>>ชายหนุ่มใบหน้าขาวตี๋จากครอบครัวชนชั้นกลาง มุ่งมั่นก่อร่างสร้างกิจการเป็นของตนเอง เริ่มต้นจากศูนย์จนกระทั่งนำพาบริษัทมาถึงลำดับต้นๆ ของวงการ “แบงก์-ปานเทพ กุลพนาภินันท์” คือชายหนุ่มวัย 36 ย่าง 37 ปี ที่เรากล่าวถึง จบการศึกษาวิศวกรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปเริ่มงานแรกด้านสื่อที่เอไทม์ มีเดีย ในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
“ตอนนั้นผมรู้จักรุ่นพี่หลายคนที่ทำงานอยู่แกรมมี่” แบงก์เล่าย้อนความ “ผมเลยได้ไปเริ่มงานแรกที่นั่น อยู่ฝ่ายการตลาด ทำหน้าที่ขายสปอตโฆษณาให้รายการวิทยุ เรดิโอโหวตแซตเทิลไลต์” เขาทำงานอยู่ 1 ปี ก่อนออกไปทำงานให้กับคลิก เรดิโอ อีก 2 ปี “แล้วออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง”
นั่นคือธุรกิจเกี่ยวกับ Out of Home Media หรือป้ายโฆษณาบนสิ่งก่อสร้างหรืออาคาร “ไอเดียเริ่มจากผมไปแถวถนนข้าวสาร แล้วไปเห็นป้ายโฆษณาเบียร์ไฮเนเก้นที่นั่น ก็คิดว่าทำไมไม่มีป้ายโฆษณาของเบียร์สิงห์ ซึ่งฝรั่งมาเมืองไทย พักอยู่แถวนั้น ทำไมไม่ดื่มเบียร์ไทย พอไปดูแถวนานา ผมก็ไม่เห็นมีป้ายโฆษณาเบียร์สิงห์เลย ผมแอบไปถามคนแถวนั้นว่าใครมาติดต่อขึ้นป้ายโฆษณา ไฮเนเก้นเองหรือเปล่า เขาบอกไม่ใช่ มีโบรกเกอร์ติดต่อมา ผมยังโทรศัพท์ไปถามเอเยนซีของไฮเนเก้นด้วยว่าเขาเช่าในราคาเท่าไหร่ แล้วรู้สึกว่ามาร์จิ้นมันสูงดี ก็เลยเริ่มคิดที่จะทำป้ายโฆษณาเป็นของตนเอง
“คราวแรกผมขายไอเดียเป็นเอกสารก่อน ไปหาเบียร์สิงห์ บอกเขาว่า ไฮเนเก้นเขาทำอย่างนี้ เบียร์สิงห์ยอมได้อย่างไร ขายไปขายมาเขาก็ตกลงซื้อ กลายเป็นว่ายุคนั้นผมเป็นคนทำป้ายโฆษณาให้เบียร์สิงห์ครั้งแรกเลย ทำป้ายโฆษณาให้เขาตั้งแต่นานา ข้าวสาร ภูเก็ต จนถึงพัทยา” ไม่นานนักแบงก์ก็เริ่มขยายกิจการมาเป็นบริษัท บอร์ดเวย์ มีเดีย จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งจวบถึงปัจจุบันมีพนักงานอยู่จำนวน 38 คน
ทว่าอุปสรรคค่อยๆ เริ่มปรากฏขึ้น เมื่อข้อกำหนดเกี่ยวกับป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มเข้มงวดมากขึ้น “สมัยก่อนลงภาพแพ็กช็อตได้ มีรูปขวด พอปี พ.ศ. 2550 เริ่มมีปัญหา มีข้อห้ามแสดงรูปภาพแพ็กช็อต อนุญาตให้เป็นคอร์ปอเรตได้เท่านั้น ทำให้งบเหล่านี้ถูกดึงออกไป ผมต้องหาทางออกใหม่ แทนที่จะให้ลูกค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาหล่อเลี้ยงบริษัทอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ ก็เริ่มตัดสินใจขยายกิจการอีก เพื่อหาสินค้ารายอื่นบ้าง”
อุปสรรคครั้งนั้นค่อนข้างสาหัสสากรรจ์สำหรับนักบริหารมือใหม่ แบงก์สารภาพ “ตอนนั้นเราพึ่งเขาเจ้าเดียว งบโฆษณาของบริษัททั้งหมดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากเจ้าเดียว เราไม่ได้เผื่อทางหนีทีไล่ไว้เลย ผมต้องมาตั้งสติใหม่ และโชคดีที่ผมสามารถผ่านปัญหานั้นมาได้ หาทางออกโดยการทำโฆษณาแบบคอร์ปอเรตก็ได้ ตอนนั้นเครียดเลย นึกว่าต้องปิดบริษัทเสียแล้ว เพราะเรามีแต่ลูกค้าแอลกอฮอล์ แต่พอมันผ่านไปแล้ว ทุกอย่างก็โอเค”
