บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 19
บทประพันธ์ : รอมแพง บทโทรทัศน์ : ศัลยา
หน้าห้องการะเกด
ขุนศรีวิสารวาจาฟังอย่างตั้งใจ ผินกับแย้มได้ยิน หน้าเลิ่กลั่ก
กระซิบกันเบาๆ “เสียงร้องไห้ แม่นายร้องไห้”
ขุนศรีวิสารวาจาห่วงกังวลจนเครียดมาก
"จะทำฉันใดดีนังแย้ม" ผินถาม
"เข้าไปมั้ย...ไป"
ผินเดินตามแย้มไปเร็วๆ
ขุนศรีวิสารวาจาลังเล เขยิบตัวจะตาม
เสียงเกศสุรางค์จากด้านในบอก"พี่ผินพี่แย้มอย่าเพิ่งกวนใจข้า"
ขุนศรีวิสารวาจาเดินมา ยืนคิด
จวง จิกกำลังปั้นดินสอพองตรงนั้นหันมามอง
ผิน แย้มเดินออกมา หน้าตาปานกัน
ขุนศรีวิสารวาจาเรียก "นังผิน นังแย้ม"
"เจ้าค่ะ"
"แม่นายเอ็งมีเรื่องโศกเศร้าอันใด เอ็งสองคนไม่รู้กันเลยฤๅ"
"ไม่รู้เจ้าค่ะ"
ขุนศรีวิสารวาจายืนนิ่งอยู่สักครู่
"ข้าใคร่รู้ยิ่งนัก"
สองคนหน้าเสีย
"ข้ามิอยากให้แม่นายของเอ็งสองคนต้องทุกข์ใจแม้แต่น้อย มิว่าจะเป็นเรื่องใดๆ เอ็งสองคนรักภักดีต่อนางข้ารู้ จงอย่าละเลยดูแลนาง ถ้ารู้ว่านางโศกเศร้าด้วยเรื่องอันใดมาแจ้งข้าด้วย"
บ่าวทั้งสองคน ซาบซึ้งเหลือจะกล่าว ลงกราบ
"แม่นายของเอ็งมิได้ร้ายกาจเหมือนเก่าแล้วหนานางผินนางแย้มW
สองบ่าวน้ำตากบตา จวงกับจิกก็ได้ยิน
ในห้อง เกศสุรางค์นั่งนิ่ง น้ำตายังเป็นคราบ ทอดถอนใจใหญ่ ซบหน้ากับท่อนแขน คิดถึงเรืองฤทธิ์
ภาพต่างๆที่แสนสุขสนานระหว่างเกศสุรางค์กับเรืองฤทธิ์ที่กรุงเทพฯ ผ่านเข้ามา จนเป้ฯภาพสุดท้ายที่ขุนเรืองอภัยภักดียิ้มกว้างเหมือนเรืองฤทธิ์
"เฮ้อ...ไอ้เรือง ชั้นเคยรักแกนะเว้ย รักมากเสียด้วย แต่ทำไมตอนนี้ไม่รักเหมือนตอนนั้น"
บ้านออกญาโกษาธิบดี
ขุนเรืองอภัยภักดีมาหาแม่หญิงจันทร์วาด แต่เจอคุณหญิงนิ่มสกัดจุด
"กระผมเอาดอกไม้สดมาฝากแม่หญิง เพราะได้ยินว่าแม่หญิงจะกรองอุบะดอกไม้สดขอรับ"
"วันนี้แม่จันทร์วาดร้อยอุบะเสร็จแล้วไม่ทำอีก"
"ดอกไม้ลอยน้ำดื่มก็ได้ขอรับ มีทั้งมะลิมีทั้งกุหลาบ"
"เอากลับไปเถิดขุนเรือง แม่จันทร์วาดไม่เอาหรอก... เอาไปให้ผู้อื่นเถอะจะได้ประโยชน์มากกว่า"
คุณหญิงนิ่มเดินเข้าเรือนทันที บอกบ่าวเบาๆแต่พอได้ยิน
"อย่าให้แม่จันทร์วาดออกมาหน้าเรือน" แล้วเดินลับตัวไป
จันทร์วาดแอบอยู่แถวนั้น
ขุนเรืองอภัยภักดียืนนิ่งสักครู่ จะกลับ
"ขุนเรืองอภัยภักดีเจ้าคะ"
ขุนเรืองอภัยภักดีหันกลับ หน้าชื่นขึ้นทันที
"เอาดอกไม้สดมาให้เป็นพระคุณค่ะ"
"ยินดีอย่างยิ่งแม่หญิง"
"แต่รับไว้มิได้ด้วยว่ากรองอุบะเสร็จแล้วค่ะ"
สายตาของจันทร์วาดบอกเป็นนัยว่ารับไม่ได้เพราะแม่ ขุนเรืองอภัยภักดีเข้าใจ
"ไม่เป็นไรมิได้แม่หญิง ขอให้ดอกไม้อยู่ในสายน้ำหน้าเรือนแม่หญิงก็พอ"
ขุนเรืองอภัยภักดีโปรยดอกไม้ลงน้ำ
แม่หญิงจันทร์วาดเข้ามาหยิบดอกไม้โปรยลงน้ำช้าๆ ด้วยสีหน้าที่ลึกซึ้งมั่นคง
ขุนเรืองอภัยภักดีชำเลืองดู รู้ในความนัยนั้น
ท่าน้ำ เรือนออกญาโหราธิบดี วันรุ่งขึ้น
ขุนเรืองอภัยภักดีมาปรึกษษเกศสุรางค์
"ตื๊อ...ขุนเรือง ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก"
ขุนเรืองอภัยภักดีงุนงงยิ่งนัก
"เอ้า...ทำหน้าอย่างนั้นไม่รู้เรื่องเหรอคะ ข้าหมายความว่า ขุนเรืองอย่ายอมแพ้ต้องไปหาแม่จันทร์วาดบ่อยๆ ไปทุกวันเลยยิ่งดี"
"คุณหญิงนิ่มแม่ของนางรังเกียจข้าออกนอกหน้า ข้าคงหมดหวังต้องหันกลับมาขอพันผูกกับออเจ้าอย่างเคยกระมัง"
เกศสุรางค์หัวเราะปากกว้างอย่างขำมาก
ขุนเรืองอภัยภักดีหัวเราะด้วย "แม่การะเกดออเจ้าขำอะไรนักหนา"
"ขำขุนเรืองน่ะสิคะ...มโนสุดยอด"
"มโน...สุดยอด" ขุนเรืองอภัยภักดีทวนคำ
"ค่ะ พูดจริงจังนะคะ ขุนเรืองต้องตื๊อ ไปหาทุกวันนะคะ คุณหญิงนิ่มชอบของกำนัล เอาไปเลย...ทุกวัน ประเคนเข้าไป เข้าใจมั้ยคะ"
ขุนเรืองอภัยภักดีมองหน้าเกศสุรางค์ เลื่อมใสมาก
"แต่ข้าไม่ชอบติดสินบน"
เกศสุรางค์สวนคำ
"โธ่...ก็มันใช่เมื่อไหร่คะ มันแบบว่าให้ด้วยความรัก...รักรึเปล่าคะ"
ขุนเรืองอภัยภักดีพยักหน้า ยอมรับ
"นางงามนะ แม้ว่าจะงามไม่เท่าออเจ้า แต่ข้ามิอาจรักออเจ้าแม้ว่าข้าจะอยากรักออเจ้า ด้วยเหตุว่าคู่หมั้นของออเจ้าเขารักออเจ้ามากจนข้ามิอาจยื้อแย่งออเจ้าแม้ว่าข้าจะอยากทำเพียงใด"
ขุนเรืองอภัยภักดีพูดติดต่อกันอย่างเร็ว จนเกศสุรางค์เป็นฝ่ายนั่งหน้าเหวอ อ้าปากค้างเสียเอง
ขุนเรืองอภัยภักดีจ้องหน้าเกศสุรางค์อย่างเอ็นดูที่สุด
ขุนศรีวิสารวาจาที่ยืนจ้องเขม็ง หน้าบึ้งจัด
สองคนนั่งประจันหน้าแต่ใกล้กันเหลือเกิน
ทางเดิน ผินเดินจ้ำๆไป
เกศสุรางค์หันมาถามผิน
"ใครเรียกข้านะ"
"ออกขุนท่านเจ้าค่ะ"
"คงอยากคุยกับเรา ขุนเรืองขึ้นเรือนเถิดค่ะ"
"เรียกแม่นายคนเดียวเจ้าค่ะ" ผินย้ำ
"บอกมางั้น ?"
