xs
xsm
sm
md
lg

“ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์” ฝรั่งหัวใจไทย ผู้สร้างสรรค์บทเพลงพระราชนิพนธ์กีตาร์คลาสสิกสุดไพเราะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ ยอดมือกีตาร์ชาวเยอรมันผู้หลงใหลในความเป็นไทย
“ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแจ๊สหรือดนตรีอื่นใด ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของทุกคน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในเราทุกคน สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือบางสิ่งที่ละเอียดอ่อนและสวยงาม เราควรเห็นคุณค่าของดนตรีในทุกรูปแบบ เพราะดนตรีทุกประเภทมีกาลเทศะของตัวมันเอง ซึ่งตอบสนองต่ออารมณ์ที่แตกต่างกัน”

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระปรีชาสามารถทางด้าน “ดนตรี” คือหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะและได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

บทเพลงพระราชนิพนธ์ 48 เพลงในช่วง พ.ศ. 2489-2538 ของพระองค์ท่าน แสดงให้เห็นถึงการทรงความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงประพันธ์บทเพลงแจ๊สและบลูส์ที่ถือเป็นความแปลกใหม่ก้าวหน้าของวงการเพลงไทย

เพลงพระราชนิพนธ์หลายบทเพลงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กลายเป็นบทเพลงอมตะที่อยู่คู่ฟ้าเมืองไทยมาจนทุกวันนี้

สำหรับหนึ่งในบรรดาศิลปิน นักร้อง นักดนตรี วงดนตรี ที่อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านมาร้องมาเล่นนั้น ผลงานเพลงพระราชนิพนธ์บรรเลงกีตาร์คลาสสิกของ “ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์” (Hucky Eichelmann) นับเป็นหนึ่งในผลงานที่มีความไพเราะ แตกต่าง และมีความโดดเด่นคุ้นหูคนไทยเราเป็นอย่างดี แม้ว่าลีลาการพรมนิ้วบทเพลงพระราชนิพนธ์ผ่านกีตาร์คลาสสิกของเขาในชุดแรกจะกินเวลาเนิ่นนานผ่านมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม

แต่ก่อนที่จะไปรู้จักกับผลงานเพลงพระราชนิพนธ์กีตาร์คลาสสิกของเขา เรามารับรู้ที่มาที่ไปของฝรั่งหัวใจไทยที่ชื่อ ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ คนนี้กันเสียหน่อย

ฮัคกี้เป็นมือกีตาร์คลาสสิกระดับโลกชาวเยอรมัน เขาเคยร่วมงานกับยอดนักดนตรีเอกของโลกมาแล้วมากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ริชาร์ด ฮาร์วีย์,จอร์จ วินสตัน,จอห์น วิลเลี่ยมส์,นินา คอร์ติ รวมไปถึงคนสำคัญอย่าง ราวี แชงการ์ ผู้ได้ปรับแต่งงานดนตรีให้กับเขา

ฮัคกี้จบปริญญาโทด้านดนตรีคลาสสิกจากบ้านเกิด เยอรมนี หลังจากนั้นเขาได้ค้นหาพัฒนาแนวทางงานดนตรีของตัวเองด้วยการเชื่อมโยงวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก จนเขาได้รับการยกย่องให้เป็นทูตดนตรีที่เชื่อมต่อความเป็นตะวันออกกับตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันในเวลาต่อมา

ปกเทปชุดคืนหนึ่ง
หลังจากเยอรมนีบ้านเกิดมาอยู่เมืองไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วฮัคกี้ได้พบความงดงาม น่าทึ่ง และซาบซึ้งประทับใจกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เขาจึงทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ จำนวน 10 เพลง มาบรรเลงในรูปแบบกีตาร์คลาสสิก ซึ่งทางสำนักราชเลขาได้มีจดหมายพระราชทานพระบรมราชานุญาตตอบกลับมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2524

