ว่ากันตามจริง สัปดาห์นี้มีหนังใหม่เข้าฉายเกือบสิบเรื่องได้ และบางเรื่องก็เป็นตัวเลือกที่ดี อย่างเช่น มันนี่ มอนสเตอร์ ซึ่งไม่เพียงได้ดารายอดนิยมมาแสดงนำ ทั้งจอร์จ คลูนีย์ และจูเลีย โรเบิร์ต หากแต่ตัวผู้กำกับหญิงโจดี้ ฟอสเตอร์ ก็มักจะทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้เสมอๆ กับภาพยนตร์ของเธอ ขณะเดียวกัน หัวข้อที่หนังหยิบจับมานำเสนอก็ดูแหลมคมน่าสนใจ และถ้าจะว่ากันตรงๆ หนังอย่าง “วอร์คราฟท์” นั้น สำหรับผมที่ไม่ได้เคยผ่านการเล่มเกมนี้มาก่อน ก็ยังรู้สึกสงสัยว่าจะสามารถเดินทางร่วมกับหนังไปได้หรือไม่ เหนืออื่นใดคือภาพหนังตัวอย่างที่ไม่ชวนให้น่าดูสักเท่าไหร่ เพราะมันดูปลอมๆ และไม่รู้จะมีเรื่องมีราวอะไรหรือไม่ แต่ก็อย่างที่ผมจะบอกครับว่า เกือบจะเป็นความผิดพลาดสำหรับผมเหมือนกัน หากไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้
ขณะที่บอกใจว่าอย่าไปกังวลกับเกมตั้งแต่แรก และติดตามเรื่องราวของหนังไปเรื่อยๆ “วอร์คราฟท์” แบ่งตัวเรื่องออกเป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกเกี่ยวพันกับโลกของเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า “ออร์ค” ซึ่งในนั้นก็ประกอบไปด้วยชนเผ่าอีกหลายเผ่า โดยมี “กูล์ดาน” เป็นเสมือน “พระประธาน” หรือหัวหน้าใหญ่เหนือทุกเผ่าผู้มีดีด้านเวทย์มนตร์ หลังจากโลกของออร์คสิ้นสลาย ภายใต้การนำของ “กูล์ดาน” พวกออร์คจะกลับไปทวงคืนและสร้างโลกใบใหม่ในโลกมนุษย์ ซึ่งต้องมีการรุกรานทำสงครามกับมนุษย์เพื่อชิงพื้นที่... ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เป็นโลกของมนุษย์ในดินแดนที่ปกครองด้วยกษัตริย์ มีนักรบ และมีผู้พิทักษ์ผู้มากด้วยเวทย์มนตร์นาม “เมดิฟห์” ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งสองฝั่งสองฝ่ายนี้ก็ต้องมารบราฆ่าฟันกัน ฝ่ายหนึ่งแย่งชิง อีกฝ่ายรักษาป้องกัน
กระนั้นก็ตาม กว่าจะเดินทางไปถึงจุดวิกฤติของสงคราม หนังก็ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำในการแนะนำพื้นฐานตัวละคร ทั้งในเชิงที่มา ความคิดความอ่าน ซึ่งจะเป็นเหตุเป็นผลทอดส่งไปสู่การกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า ในเชิงเนื้อหาแก่นสารของตัวละคร แม้จะมาจากเกม แต่คนทำก็สามารถแต่งเรื่องเติมมิติให้กับตัวละครนั้นๆ ในลักษณะที่กล่าวได้ว่า “มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีหัวจิตหัวใจ” จนหลายๆ ฉาก เราอาจจะรู้สึกสะทกสะท้อนสะเทือนใจไปกับความเป็นไปหรือชะตากรรมของพวกเขาได้แบบไม่รู้สึกว่าถูกบีบคั้นให้รู้สึก