ปัจจุบันสื่อ Out of Home Media ในเมืองไทย หากดูภาพรวมแล้วจะพบว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ได้แก่ บมจ. VGI Global Media และบมจ. Plan B Media “แต่ผมมองว่าแพลน บี มีเดีย เป็นเบอร์หนึ่ง” แบงก์ว่า “เพราะเขามีมีเดียเยอะที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแอร์พอร์ต ทรานสิต ดิจิตอล รวมถึงป้ายวิ่งก็มี”
ในส่วนของบอร์ดเวย์ มีเดีย เขาเองเลือกทำเฉพาะดิจิตอลเท่านั้น “ถ้าพูดถึงเซกเมนต์ที่เป็นดิจิตอล บริษัทของผมเป็นเบอร์สอง รองจากแพลน บี เพราะตอนนี้มีผู้เล่นอยู่แค่ 2 รายเท่านั้นเอง เนื่องจากตัวของธุรกิจเองมันถูกจำกัดด้วยโลเกชั่น ฉะนั้นเจ้าใหม่ๆ เข้ามาค่อนข้างลำบาก”
เมื่อถามถึงสูตรความสำเร็จในการสร้างบริษัทให้เติบโตได้ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี แบงก์ให้คำตอบ “ผมมองว่าที่มีอยู่ทุกวันนี้มันยังไม่โอเค มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ มองย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ความจริงแล้วผมเป็นคนที่เอา LED กับบิลบอร์ดขนาดใหญ่เข้ามาเป็นเจ้าแรก ทุกคนไม่กล้าทำ ทำแต่จอ LED ขนาดเล็ก เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง ผมกล้าที่จะเอามาใช้ และเริ่มปฏิวัติ Out of Home Media จากเดิมที่ขายแค่ป้ายนิ่งๆ ผมเริ่มใช้ LED ก่อนเลย ช่วงปีแรกๆ ขายค่อนข้างลำบาก ลูกค้ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเขาต้องไปแชร์อาร์ตเวิร์ก หรืองานโฆษณากับลูกค้าตัวอื่นๆ ด้วย แต่สุดท้ายแล้วลูกค้าก็เข้าใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออิมแพ็ก นอกจากป้ายนิ่งๆ ตัว LED มันช่วยได้เยอะกว่า
“สังเกตดูนะว่า สอง-สามปีที่ผ่านมานี้ จอ LED มันขึ้นเต็มไปหมดเลย ทุกแยกทุกมุม แต่ของเราก็เลือกที่จะทำขนาดใหญ่ ไม่ทำขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างจากของบริษัทแพลน บี”
ข้อจำกัดของป้าย LED ก็มีเช่นกัน ผู้บริหารหนุ่มบอก มันเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ที่จะต้องเข้มงวด ต้องคอยตรวจตรา พร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ความจริงแล้วทุกวันนี้จอระบบใหม่มันสามารถปรับอัตโนมัติได้ เช่นการปรับแสงสว่างช่วงเช้าที่ระดับ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเย็นก็ปรับลดลงเหลือ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้มันรบกวนสายตา ต้องมีคนคอยควบคุม คอยตระเวนดู ว่ามันเป็นไปตามระบบที่เราเซตไว้หรือไม่”
