ยิ่งใกล้สิ้นปี ก็ยิ่งเหมือนใกล้จะสิ้นใจ โดยเฉพาะในแวดวงสื่อ ที่ว่ากันว่าปีนี้โดนผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสื่อนิตยสาร สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวี
ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทองของโซเชียลมีเดีย จะมีอิทธิพลและพลานุภาพในการทำลายล้างได้มหาศาลขนาดนี้
เดี๋ยวนี้คนไม่จำเป็นต้องอ่าน นสพ. ไม่จำเป็นต้องซื้อแมกกาซีน เพราะอยากรู้ข่าวอะไร หรือแม้กระทั่งอยากจะเกาะติด เทรนด์แฟชั่น ก็เซิร์ซหาได้จากอินเตอร์เน็ต
ไม่จำเป็นต้องรีบกลับบ้าน เพื่อให้ทันดูฉากจบของละคร “นาคี” เพราะสามารถมาเปิดดูย้อนหลังใน Youtube หรือเว็บไซต์ต่างๆ ได้ ฉะนั้นแล้วการวัดความนิยมของรายการทีวี ผ่านเร็ตติ้ง จึงไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเก่า แต่จะสามารถรู้ได้ว่าละครเรื่องไหนฮิต รายการไหนมีคนติดตามดูเยอะ ก็ด้วยการประเมินผลจากการถูกนำมาพูดถึงในเฟซบุ๊ก
หรือถ้าอยากจะฟังเพลง อยากจะดูมิวสิกวิดีโอ ก็มีแอพพลิเคชันต่างๆ ที่ออกมารองรับ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ไม่รู้จบ
นั่นเท่ากับว่าโลกออนไลน์ เข้ามามีส่วนในกิจวัตรประจำวันของคนเรา ตั้งแต่ลืมตาตื่น ยันถึงตอนเข้านอน !!
แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียน ก็ยังรู้สึกว่า การเสพสื่อผ่านช่องทางหลักๆ อย่างที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมาแต่ก่อนเก่านั้น ได้อรรถรส ได้ความถูกต้อง ได้ความน่าเชื่อถือมากกว่าอยู่ดี ลองพิจารณากันดู ว่าทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์อะไรก็ตามแต่ ที่เป็นเรื่องซีเรียส เป็นวาระแห่งชาติ จริงอยู่ที่โลกออนไลน์จะแพร่สะพัดก่อนใคร แต่ในความรวดเร็วนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยการที่ไร้ซึ่งความถูกต้อง แม่นยำ ทั้งเรื่องข้อมูล ข่าวสาร หรือรายละเอียดต่างๆ เพราะเอาเร็วเข้าว่า รู้อะไรมายังไม่ทันได้พินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่ ก็มาเขียน มาแชร์กันแล้ว เผลอแป๊บเดียว ก็ลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง บางทีเรื่องแค่ขี้ปะติ๋ว ก็เอามาขยี้จนกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต
สุดท้ายอะไรก็ตามที่มีความสลักสำคัญ เชื่อว่าคนก็ยังต้องหันกลับมาพึ่งสื่อหลัก เพื่อคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องอีกครั้ง เมื่อใดที่มีเผยแพร่ข่าวนั้นๆ ใน นสพ. ฉบับใหญ่ หรือรายการข่าวทีวีที่น่าเชื่อถือได้ จึงจะมั่นใจได้ว่าจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างถูกต้องแม่นยำกว่าที่นำมาแชร์ต่อๆ กันในเฟซบุ๊ก ในไลน์ หรือในเว็บไซต์ที่ล่อหลอกให้คนคลิกเข้าไปดู เพื่อเอายอด