จากนั้นก็ได้มีอัลบั้ม(เทปคลาสเซ็ท) เพลงพระราชนิพนธ์กีตาร์คลาสสิค “คืนหนึ่ง” โดย ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ขึ้น ซึ่งในปกเทปไม่ได้ระบุปีที่ผลิตไว้ แต่ผมจำได้เลา ๆ ว่าได้เทปชุดนี้มาในช่วงที่กำลังหัดเล่นกีตาร์คลาสสิค ถ้าจำไม่ผิดอยู่ในช่วงปี 2530 (ขออภัยที่จำพ.ศ.ไม่ชัดเจนเพราะมันนานมากแล้ว) ก่อนที่ต่อมาจะได้โน้ตบทเพลงพระราชนิพนธ์กีตาร์คลาสสิกหลายเพลงจากอัลบั้มนี้ ที่ไปขอเพื่อนถ่ายเอกสารต่อมาอีกทีเพื่อมาฝึกเล่นแบบกระท่อนกระแท่น

อัลบั้มชุดนี้เรียบเรียงเสียงประสาน กีตาร์โดย เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ สตริงโดย อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ และบรรเลงโดยฝีมืออันยอดเยี่ยมของฮัคกี้ มีทั้งหมด 10 บทเพลงได้แก่ หน้าหนึ่ง 1. สายฝน 2. ยามเย็น 3. เมื่อโสมส่อง 4. แก้วตาขวัญใจ 5. แผ่นดินของเรา หน้าสอง 6. แสงเทียน 7. แสงเดือน 8. ค่ำแล้ว 9. เทวาพาคู่ฝัน และ 10. ใกล้รุ่ง ส่วนภาพปกเป็นท้องฟ้าสีแดงเรื่อเรืองยามเช้าหรือเย็นของทะเลที่ไหนสักแห่ง

อัลบั้มคืนหนึ่งนับเป็นหนึ่งในความแปลกใหม่ของวงการเพลงไทย เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่มีการนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิก (สมัยนั้นแค่ผลงานเพลงบรรเลงกีตาร์คลาสสิกที่สร้างสรรค์จากภายในประเทศฟังก็ยากเต็มทีแล้ว)

งานเพลงชุดนี้แม้จะเป็นผลงานบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิก แต่ว่าในหลายเพลงก็จะมีท่วงทำนองจากเสียงสตริง (ซินธิไซเซอร์) ที่ล่องลอย หรือเสียงประกอบอื่นๆนำส่งบทเพลงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเสียงระฆัง เสียงจุดไฟในเพลงแสงเทียน เสียงคล้ายลมพัดพลิ้วในเพลงสายฝน

อย่างไรก็ตามสำหรับเทปชุดคืนหนึ่งถึงวันนี้ได้กลายเป็นเพียงตำนานไปแล้ว เพราะเขาเลิกผลิตไปนานแล้ว แต่งานเพลงพระราชนิพนธ์บรรเลงกีตาร์คลาสสิกฝีมือของฮัคกี้ในชุดนี้ยังคงมีให้ฟังกันในรูปแบบซีดีกับผลงานอัลบั้มชุด “Candlelight Blues” ที่เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มบทเพลงพระราชนิพนธ์สุดคลาสสิก

อัลบั้ม Candlelight Blues
Candlelight Blues เป็นอัลบั้มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2538 โดยเพิ่มเพลงใหม่จากอัลบั้มคืนหนึ่งเข้ามา 5 เพลง แต่ได้ตัดเพลง “เทวาพาคู่ฝัน” และ “แผ่นดินของเรา”ออกไป รวมแล้วมีทั้งหมด 13 เพลง ได้แก่ 1. Lullaby(ค่ำแล้ว) 2. Falling Rain(สายฝน) 3. Friday Night Rag(ศุกร์สัญลักษณ์) 4.I Never Dream(เมื่อโสมส่อง) 5. H.M. Blues (ชะตาชีวิต) 6. Magic Beams (แสงเดือน) 7. Never Mind the Hungry Men’s Blues(ดวงใจกับความรัก) 8. Dream Island (เกาะในฝัน) 9. Love in Spring(ลมหนาว) 10. Near Dawn (ใกล้รุ่ง) 11. Lovelight in my Heart(แก้วตาขวัญใจ) 12. Love at Sundown(ยามเย็น) และ 13. Candlelight Blues (แสงเทียน)

ในขณะที่ผู้เรียบเรียงทางกีตาร์นั้นนอกจากเขตต์อรัญแล้วก็มี สำราญ ทองตัน, โสภณ จัทรมิตร และ จิรเดช เสตะพันธุ อัลบั้มนี้นอกจากเรื่องการเพิ่มเพลงใหม่และตัดบางเพลงออกไปแล้ว ความต่างอีกอย่างหนึ่งในอัลบั้มชุดนี้กับอัลบั้มคืนหนึ่งก็คือ บทเพลงทั้งหมดบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิกตัวเดียว ไม่มีซาวนด์ประกอบนำเข้าสู่ตัวเพลงอย่างในอัลบั้มคืนหนึ่ง

Candlelight Blues ไม่ใช่อัลบั้มที่หวือหวา โชว์ฝีมือ โชว์ความรวดเร็วของลูกนิ้ว โชว์ความเหนือชั้นของการเรียบเรียงเสียงประสาน หากแต่เป็นอัลบั้มที่สามารถตีความบทเพลงพระราชนิพนธ์ผ่านเสียงกีตาร์คลาสสิกออกมาได้อย่างถึงอารมณ์ เน้นความไพเราะลงตัว ฟังสบาย เสียงกีตาร์ใสปิ๊ง มีไดนามิค(ดัง-เบา) มีรายละเอียดสอดแทรกครบรส ทั้ง ไลน์ประสาน ไลน์เบส ลูกเล่น โทนคัลเลอร์ที่เสริมประสาน ซึ่งเครดิตอันนี้ต้องยกให้กับความสามารถฝีมือและทางกีตาร์อันยอดเยี่ยมเป็นเอกอุของฮัคกี้ที่ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า นี่เป็นการบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิกเพียงตัวเดียว

สำหรับบทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้ผมขอแบ่งเป็นกลุ่มตามอารมณ์เพลง ประกอบด้วย

- กลุ่มเพลงสนุก ๆ สดใส ฟังสบาย มีกลิ่นอายแจ๊สด้วยลูกสวิงกระฉับกระเฉง สำหรับเพลงในกลุ่มนี้ได้แก่ “ศุกร์สัญลักษณ์” ที่เด่นไปด้วยไลน์เบสนิ้วโป้งเล่นแบบแรกไทม์, “เกาะในฝัน” ที่มาในลูกเล่นและสำเนียงออกฮาวายนิดๆชวนให้นึกถึงกลิ่นอายทะเล, “แสงเดือน” เพลงนี้ไลน์ประสานที่เล่นไล่โน้ตล้อตามเมโลดี้หลักของเพลงนั้นกลมกล่อม น่าฟังมาก

ส่วน“ยามเย็น” มีอินโทรเปิดนำมาก่อนส่งเข้าเพลงอย่างสดใส...แดดรอนๆ เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา...ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่“ใกล้รุ่ง”นั้นมาในอารมณ์สดใสคล้ายกับยามเย็น เพลงนี้ในท่อนสองเด่นไปด้วยไลน์วอล์คเบส(นิ้วโป้ง)ที่ผสมเบสไลน์ร็อคแอนด์โรลเข้าไปได้อย่างน่าฟัง

- กลุ่มเพลงบลูส์ ได้แก่ “ชะตาชีวิต” ฟังเด่นไปด้วยไลน์เบสเดินคู่ขนานกันไปกับเมโลดี้หลัก “ดวงใจกับความรัก” มีการใช้โน้ตบลูส์สอดประสานเติมเต็มล้อไปกับเมโลดี้หลักตลอด ส่วน “แสงเทียน” บลูส์เนิบ ๆ เหงา ๆ ในสัดส่วน 6/8 เปิดพื้นที่ให้ไลน์ประสานได้สอดแทรกตัวโน้ตขึ้นมาตีคู่ไปกับเมโลดี้หลัก ชวนให้นึกถึงเนื้อเพลง “จุดเทียนบวงสรวง ปวงเทพเจ้า สวดมนต์ค่ำเช้าถึงคราวระทมทน โอ้ชีวิตหนอล้วนรอความตายทุกคน หลีกไปไม่พ้นทุกข์ทนอาทรร้อนใจ...”ที่เนื้อหาสอนใจเราได้เป็นอย่างดี

