xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นตำนานนักร้อง “เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” ชื่อนี้มีที่มา...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นข่าวเศร้าครั้งใหญ่ของวงการเพลงบ้านเราเลยก็ว่าได้ สำหรับการเสียชีวิตของนักร้องเจ้าของฉายา “เสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง ในวัย 86 ปี

“สุเทพ วงศ์กำแหง” เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยหลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 เจ้าตัวจึงได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนโรงเรียนเพาะช่าง เนื่องจากมีความสามารถในเรื่องของการวาดเขียน

ไม่เพียงแต่ความสามารถทางด้านของงานศิลปะเท่านั้น เจ้าตัวยังมีความสามารถทางด้านการร้องเพลงอีกด้วย โดยมีนักร้องทีชื่นชอบ อาทิ วินัย จุลละบุษปะ สถาพร มุกดาประกร ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ

ในเวลาต่อมา สุเทพ ได้รู้จักกับ ครูไศล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงชื่อดังที่มองเห็นแวว เจ้าตัวจึงได้ชักชวนสุเทพมาทำงานเพลง และนั่นเองที่ทำให้เขาได้มีโอกาสร้องเพลงสลับฉากละคร ตามงานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียง กระทั่งเจ้าตัวได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงของตนเอง ก่อนจะถูกชักชวนให้เข้ากองทัพอากาศ ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ

ระหว่างนั้นเองชื่อเสียงของเจ้าตัวก็เริ่มเป็นที่รู้จักหลังมีโอกาสได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้น และสถานีวิทยุได้นำเพลงไปเผยแพร่ ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจออกมาเป็นนักร้องอย่างเต็มตัว มีผลงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเพลงประกอบหนังในยุคที่หนังไทยกำลังเฟื่องฟู รวมถึงทำการแสดงในบางเรื่องด้วย

กระทั่งมีโอกาสได้ร้องเพลงคู่กับนักร้องรุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอย่าง “สวลี ผกาพันธุ์” ตั้งแต่นั้นมาชื่อของ “สุเทพ วงศ์กำแหง” ก็กลายเป็นที่รู้จักอย่างมากมายและเกิดเป็นคู่ขวัญขึ้นมา

ทั้งนี้ สิ่งที่โดดเด่นของเจ้าตัว ก็คือ ลีลาการร้องเพลงและน้ำเสียงที่นุ่มทุ้มลึก มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กระทั่งนักเขียนชื่อดังอย่าง “รงค์ วงษ์สวรรค์” ให้ฉายาเค้าว่า “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์”

สำหรับบทเพลงประกอบหนังที่เจ้าตัวขับร้องนั้นมีอยู่มากมาย อาทิ ป่าลั่น (เทพบุตรนักเลง), สกาวเดือน (สกาวเดือน), แผ่นดินของเรา (โพระดก), มนต์รักบ้านนา (มนต์รักบ้านนา), ดอกอ้อ (ดอกอ้อ), แววมยุรา (แววมยุรา), ยอดพธูเมืองแปร (ผู้ชนะสิบทิศ), ปองใจรัก และ จุฬาตรีคูณ (จุฬาตรีคูณ) ฯลฯ

ขณะที่บทเพลงอื่นๆ ที่ยังคงเป็นอมตะมาจนถึงวันนี้ก็มีอยู่มากมาย อาทิ ในโลกแห่งความฝัน (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน), ใจพี่ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน), ครวญ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน), ตัวไกลใจยัง (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 2522), ดาวลอย, ดอกแก้ว, โลกนี้คือละคร, คนจะรักกัน, บทเรียนก่อนวิวาห์, คืนหนึ่ง, วิญญาณในภาพถ่าย, ชื่นรัก, เสน่หา ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2533 สุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2562 เจ้าตัวได้ล้มป่วยลง โดยมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะมาเสียชีวิตตามข่าวที่ออกมา


กำลังโหลดความคิดเห็น