แต่ก็นั่นแหละ ในความเป็นจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การล้มหายตายจาก หรือประสบกับภาวะขาดทุนของสื่อต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นมาตั้งแต่ต้นปี หลักใหญ่ใจความ ก็มาจากการแทรกซึมของสื่อออนไลน์ ที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เมื่อยอดคนดูหล่น ค่าโฆษณาก็ร่วงตาม เม็ดเงินที่เคยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร ก็ถูกลดทอนไป โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีตัวเลขระบุว่า ยอดรวมของค่าโฆษณาจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 9,993 ล้านบาท หล่นฮวบมาอยู่ที่ 8,164 ล้านบาทในปี 2559 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตยังคงที่ เมื่อสมการของรายรับ กับรายจ่าย มันไม่สมดุลกัน ยังไงๆ ก็ขาดทุน ครั้นจะมาแบกรับภาวะตัวแดงซ้ำซ้อนต่อเนื่องกันทุกเดือนๆ ก็ไม่ไหว ถ้าเกินกำลังที่จะกอบกู้ ก็ต้องบอกเลิกศาลากันไป
ดังที่รู้กันว่านิตยสารหลายหัว ทยอยปิดตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ พลอยแกมเพชร , สกุลไทย , ภาพยนตร์บันเทิง ,อิมเมจ , WHO? ฯลฯ
นสพ. บันเทิง อย่าง สยามดารา ก็ตีพิมพ์ควบรวมกับ นสพ. ในเครือ อย่าง สยามกีฬา
นสพ. มติชน ที่ขาดทุนหนักกว่า 80 ล้านบาท แม้จะกัดฟันสู้ต่อ แต่ก็รัดเข็มขีดในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เป็นสวัสดิการของพนักงานลง จนแทบจะไม่เหลือ ยังไม่นับการประกาศให้พนักงานลงชื่อสมัครใจลาออก ซึ่งก็มีคนสมัครใจถึง 170 คน จากยอดพนักงานกว่า 2.000 คน เช่นเดียวกับเครือเนชั่น ที่ขาดทุนกว่า 600 ล้านบาท จนทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างพนักงานใหม่ทั้งองค์กรเช่นเดียวกัน
แต่ที่ยื้อจนสุดแรงยื้อ และรู้ว่าอย่างไรเสียก็คงไปได้ไม่ไกลกว่านี้ อย่าง นสพ. บ้านเมือง ก็ถึงขนาดยุติกิจการ ปิดตำนานอันยาวนานถึง 44 ปี ไว้เพียงสิ้นปีนี้ โดยมีการระบุผลประกอบการของ นสพ.บ้านเมือง ในช่วง 5 ปีหลัง ไว้ดังนี้
ปี 2554 มีรายได้รวม 60.76 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 8.22 ล้านบาท
ปี 2555 มีรายได้รวม 61.19 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1.64 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้รวม 60.81 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3 แสนบาท
ปี 2557 มีรายได้รวม 52.55 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 7.92 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 44.12 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 18.61 ล้านบาท
ในลักษณาการไม่ต่างจากคลื่น SEED FM. ที่ปิดตำนานไว้ที่ 12 ปี อันเนื่องมาจากการประสบกับภาวะขาดทุนสะสมติดต่อกัน 2 ปี
ก่อนหน้านี้เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่าอยู่บริษัทใหญ่มั่นคง แต่ในโมงยามนี้ กระทั่งบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่อย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กับ อาร์เอส ก็ยังมีการปลดพนักงานออกเป็นว่าเล่น ระลอกแล้วระลอกเล่า ขนาดอยู่ในองค์กรที่มีมหาชนห้อยท้าย ยังหาความมั่นคงให้ชีวิตไม่ได้เลย
นี่คือวิถีของคนทำงานสื่อในยุคที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่ต้องทนอยู่และทนไปอีกนานแค่ไหนไม่รู้ ?