แบงก์เป็นลูกชายคนเดียวและเป็นลูกคนกลางของครอบครัวพี่น้อง 3 คน และมีพ่อซึ่งเป็นทั้งไอดอลและแรงบันดาลใจในการทำงาน “ผมเริ่มธุรกิจจากศูนย์เลยนะครับ ขอเงินพ่อมาแค่หลักหมื่น แล้วมาปั้นธุรกิจตัวนี้ ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากพ่อนี่ละ พ่อเคยเป็นพนักงานแบงก์ แม่เป็นพยาบาล แต่ก็ออกจากงานมาเลี้ยงลูก 3 คน ผมเห็นชีวิตของพ่อตลอดว่าทำอะไรบ้าง พ่อเลี้ยงดูเรามาจนจบปริญญาตรีได้ทุกคน ผ่านช่วงแย่ๆ วิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 ทำธุรกิจจัดสรรก็ล้มละลาย แต่พ่อก็ฮึดสู้ตลอด พยายามหาธุรกิจใหม่ๆ ทำ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และส่งเราเรียนจนจบ ผมว่าพ่อเก่งนะ ทำงานคนเดียว สามารถเลี้ยงดูลูกๆ จนเรียนจบได้”
นอกเหนือจากธุรกิจสื่อโฆษณาแล้ว แบงก์ยังมีธุรกิจร้านอาหารชาบูและยาคินิคุสไตล์ญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย ชื่อร้านโดนาเบะ (Donabe) มี 2 สาขา ที่อาร์ซีเอและเอกมัย ทว่าเขามอบหมายให้พี่สาว “ปานกมล กุลพนาภินันท์” คอยดูแลเป็นหลัก ส่วนตัวเขาคอยดูภาพรวม
ว่าแต่เขาทำงานกี่วันใน 1 สัปดาห์ เราอยากรู้ “แต่ก่อนผมทำงานทุกวันเลยครับ” แบงก์ตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “จนเริ่มรู้สึกว่าคนข้างๆ ไม่ค่อยเห็นตัวผม และผมไม่ค่อยเห็นรอยยิ้มของใครแล้ว กับพ่อแม่ผมก็ได้กินข้าวด้วยกันน้อยลง ก็เริ่มปรับตัวใหม่ เมื่อก่อนผมเคยคิดว่า อย่างไรเสียงานก็ต้องสำคัญกว่า ผมจึงต้องแอกทีฟ ลูกน้องจะมาคุยงานที่บ้านผมก็ให้มา ไม่เคยห้ามเลย ช่วงหลังเริ่มสังเกตว่าทำไมพ่อกับแม่ไปอยู่กับพี่สาวมากขึ้น แฟนผมก็เริ่มมีปัญหา มันไม่ใช่แล้ว โอเค งานมันสำคัญจริง แต่เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูก
“ท้ายที่สุดผมต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ หลัง 5 โมงลูกน้องห้ามโทรศัพท์หา นอกเสียจากว่ามันจำเป็นจริงๆ เสาร์-อาทิตย์ผมให้เวลากับครอบครัว ให้เวลากับภรรยา (นุศรา ศรีรุ่งเรือง) เต็มที่เลย พาไปกินข้าว ดูหนัง ขับรถเล่น ก็เริ่มดีขึ้น เริ่มรู้สึกว่าไม่เครียดเหมือนเมื่อก่อน ความจริงเราไปโฟกัสกับงานมากเกินไป มันก็ไม่เวิร์ก ธุรกิจมันไม่ได้โตขึ้นมากมาย เอาเวลามาบาลานซ์ชีวิตให้ดีขึ้นดีกว่า”
และเมื่อมีเวลาว่าง แบงก์ชอบที่จะขับรถพาภรรยา หรือพ่อแม่ไปรับประทานอาหารแถวต่างจังหวัด หรือสถานที่ซึ่งสามารถขับรถไป-กลับได้ภายใน 1 วัน เช่น สมุทรปราการ พัทยา หรือบางแสน เวลานอกเหนือจากนั้นเขาหมดไปกับการออกกำลังกาย เล่นเทนนิส ตีกอล์ฟ รวมถึงเดินห้างฯ ชอปปิ้ง ถึงกระนั้น แม้จะครองชีวิตสมรสมาแล้วกว่า 2 ปี แบงก์กับภรรยาก็ยังไม่มีทายาทสืบสกุล
ย้อนกลับมาที่เรื่องงานและธุรกิจของเขา แบงก์เล่าถึงแผนงานของตนเองอย่างกระตือรือร้น “ปีนี้ผมจะมีจอที่เป็นเน็ตเวิร์ก ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ทั่วประเทศประมาณกว่า 20 จังหวัด แล้วปีหน้าจะครอบคลุมถึง 50 จังหวัด ตอบสนองลูกค้าที่ต้องการโฆษณา Out of Home Media แบบยิงครั้งเดียวกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค สื่อตัวนี้ยังอยู่ในกระแส และลูกค้าเองก็ประหยัดในเรื่องของต้นทุนการผลิต แค่ส่งงานมาทางอีเมล เราสามารถเปลี่ยนอาร์ตเวิร์กให้ได้ทุกวัน
“ตอนนี้ผมมีทั้งหมด 44 จอ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 15 จอ ต่างจังหวัดอีก 29 จอ ผมเน้นเรื่องของโลเกชั่น คุณภาพจอ และขนาด ซึ่งขนาดนี่ผมมองว่าสำคัญมากสำหรับมีเดียนี้ เรามองว่าป้ายขนาดเล็กไม่ดึงสายตาได้มากพอ ซึ่งเราก็ทำอย่างนี้มาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา ลูกค้าเองก็รู้แล้ว ถ้าจะหาป้ายดิจิตอลขนาดใหญ่ ต้องมาที่บอร์ดเวย์ มีเดีย เราไม่ได้เน้นจำนวนที่มากมาย แต่เน้นที่ครีมๆ ก็พอแล้ว”
นับรวมถึงนวัตกรรมใหม่ที่เขาเผยให้ฟัง นั่นคือ บริการระบบ Live Broadcast และ Interactive “ช่วงปลายกรกฎาคมนี้ ลูกค้ารายแรกของผมคือ เชฟโรเลต เป็นการโฆษณา Out of Home Media ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค เป็น Two Communication นั่นคือให้คนที่เห็นป้ายเรามีโอกาสได้แชต หรือแสดงไอเดียออกมา แล้วเราจะมีวอร์รูมคอยควบคุมข้อความเหล่านั้น
“ผมว่าเราจะต้องพัฒนาสื่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราหยุดนิ่งกับมัน จอของเรามีไม่เยอะ แต่ส่วนมากเป็นจอใหญ่ อย่างจอตรงราชดำริจะเป็นจอที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โลเกชั่นส่วนใหญ่ของบอร์ดเวย์อยู่ในพื้นที่แลนด์มาร์กทั้งนั้น”
ส่วนแผนงานในอนาคต แบงก์พูดทิ้งท้าย “ผมคิดว่าจะขยายให้ครอบคลุมทั้งหมด 100 จอ และจะขยายไปที่ต่างประเทศรอบข้างไทย เข้าไปทำโมเดลคล้ายๆ อย่างนี้ หรืออาจจะไปสัมปทานสื่อที่รถไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้กำลังคุยกับพาร์ตเนอร์อยู่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงรอบนอกอะไรพวกนี้
“ต่อไปคงจะเน้นเรื่องของออนไลน์ที่เกี่ยวข้องด้วย ให้มันเชื่อมกับออฟไลน์ที่ผมมีอยู่ ผมคงเน้นเรื่องนี้เยอะกว่า เพราะผมมองว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เรื่องของ Second Screen ยังไงก็สำคัญ ทุกคนจ้องแต่หน้าจอ เราจะทำอะไรก็ได้ให้มันไปกับสิ่งที่เรามีอยู่
“สำหรับสื่อ Out of Home Media ผมมองว่ามันมีมาร้อยปีแล้ว มันก็จะยังคงมีต่อไป ตราบใดที่คนเรายังออกไปนอกบ้าน ยังคงมองเห็นสื่อนี้ Out of Home Media ก็จะยังมีอยู่ ส่วนทีวีหรือสิ่งพิมพ์อาจจะลดน้อยลง”
:: READING
ผมยังพอมีเวลาอ่านหนังสืออยู่ครับ ส่วนใหญ่ผมจะอ่านช่วงที่ไปพักผ่อนมากกว่า เพราะสามารถอ่านได้จบในทีเดียว อ่านค้างแล้วผมจะลืม หนังสือที่ผมอ่านส่วนใหญ่เป็นแนวการตลาดทั่วไป เพื่อนๆ ชอบส่งมาให้อ่าน ผมไม่ค่อยได้ซื้อเองหรอก
:: MOVIES
ผมชอบสะสมหนัง เมื่อก่อนชอบดูอยู่กับบ้าน ช่วงหลังถ้ามีเวลามักจะออกไปข้างนอกมากกว่า แต่ก็ชอบซื้อเก็บไว้เรื่อยๆ หนังเรื่องโปรดของผม “The Shawshank Redemtion, Inception, Interstellar” จริงๆ งาน “Batman” (The Dark Knight และ The Dark Knight Rises) ทั้งสองเรื่องของคริสโตเฟอร์ โนแลน ก็โอเคนะครับ ส่วนหนังเรื่องล่าสุดที่ผมมีโอกาสได้ดูที่บ้านคือ “Spectre” (007) :: Text by FLASH