ตอนแรกที่เห็นชื่อผู้กำกับ... “ดันแคน โจนส์” ผมยังคิดอยู่เลยครับว่า คนคนนี้จะมาทำหนังอะไรแนวนี้ เพราะถ้ารู้จักเขา จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ เขาเคยมีผลงานหนังใหญ่มาแล้วสองเรื่อง (ไม่นับหนังสั้นเรื่อง Whistle) คือ “มูน” (Moon) กับ “ซอร์ซ โค้ด” (Source Code) ซึ่งถ้าจะพูดกันตามจริงก็คือเป็นหนังของคนระดับมันสมองเป็นเยี่ยม แต่เมื่อเห็นว่าเขาจะมาทำหนังที่สร้างจากเกม ซึ่งหนังแนวนี้ก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามักจะถูกครหาว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการต่อยอดแบบเจาะตลาดคนเล่มเกม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว แต่กับผลลัพธ์ที่ออกมา ทำให้เปลี่ยนความคิดว่า ถ้าคนมีคุณภาพ ต่อให้ไปหยิบจับทำอะไร มันก็ยังไม่ทิ้งการมีคุณภาพ
ผมชอบตัวเรื่องราวที่ค่อยๆ ผูกและอธิบายไปทีละปมสองปม ตัวละครอาจจะดูหลากหลาย แต่ไม่นานหลายนาที คนดูจะเริ่มได้เข้าใจว่าควรเอาใจจดจ่อไว้กับจุดไหนอย่างไร หรือพวกเขาตัวละครเป็นคนแบบไหนอย่างไร ได้ผ่านพ้นอะไรมาบ้าง ดังนั้น ไม่เป็นปัญหาในการรับชม ผมเห็นว่า ต่อให้ไม่เคยเล่นเกม ก็สามารถดูหนังอย่างรู้เรื่องและเข้าใจได้ ตัวละครแต่ละตัวจะค่อยๆ เผยธาตุแท้ของตัวตนออกมา แบบเดาได้บ้างไม่ได้บ้าง ตลอดรายทางของหนังที่ยาวกว่าสองชั่วโมง จึงเป็นความไม่น่าเบื่อ เพราะมันมีเรื่องราวนู่นนี่นั่นผุดขึ้นมาให้เราได้เกาะติดคิดตามอยู่ตลอด ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งควรพูดถึงคือ “ซีจี” หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก มันอาจจะดูปลอมๆ ในความรู้สึก (โดยเฉพาะพวกสายแสงแห่งพลังที่ดูเป็นเลเซอร์ยุคสามสิบปีก่อนในหนังจีนปล่อยพลังหรือหนังการ์ตูนยิงแสงเลเซอร์) แต่จริงๆ ในแง่ดีไซน์ถือว่าทำออกมาได้อลังการ ตัวออร์คตัวหนึ่ง น่าจะต้องลงรายละเอียดเยอะทีเดียวกว่าจะได้มาแต่ละตัว และทำให้มันแสดงความรู้สึกแบบที่คนสัมผัสรับรู้ได้ ผ่านสีหน้าแววตา
ในความเป็นหนังตลาดบล็อกบัสเตอร์ เงื่อนไขหลักประการหนึ่งซึ่งวอร์คราฟท์ควรนำเสนอตัวเองเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่คนดูคือเรื่องของแอ็กชั่นการต่อสู้ ในส่วนนี้ ผมเห็นว่าหนังทำได้สนุกดีเลยครับ ทั้งจากสถานการณ์การต่อสู้ที่จังหวะในการแอ็กชั่นดี ซาวด์เอฟเฟคต์กระแทกกระทั้นตึงตัง และการต่อสู้แต่ละฉากแต่ละครั้งก็ล้วนมีที่มา ไม่ใช่เพียงจับยัดลงไปให้เกิดเสียงดังเพื่อเรียกคนดูให้ฟื้นตื่นขึ้นจากความง่วงเหงาหาวซึม
และที่บอกว่า การต่อสู้แต่ละครั้งล้วนมีที่มา ก็คือมาจากเรื่องราวซึ่งส่วนใหญ่เป็นดราม่าที่จะส่งต่อให้แอ็กชั่นอีกทอดหนึ่ง และนั่นก็จึงเป็นที่ยอมรับว่า ในภาคส่วนของดราม่า เป็นสิ่งที่หนังทำได้ดีมาก หลายฉากเป็นความเศร้าสะเทือนใจที่สุดท้าย มันนำไปสู่การตัดสินใจของตัวละครต่อการกระทำของตน
“วอร์คราฟท์” เป็นหนังเกมที่ไม่กลวง และถ้าจะชมกันจริงๆ มันเข้มข้นหนักหน่วงด้วยประเด็นเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ หนังพูดเรื่องการสูญเสียและผลพวงของการสูญเสีย ไล่ตั้งแต่เปิดเรื่องที่ออกสตาร์ทด้วยการสูญเสียของเหล่าออร์คที่ทำให้พวกเขาต้องออกทัพจับศึกเพื่อทวงคืนพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการสูญเสียในรูปแบบของความตายและความสูญเสียความนับถือเชื่อใจระหว่างกันจนนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่ก็มีความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นอีก