การดิ้นรนเอาตัวรอดของบรรดาบริษัทผู้ผลิตสื่อฯ ที่รู้ดีว่าไม่สามารถหยัดยืนแบบ Stand Alone ได้ ก็คือการหาพันธมิตรมาร่วมทุนเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ อย่างเช่นกลุ่มบริษัทอมรินทร์ฯ ที่มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อทีวีดิจิตอลในมือ ยังต้องมีการหาพันธมิตร อย่างตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้างเข้ามาร่วมถือหุ้นกว่า 42.62% มูลค่า 850 ล้านบาท เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจในเครือ
วิถีเดียวกันนี้เอง ที่ “คุณหนูบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” นำมาใช้กับช่อง ONE ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ว่าจะเป็นการกลยุทธ์การดึงพันธมิตรมาทำการตลาดร่วม ในลักษณะ Lofestyle Marketing โดยแชร์กลุ่มเป้าหมายร่วมกัน โดยเริ่มต้นดีลกับพันธมิตร 2 ราย คือ Lazada ผู้นำในเรื่องของธุรกิจออนไลน์ แล้วก็คลื่นวิทยุ 103 Like FM.
โดย Lazada นั้น เป็นที่รู้กันว่ามีฐานลูกค้าอยู่ในราว 15 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งก็ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันแฟนของช่อง ONE ซึ่งในเบื้องต้นรูปแบบของความร่วมมือ จะเป็นลักษณะการทำโปรโมชั่นร่วมกัน คือคนที่ติดตามดูช่อง ONE ก็สามารถนำรหัสที่ปรากฏที่หน้าจอ ไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือบริการกับทาง Lazada
ในขณะที่การร่วมมือกับ 103 LIKE FM นอกเหนือจากการพิจารณาว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว ยังพิจารณาจากช่องทางการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ใน 6 จังหวัด อันได้แก่ เชียงใหม่, พิษณุโลก, บุรีรัมย์,ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี และหัวหิน ซึ่งเป็นจังหวัดที่สถานีวิทยุในเครือแกรมมี่ไม่ครอบคลุม โดยที่ความร่วมมือ จะเป็นลักษณะการนำคอนเทนต์ของทางช่อง ONE ไปออกอากาศในสถานี ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ช่องทางการสื่อสารมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีการขายโฆษณาแบบเป็นแพคเกจในอนาคต
ทั้งนี้มีการตั้งเป้าที่จะขยายฐานคนดูเพิ่มขึ้น 2 ล้านราย ภายใน 3-6 เดือน แบ่งเป็นฐานของ Lazada 10% และที่เหลือเป็นฐานของ 103 LIKE FM
นอกจากการหาพันธมิตรมาทำการตลาดร่วมแล้ว ยังมีการดึงพันธมิตรรายใหญ่เข้ามาร่วมลงทุนเพิ่ม นั่นก็คือ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของตระกูลปราสาททองโอสถ ที่จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 50% โดยที่การเข้ามาของกลุ่มปราสาททองโอสถครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ช่อง ONE มีดำริที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.8 พันล้านบาท (เพิ่มอีก 1.9 พันล้านบาท) โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหม่จะเป็นดังนี้
* บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด 50%
* GMM Grammy 25.50%
* กลุ่มของนายถกลเกียรติ 24.50%
และนั่นก็เท่ากับว่ากลุ่มปราสาททองโอสถ ถือหุ้นในช่องทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีช่อง PPTV อยู่แล้ว แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีการแยกส่วนในการบริหารงาน ระหว่าง 2 ช่อง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เป็นการรุกคืบสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลอย่างเต็มตัว และในขณะเดียวกัน อาจส่งผลให้ระบบการบริหารงานของช่อง ONE ที่เคยอยู่ในอุ้งมือของ “บอย-ถกลเกียรติ” เพียงลำพัง จะต้องเปลี่ยนทิศทางไป ไม่มากก็น้อย แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าโครงสร้างการบริหารจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะผู้ร่วมทุนใหม่เชื่อมั่นในทีมบริหารเดิมก็ตามที
ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 369 10-16 ธันวาคม 2559