xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลงข่าว “ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 ระหว่างวันที่ 6 - 15 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี "เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์" เนื่องในวโรกาสทรงเจริญมายุครบรอบ 60 พรรษา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ซึ่งพระองค์ทรงมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะศาสตราจารย์ทางด้านเคมี

ร.ศ.นพ. กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในปัจจุบัน ทั่วโลกพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมทั้งสิ้น ซึ่งมีกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ในการช่วยคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และองค์ความรู้ใหม่ ที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญ และได้กำหนดนโยบายเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาของประเทศ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนทุกกลุ่ม และสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการของประเทศไทย นั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ทำให้ค้นพบเยาวชนไทยที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนาส่งเสริมและศักยภาพอย่างเป็นระบบจำนวนมากขึ้น การแข่งขันเคมีโอลิมปิกในครั้งนี้ ยังเป็นเวทีหนึ่งที่จะส่งเสริมเยาวชนที่สอดคล้องกับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนของกระทรวงศึกษาธิการ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล ในด้านการพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (Tech Startup)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) แถลงว่า ประเทศไทยส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เพราะต้องการวัดมาตรฐานการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาของไทยเทียบกับมาตรฐานสากล และนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมและจากการแข่งขันมาพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2532 ได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 ณ เมือง Braunschweig ประเทศสหพันธรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) เป็นวิชาแรก ส่วนวิชาเคมีเริ่มส่งนักเรียนไปแข่งขันในปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงอุปถัมภ์โครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กองทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เพื่อโครงการโอลิมปิกวิชาการ” ซึ่งต่อมาคือ มูลนิธิ สอวน. ภายหลังการจัดตั้งมูลนิธิ สอวน. ผลปรากฏว่านักเรียนไทยทำได้ดีอย่างก้าวกระโดด คือ ได้เหรียญรางวัลทุกคนในทุกสาขาวิชา และส่วนใหญ่เป็นเหรียญทองและเหรียญเงิน ซึ่งจัดอยู่ในลำดับแนวหน้าของโลก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “...ฉันสนใจโครงการนี้เพราะเคยเรียนเคมีมาและคนที่รู้คณิตศาสตร์ต้องมี Logical Thinking การไปแข่งขันเป็นการส่งเสริมให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ฉันยินดีสนับสนุนโครงการนี้...”

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ เตรียมความพร้อมเต็มที่ในการต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติ อย่างคืบหน้าเกือบสมบูรณ์แล้ว ทั้งในส่วนของที่พัก สถานที่จัดสอบ สถานที่จัดพิธีเปิด พิธีปิด การเตรียมความพร้อมของพี่เลี้ยง การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการแข่งขัน เช่น การทัศนศึกษา โดยในส่วนของการทัศนศึกษานั้นได้จัดให้ผู้ร่วมงานเข้าเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งสถานที่ทางธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้เชิงศิลปวัฒนธรรม

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถลงว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 ในปีพุทธศักราช 2560 ของประเทศไทยครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของประเทศและสำหรับนักเรียนไทย ที่จะได้แสดงศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนๆ จากนานาชาติที่มีความสนใจวิชาเคมีเช่นเดียวกัน สสวท.ได้ดำเนินงานโครงการโอลิมปิกวิชาการ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการเรียนการสอน สร้างความตระหนักในการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้วิชาดังกล่าวให้มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ เพื่อให้มีคนเก่งด้านนี้ขยายจำนวนมากขึ้นรองรับความต้องการของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการเรียนด้านนี้มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ยาก ทำให้นักเรียนไม่สนใจเดินเข้าสู่เส้นทางอาชีพสายนี้มากนัก ข้อสำคัญโครงการนี้ยังทำให้ค้นพบนักเรียนที่มีศักยภาพ สามารถหาแนวทางส่งเสริมให้พัฒนาต่อในด้านที่ถนัดได้ตรงเป้าหมาย กิจกรรมในโครงการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วยบ่มเพาะให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง สามารถเตรียมตัว เตรียมอนาคตของตนเองได้ รวมทั้งเข้าใจบทบาทของตนเองที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ ด้วยพลังความรู้และการคิดค้นพัฒนาด้านต่างๆ

ทั้งนี้ ในพิธีรับมอบธงการเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจอร์เจีย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินภารกิจนี้ด้วยความเข้มแข็ง นับเป็นการสนับสนุนภาพลักษณ์การเป็นประเทศที่มุ่งขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนากำลังคนที่แข่งขันได้ในโลกอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น