xs
xsm
sm
md
lg

“ก็นี่แหละ เมืองไทยล่ะ!” ขุนพันธ์เอ๋ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



“เราไม่ได้ทำหนังอัตชีวประวัติท่านนะ ไม่ใช่สารคดี
เพียงแต่หยิบเรื่องราวที่มีสีสันของขุนพันธ์มาเรียงร้อยใหม่
เป็นหนังเพื่อการบังเทิง และมีเนื้อหาสาระ
เป็นหนังแอ๊คชั่นที่มีบทในเชิงดราม่า
และตั้งคำถามเล็กๆ ระหว่างบุคคลที่ส่งผลในภาพใหญ่ระดับประเทศได้
เรายืนอยู่บนความเคารพและศรัทธาในตัวท่านขุนพันธ์
แต่เราไม่ได้ทำสารคดีประวัติท่าน”
(อ้างอิงจาก jediyuth.com)

ถ้อยคำข้างต้น เป็นคำกล่าวของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “ขุนพันธ์”.. ก้องเกียรติ โขมสิริ ... ที่ผมเห็นว่าควรจะหยิบยกนำมาวางไว้ในที่นี้ เนื่องจากหลายคน พอได้ดูหนัง อาจเกิดการสับสนว่าทำไมเรื่องราวของท่าน จึงไม่ตรงกันกับที่เคยรับรู้มา คือพูดง่ายๆ ว่า นอกจากหยิบยกเอาเรื่องราวการเผชิญหน้ากับคู่ปรับคนสำคัญนามว่า “อัลฮาวียะลู” ซึ่งเราท่านคงพอรู้กันอยู่แล้วจากชีวประวัติของท่าน นอกจากนั้นก็แทบจะกล่าวได้ว่าเป็น “จินตนาการปรุงแต่ง” ด้านภาพยนตร์

เมื่อผู้กำกับเลือกที่จะวางตำแหน่งแห่งหนให้กับผลงานของตนเช่นนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดกับภาพในหนังซึ่งเราจะได้เห็น ทั้งความมหัศจรรย์ระดับเกินความจริงที่จะเชื่อได้ไปไกลมาก หรือแม้กระทั่งการตกแต่งเรื่องราว เพิ่มมิติหรือบริบทแวดล้อมได้เต็มที่ และนี่ก็เป็นความชอบธรรมของผู้กำกับที่จะทำได้

เหนืออื่นใด ผมเดาเอาว่า... อันนี้คือมองจากเนื้อหาสาระและประเด็นที่เก็บเกี่ยวได้จากการดูหนังเรื่องนี้นะครับ ... ผมเดาเอาว่าแรงขับประการหนึ่งซึ่งคุณก้องเกียรติ โขมสิริ คิดสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา อาจเป็นเพราะมีความในใจหลายประการเกี่ยวกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน เฉกเช่นเราท่านที่ต่างก็คับแค้นกับหลายสิ่งหลายอย่าง ไล่ตั้งแต่การเมือง ระบบราชการ กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงเรื่องตำรวจที่มีหลากหลายแง่มุมให้น่าปวดจิตปวดใจ และสิ่งเหล่านี้ก็สามารถผ่องถ่ายสู่เรื่องราวของขุนพันธ์ได้อย่างกลมกลืน ... และเหนืออื่นใด ผมเห็นว่าสิ่งที่หนังเรื่องนี้ซ้อนไว้อย่างแยบยล โดยไม่จำเป็นต้องตะโกนออกมาดังๆ ก็คือ มันวิพากษ์ไปไกลถึงปัญหาบางประการในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งต่อเนื่องมานานปี

... เรื่องขุนพันธ์นี่เกิดในภาคใต้นะครับ และท่านก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่ไม่รู้จัก ซึ่งถ้าใครตั้งใจฟัง ในหนังจะมีประโยคที่ตัวละครสักตัวพูดว่า “นี่คือดินแดนที่ใครก็สามารถจะถูกมองว่าเป็นโจรได้” ประโยคนี้ประโยคเดียว ไล่ต้อนความคิดของเราให้ขยายวงออกไปกว้างไกลยิ่งกว่าแค่เรื่องไล่ล่ามหาโจรอัลฮาวีฯ

