xs
xsm
sm
md
lg

ในมุมมองของคนที่ชอบ Transformers 5 : สำนึกรักบ้านเกิด

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คิดไปได้ ทำไปได้ ... เชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูหนังเรื่องใหม่ของไมเคิล เบย์ มาแล้ว คงจะมีความคิดหรือคำพูดทำนองนี้ว้าบขึ้นมาในหัวบ้างล่ะ พร้อมๆ กันนั้นก็อาจจะรู้สึกตลกๆ กับความ “ไปไกลมาก” ของไมเคิล เบย์ ที่เอาเรื่อง “หุ่นยนต์” ไปบวกกับ “ประวัติศาสตร์การต่อสู้” ยุคกษัตริย์อาเธอร์ของอังกฤษ “ด้วยการพาบ้านเมืองผ่านสงครามด้วยฤทธิ์แห่งเวทย์มนต์”

แค่นี้ก็มึนแล้วล่ะครับว่า อะไรไปเข้าฝันไมเคิล เบย์ ให้แกตัดสินใจรับเอาเรื่องราวแบบนั้นมาไว้ในหนัง (ซึ่งจริงๆ ก็คงต้องแพ็กความรับผิดชอบในข้อนี้ไปที่ฝ่ายทีมงานที่ช่วยกันคิดสตอรี่และเขียนบทด้วยเช่นกัน)

แต่ไม่ว่าจะยังไง ถ้าหากประวัติศาสตร์การต่อสู้ในบางประเทศ สามารถเอาเรื่องของขลังหรืออาคมเข้าไปเล่าร่วมกับวีรกรรมการต่อสู้ของเหล่าผู้กล้าได้ ก็จะแปลกอะไร ถ้าไมเคิล เบย์ จะเอาชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มามัดรวมกับเรื่องหุ่นยนต์มีชีวิต และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ไมเคิล เบย์ ก็มีความชอบธรรมที่จะบอกว่า ก็มันเป็นหนัง รวมถึงแนวหนังก็บอกอยู่แล้วนี่ว่า ไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์ แต่มีความเป็นแฟนตาซีเต็มเปี่ยม และด้วยเหตุนี้ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ในโลกของแฟนตาซี

ไม่ว่าจะอย่างไร เอาเข้าจริง เรื่องของคิงอาเธอร์ที่อยู่ในยุคกลางของอังกฤษ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันจนทุกวันนี้ว่า มีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า? เรื่องราวของคิงอาเธอร์ปรากฏอยู่ในตำนานเล่าขาน (ตัวนี้สำคัญ เพราะใน “ตำนานเล่าขาน” นี่อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น) แต่บุคคลที่กล่าวได้ว่าทำให้เรื่องของคิงอาเธอร์เลิศเลอขึ้นมาและโด่งดังที่สุดก็คือ “เจฟฟรีย์ แห่งมอนมัท” (Geoffrey of Monmouth) นักบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงแห่งเกาะอังกฤษ เขาเขียน “Histories of the Kings of Britain” หรือพูดง่ายๆ ก็คือประวัติของคิงอาเธอร์ได้ล้ำเลิศพิสดาร โอเวอร์ด้วยจินตนาการและความเหนือจริง แต่ก็ถูกจริตคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากเจฟฟรีย์แห่งมอนมัท ... เราจะพบได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีเขียนและกล่าวถึงคิงอาเธอร์ในรูปแบบแตกต่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือการหยิบนำมาทำเป็นหนังหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่วีรกรรมการต่อสู้ ซึ่งปรุงเสริมเติมแต่งให้พิสดารอลังการไปตามจริตและจิตเจตนาของผู้สร้างแต่ละคน

ในขณะที่เรามองว่า “เลอะเทอะ” “เพ้อเจ้อ” “เหลวไหล” “มโน” หรืออะไรต่อมิอะไรอีกมากมายสุดแท้แต่จะสรรหามากล่าว เรามาดูกันหน่อยดีไหมครับว่า เพราะอะไร ไมเคิล เบย์ ถึงหยิบเอาเรื่องราวของคิงอาเธอร์มาผูกรวมกับหนังหุ่นยนต์ได้ขนาดนี้