คือการสูญเสียตัวตนของตนเอง คำพูดหนึ่งซึ่งหนังเน้นย้ำอยู่หลายครั้งคือ “จากสว่างแล้วไปมืด จากมืดแล้วไปสว่าง” แม้แต่คนดีๆ ยังมีโอกาสที่จะถูกความมืดกลืนกิน เหมือนคำกล่าวในทางพุทธที่พูดว่า “สว่างมา สว่างไป มืดมาแล้วมืดไป สว่างมา แล้วมืดไป และ มืดมาแล้วสว่างไป” มันเห็นเด่นชัดในหนังเรื่องนี้
สุดท้าย ในความเป็น “ดันแคน โจนส์” แม้จะมาทำหนังแอ็กชั่นกระโดดโลดโผนแบบแตกต่างกันชนิดที่เรียกได้ว่าสุดขั้วกับสองเรื่องที่ผ่านมา แต่ทว่าความคมคายลุ่มลึกในแบบของเขาก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เด่นชัด และพูดตามจริง ผมคิดว่าผมยังเห็นวี่แววความเป็นดันแคน โจนส์ จากหนังเรื่อง “มูน” มาอยู่ใน “วอร์คราฟท์” นี้ด้วย ในเรื่อง “มูน” นั้นเล่าถึงชายผู้หนึ่งซึ่งถูกส่งไปปฏิบัติการตั้งฐานทัพบนดวงจันทร์ ชีวิตเวิ้งว้างท่ามกลางความโดดเดี่ยวได้เปลี่ยนให้คนหนึ่งคนคลับคล้ายกลับกลายเป็นอีกคนอย่างไม่คาดคิด และไอเดียนั้นก็ดูเหมือนจะนำมากล่าวย้ำอีกครั้งในหนังเรื่องวอร์คราฟท์ ถ้อยคำในหนังประมาณว่าความโดดเดี่ยวมันโหดร้ายเหลือเกิน นั้นสะท้อนให้เห็นว่า การไม่มีใครหรือนัยหนึ่งก็คือความโดดเดี่ยวมีอิทธิฤทธิ์ไม่แพ้เวทย์มนตร์คาถาใดๆ มันสามารถกัดกิน ดูดกลืน และเปลี่ยนคนบางคนให้เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจและน่าเวทนาเห็นใจ
ประเด็นความโดดเดี่ยวนี้ถูกขยายออกไปอีก ผ่านการต่อสู้ในศึกสงคราม การเน้นย้ำให้เห็นถึงการที่คนเราควรมีเพื่อน และสามัคคีกัน เพราะนั่นจะเป็นหนทางเดียวที่ไม่เพียงจะนำไปสู่ชัยชนะ หากแต่ยังจะเป็นปราการที่สำคัญซึ่งป้องกันการลุแก่อำนาจของผู้นำ หนังเรื่องนี้เน้นย้ำหนักแน่นว่าคนเพียงคนเดียว (นัยยะหนึ่งก็คือ พวกที่โดดเดี่ยว) ไม่อาจนำพาสังคมไปสู่จุดที่ดีได้ เช่นเดียวกัน ผู้นำเพียงคนเดียว ไม่ควรมีค่าเหนือกว่าประชาชนทั้งปวง ผมเห็นว่าการดูวอร์คราฟท์มันสนุกก็ตรงนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ “ดูเอาเรื่อง” ในเชิงการเมืองก็ได้ เอาเข้าจริง ไม่ว่าผู้นำในที่ไหนๆ ก็ดูจะไม่ค่อยต่างกันมาก คือพอลุแก่อำนาจมากๆ มีฤทธิ์มากๆ ก็สามารถพลัดตกลงไปสู่หล่มหลุมแห่งการหลงตน จนหูตามืดมัว ละเมิดได้ทุกสิ่งอย่าง โดยไม่นำพาต่อสิ่งใด กฎบ้านมณเฑียรเมือง หรือประเพณีที่มีมาแต่เก่าก่อน อันสะท้อนคุณค่าของวิถีชีวิต ก็ถูกปลิดทิ้งไปโดยง่าย เพียงเพราะหลงเหลิงในความยิ่งใหญ่ทรงอำนาจของตนเอง...
“วอร์คราฟท์” เป็นเพียงปฐมบทแห่งศึกสงครามระหว่างสองพิภพ
สมกับชื่อรองหนังของภาคนี้ที่ว่า “เดอะ บีกินนิ่ง” (Warcraft : The Beginning)
นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
เป็นจุดเริ่มต้นที่สมควรดั้นด้นต่อไปอีกภาค...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม