สนุกขึ้นเรื่อยๆ สำหรับละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" โดยเฉพาะที่ออกอากาศในคืนวันพุธที่ 28 มีนาคมนี้ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่มาจากภาพประวัติศาสตร์ที่คณะราชทูตจากฝรั่งเศสชุดแรกนำโดย "เชอวาลิแยร์ เดอ โชมองต์" เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ ที่ลพบุรี ที่หลายคนคุ้นเคยนั่นเอง
ทั้งนี้ตามบันทึกต่างๆ นั้นได้มีการบอกเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในตอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจตั้งแต่ที่มาของการเข้าเฝ้าเนื่องเพราะสมเด็จพระนารายณ์จึงตัดสินพระทัยหันไปผูกมิตรกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปในเวลานั้นเพื่อเป็นการคานอำนาจของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ในการเข้าเฝ้าครั้งดังกล่าว ปรากฏว่าได้ เกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องพระราชพิธีรับราชทูตในครั้งนั้น เนื่องจากขุนนางฝ่ายไทยมองว่าอีกฝ่ายเป็นแค่ตัวแทนไม่มีพระราชอำนาจใดๆ
ขณะที่ทางฝ่ายฝรั่งเศสเองแม้จะทราบเรื่องธรรมเนียมการเข้าเฝ้าแต่ก็ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามเพราะเห็นว่าไม่สมเกียรติในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าสมเด็จพระนารายณ์นั้นทรงมีพระราชประสงค์จะยกย่องคณะทูตฝรั่งเศสให้เหนือกว่าชาติอื่นอยู่ก่อนแล้ว และในการณ์นี้ก็ได้ทรงโปรดให้ "ฟอลคอน" ที่ในเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระฤทธิคำแหงภักดี” เป็นผู้แทนพระองค์
ในเรื่องการถวายพระราชสาส์น เดิมฟอลคอนตั้งใจว่าจะอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ลงเรือพระที่นั่ง จากนั้นแล้วจึงมอบให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่นำขึ้นถวาย แต่ตัวโชมงต์ไม่ยอมเด็ดขาด และต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์โดยตรงตามอย่างธรรมเนียมยุโรป
นอกจากนี้เพราะสมเด็จพระนารายณ์จะประทับในที่สูง ฟอลคอนจึงเสนอให้ใช้พานมีด้ามจับถวายพระราชสาส์น แต่ทางฝรั่งเศสไม่ยอมอีกเช่นกัน ได้เรียกร้องให้ลดพระราชบัลลังก์ที่ประทับลงมาหรือทำยกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อให้ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ ซึ่งฟอลคอนเองได้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามนั้น
ในวันเข้าเฝ้าจริงคณะทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นต่อสมเด็จพระนารายณ์ ตัวโชมงต์และชาวฝรั่งเศสทั้งปวงได้รับเกียรติให้สวมหมวกและรองเท้าเวลาเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่งเศส และมีเก้าอี้ให้โชมงต์ได้นั่งรอ
ทว่าเมื่อโชมงต์ได้เข้าเฝ้าแล้วกลับพบว่าฟอลคอนผิดสัญญาที่ให้ไว้ เพราะสมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่บนสีหบัญชรที่สูงมากจนไม่สามารถถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ และฟอลคอนกลับเอาพานซึ่งมีด้ามจับยาวสามฟุตมาให้โชมงต์วางพระราชสาส์นสำหรับชูถวายขึ้นไปแทน
เรื่องดังกล่าวทำให้โชมงต์ไม่พอใจ และไม่ยอมชูพานนั้นขึ้นไปสุดแขน ด้วยเห็นว่า ไม่สมเกียรติ เพราะเขาต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ใกล้ที่สุด และประสงค์จะให้สมเด็จพระนารายณ์น้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับ แม้ฟอลคอนที่หมอบอยู่จะพยายามบอกให้ยื่นพานขึ้นไป โชมงต์ก็ไม่สนใจ และได้บันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้เชิญพระราชสาส์น จากมือบาดหลวงแอปเบเดอ ชวยซี คิดจะถวายดังเช่นข้าพเจ้าได้พูดตกลงไว้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีซึ่งไปเฝ้าด้วยข้าพเจ้าคลานเข้าไปด้วยมือกับเข่า เรียกข้าพเจ้า แล้วบุ้ยชี้ให้ข้าพเจ้ายกแขนเชิญพระราชสาส์นขึ้นให้ถึงพระเจ้าแผ่นดิน แต่ข้าพเจ้าทำเปนไม่ได้ยินนิ่งเสีย”
บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ก็บันทึกไว้ว่า...“ท่านราชทูตได้กระซิบบอกข้าพเจ้าว่า “ผมจะถวายพระราชสาส์นได้แต่ด้วยวิธีใช้ด้ามต่อส่งขึ้นไปเท่านั้น แต่ผมไม่ยอมทำเช่นนั้นเป็นอันขาด” ข้าพเจ้าขอสารภาพว่าข้าพเจ้ามีความลำบากใจมากทีเดียว ไม่ทราบจะแนะนำท่านไปประการใดจึงจะสมควร
ข้าพเจ้านึกว่าจะยกเก้าอี้ที่นั่งของท่านราชทูตไปตั้งให้ชิดกับแนวพระราชบัลลังก์เพื่อให้ท่านก้าวขึ้นไปยืน หากในทันใดที่ท่านกล่าวคำกราบบังคมทูลจบลงท่านก็ตกลงใจเสียแล้ว คือเดินตรงเข้าไปหน้าพระราชบัลลังก์อย่างองอาจ โดยถือพานพระราชสาส์นติดมือไปด้วย แล้วถวายพระราชสาส์นต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยมิได้ชูศอกขึ้นเลย
ดังกับว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ต่ำเสมอกับตัวท่านฉะนั้นฟอลคอนซึ่งหมอบอยู่กับพื้นท้องพระโรงเบื้องหลังเรา ร้องบอกท่านราชทูตว่า
“ชูขึ้นไปซิชูขึ้นไป”
แต่ท่านราชทูตก็หาชูแขนขึ้นไม่”
อย่างไรก็ตาม หลักฐานฝรั่งเศสหลายชิ้นระบุตรงกันว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงน้อมพระองค์ออกจากสีหบัญชรมารับพระราชสาส์น โดยทรงพระสรวล (หัวเราะ) และทรงนำพระราชสาส์นนั้นจบเหนือเศียรเกล้าเป็นการให้เกียรติ หลังจากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับราชทูตแล้วจึงเป็นอันเสร็จพิธี...
เหล่านี้คือตามบันทึกประวัติศาสตร์ ส่วนในละครนั้นผู้อ่านสามารถอ่านย้อนหลังเรื่องราวในตอนนี้ได้ที่ บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 19
...
ที่มา : วิพากษ์ประวัติศาสตร์