อันนี้ต้องหมายเหตุไว้ตัวโตๆ ด้วยครับว่า “นี่คือเป็นมุมมองส่วนตัวของผม” เท่านั้น

โดยโครงสร้างทางเนื้อหาทั้งหมด ผมเห็นว่า จุดหนึ่งซึ่งหนังพยายามเน้นอย่างเห็นได้ชัด ก็คือการพูดถึงเรื่อง “บ้าน” หนังเลือกที่จะเปิดเรื่องด้วยเด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีคนหนึ่งซึ่งไร้ที่มา แต่เธอได้พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำเกี่ยวกับ “บ้าน” ของเธอ บ้านที่ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว และสถานที่ร้างๆ ซึ่งรกไปด้วยเศษเหล็กและซากของหุ่นยนต์ (จากสงครามต่อสู้ในภาคที่แล้ว) สำหรับเธอแล้ว นี่คือบ้าน และหุ่นยนต์ที่ยังพอมีชีวิตอยู่บ้างก็ไม่ต่างไปจาก “ครอบครัว” ที่เธอยังหลงเหลืออยู่

อีกด้านหนึ่ง ... อ็อปติมัส ไพรม์ ที่เมื่อเสร็จสิ้นสงครามบนผืนโลก ก็กลับไปยังดาว “ไซเบอร์ตรอน” อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง และพบว่า “บ้าน” ของตนเองนั้น ได้พังทลายลงอย่างราบไปแล้วเรียบร้อย สำนึกรักบ้านเกิด พร้อมกับภารกิจในการ “กอบกู้บ้านเกิด” ของไพรม์จึงเดือดดุระอุขึ้น ซึ่งก็เป็นหนึ่งในที่มาของเรื่องราวที่จะก้าวต่อไปในหนัง

มองไปทางฝั่งของตัวเอกอย่าง “เค้ด เยเกอร์” (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) คนนี้นี่ไม่ต้องพูดถึง ณ ปัจจุบัน ตัวพ่อแห่งปัญหาเรื่องบ้าน เมียก็ไม่มี บ้านก็กลับไม่ได้ ลูกสาวก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ตนเองก็ขมขื่นอยู่กับความโดดเดี่ยว ไม่มีใครให้ข้องเกี่ยวมากไปกว่าหุ่นยนต์ที่ต้องดูแล และเพื่อนร่วมงานอีกคนสองคน บนพื้นที่รกร้างห่างไกล

“บ้าน” จึงถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของทรานสฟอร์เมอร์สภาคที่ 5 นี้ ใครจะอยู่ใครจะไปมีบ้านของตนเอง ก็วัดกันตรงนี้ แต่ละคนต่างก็ต้องอยู่และต้องสู้เพื่อ “บ้าน” ในฝันของตนเอง

และแน่นอนว่า เมื่อมี “บ้าน” มันก็ต้องมี “คนอยู่” แล้วคนที่อยู่ ก็คงไม่ได้มีแค่ “คนยุคปัจจุบัน” ที่เห็นๆ กันอยู่ หากแต่มันย้อนไปถึงอดีตกาลอันไกลโพ้น ตามสายพานที่เรียกกันว่า “บรรพบุรุษ” ภาพแห่ง “แฟมิลี่ ทรี” (Family Tree) ในคฤหาสน์ของ “เซอร์ เอ็ดมัน เบอร์ตัน” (แอนโธนี่ ฮอปกินส์) ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นมาเป็นไปของเรื่องราวลูกหลานที่ได้รับการฝากฝังไว้จากบรรพบุรุษในอดีตกาลนานไกล

ก็มโนกันไปตามสไตล์ ... คำว่า เดอะ ลาสต์ ไนท์ (The Last Knight) ซึ่งเป็นชื่อรองของหนังภาคนี้ ที่แปลว่า “อัศวินรุ่นสุดท้าย” ก็พาเราย้อนกลับไปยังภารกิจตั้งแต่ยุคของชวด ของชวด ของชวด ฯลฯ ที่ไล่ไปให้สุดๆ จริงๆ ก็คือยุคของวีรบุรุษผู้มีนามเรียกขานว่า “คิงอาเธอร์”

เป็น “คิงอาเธอร์” ที่ได้ปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด หรือ “บ้าน” ซึ่งก็คือเกาะอังกฤษ จากการเข้ามารุกรานของพวก “แซ็กซัน” ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ผู้ฝากฝังดีเอ็นเอแห่งนักต่อสู้ผู้เสียสละมาจนกระทั่งถึงยุคของ “เคด เมเยอร์”

ไม่ใช่เพ้อเจ้อเลอะเทอะ ... แต่ทุกอย่างที่เกิดในหนังทรานส์ฟอร์เมอร์สภาค 5 เป็นการ “มโนขึ้นมาอย่างมีหลักการ” เพราะขณะที่คิงอาเธอร์ต่อสู้เพื่อบ้าน บรรดาตัวละครในทรานส์ฟอร์เมอร์ส 5 ก็มีคำว่า “บ้าน” เป็นหลักชัยในชีวิต ... เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
สำหรับคำอธิบายที่ว่า เอาคิงอาเธอร์มาทำไม? ไมเคิล เบย์ เล่นทีต้องเล่นใหญ่ ฉายาหนึ่งในตองอู สายระเบิดภูเขาเผากระท่อม จึงเป็นของเขา และถ้าจะนับรวมเรื่องการเป็น “เจ้าแห่งการโม้แหลก” ก็ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด

กล่าวจากใจ ผมไม่ได้ติดขัดอะไรกับการ “โม้” ในหนังทรานสฟอร์เมอร์สภาค 5 ก็แหม...ผู้กำกับหนังมันก็ต้องเป็นนักโม้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่จะโม้แบบไหนเท่านั้นเอง โม้แบบดราม่า โม้แบบตลก โม้แบบผีสาง ฯลฯ ต่างก็โม้ แล้วถ้าคิดถึงการโม้แบบไมเคิล เบย์ ก็นี่เลย โม้เวอร์วังอลังการ พิสดารจนคาดไม่ถึง

ประสบการณ์ในการดูหนังภาคนี้ สำหรับหลายท่าน บอกว่าไม่สนุก ซึ่งตรงนี้ก็ว่ากันไปในเหตุและผลของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวผมรู้สึกสนุกไปกับหนังตลอดความยาว 2 ชั่วโมง 48 นาที ส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่า เพราะเมื่อคิดปะติดปะต่อเรื่องราวอย่างที่เล่ามาหรือเปล่า ผมจึงสนุกไปกับหนัง แต่อย่างไรก็ตาม ความบันเทิงส่วนหนึ่งนั้นมาจากฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ที่ดูแล้วได้ลุ้น ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วล่ะว่าสุดท้าย ชัยชนะย่อมเป็นของตัวเอก แต่ระหว่างสู้ก็มีอะไรให้เอาใจช่วยได้อยู่ ซึ่งจะเรียกอีกอย่างคือความน่าตื่นเต้นที่มาพร้อมกับความน่าตื่นตาของฉากซีจีที่ถือว่าทำออกมาได้ดีเลยนะครับ โดยเฉพาะฉากช่วงท้ายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องระหว่างโลกกับดาวไซเบอร์ตรอน

คุณลักษณะอีกประการหนึ่งซึ่งเราจะพบเห็นได้ในหนังของไมเคิล เบย์ ก็คืออารมณ์ขันหรือความตลก แน่นอนว่ามันจะมีบางมุกที่ดูสัปดนหรือทะลึ่งๆ บ้าง (เห็นมาตั้งแต่ภาคแรก) แต่โดยรวมแล้ว ผมว่าหนังภาคนี้มีอารมณ์ขันที่ไม่ด้อยเลยครับ ผมขำตั้งแต่ไอเดียเรื่องการจับเอาคิงอาเธอร์มาใส่ไว้ในหนังแล้วล่ะ ตัดเรื่องว่ามันดูเพ้อเจ้อออกไปแล้ว ผมว่ามันตลกดีจะตาย ... อีกอย่าง หนังก็มีมุกตลกให้ขำได้เป็นระยะๆ