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวของมหาโจรอัลฮาวียะลูในหนังนั้น พูดกันอย่างถึงที่สุด มันจุดประกายให้เรานึกคิดจินตนาการไปได้อีกว่า ความคิดและพฤติการณ์ของเขานั้น มีรูปรอยของแนวคิดบางอย่างที่เราจะได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ เมื่อใครสักคนอภิปรายถึงปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้... การสูญเสียแม่บังเกิดเกล้าตั้งแต่วัยเยาว์นั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งซึ่งโหมไฟแค้นให้ลุกโชน แต่สุดท้ายแล้ว เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปฐมบทที่มาแห่งการก้าวสู่สถานะแห่งขุนโจร (ตามคำเรียกของทางการ) มันเกิดจากการที่เขาเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจส่วนกลางด้วยส่วนหนึ่ง ถ้อยคำชวนคิดที่หล่นจากปากของอัลฮาวียะลูประโยคหนึ่งทำนองว่า ... จนกระทั่งความยุติธรรมของส่วนกลางถูกส่งเข้ามาในพื้นที่ ... ชีวิตของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ...

คุณก้องเกียรติ โขมสิริ เป็นคนทำหนังซึ่งกล่าวได้ว่าผมติดตามผลงานของเขามาทุกเรื่อง และเวลาดูงานของผู้กำกับคนนี้ นอกเหนือจากความบันเทิง สิ่งหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าเป็น “ท่าบังคับ” สำหรับเขามาโดยตลอดก็คือ การไม่ทิ้งคนดูไว้เพียงในระดับของการเสพรับความบันเทิงในระยะเวลาสองชั่วโมงจบ หากแต่เรื่องราวในหนังจะถูกแฝงฝังมาพร้อมประเด็นเชิงสาระอยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย คือพูดง่ายๆ ว่ามีอะไรให้คิดตามนั่นล่ะครับ ผู้กำกับที่ทำหนังลักษณะนี้ ไม่เพียงมีทักษะด้านภาพยนตร์ หากยังมีอีกด้านคือความเป็นนักคิดด้วย และสำหรับหนังอย่าง “ขุนพันธ์” ผมก็รู้สึกว่า มุมมองความคิดของเขา ยังมีพลัง

ขุนพันธ์บนแผ่นฟิล์ม กับขุนพันธ์ในความเป็นจริง อาจไม่ตรงกันก็จริงอยู่ แต่ถึงอย่างไร เนื้อแท้ตัวตนของ “ความเป็นขุนพันธ์” เชื่อว่าน่าจะไม่แตกต่างในแง่ของการเป็นสัญญะแห่งความดี ... เรื่องราวของหนังโดยย่อที่พอจะบอกเล่าได้ พาย้อนกลับไปในราวปี พ.ศ.สองพันสี่ร้อยแปดสิบกว่าๆ ขณะที่โลกทั้งโลกกำลังคุกรุ่นด้วยบรรยากาศสงคราม ในเมืองไทยเอง นายตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม นามว่า “พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ขุนพันธ์” ได้รับมอบหมายจากทางการให้ไปปฏิบัติภารกิจในแถบเทือกเขาบูโด จัดการจับกุมมหาโจรผู้มีชื่อเรียกว่า “อัลฮาวียะลู”

การเผชิญหน้ากัน ระหว่างสองคนผู้แตกต่างในที่ทางฐานะ ฝ่ายหนึ่งคือโจร อีกฝ่ายคือข้าราชการ ในสัมผัสของสองตัวละคร ผมรู้สึกเหมือนกับแบทแมนปะทะโจ๊กเกอร์ในหนัง “แบทแมน เดอะ ดาร์ก ไนท์” (The Dark Knight กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน) ฝ่ายแรกคืออนันดา เอเวอริ่งแฮม ผู้รับบทขุนพันธ์ เขาคือตัวแทนแห่งความดีเหมือนๆ กับแบทแมน แต่แม้จะเก่งเพียงใด ก็ต้องเจ็บตัวอยู่ไม่น้อย ทั้งถูกเตะต่อยและถูกยิง (โชคดีที่ไม่ถูกหมากัดเหมือนแบทแมน) ขณะที่อีกฝ่ายคือ “อัลฮาวียะลู” รับบทโดยน้อย วงพรู – กมล สุโกศล แคลปป์ – ที่ผู้กำกับให้สัมภาษณ์ไว้กับรายการวิวไฟน์เดอร์ ทางช่องซูเปอร์บันเทิง ว่าเหมือนกับมีระเบิดเวลาอยู่ในตัว ซึ่งก็จริงครับ น้อย วงพรู ให้การแสดงที่ยอดเยี่ยมไว้อีกครั้งหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เขาดูเหมือนโจ๊กเกอร์ที่มีความตลกร้าย แอนตี้สังคม แต่ก็มีอุดมการณ์ในระดับที่ชาวบ้านหรือสังคมชุมชนต้องนับถือ คำบางคำของเขา ตอกลงไปในจุดที่ชวนให้รู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดจุดหนึ่งในสังคม ผมจำได้แม่นยำ ถ้อยคำที่เขาพูดกับขุนพันธ์

“เราต่างก็ถูกหลอกด้วยกันทั้งสองฝ่าย...”
และว่า “เป็นตัวของตัวเองเถอะ เจ้านาย!”

