไปแล้ว 115,045 ชุด มีเงินบริจาคเข้ามากว่า 12 ล้านบาท โดยวันแรกเรานำเงินจากการขายเสื้อเรื่องเล่าเช้านี้ ที่พี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ริเริ่มไว้ ซึ่งเราเรียกกันว่า เงินกองทุนฉุกเฉิน ที่ผ่านมาก็ใช้เงินส่วนนี้สำหรับช่วยเหลือคนที่ลำบาก มาเป็นทุนตั้งต้นก่อน จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดบัญชีเรื่องเล่าแบ่งปัน”
“เรื่องเล่าแบ่งปัน ถือเป็นสื่อกลางประสานให้สองฝ่ายมาเจอกัน คือคนอยากช่วย กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เงื่อนไขไม่มีอะไรเลย ขอเพียงให้ทุกชุมชนที่เราจะไปแบ่งปันมื้ออาหาร ช่วยกันจัดระบบ Social distancing ให้ดีที่สุด ดังนั้นเราจะไม่ไปลงพื้นที่เอง เพราะเท่ากับไปเพิ่มจำนวนคนขึ้นอีก เราขอให้คนในชุมชนช่วยกันทำ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าชาวบ้านจัดการได้ดีมาก บางชุมชนถ้าประเมินแล้วเห็นว่าจะมีจำนวนคนออกมารับเยอะเกินไป ผู้นำก็จะเปลี่ยนวิธี โดยช่วยนำไปแจกให้ตามบ้าน เพราะเขารู้ข้อมูลกันเองดีที่สุด เช่น บ้านไหนมีผู้เฒ่าผู้แก่ มีผู้ป่วยติดเตียงที่ออกมาไม่ได้ ผมมีโอกาสได้คุยกับผู้นำชุมชนแห่งหนึ่ง เขาดีใจมาก ประโยคแรกคือเรื่องเล่าแบ่งปันติดต่อมาแล้ว บังเอิญเขาเป็นคนที่ทำงานด้านสังคมอยู่แล้วด้วย พอรู้ว่าเป็นผม เขาก็พรั่งพรูให้ฟังว่าในชุมชนเขามีคนตกงานเท่านี้นะ ความลำบากเป็นแบบนี้นะ มันเป็นความทุกข์สาหัสตลอดระยะเวลาที่เขาและชุมชนต้องเจอกับภาวะความยากลำบาก ผมฟังแล้วรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยเราได้เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือที่ส่งไปเยียวยาเขา”
“จุดเริ่มต้นของ “เรื่องเล่าแบ่งปัน” มาจากพี่ยุทธ ที่คิดและแนะนำทีมงานว่าควรทำโครงการนี้ให้เร็วที่สุด เพราะ “น้ำแก้วเดียวมีความหมายที่สุดตอนที่คนกำลังหิวน้ำ ถ้าเลยเวลาไปแล้ว คุณให้น้ำมากเท่าไรก็ไม่มีความหมาย” พี่ยุทธเขียนอธิบายมาอย่างละเอียด ทั้งแนวคิด หลักการและวิธีปฏิบัติ ผมรู้เลยว่าด้วยประสบการณ์ที่พี่ยุทธเคยทำโครงการช่วยเหลือแบบนี้มาตลอด ดีเทลต่างๆ จึงเขียนมาเป็นลำดับขั้นละเอียดเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่ช่วยคนที่หิว แต่ถ้ามีโอกาสช่วยพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังแย่ด้วย ถ้าขยายผลได้ให้ไปถึงเกษตรกรที่พืชผลราคาตกด้วย เท่ากับได้ช่วยทั้งสองทาง ซึ่งเมื่อเราเดินไปตามทางที่ได้รับคำแนะนำ สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือ ภาพของคนที่ลำบากได้รับความช่วยเหลือ คำขอบคุณของชุมชน ไปจนถึงฟีดแบ็กจากแฟนข่าวของเรากันเอง ที่ในวันเวลาที่พวกเราเดือดร้อนกันเป็นหมู่คณะ คือเราไม่ได้เดือดร้อนกันลำพัง แต่มันคือภาพรวมของทั้งโลก แล้วเราคนไทยพยายามช่วยเหลือกัน คนที่นั่งดูรายการอาจจะร่วมกันบริจาคคนละเล็กละน้อยตามกำลัง แต่เวลาได้เห็นภาพ เราจะสัมผัสความรู้สึกของการได้ทำเพื่อคนอื่น มันคือความอิ่มเอมใจ และความผูกพันของรายการเรื่องเล่าเช้านี้กับคนดู มันคือครอบครัว ดังนั้นเมื่อคนในครอบครัวเดือดร้อนและเรามีโอกาสได้ช่วยเหลือ โดยช่วยเป็นสื่อกลางให้ มันจึงเป็นความประทับใจ ทุกครั้งที่เข้าช่วง ‘เรื่องเล่าแบ่งปัน’ ภาพที่เห็น เนื้อหาที่อ่าน มันเต็มไปด้วยความประทับใจ ผมขอเป็นตัวแทนทีมงานทุกคนขอบคุณแฟนข่าวทุกท่านมากๆ ครับที่ร่วมช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ และสำหรับชุมชนไหนที่ยังเดือดร้อน เขียนเล่าเรื่องราว ความต้องการ มื้ออาหารในชุมชน เข้ามาทาง Inbox ของเพจ เรื่องเล่าแบ่งปัน ใส่ชื่อ-ชุมชน-จำนวนคน-พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ‘เรื่องเล่าแบ่งปัน’ จะประสานส่งอาหารมื้อแบ่งปันไปให้ยังชุมชนของท่านได้อิ่มกันครับ”