"งั้นเจ้าค่ะ"
"วาจาของออเจ้าช่างแปลกประหลาด นางผินเอ็งก็พลอยพูดประสาแม่หญิงไปด้วย"
"เจ้าค่ะ ไม่อย่างนั้นจะพูดด้วยแม่หญิงรู้ความหรือเจ้าคะ"
"เดี๋ยวไป"
"มิได้เจ้าค่ะ ต้องประเดี๋ยวนี้"
"ไม่"
"ข้าเจ้าตายแน่เจ้าค่ะ"
เกศสุรางค์ถอนหายใจยืดยาว
"สาเหตุใดก็รู้อยู่แก่ใจนะนางผิน"
"แม่นายหารู้ไม่เจ้าค่ะ ออกขุนเรืองว่าออกขุนท่านน่ะหงุดหงิดทุกคราเพราะ..."
เกศสุรางค์เดินมาตามทาง สีหน้ายิ้มอมๆอยู่ในหน้าแบบว่า โธ่เอ๊ย...ทำไมชั้นจะไม่รู้ ย่ะ !
บนเรือนออกญาโหราธิบดี
ขุนศรีวิสารวาจาบอก
"นั่งลง"
"ยืนได้เจ้าค่ะ"
"นั่ง"
"โห...แรงอ่ะ" เกศสุรางค์พูดเบาๆในคอ
"ร้องไห้ร้องห่มเหมือนจะเป็นจะตายอยู่หยกๆ ไม่ทันข้าม วันหัวเราะหัวใคร่ผิดตายิ่งนัก"
"ก็เมื่อวานเศร้าก็ร้อง วันนี้ไม่เศร้า หัวเราะไม่ได้หรือคะ"
"ไม่ได้"
"ทำไม"
"เหตุใดจึงประพฤติตัวกลับไปกลับมา"
"ทำไมจะกลับไปกลับมาไม่ได้ล่ะคะในเมื่อหัวใจคนมันเปลี่ยนได้นี่คะ จะให้เศร้าจนตายหรือคะ"
"ถ้าเช่นนั้นแจ้งข้ามาเดี๋ยวนี้ว่าออเจ้าเศร้าสร้อยร้องไห้ด้วยเหตุใด และสิ่งใดทำให้ออเจ้าหายเศร้าเป็นหัวใคร่กระซิกกระซี้ได้เช่นนี้"
"ข้าไม่จำเป็นต้องบอกคุณพี่ทุกอย่าง"
"จำเป็น"
"ทำไม"
"เพราะออเจ้าเป็นคู่หมั้นของข้า"
"ต่อให้เป็นเมียก็ไม่ต้องบอกทุกอย่าง"
"แม่การะเกด...ถึงออเจ้าจะยังไม่ใช่แต่วันหน้าก็ใช่ ออเจ้าก็ต้องรู้ว่าในอยุธยานี้ผัวมีอำนาจเหนือเมีย"
เกศสุรางค์จ้องแบบเบื่อหน่ายมาก
เกศสุรางค์พึมพำ "กฎหมายไดโนเสาร์เต่าพันปี"
ขุนศรีวิสารวาจาหน้างงๆแบบน่าขำอยู่อึดใจ
"ออเจ้าพูดจาประหลาดตามเคย คนเป็นเมียคือสมบัติของผัว ตัวออเจ้าจะเป็นเมียกลางเมืองของข้า ออเจ้าต้องเชื่อฟังข้า ต้องทำทุกอย่างที่ข้าสั่งให้ออเจ้าทำ อย่าว่าแต่ออเจ้าต้องบอกกล่าวข้าทุกอย่างที่ออเจ้าทำ ทรัพย์สมบัติของออเจ้าทุกอย่างเป็นของข้า ออเจ้าทำความผิดใดๆ ข้าจะตีจะโบยออเจ้าเท่าไรข้าย่อมทำได้ ข้าจะขายออเจ้าก็ย่อมได้ และถ้าออเจ้ามีชู้ ..."
เกศสุรางค์ตาโต เสียงหลง "ยังไม่แต่งมีชู้แล้วเหรอคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาไม่สน "ถ้าออเจ้าคบชู้ ข้าเลือกวิธีลงโทษออเจ้าได้หลายอย่าง"
"อะ...อะไรมั่งคะ"
"ข้าจะเลือกให้ออเจ้าถูกประหารชีวิต หรือข้าจะเลือกขายออเจ้าเป็นทาส หรือจะขายให้ซ่องชำเราบุรุษ หรือจะให้ม้าชำเราออเจ้า" ขุนวิสารวาจาเสียงเด็ดขาด
ขาดคำ ทุกอย่างเงียบงัน
เกศสุรางค์อ้าปากค้าง เหลียวมองบ่าวและคุณหญิงจำปา
คุณหญิงจำปา ปริก จวง จิก บุ้ง และบ่าวอื่นๆ รู้กฎหมายพวกนี้จึงมีสีหน้าเฉยๆ
"ไม่มีใครว่าอะไรเลยเหรอเนี่ย"
ทุกคนทำหน้าปกติ หันไปทำงานของตัวเองหน้าตาเฉย
"ม้า ... ม้าหรือเจ้าคะ"
"ใช่...ม้า"
"คิดกันได้ยังไงเนี่ย"
"ใคร"
"คนคิดเป็นผู้ชายแหงๆ" เกศสุรางค์รำพึง แล้วเสียงดัง "เออ"
ทุกคนสะดุ้ง คุณหญิงจำปาลูบอก
"ข้าจวนเจียนจะลมจับ"
"อย่าเพิ่งค่ะคุณป้าเรื่องนี้สำคัญ...ฟังก่อนเจ้าค่ะอย่าเป็นลม"
"เอิ๊ก..."