เอาเข้าจริง ทั้งขุนพันธ์และอัลฮาวียะลู ต่างก็ดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน มันมีเมล็ดพันธุ์แห่งความเจ็บปวดเติบโตอยู่ในคนทั้งสอง สำหรับขุนพันธ์นั้น อย่างน้อยสองครั้งที่แสดงออกให้เราเห็นว่า เขามองเห็นความน่าอัปยศอดสูที่แฝงอยู่ในระบบข้าราชการ (ซึ่งก็คือตำรวจ) ตำรวจที่ดี หรือคนดีๆ ที่สุดแล้วก็แค่คนทำสิ่งดีๆ แต่การได้รับผลตอบแทนที่ดีๆ ไม่แน่ว่าจะเป็นของคนดีๆ ...ฝ่ายอัลฮาวียะลูนั้นเล่า เขาก็ดูเหมือนจะแจ้งชัดถนัดใจตั้งแต่วัยหนุ่มก่อนหน้านั้นแล้วว่าอำนาจข้าราชการ นั้นหาได้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ เนื่องจากมันมีความเป็น “อิทธิพล” พรางตนซ่อนตัวอยู่ใน “อำนาจ” นั้น

บางที ถ้อยคำที่ท่านผู้การซึ่งส่งขุนพันธ์ไปยังเทือกเขาบูโด กล่าวว่า “คุณคิดว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้แค่ไหนอย่างไร” พร้อมกับย้ำว่า “คนชั่วเต็มเมือง แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดใครได้ นี่ล่ะเมืองไทย” คำนี้บางทีอาจไม่ได้หมายถึงโจร แต่อาจเป็นใครต่อใครที่แขวนคำว่า “อิทธิพล” ไว้บนตราสัญลักษณ์ของทางการอีกที!

ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมจึงมองว่า “ขุนพันธ์” เป็นหนังที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาเล่าอดีตเสียทีเดียว หากแต่สอยเกี่ยวเอาเรื่องราวประวัติศาสตร์มาเป็นดั่งบุคลาธิษฐานเพื่อวาดภาพสังคมไทย เราดูจบแล้ว เราก็อาจจะกล่าวเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ท่านนั้นซึ่งส่งขุนพันธ์เข้าไปยังเทือกเขา ว่า “ก็นี่แหละ เมืองไทยล่ะ!”




หยดหนึ่งน้ำตา
สะเทือนถึงฟ้าและดวงดาว

พ้นไปจากสาระประเด็น อีกแง่หนึ่งซึ่งถือเป็นความโดดเด่นของงานชิ้นนี้คือเรื่องของสไตล์หรือแนวทางของหนังที่ดูแล้วแตกต่างจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ ซึ่งในที่นี้ ผมขอใช้คำว่า “มหัศจรรย์” แล้วกันนะครับ มันมหัศจรรย์จนดูเวอร์วังอลังเหลือ

เหตุผลนั้นก็เพราะตัวเรื่องของมันเอื้อต่อการทำเช่นนั้น เรื่องราวของคาถาอาคมมันก็มีความเหลือเชื่ออยู่แล้วในตัวของมันเอง และหนังก็ไม่ยั้งมือแม้แต่น้อยที่จะใช้สอยสิ่งนี้อย่างเต็มพิกัด ฉากขุนพันธ์ควบม้าทะลุทะลวงเข้าไปในขบวนรถไฟ โอเว่อร์พอๆ กับฉากขุนโจรอัลฮาวีร่ายมนต์สะกดให้ตำรวจนายหนึ่งหยิบปืนขึ้นมาลั่นกระสุนใส่หัวตัวเองดับ ฯ เหล่านี้มันมีความเอ็กโซติก (Exotic) แบบท้องถิ่นไทยซึ่งจริงๆ ก็มีมาตั้งแต่ยุควรรณคดีขุนช้างขุนแผน