และที่สำคัญ ผมเห็นว่า การเข้ามารับบทนี้ของแอนโทนี่ ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นดาราระดับเทพ หลายคนอาจจะมองว่าดาราออสการ์ระดับแกมารับแสดงทำไม? แต่ส่วนตัวผม นี่ไม่เพียงเป็นการเสริมบารมีให้กับหนัง แต่บทของแกยังทำให้เป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่ทำให้เรื่องราวมีน้ำหนักมากขึ้น เรียกว่าน่าจะเป็นส่วนผสมที่เข้มข้นที่สุดของตัวเรื่อง ท่าทีของแกที่แลดูซีเรียสจริงจัง (แบบดาราดังที่ต้องเล่นปังเล่นใหญ่) ในหนังบันเทิงที่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจังอะไรมาก ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นตลกร้าย ในลักษณะเดียวกับที่รู้สึกต่อ “ดอน กิโฆเต้ แห่งลามันช่า” ที่ทำท่านักรบแล้วออกไปต่อสู้เพื่อผดุงความถูกต้องยุติธรรม จนดูขำในสายตาผู้พบเห็น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมว่าบทของแก โดยเฉพาะบทพูด มีทั้งอารมณ์ขันและความขลังในขณะเดียวกัน ผมชอบมากฉากที่แกพูดคล้ายๆ เลียนแบบกษัตริย์อาเธอร์ที่ว่า “ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่มีวันเกิด” ซึ่งคำนี้ จริงๆ เราเคยได้ยินมาครั้งหนึ่งแล้วในทรานสฟอร์เมอร์สภาค 2 ก่อนจะกลายมาเป็นคำหลักในหนังภาคนี้อีกครั้ง เป็นเสมือนหนึ่งการตอกย้ำใจความสำคัญที่หนังแฟรนไชส์นี้พยายามสื่อสารกับคนดูตลอดมา

“ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด” ... แทบทุกตัวละครในเรื่องต่างต้องเสียสละ ไล่ตั้งแต่ “เคด เยเกอร์” ถ้าเขาไม่เสียสละความสุขส่วนตัว ทอดทิ้งพวกหุ่นยนต์แล้วไปอยู่กับลูกสบายๆ อะไรจะเกิดขึ้น? ถ้าออพติมัส ไพรม์ ไม่เปลี่ยนความคิดตัวเองแบบนั้น อะไรจะเกิดกับโลกที่เขารักเสมือน “บ้าน” อีกหลังหนึ่ง? ฯ ว่ากันอย่างถึงที่สุด ในเนื้อเรื่อง เราจะเห็นแง่มุมที่เกี่ยวกับการเสียสละที่แต่ละคนมีมากมีน้อยแตกต่างกันไป และการเสียสละเหล่านั้น ก็มุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน คือการปกปักพิทักษ์ “บ้าน” ...

ดูหนังจบแล้วกลับมานั่งคิดทบทวน ผมพบว่า ผมได้รับอะไรเยอะพอสมควรเลยครับ จากหนัง “ทรานสฟอร์เมอร์ส” ภาคนี้ นอกจากจะไปไกลในแง่ความมโน ระดับออกทะเล อารมณ์ขัน ความแอ็กชั่นก็มา และเหนืออื่นใด คือเนื้อหาเชิงปลุกใจให้ระลึกถึงความสำคัญของ “บ้าน” และการเสียสละที่จะพึงมี ... ทั้งหมดเท่านี้ก็ดีแล้วล่ะครับสำหรับหนังเรื่องหนึ่งซึ่งชัดเจนในแนวทางล้างผลาญระดับวินาศสันตะโร...






กำลังโหลดความคิดเห็น