"แล้วถ้าผู้ชายมีชู้..."
พวกผู้ชายหันขวับ บ่าวหน้าตื่น
ออกญาโหราธิบดีเสียงดังขึ้นนิดหน่อย "เจ้าว่ากระไรนะ"
"อ้าว...ผู้ชายมีเมียสอง...เมียสาม เมียสี่ เมียห้า เมียยี่สิบ ก็เรียกว่ามีชู้เหมือนกันนี่เจ้าคะ"
ทุกคนยังเหวออยู่
"ถ้าไม่เรียกมีชู้เรียกว่าอะไรเจ้าคะ"
บ่าวผู้หญิงทำหน้าเห็นด้วย
ออกญาโหราธิบดีเสียงดัง
"แม่การะเกด ข้าเห็นว่าออเจ้าพูดจาสามหาวยิ่งนัก แม่หญิงทั้งอยุธยามิมีผู้ใดจะคิดอย่างออเจ้า"
"แล้วเขาคิดกันยังไงเจ้าคะ"
"ออเจ้ามิจำเป็นต้องรู้ รู้แค่ว่ามิมีผู้ชายคนใดขึ้นชื่อว่ามีชู้ ถ้าไม่ไปเสพสังวาสกับแม่หญิงที่มีผัวแล้ว"
"ถึงกับหญิงที่ไม่มีสามีก็เรียกว่ามีชู้เจ้าค่ะ เพราะนอกใจภรรยาไปมีผู้หญิงอื่น แต่เพราะผู้ชายเป็นคนเขียนกฎหมายไงเจ้าคะ จึงไม่เรียกว่ามีชู้"
ออกญาโหราธิบดีตบกระดานที่นั่งอยู่ดังเปรี้ยง
ขุนศรีวิสารวาจารีบช่วยแก้สถานการณ์
"พอทีเถอะแม่การะเกดครานี้...บอกมาว่ามีอะไรทำให้ออเจ้าหยุดร้องไห้"
"ไม่บอก และไม่แต่งด้วย" เกศสุรางค์หันหลังกลับไปเร็วๆ
ผิน/แย้มวิ่งตาม "แม่นาย...แม่นายเจ้าขา"
คุณหญิงจำปาลูบอก ปริกและบ่าวต่างก็พูดไม่ออกไปตามๆกัน
ภายในห้อง เกศสุรางค์กระแทกตัวนั่งบนเตียง ผิน แย้มนั่งกับพื้น
"พี่ผิน พี่แย้ม ข้าเคยรู้นะว่าพระไอยการลักษณะผัวเมียเป็นกฎหมายของอยุธยา แต่ข้อม้าน่ะโหดจริงๆ รับไม่ได้ ทารุณผู้หญิงเหลือเกิน"
"แม่นายเจ้าขา พูดอะไรอย่างนั้นเจ้าคะ ใครๆเขารู้กันถ้วนทั่ว จะค้านท่านได้ยังไร"
"พี่สองคนเห็นด้วยเหรอ"
ผิน/แย้มรับคำ"เจ้าค่ะ"
"ม้านะพี่"
"ม้าเจ้าค่ะ"
"พี่เคยเห็นผู้หญิงคนไหนถูก...เอ้อ...ม้า"
"ไม่เคยเห็นเจ้าค่ะ" ผินว่า
"แต่มิใช่จะมิมีนะเจ้าคะ"
"เฮ้อ...อยากกลับบ้านแล้วเว้ย รับไม่ได้จริงๆ"
เสียงการะเกดดัง "มันเป็นเช่นนั้นมานมนานอย่าคิดเปลี่ยนแปลง"
เกศสุรางค์ชะงักกึก หน้านิ่ง ตกใจ
สองคนไม่ได้ยินยังคงซุบซิบกัน
เกศสุรางค์ค่อยๆหันหน้าไปทางเสียง
เห็นการะเกดหน้าซีดขาวนั่งพิงเตียงมองมาสีหน้าเศร้า
เกศสุรางค์หน้าตกใจ หันมาทางผินและแย้ม ซึ่งท่าทางไม่เห็นการะเกด
"พี่จ๋า...พี่ออกไปข้างนอกก่อน"
"มันไม่เห็นข้าหรอก"
"ถ้าข้าพูดกับออเจ้าข้าก็เป็นบ้าน่ะสิ"
"มันไม่เห็นหรอกว่าเจ้าพูด"
"ได้ไง...ก็ข้าพูดออกเป็นคำ...เสียงดังด้วย"
"มันได้ยินหรือไม่"
"เออจริง...การะเกด ออเจ้าพอใจแล้วใช่มั้ย"
"ถึงยังไรออเจ้าก็ต้องแต่ง"
"เอ้า...เอายังไงวะ ไหนว่าไม่อยากให้ข้าแต่งไง"
"ออเจ้าขัดขืนเขาไม่ได้หรอก ข้าจึงมาบอกออเจ้าว่า..." การะเกดก้มหน้าสะกดน้ำตา
เกศสุรางค์คอยฟัง
"ในร่างของข้าออเจ้าทำความดี ออเจ้ามีจิตเมตตากรุณา ออเจ้ามีใจเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์กล้าหาญ ทั้งหมดข้าไม่เคยมี ออเจ้าทำบุญกุศลส่งให้ข้า ออเจ้าคิดดีกับข้า และกับคนทุกคน แม้แต่บ่าวไพร่ ออเจ้าทำให้แม่หญิงการะเกดเป็นคนดีอย่างไม่เคยเป็น"
"ข้ายินดีทำ...ข้าทำอย่างเต็มใจ"
"ข้ารู้ ข้าเห็นแล้ว หัวใจของเจ้าสูงส่งยิ่งนัก ข้ามิได้เป็นแม้แต่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของออเจ้า"
"ขณะนี้ข้าคือออเจ้าแม่การะเกด"
"เกศสุรางค์...วาสนาข้าน้อย เป็นคู่ของคุณพี่ไม่ได้ ข้ายกคุณพี่ให้ออเจ้า เจ้าจงรับคุณพี่ไปเป็นของเจ้าเถิด"
เกศสุรางค์ตกตะลึง
"ข้าลา"
ขาดคำร่างของการะเกดเลือนหายไปช้าๆ
"เดี๋ยว"
เกศสุรางค์นิ่งงงงัน
สองบ่าวก็คุยกันจุ๊กจิ๊กไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น
บนเรือนออกญาโหราธิบดี ต่อมา
ปริกกระซิบกระซาบ
"สมน้ำหน้านะเจ้าคะแม่นาย"
คุณหญิงจำปาเดินผ่านไปที่ขุนศรีวิสารวาจา ไม่สนใจปริกแม้แต่น้อย
"พ่อเดชอย่ากังวล นางต้องตบต้องแต่งกะพ่อเดช แม่นี่แหละ" จำปาตบอก "แม่จะบีบบังคับนางเอง"
"คุณแม่ขอรับ ถ้านางไม่อยากแต่ง...อย่าบังคับนาง"
ขุนศรีวิสารวาจาเดินไปทันที
หลายวันต่อมา ตอนกลางคืน ในห้องนอน บ้านฟอลคอน เมืองละโว้
ออกพระฤทธิกำแหงอาบน้ำ มีบ่าวสาวๆอาบให้อย่างเคย
ตองกีมาร์ยืนหันหลังให้ ชำเลืองดูนิดๆ สีหน้าสงบนิ่ง แต่สายตาเสียใจลึกๆ
เสื้อผ้าชุดนอนวางอยู่
ออกพระฤทธิกำแหงแต่งชุดนอนหันหลังให้ตองกีมาร์ สีหน้าเย็นชา
ตองกีมาร์นั่งเฉยไม่ใยดี
ออกพระฤทธิกำแหงของขึ้นทันที
"วันนี้ข้าจักไปนอนกับนางกุ"
"เจ้าค่ะ"
"ใจคอเจ้าจักไม่ถามกระไรข้าเลยหรือ"
"ก่อนหน้านี้ข้าไม่ถาม แล้วเพลานี้ข้าจักถามไปใย ท่านจงทำในสิ่งที่ท่านคิดว่าดี คิดว่าทำแล้วมีความสุขเถิด" ตองกีมาร์เดินเลี่ยงจะออกจากห้อง "นางกุก็เมียท่านนี่"
ออกพระฤทธิกำแหงคว้าแขนเมียเต็มแรง
"ออเจ้ามิเคยสนใจไยดีในตัวข้า ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหนๆใช่ฤๅไม่"
ตองกีมาร์ไม่ตอบ แต่สีหน้านิ่งเป็นคำตอบแล้ว
ออกพระฤทธิกำแหงดึงตองกีมาร์อย่างแรงลากไปที่เตียงนอน
"จักทำกระไร ปล่อยข้านะ" ตองกีมาร์ดิ้นสะบัดเต็มแรง
"ข้าอยากรู้นักว่าจิตใจเจ้าจักระลึกถึงแต่ชายอื่นนอกจากผัวไปอีกถึงเมื่อใด"
"ท่านกล่าวกระไรเช่นนั้น"
"อย่านึกว่าข้าไม่รู้ในสิ่งที่เจ้าคิดที่เจ้าทำ ข้ามิใช่คนโง่เจ้าก็น่าจะรู้ แล้วเจ้าจะรู้
เดี๋ยวนี้ว่าเมื่อข้ารู้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น"
บนเตียง ออกพระฤทธิกำแหงโยนร่างของตองกีมาร์ลงบนเตียง
ออกพระเหวี่ยงตัวนางตองกีมาร์ลงบนเตียง ก่อนจะโถมทับด้วยแรงรักแรงแค้น พายุอารมณ์ที่โหมกระหน่ำย่ำยีจนดอกมะลิบอบบางกลีบช้ำก็ไม่คิดปราณี หากเจ้าดอกไม้ก็ไร้น้ำตาแม้แต่เพียงหยดเดียวยิ่งทำให้ความแค้นแน่นหัวอกทวีคูณ ออกพระฤทธิกำแหงผละจากร่างที่นอนตัวงอซานซบนั้นอย่างสาแก่ใจพร้อมกับลั่นวาจา
"นับแต่บัดนี้ต่อไป ข้าจักไม่แตะต้องเจ้าให้เป็นที่ดูแคลนอีก เราจักอยู่ร่วมกันเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น แลจงอย่ากล่าวหาว่าข้าไร้หัวใจ นั่นเพราะเจ้าไร้หัวใจต่อข้าก่อน"
ออกพระฤทธิกำแหงสวมเสื้ออย่างเร็วและเดินออกจากห้องไปอย่างเร็ว
ตองกีมาร์นอนซบ...ร้องไห้เงียบๆ
รุ่งขึ้น บ่าวชายทำงานกันง่วนอยู่ในลานบ้านฟอลคอน
บ่าวหญิงเดินขึ้นลง เอาตะลุ่มอาหารขึ้นไป อีกพวกเอาเสื้อผ้าลงมาจะไปซัก บ่าวซุบซิบกันเบาๆ
นางกุ เมียบ่าวของฟอลคอนนั่งมองไปที่ตองกีมาร์ สายตาคว่ำ
เมียบ่าวคนหนึ่งบอก "นังกุ ออกพระท่านนอนกะเอ็งเมื่อคืน เหตุใดหน้างอเป็นตะหวักดังนี้"
"นอนกะข้าก็แต่ตัวนางกุบอก
ออกพระฤทธิกำแหงเดินออกจากตึก กวาดตามอง เห็นตองกีมาร์อยู่กับเด็กๆที่รับเลี้ยงไว้ คลาร่าอุ้มเด็กอยู่ด้วย
ออกพระฤทธิกำแหงเดินผ่านตองกีมาร์ที่นั่งอุ้มแซลลี่ มองอย่างรักและแค้นพอกัน
ตองกีมาร์เงยหน้าสบตาออกพระฤทธิกำแหง ต่างคนต่างจ้องอยู่
คลาร่าสายตาลึกล้ำ มองตามออกพระฤทธิกำแหง
ทางเข้าพระตำหนัก เมืองละโว้
ออกญาโหราธิบดีกับออกพระฤทธิกำแหงเดินมาพบกัน จะเข้าหาพระนารายณ์
ออกพระฤทธิกำแหงไหว้ออกญาโหราธิบดีนอบน้อม
ในห้องพระนารายณ์ เมืองละโว้
พระนารายณ์นั่งสบายๆ เอกเขนก อ่านหนังสือแผ่นพับสีดำ เป็นตัวอักษรเขียนสีขาว
พระมหาราชครู อายุราว 50 กว่านั่งอยู่แทบบาท มีโต๊ะเตี้ยๆและกระดานชนวน ดินสอสีขาวอยู่ในมือกำลังเขียนฉันท์
อีกด้านหนึ่งของพระนารายณ์
อาลักษณ์นั่งอยู่ มีโต๊ะเตี้ยข้างหน้า มีกระปุกหมึกสีขาว กำลังนั่งเขียนคัดลอกคำประพันธ์เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่พระมหาราชครูแต่งลงไปในกระดาษแผ่นพับสีดำ โดยดูตัวอย่างจากกระดานชนวนอีกแผ่น มีกระดานชนวนอยู่หลายอันวางไว้เป็นตั้งใกล้ๆพระมหาราชครู
"มหาราชครู สมุทรโฆษคำฉันท์ที่เจ้าแต่งไว้สุดท้ายนี่...ข้าพอใจยิ่งนัก"
มหาราชครูถวายบังคม "พระกรุณาพุทธเจ้าค่ะ"
"อาลักษณ์...มึงคัดลอกแล้วเสร็จหรือยังวะ ตอนนางพินทุมดีครวญถึงพระสมุทรโฆษ อ่านดังๆกูอยากฟังอีก"
อาลักษณ์เริ่มอ่านด้วยสำเนียงนุ่มนวลไพเราะ
“แก้มน้องพะพร่องใด และมาต้องพี่แลดู
รอยทันตระอันตรู คือกุทัณฑะสายสลาย
ริมโอษฐะอ่อนช้ำ เพื่อภุชงคะใดหมาย
ไหม้หมองจะปองตาย และบตายก็เป็นตรอม”
"เออ ข้าชอบวรรคนี้ จะเอาตายหรือเอาตรอม หือราชครู"
"ข้าพุทธเจ้าไม่ขอทั้งสองอย่างพุทธเจ้าค่ะ" มหาราชครูยิ้มๆ
พระนารายณ์หัวเราะดังลั่น
ออกพระฤทธิกำแหงเดินตามหลังออกญาโหราธิบดีเข้ามา ถวายบังคม
"พระโหรา มาจากอยุธยาตั้งแต่เมื่อไร"
"รับพระบัณฑูรเรียกข้าพุทธเจ้ารีบมาถึงเมื่อเช้าพุทธเจ้าค่ะ"
"รู้ความเรื่องทูตฝรั่งเศสหรือไม่"
"รู้พุทธเจ้าค่ะ"
"เมื่อไรพวกมันจะมาถึงไอ้ฤทธิกำแหง"
"ขบวนเรือของทูตฝรั่งเศสจะมาถึงปากอ่าวอีกไม่เกิน 7 วันพุทธเจ้าค่ะ"
"งั้นฤๅ โหราธิบดีข้าจะให้ตรวจดูยามที่เหมาะสมให้พวกทูตมันมาหาข้า"
"ชื่ออะไรนะทูตคนนี้ เห็นว่าชื่อยืดชื่อยาวอยู่ใช่ฤๅ ออกพระฤทธิกำแหง"
"ขอรับชื่อยาวอยู่ ชื่อเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์"
ออกญาโหราธิบดีบอกขำๆ "โชมองต์...เออได้หางลืมหัว"
"ข้าก็เป็นดังนั้น เออเดือนนี้เดือนสิบ (เดือนกันยายน) พวกมันมาจะข้ามเดือนสิบหรือไม่"
"นั่นสิออกพระ ข้าอยากรู้วันที่แน่นอนเพื่อจะดูฤกษ์ดูยาม"
"เห็นทีจะไม่เกินเดือนสิบพุทธเจ้าค่ะ"
"พวกมันจะอยู่กันนานเท่าไหร่ ฤทธิกำแหง"
"ข้าพุทธเจ้ายังมิทราบได้พุทธเจ้าค่ะ"
"เมื่อพวกมันมาถึง เอ็งถามไถ่ให้ได้ความ" พระนารายณ์ตรัส
"เรือนรับรองพวกมันสร้างแล้วเสร็จหรือยังพุทธเจ้าค่ะ"
"เสร็จหรือยังไอ้ฤทธิกำแหง"
"ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้วพุทธเจ้าค่ะ"
"เช่นนั้นข้าก็เบาใจ เฮ้ยไอ้อาลักษณ์มาอ่านต่อ...และบตายก็เป็นตรอม เฮ้ยกูชอบวรรคนี้แท้จริง"
เช้าเดือนสิบเอ็ด (เดือนตุลาคม) บ่าวนั่งเรียงราย มองไปที่ออกญาโหราธิบดี และ ขุนศรีวิสารวาจาที่แต่งตัวเต็มยศ จะเข้าเฝ้ารับราชทูต
ปริกบอก
"ออกญาท่านยังงามสง่าเหมือนครั้งยังหนุ่มแน่นหลายสิบปีมานะเจ้าคะ แม่นายท่าน"
คุณหญิงจำปายิ้มหวานมองออกญาโหราธิบดี ออกญาโหราธิบดีหันมาสบตาคุณหญิง ตาหวานนิดหน่อย
เกศสุรางค์จ้องอยู่แล้ว นัยน์ตาฟรุ้งฟริ้ง "อึ้ม..." แล้วทำเสียงกระแอมเบาๆ
คุณหญิงจำปาหันขวับมาทางเกศสุรางค์
ขุนศรีวิสารวาจาหันขวับมาทางเกศสุรางค์
จ้อยกับทนายหน้าหอของออกญาโหราธิบดีหน้าตื่น มองตากัน
พวกบ่าวทั้งนั้นต่างก็ยิ้มๆ ก้มหน้าไปทั่วกัน
เกศสุรางค์หน้าตาเรียบร้อยใสซื่อ
"คุณลุงคุณป้าน่ารักเจ้าค่ะ ไปไหนกันหรือเจ้าคะ"
คุณหญิงจำปาบอก
"ข้าจักไปไหน...เห็นข้าแต่งตัวฉะนี้ ออเจ้าคิดว่าข้าจะไปไหน"
"อ๋อ ข้าไม่ได้ถามคุณป้าเจ้าค่ะ ข้าถามว่าคุณลุงกับคุณพี่ขุนจะไปไหนเจ้าค่ะ"
จำปาค้อนขวับ "ยอกย้อนมิมีใครปาน"
"วันนี้ราชทูตจากฝรั่งเศสที่ชื่อ...อะไรนะพ่อเดช"
"เชอร์วาลิเยร์ เดอ โชมองต์ขอรับคุณพ่อ"
"จำยากจำเย็น จะเข้าเฝ้าขุนหลวง"
"ทูตชุดนี้มาตั้งเดือนกว่าแล้ว ยังไม่เข้าเฝ้าอีกหรือคะ"
"เพิ่งมีพระบรมราชานุญาต"
"ที่ไหนคะ...ข้าไปด้วยได้ไหมคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาหน้าเมื่อย เดินไปก่อน ออกญาโหราธิบดีตาม คุณหญิงจำปามองเกศสุรางค์แบบเบื่อหน่ายเหลือเกิน หันหลังเดินไป
เกศสุรางค์หน้าเหวอมองไปมองมา ผินกับแย้มก็หลบตาไม่ช่วยเหลือ
บ่าวทุกคนถอยลงเรือนไปหมด
เกศสุรางค์ลุกขึ้นวิ่งตามไปถึงขบวน
"ไม่ให้ข้าไป...กลับเรือนมาข้าถามอะไรต้องตอบนะคะคุณพี่ขุน"
ขุนศรีวิสารวาจาหันกลับมาสบตา ยิ้มๆแบบเอ็นดูแกมอ่อนใจและเบื่อหน่อยหน่อยๆ แล้วลงเรือนไป
"พี่ผินพี่แย้ม ไปรับทูตกันที่ไหนเหรอพี่ พี่รู้มั้ยจ๊ะ"
"ข้าเจ้าไม่รู้ได้เจ้าค่ะ" แย้มบอก
"ต้องถามแม่นายจำปาเจ้าค่ะ" ผินว่า
คุณหญิงจำปาอยู่ที่ประตูห้อง บอก "ข้าได้ยินว่าในวังหลวง พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท"
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในวังหลวง
บรรดาข้าราชการไทยยืนกันระเกะระกะ พูดคุยกันบ้าง คอยรับคณะทูต บางคนเพิ่งมา ไหว้ออกญาโหราธิบดี ไหว้ออกญาพระเสด็จนอบน้อม
ข้าราชการไทยแต่ละคน คุยกันยิ้มแย้มแจ่มใส บางคนมองไปทางเดินว่า เมื่อไหร่จะมา
ออกพระฤทธิกำแหงยืนอย่างสง่างาม มาดดีมาก ขุนนางบางคนทำความเคารพเพราะตอนนี้เขาใหญ่มาก มีอำนาจยิ่ง
พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์นั้นไม่ชอบออกพระฤทธิกำแหงอย่างมาก สายตามองขุ่นมัว
ออกพระฤทธิกำแหงสบตาพระเพทราชาแบบไม่ยี่หระ หลวงสรศักดิ์ขยับจะเข้าไปเอาเรื่อง พระเพทราชาห้ามไว้
ขุนพิชัยวาทิต อายุราว 50 กว่า ขุนพิชิตไมตรีที่อายุอ่อนกว่าสัก 10 ปีเดินมาด้วยกัน ไหว้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นรายตัวไป
"อ้อ ออกขุนพิชัย ออกขุนพิชิต กลับมากับขบวนทูตฝรั่งเศสพวกนี้ใช่ฤๅ"
"ใช่ขอรับ ท่านออกพระ" ออกขุนพิชัยวาทิตบอก
"อ๋อ เพราะเป็นทูตด้วยกันงั้นฤๅ"
"หามิได้ขอรับ ข้าสองคนนี้มิใช่ราชทูต เพียงแต่ขุนหลวงให้ไปฝรั่งเศส ถามเรื่องราวของท่านราชทูตออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีขอรับ" ออกขุนพิชิตไมตรีบอก
"จึงได้รู้ว่าเรือของท่านล่มเสียก่อนที่เมืองมาดากาสกา" ออกขุนพิชัยวาทิตบอก
ขบวนทูตมาแล้ว นั่งเสลี่ยงแปดคนหามมาจอด
เดอโชมองต์ลง เดอชัวซีย์ลง คนอื่นๆในขบวนทูตคือ บาทหลวง 2-3 คน ทหารเรือ 2-3 คน พวกนี้เดินตามเสลี่ยงมา
ออกพระฤทธิกำแหงเข้าไปต้อนรับและแนะนำราชทูตกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ราชทูตเชอร์วาลิเยร์ เดอ โชมองต์
ราชทูตรอง บาทหลวงเดอชัวซีย์
นายช่างใหญ่ เดอลามาร์
บาทหลวงตาชาร์ด
ค่ำวันนั้น ที่เรือนออกญาโหราธิบดี
เกศสุรางค์สีหน้าขมวดมุ่น ถามเรื่องที่ราชทูตเข้าเฝ้าพระนารายณ์
"ข้าอยากรู้ที่สุดว่า ในที่สุดทูตเดอโชมองต์หมอบหรือนั่งหรือยืนถวายพระราช
สาส์นกับขุนหลวงนารายณ์"
ขุนศรีวิสารวาจามองสงสัย
"ออเจ้ารู้หรือว่ามีกรณีเรื่องนี้"
เกศสุรางค์รู้ตัวว่าพลาดไปแล้ว แต่เฉไฉ
"ข้าเดาเอาค่ะคุณพี่ เพราะข้าว่าพวกฝรั่งน่ะไม่ยอมหมอบกราบหรอกค่ะ แล้วจะถวายสาส์นได้ยังไงจริงมั้ยเจ้าคะคุณลุง"
"จริงแท้แน่นอน"
"สรุปยืนถวายจริงๆใช่มั้ยคะ ประวัติศาสตร์ไม่ผิดใช่มั้ยคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาสวนทันที
"ออเจ้าพูดอะไรสาด...สาด มันคือสิ่งใด"
"คุณลุงเจ้าขา คุณพี่จับผิดข้า พูดอะไรก็ผิดไปหมด"
"ออเจ้าพูดจริงข้าได้ยิน มันคือประสา (ภาษา) อันใดกัน" คุณหญิงจำปาบอก
"ข้ายังจำไม่ได้เลยเจ้าค่ะคุณป้าว่าข้าพูดคำอะไร"
"คุณแม่ กระผมถามนางเองขอรับ ลุกขึ้นแม่การะเกด...ไปทางโน้น"
สองคนลุกเดินไปอีกทาง
ปริกถาม "มีอะไรต้องปิดบังแม่นายท่านเจ้าคะถึงไม่พูดกรงนี้"
"นั่นน่ะสิ"
"ตามไปเลยเจ้าค่ะ"
"ตามทำไม"
"ฟังเจ้าค่ะ"
"ฟังทำไม ข้าไม่สอดรู้เหมือนเอ็ง"
ปริกตัวอ่อนติดพื้น
เกศสุรางค์ยอมรับ
"คุณพี่คะข้ายอมรับว่าข้าพูดคำว่าประวัติศาสตร์"
ขุนศรีวิสารวาจาหน้าฉงนมองเกศสุรางค์เขม็ง
"แต่ไม่รู้จะบอกคุณพี่ยังไง...บอกไม่ถูกว่าคำเนี้ยหมายความว่ายังไง"
ขุนศรีวิสารวาจามองสักครู่ แล้วบอก
"ทูตเชอร์วาลิเยร์ เดอ โชมองต์ไม่ยอม เขาว่าเขาจะยื่นสาส์นให้ถึงพระหัตถ์ขุนหลวง"
เกศสุรางค์ถามเร็ว "แปลว่าเขาต้องยืน"
"ใช่ เขายืน"
"นั่นไง...แล้วพวกเรายอมหรือคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาจ้องหน้าเกศสุรางค์ สายตาค้นหา
"มีคนที่ไม่ยอม และคนนั้นเขา" ขุนศรีวิสารวาจาคิดอึดใจหนึ่ง สีหน้าน่าขำ เลียนแบบ "แร็งส์...มากๆ"
"คุณพี่พูดถูกต้องค่ะ" เกศสุรางค์ยิ้มยั่วเย้า "แร็งส์มากฤๅเจ้าคะ" เธอเห็นขุนศรีวิสารวาจาจะพูดต่อ จึงรีบถาม
"ใครเหรอคะที่ไม่ยอม...ให้ข้าเดามั้ยคะ"
"ข้ารู้ว่าออเจ้าเดาถูก"
ทางเดินเข้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อยุธยา
ทุกคนยืนกันเป็นคู่บ้าง เป็นกลุ่มบ้าง กลุ่มเล็กๆไม่เกิน 3 คน
พระเพทราชา พูดเคร่งเครียดกับออกพระฤทธิกำแหง
"ข้าไม่ยอมเป็นอันขาดที่จะให้ไอ้ทูตยืนถวายสาส์นเทียมขุนหลวง"
"เขาก็จะไม่ถวาย"
"ก็ไม่ต้องถวาย"
"เกรงว่าจะทำเช่นนั้นมิได้นะขอรับออกพระท่าน"
แม้ว่าฟอลคอนตะใช้คำสุภาพ แต่กิริยากลับตรงข้าม
เพทราชาตรึกตรองสักครู่
"ไม่ต้องถวายต่อพระหัตถ์ ให้มันส่งให้กรมท่าส่งต่อออกญาพระเสด็จ ท่านจะนำขึ้นถวายอีกที"
"ธรรมเนียมทูตต้องถวายต่อพระหัตถ์"
หลวงสรศักดิ์บอก
"แต่ไม่ใช่ธรรมเนียมเราธรรมเนียมเราระบุชัดแจ้งอย่างที่พ่อข้าว่า"
"เขาก็จะงดถวาย"
"ชะ...เฮ้ย มองหน้ากู กูจะพูดให้ฟังว่าบ้านเมืองกูมิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนมีธรรมเนียมเหมือนกันนะเว้ย ไม่เปลี่ยนตามไอ้พวกฝรั่งหรอก"
เพทราชาไม่อยากมีเรื่อง
"เอาล่ะ ถ้าเป็นธรรมเนียมฝรั่ง ยืนได้ ถวายต่อพระหัตถ์ได้ แต่ต้องถวายเหนือหัวมันให้มันชูสูงให้ถึงพระหัตถ์"
ออกญาโหราธิบดีบอก
"เออ ออกพระเพทราชาเขาก็เอาจนได้"
"ยังไงเจ้าคะคุณลุง"
"เขาเอาพานทองมีด้ามให้ทูตเอาพระราชสาสน์ใส่พานชูขึ้นถวายขุนหลวง"
เกศสุรางค์ แวบภาพคิดเข้ามาในหัว
เป็นภาพวาดจากหนังสือที่เห็นกันทั่วไป คือเดอโชมองต์ถือพานทองถวายสาส์นแต่มิได้ชูสูงเหนือหัว แต่กลับจับตรงคอพานแล้วยกเสมอหน้าตัวเอง ทำให้พระนารายณ์ต้องก้มลงมาหยิบสาส์นนั้นเอง
เกศสุรางค์ดีดนิ้วดัง หลุดปาก " ใช่แล้ว" เมื่อเห็นทุกคนมองรีบพูดต่อ "แต่ทูตจับคอพาน
ไม่จับปลายไม้แล้วชูถวายถึงพระหัตถ์ใช่มั้ยคะ"
ขุนศรีวิสารวาจา ทั้งออกญาโหราธิบดี และทั้งคุณหญิงจำปาที่นั่งฟังอย่างสนใจ รวมทั้งบ่าวทั้งหลายหันขวับมาทางเกศสุรางค์
"เดาเอาค่ะ"
ขุนศรีวิสารวาจาดักคอ "เดาเอาอีกตามเคย"
เกศสุรางค์หัวเราะแหะ พยักหน้า
"ออเจ้าเป็นนักเดาที่แม่นยำ ไอ้ทูตฝรั่งไม่ยอมยื่นถวายให้สูงเกินหัวของมัน เห็นเมอสิเออร์ก็องสตังซ์โก้งโค้งโบกไม้โบกมือให้ชูสูงๆ แต่ไอ้ทูตมันเท้ากะเอวนิ่งอยู่ จนขุนหลวงทรงขำ พระสรวลดังลั่นแล้วก้มพระองค์มารับไปเอง"
เดอโชมองต์จับที่คอด้ามพาน
เดอโชมองต์เท้าสะเอว
ก็องสตังซ์โบกมือ
พระนารายณ์โน้มพระองค์มารับสาส์น
เกศสุรางค์ถอนหายใจยาว สีหน้าโล่งใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ผิด
"เฮ้อ...เป็นความจริง"
ขุนศรีวิสารวาจาเหลือบสายตามอง
เกศสุรางค์สบตาแล้วหน้าตาแหยงๆ หลบตาทันที
"คุณลุงเจ้าขา ทำไมคณะทูตต้องมีบาทหลวงมาด้วยตั้งหลายคนเจ้าคะ"
"ออเจ้าน่าจะเดาได้เหมือนกันนะแม่การะเกด"
"ให้ข้าเดาหรือเจ้าคะ"
คุณหญิงจำปาบอก "โอ๊ย จะต้องเดาไปใย...มันก็จะมาหาคนไปเข้ารีตน่ะสิ ใครๆก็รู้กันทั่ว
ว่าแต่จะมาเกลี้ยกล่อมขุนหลวงไปเข้ารีตด้วยกระมัง"
"มิผิดเลยแม่จำปา เห็นออเจ้านั่งเงียบๆพอรู้เข้าก็รู้ได้ตรงเป้าเสียจริง"
"ข้าพูดถูก อ๋อ...ไอ้เจ้าทูตมันบังคมทูลวันนี้เลยหรือเจ้าคะ มันบังอาจถึงเพียงนั้นเลยหรือเจ้าคะ"
"ใช่ขอรับคุณแม่ ทูตเดอโชมองต์กับทูตรองเดอชัวซีย์ทูลถามเลยว่า เมื่อไรจะทรงเปลี่ยนศาสนาพวกขุนนางตกตะลึงไปตามๆกัน"
"อีตาก็องสตังซ์โกรธจนหน้าตาหัวหูแดงเถือก โบกไม้โบกมือห้ามจนว่อนไปหมด"
บ้านฟอลคอน เมืองละโว้
คนใช้วางถาด มีกาชาสวยงาม ถ้วยชาเข้าชุดกัน
คนใช้เสิร์ฟน้ำชาให้เดอชัวซีย์และหลวงพ่อตาชาร์ดเสร็จพอดี ทั้งหมดไม่สนใจดื่มชา สนทนาด้วยท่าทางแบบขัดแย้งกัน
ทั้งหมดพูดภาษาฝรั่งเศส ให้ได้ยินแว่วๆ
ออกพระฤทธิกำแหงโกรธ
"ยังไม่เจรจาทางไมตรี เหตุใดจึงรีบพูดเรื่องเปลี่ยนศาสนา เรื่องการค้าเรื่องสัมพันธไมตรียังไม่พูดสักคำ"
เดอโชมองต์ลุกพรวดเผชิญหน้า
"พระเจ้าอยู่หัวของเราประสงค์แค่ให้พระนารายณ์เปลี่ยนศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ประสงค์ประโยชน์ทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด"
สองคนเผชิญหน้ากันแบบโกรธจัด
เดอโชมองต์ย้ำ"เปลี่ยนศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น"
อีกวันหนึ่ง ที่เรือนออกญาโหราธิบดี
บ่าวเลื่อนของคาวออก เอาผลไม้เข้ามา มังคุด เงาะ หรืออ้อยที่ควั่นเป็นคำๆ
เกศสุรางค์มองใกล้ๆ
"อ้อย...จริงด้วย"
"อะไรกั๊น...ทำประหนึ่งไม่เคยเห็นอ้อย" ปริกว่า
"ปริก...จะอะไรกะนางนักหนา"
"ข้าอยากรู้...อยาก"
ขุนศรีวิสารวาจาว่า "อยากรู้เหลือเกิ๊น"
เกศสุรางค์หัวเราะแหะๆ
"เจ้าค่ะ อยากรู้มากว่าขุนหลวงตอบทูตเดอโชมองต์ว่าอย่างไรคะเรื่องเปลี่ยนศาสนา"
"มิเช่นนั้นก็มิใช่ออเจ้าสินะ"
"เจ้าค่ะ...คุณลุงเจ้าคะ"
ออกญาโหราธิบดีบอก
"ข้าจะบอกเจ้าว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้มีพระปัญญายิ่งนัก รับสั่งปฏิเสธอย่างนุ่มนวลและฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทรงตอบรับแต่ก็ไม่ปิดโอกาส ทางทูตก็คิดว่ายังมีความหวังอยู่"
เกศสุรางค์สนใจอยากรู้นัยน์ตาพราว
"คุณพ่อขอรับ แม่การะเกดคงอยากรู้ถ้อยรับสั่งของขุนหลวงนั่นแหละขอรับ"
เกศสุรางค์หันมาทางขุนศรีวิสารวาจา แล้วยกมือกดไลค์ให้
ขุนศรีวิสารวาจาหน้าอ่อนใจ
ส่วนคุณหญิงจำปา ปริก บ่าวไพร่ทั้งหลาย หน้าเหวอไปตามๆกัน
"อุ๊ย...กิริยาประหลาดอะไรอย่างนี้" คุณหญิงว่า
"แม่จำปาอย่าไปเหล่แม่การะเกดเลย"
คุณหญิงจำปาค้อนขวับ
"คุณพี่ก็เป็นไปกับนาง เหล่แหล่อะไรเจ้าคะ"
"แม่จำปาก็อยากรู้เหมือนกันใช่หรือไม่"
คุณหญิงจำปาหน้าเขินๆ พยักหน้านิดๆ
"ก็...ใช่เจ้าค่ะ"
"รับสั่งว่า..."
พระนารายณ์ตรัสเสียงเรียบ นุ่ม แต่จริงจังชัดเจน ว่า
"ทุกศาสนาสอนให้คนทำความดี เกรงบาป บำเพ็ญบุญ พระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองคนมีศาสนา มิว่าจะเป็นศาสนาใดย่อมปกครองง่ายกว่าคนมิมีศาสนา ขอท่านบาทหลวงทุกท่านสอนศาสนาให้เต็มที่
อย่าได้เกรงอะไร เราไม่กีดขวางราษฎรของเราที่จะเลื่อมใสในศาสนาใด"
ออกพระฤทธิกำแหงเป็นคนแปลให้เดอโชมองต์ฟัง
"สำหรับตัวของเรายังไม่รู้แน่ชัดว่าศาสนาคริสต์นั้นเป็นอย่างไร เราจะขอศึกษาก่อน ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสผู้ทรงพระปรีชาญาณได้รับทราบว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินจะเปลี่ยนศาสนาที่เคยนับถือกันมาสองพันกว่าปีนั้นเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งนัก แต่...ก็มิใช่เรื่องสุดวิสัย"
ออกญาโหราธิบดีอิ่มเอิบใจ
"ทรงตอบเช่นนี้"
เกศสุรางค์ตบมือเสียงดัง "เจ๋ง"
ทุกคนหันมามอง ขำๆบ้างตามอารมณ์ พวกบ่าวยิ้มเต็มที่
ปริก "ฮึ !"
"ข้าอยากรู้ยิ่งนักว่า..." ขุนสรีวิสารวาจาว่า
"ฮะแอ้ม"
"ข้าก็เหมือนออเจ้านั่นแหละ...อยากรู้ว่าจะรับสั่งกับออกพระฤทธิกำแหงว่าอย่างไร"
ความเวิ้งว้างของห้อง อยู่กันสองคน ออกพระฤทธิกำแหงหมอบต่ำ
"ตัวเอ็งเป็นคริสเตียน ถ้าเอ็งเปลี่ยนมานับถือศาสนาของข้าเมื่อใด ข้าจะถือว่า
เอ็งเป็นคนโกงคบไม่ได้ทีเดียว"
ออกพระฤทธิกำแหงไม่กล้าเงยหน้า หมอบแทบติดพื้น
อ่านต่อตอนที่ 20
#บุพเพสันนิวาส #ออเจ้า #Ch3Thailand #lakornonlinefan #ลมหายใจคือละคร
เกร็ดน่ารู้จากละคร
จากหนังสือ "หอกข้างแคร่" บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน ,พันตรีโบชอง : เขียน, ปรีดี พิศภูมิวิถี : แปล, รศ. ภารดี มหาขันธ์ : คำนิยม ;ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ , สำนักพิมพ์ มติชน ๒๕๕๖
จากหนังสือ "การเมืองไทย สมัยพระนารายณ์" : นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ , สำนักพิมพ์ มติชน ๒๕๖๑
พระนารายณ์ : (ข้อมูลจาก "ฟอลคอน Phaulkon" , เสฐียรโกเศศ แปลและเรียบเรียง , สำนักพิมพ์ศยาม, หน้า ๑๙๖)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (เอกสารต่างประเทศว่าเป็นลูกของน้องชายพระราชมารดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) กับพระนางศิริธิดา (บางฉบับว่าเป็นพระขนิษฐาต่างพระมารดาของพระเจ้าปราสาททอง บ้างว่าเป็นพระราชธิดาในสมเด็จในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) ทรงมีพระนมคือ เจ้าแม่วัดดุสิต และพระนมเปรม (ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (Francois Henri Turpin) บันทึกว่าเป็นพระญาติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ในปี พ.ศ. ๒๑๙๙ เสด็จปราบดาภิเษกครองราชสมบัติ หลังจากทรงคิดกบฎและทรงสำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชาแล้ว อนึ่งสมัยที่พระองค์ทรงเป็นพระมหาอุปราชได้โปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ (หลังจากประทับที่กรุงศรีอยุธยานาน ๑๐ ปี) คือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ในปี พ.ศ. ๒๒๐๙ โยประทับครั้งละ ๘-๙ เดือน และ ณ แห่งนี้เอง พระองค์ทรงสร้างความเจริญที่ลพบุรีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบประปา หอดูดาว (โดยมีบาทหลวงเข้ามาส่องกล้องดูดาว ดูสุริยปราคา จันทรุปราคา) สร้างกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปืน เป็นต้น เมืองลพบุรีในช่วงรัชสมัยของพระองค์นั้น ถือว่าเป็นยุคทองในทุกด้าน โดยเฉพาะการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ โดยได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนัก อาทิ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔แห่งฝรั่งเศสถึง ๔ ครั้ง และชาวต่างชาติได้เข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก จนได้รับการเทิดทูนว่า ทรงเป็นนักการค้าและนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีต่างๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็น โดยเฉพาะกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค จนชาวต่างชาติได้เขียนบันทึกความงามของกระบวนเรือนี้ อาทิ นิโกลาส์ แชรฺแวส (Nicolas Gervaise - ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) , บาทหลวง กี ตาชาร์ด (Le Père Jesuit Guy Tachard - จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม Voyage to Siam) , ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère - Du Royaume de Siam จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม) เป็นต้น ด้านวรรณคดี ทรงพระราชนิพนธ์อยู่หลายเรื่อง อาทิ โคลงทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้อง ราชสวัสดิ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ (ตอนกลาง) คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) และพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์ นอกจากนี้ยังมีผลงานของกวีท่านอื่นๆ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระมหาราชครู) โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พระศรีมโหสถ) จินดามณี (พระโหราธิบดี) อนิรุทธคำฉันท์ (ศรีปราชญ์) เป็นต้น สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ณ เมืองลพบุรี