แต่ก็เพราะเรื่องคาถาอาคม ผมว่าทำให้หนังดูสนุกและเป็นที่มาของฉากแอ็กชั่นอัศจรรย์ที่ต่อสู้กันไปถึงขั้นระดับจิต คือส่งกระแสจิตต่อสู้กัน แถมบางจังหวะยังดูเหมือนจะสื่อสารทางไกลกันด้วยจิตได้ (โทรจิต) ซึ่งผมก็พอได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า ผู้ที่จะทำแบบนั้นได้ก็คือพระท่านผู้ปฏิบัติจนได้ฌาณได้อภิญญาสมาบัติ

เอาเข้าจริง ผมคิดว่ามันมีสไตล์หลายๆ อย่างที่ผสมผสานกันอยู่ในหนังเรื่องนี้ อย่างแรกที่มองเห็น เช่นทุกคนเห็น ก็คือมีความเป็นหนังเคาบอย ผมมองว่าเหตุผลที่หนังหยิบยืมสไตล์ของหนังเคาบอยมาใช้ เพราะหนังเคาบอยส่วนใหญ่ มักจะพูดถึงการสู้รบปรบมือระหว่างความดีกับความเลว อาจมีสีเทาๆ อยู่บ้าง อย่างเรื่อง เดอะ กู๊ด เดอะ แบ๊ด แอนด์ ดิ อั๊กลี่ (The Good, The Bad and the Ugly) แต่รวมๆ แล้วก็เกี่ยวพันกับความดีความเลว ธรรมะ-อธรรม

การใช้ดนตรีประกอบอันเป็นซิกเนเจอร์ซาวด์สำหรับตัวขุนพันธ์ ก็ชวนให้คิดถึงเพลงเป่าปากอันเป็นตำนานในหนัง เดอะ กู๊ด เดอะ แบ๊ด แอนด์ ดิ อั๊กลี่ นั่นยังไม่นับรวมการนำเอาการขี่ม้าเข้ามาใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องหมายของหนังเคาบอยตะวันตก อีกทั้งท่าขี่ม้ายิงปืนของอนันดาในฉากเปิดเรื่อง ก็ไม่เพียงเป็นสไตล์เคาบอย หากแต่การเล็งปืนและลั่นกระสุนเข้าใส่คนดู ก็คือสิ่งที่เราคุ้นเคยจากหนังเจมส์ บอนด์ ขณะที่ฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ยังมีกลิ่นแบบหนังฮ่องกง และยิ่งเมื่อคิดถึงว่า “ขุนพันธ์” คือนักผดุงคุณธรรมและมีศิลปะการต่อสู้ ก็ดูคล้ายๆ อาจารย์ยิปมันอยู่ในที

ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับซึ่งพยายามผสมผสานแนวทางต่างๆ เข้าด้วยกัน ในมุมมองของแอ็กชั่น ผมเห็นว่ามันมีความสนุกในการรับชมอยู่ ฉากการต่อสู้ก็ทำออกมาได้ดีครับ มันอาจจะไม่ถึงขั้นที่ต้องร้อง “ว้าว” หรือ “สุดยอด” แต่นี่ก็คือผลงานที่ไม่ได้ขี้เหร่อะไรเลยสำหรับผู้กำกับที่ผ่านงานแอ็กชั่นมาแล้ว ทั้งจาก “ไชยา” และ “อันธพาล”

และสุดท้าย ผมชอบเรื่องราวของอัลฮาวียะลู จริงๆ อาจจะชอบมากกว่าเรื่องของขุนพันธ์ด้วยซ้ำ เพราะเหตุผลง่ายๆ มันมีมิติให้คิดหลายแง่มุมมาก ชีวิตเขาถูกลากจากจุดที่เล็กสุด ก่อนจะขยายวงออกไปอย่างน่าสะทกใจและน่ากลัว จากเรื่องส่วนตัว ลามเลียสู่เรื่องบ้านเมือง ฉากๆ หนึ่งซึ่งผมรู้สึกว่าดีมากๆ และพอจะอ่านรหัสนัยจากใจผู้กำกับได้ว่า เพราะอะไร แค่น้ำตาหนึ่งหยด ตกลงบนพื้นทราย มันจะต้องใช้จังหวะสโลว์โมชั่นและเติมเสียงสนั่นหวั่นไหวของซาวด์เอฟเฟคต์ขนาดนั้น

ประเด็นก็คือ ก็เพราะไม่ใช่หยดน้ำตาหยดนั้นหรอกหรือ ที่เป็นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด หากไม่มีน้ำตาหยดนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นอัลฮาวียะลูในแบบนี้












ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น