- กลุ่มเพลงอารมณ์เนิบช้า นำโดยเพลงเปิดอัลบั้ม “ค่ำแล้ว” ที่เล่นฮาร์โมนิคขึ้นต้นนำมาก่อนส่งเข้าเพลงอย่างเหงาเศร้าซึ้ง, “เมื่อโสมส่อง” มาในกลิ่นวอลซ์ช้า ๆ ฟังสบาย, “แก้วตาขวัญใจ” ใช้วิธีการเล่นเมโลดี้เดินเรื่องคู่ไปกับการเกากีตาร์เป็นหลัก ฟังหวาน รื่นหู, “ลมหนาว” ฟังเหงา เศร้า เข้ากับบรรยากาศสายลมหนาวพัดพลิ้วในช่วงนี้ดีแท้

ส่วนเพลงสุดท้ายในกลุ่มอารมณ์เนิบช้าที่ผมยกให้เป็นสุดยอดแห่งอัลบั้มนั้นก็คือ เพลง “สายฝน” เพลงนี้ใช้เทคนิคการเล่นทรีโมโล(Tremolo : การใช้ 3 นิ้ว ชี้ กลาง นาง ดีดรัวในสายเดียว ส่วนนิ้วโป้งเล่นเบส) ที่ฟังแล้วชวนเคลิบเคลิ้มและหลงใหลไปกับความรู้สึกเย็นฉ่ำของสายฝนที่โปรยสายลงมาให้ความชุ่มฉ่ำชุ่มชื่นกับต้นไม้ใบหญ้าและมวลมนุษยชาติ ยิ่งใครฟังแล้วนึกถึงเนื้อร้องอันไพเราะพร้อมปล่อยจินตนาการให้ล่องลอยตามไปด้วยก็จะยิ่งเห็นภาพและขนลุกกับความงดงามที่บังเกิดขึ้น

“...เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม...”

ครับ และนั่นก็คือ 13 บทเพลงในอัลบั้ม Candlelight Blues ที่ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์ นำมาถ่ายถอดผ่านสรรพเสียงของกีตาร์คลาสสิกเพียงตัวได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ละเมียดละไม และหลากหลายอารมณ์ ซึ่งตัวโน้ตต่าง ๆ ที่เขาถ่ายทอดลงบนเส้นเอ็น 6 สายนั้น (นับตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเทปชุดคืนหนึ่ง) ณ วันนี้เป็นดังแม่แบบให้กับคนกีตาร์คลาสสิกที่เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหลาย

นอกจากอัลบั้มชุด Candlelight Blues แล้ว ฮัคกี้ยังมีผลงานเพลงพระราชนิพนธ์บรรเลงกีตาร์คลาสสิกชุด 2 ในชื่อ “Sweet Words” ออกตามมาในภายหลัง ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มผลงานเพลงพระราชนิพนธ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งทั้งสองอัลบั้มทั้งแบบแยกขายเฉพาะซีดีเดี่ยวๆ กับแพ็คเกจคู่ ซีดี+โน้ตกีตาร์คลาสสิก(เหมาะสำหรับคนเล่นกีตาร์นำไปฝึกฝน)

นับได้ว่าฮัคกี้เป็นหนึ่งในผู้เปิดโลกเพลงพระราชนิพนธ์ด้วยกีตาร์คลาสสิกคนสำคัญให้สาธารณะชนคนไทยได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นผู้นำบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับฮัคกี้ ไอเคิลมานน์แล้ว แม้จะเป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด แต่วิถีและจิตใจของเขานั้นมีความเป็นไทยอย่างเต็มเปี่ยม ที่สำคัญคือเขารักเมืองไทยมากกว่าคนไทยหลาย ๆ คนเสียอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น