TIJ จัดประชุมอาเซียนด้านยุติธรรมอาญา ACCPCJ ครั้งที่ 2 เสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน สร้างนวัตกรรมแห่งความยุติธรรมเพื่อทุกคน
การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาเป็นประเด็นที่ประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มของอาชญากรรมมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่ท้าทายความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคอาเซียน ในการนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์กรประสานการจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice - ACCPCJ) จึงได้จัดการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ขึ้น ระหว่างวันที่27 -28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา ภายใต้ธีม “การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมทางยุติธรรมเพื่อทุกคน” (Promoting the ASEAN Culture of Prevention for a Collaborative and Innovative Justice for All) โดยมุ่งประเด็นการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime) ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นภายไต้กรอบการดำเนินงานของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM)
การประชุมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน
นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ว่า “การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยการอภิปรายใน 2 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและนวัตกรรมยุติธรรมเพื่อทุกคน และ ความท้าทายของอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นฉันทามติจากประเทศอาเซียนทั้งหมดที่เข้าร่วมหารือว่าเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึง มีการพัฒนารูปแบบและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่ออาชญากรรม ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันว่าควรมีความร่วมมือในการหามาตรการหรือข้อตกลงร่วมกันเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ”
นายวงศ์เทพ กล่าวต่อว่า “TIJ ในฐานะองค์กรประสานการจัดการประชุม ฯ ได้ประสานหน่วยงานที่ดูแลสาขาอื่นของอาเซียนเข้ามาร่วมอภิปรายในครั้งนี้ด้วย ทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากอาเซียน เนื่องจากในมิติของการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์นั้น ไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะอาชญากรรมไซเบอร์มีความเกี่ยวข้องในมิติอื่นๆ ทั้งสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล สังคม ประเทศ และภูมิภาค เช่น การฉ้อโกงผ่านทางระบบการเงินออนไลน์ การลักลอบขโมยข้อมูลองค์กร การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ รวมถึงการค้ามนุษย์ เป็นต้น”
นายโสวันนาแซม อุน ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและข้อตกลง สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญในความร่วมมือเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียนว่า “ปัจจุบันอาเซียนอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2025 ภูมิภาคอาเซียนจะมีตลาดเศรษฐกิจดิจิตัลใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ก็ตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และมีการศึกษาจาก World Economic Forum ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าของผลประโยชน์ที่อาชญากรจะได้รับนั้นสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) เอง ก็มีการหารือกันและให้คำปรึกษารวมถึง ให้ความช่วยเหลือในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์หรืออาชญากรรมข้ามชาติ จะดูในแง่มิติของกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ยังมีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น สังคม หรือวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ เสาหลักของอาเซียนและเราต้องนำมาประมวลผลร่วมกัน แม้ว่าเวทีนี้จะไม่ใช่เวทีกำหนดนโยบายของอาเซียน แต่ก็เป็นเวทีที่สำคัญที่ทำให้หลายๆ ฝ่ายได้มานั่งอภิปราย แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกัน รวมถึง กลุ่มเยาวชน ก็ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่พวกเขากังวล สะท้อนมุมมองจากเยาวชนถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่พวกเขามองเห็น ซึ่งความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้จะได้มีการนำไปรายงานให้กับ ASLOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย”
การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์และการค้ามนุษย์ ก็เป็นอีกรูปแบบของอาชญากรรมไซเบอร์ ที่เกิดขึ้นมากเป็นอันดับต้นๆ ภายในภูมิภาคนี้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดย นางสาวลอแรน มารี ที บาดอย รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการปฏิบัติการและการสื่อสาร ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ในประเทศฟิลิปปินส์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจำนวนมากและมองให้ดี นี่คือ การค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มันถูกทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายและมากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี เราคงต้องยอมรับว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันไร้พรมแดน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการ แต่ข่าวดี คือ ฟิลิปปินส์เองก็ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย ที่ให้ความร่วมมือกับตำรวจฟิลิปปินส์เป็นอย่างดีในการจัดการปัญหาดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของอาชญากรร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา เมื่อมีอาชญากรที่เดินทางออกนอกสหรัฐและเดินทางไปยังฟิลิปปินส์ ก็จะมีการส่งข้อมูลมาให้และทำให้ทางการฟิลิปปินส์สามารถสกัดคนร้ายก่อนเข้าประเทศได้ เป็นต้น ปีที่ผ่านมาเราจึงสามารถดำเนินคดีในประเด็นดังกล่าวได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามการปรับปรุงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ดีที่สุดและทำได้รวดเร็วและดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ผลที่น่าพอใจ ยังมีเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออีกหลายพันคนในฟิลิปปินส์ การป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกันร่วมกันภายในภูมิภาคจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถทำงานแบบต่างคนต่างทำได้อีกต่อไป เราจะต้องยกระดับความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์และอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะปัจจุบัน โลกของเรามันเล็กลงจนแทบจะไร้พรมแดน
เราไม่สามารถคิดถึงแต่ตัวเองหรือประเทศของเราเองได้อีกต่อไป แต่เราทุกคนคือพลเมืองโลกและเราต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อน คือเริ่มที่อาเซียนนั่นเอง”
นางสาว เหวียน ฟาน ถุ่ย ลิน ผู้แทนเยาวชนเวที TIJ Youth Forum จากประเทศเวียดนาม ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องของอาชญากรรมไซเบอร์ในมุมมองของเยาวชนว่า “ในประเทศเวียดนาม เด็กๆ เข้าถึงอินเตอร์เน็ตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่แม้จะมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีได้ แต่พวกเขาก็ขาดการตระหนักรู้หรือไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ไม่มีหลักสูตรหรือการให้การศึกษาด้านความเท่าทันสื่อ (Media Literacy) อย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในเวียดนาม แต่ยังเป็นปัญหาร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย สำหรับแนวทางของการแก้ปัญหานั้น ทางกลุ่มเยาวชนของเราก็พยายามรับมือ โดยพยายามสร้างทักษะในด้านการเท่าทันสื่อ ให้กับเยาวชน เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราได้พยายามจัดเวิร์คชอปที่โรงเรียน และทำออนไลน์โปรแกรมที่ชื่อว่า Disconnected จัดสัมมนา รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์มาให้ความรู้ด้วย
เรื่องข่าวปลอมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาบนโซเชียลมีเดียในเวียดนาม ได้มีการจัดทำเพจหรือกรุ๊ปเพื่อรวบรวมข่าวปลอมหรือข่าวลวงต่างๆ ขึ้น และสมาชิกก็จะพยายามช่วยกันหาคำตอบหรือข้อมูลที่เป็นทางการมาเพื่อยืนยันและแก้ไขข้อมูลผิด ๆ จากข่าวนั้น ซึ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่พวกเราเยาวชนในเวียดนามใช้เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์”
ในตอนท้ายของการประชุม นายวงศ์เทพ ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายของการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 ว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของ TIJ ที่ช่วยประสานประเด็นในทุกมิติจากผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ไม่เฉพาะในระดับผู้ใหญ่ แต่รวมถึงเยาวชนที่ถือเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งโลกยุคใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูล และออกแบบแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่ครอบคลุม โดยข้อสรุปจากการอภิปรายที่ถือเป็นฉันทามติร่วมกันนี้ จะถูกนำไปพัฒนาแนวทางการป้องกันอาชญากรรมและอาชญากรรมไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระดับต่อไป”
ทั้งนี้ TIJ จะนำผลจากการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 นำเสนอต่อที่ประชุมของอาเซียนในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรม
ทางอาญาของประชาคมอาเซียนให้รับมือต่อปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น โดยการประชุมที่เกี่ยวข้องครั้งต่อไป คือ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASEAN Senior Law Officials Meeting: ASLOM) ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2563 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา