เอเอฟพี - อดีตประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด นาชีด แห่งมัลดีฟส์ ประกาศวานนี้ (23 พ.ค.) ว่ารัฐบาลอังกฤษได้ตอบรับคำขอ “ลี้ภัย” ของตนแล้ว หลังจากที่ตนถูกโค่นอำนาจและจำคุกด้วยข้อหาก่อการร้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการถอยหลังไปสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) ในมัลดีฟส์
นาชีด ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของมัลดีฟส์ ถูกศาลตัดสินจำคุก 13 ปี และเพิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางไปอังกฤษเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อผ่าตัดไขสันหลัง
เกาะสวรรค์กลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้เผชิญความปั่นป่วนทางการเมืองตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และภาวะฉุกเฉินที่ถูกประกาศใช้โดยประธานาธิบดี อับดุลลา ยามีน ก็ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์
“ประธานาธิบดี ยามีน สั่งจำคุกแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และปราบปรามทุกคนที่กล้าคัดค้านหรือวิจารณ์เขา” นาชีด วัย 49 ปี เผยระหว่างประกาศสถานะ “ผู้ลี้ภัย” ของตนเอง
“ปีที่แล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การทำงานของสื่อมวลชน และการชุมนุมโดยสันติ ถูกลิดรอนไปจนหมดสิ้น... เนื่องจากมัลดีฟส์ได้ถอยหลังไปสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ผมและนักการเมืองฝ่ายค้านคนอื่นๆ จึงคิดว่าเราไม่มีทางเลือก นอกจากจะขอลี้ภัยในต่างประเทศ”
รัฐบาลมัลดีฟส์ออกมากล่าวหาทันทีว่า นาชีด จงใจหลบหนีโทษจำคุก โดยได้รับความช่วยเหลือจากทีมกฎหมายและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนดังอย่าง อามาล คลูนีย์ ภรรยาสาวสวยของนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง “จอร์จ คลูนีย์”
“รัฐบาลมัลดีฟส์รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง หากเรื่องที่สหราชอาณาจักรยื่นมือเข้ามาพัวพันกับเกมสกปรก และช่วยเหลือให้บุคคลคนหนึ่งสามารถหลบเลี่ยงการรับโทษตามกฎหมาย เป็นความจริง” ทางการมัลดีฟส์ แถลง
กระทรวงมหาดไทยอังกฤษปฏิเสธที่จะยืนยันว่า ได้อนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่อดีตผู้นำมัลดีฟส์จริงหรือไม่
นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษได้ปูพรมแดนต้อนรับ นาชีด ซึ่งเดินทางไปรักษาอาการป่วยที่เมืองผู้ดี ตามข้อตกลงที่นักการทูตอังกฤษ ศรีลังกา และอินเดีย ได้ช่วยเจรจากับรัฐบาลยามีน
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ติเตียนสิ่งที่รัฐบาลมัลดีฟส์กระทำต่อ นาชีด ซึ่งชนะศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2008 และปกครองประเทศอยู่เป็นเวลา 4 ปีก่อนจะถูกโค่นอำนาจ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าเป็นการก่อ “รัฐประหาร” ที่กองทัพและตำรวจรู้เห็นเป็นใจ
ปีที่แล้ว ศาลกรุงมาเลได้ตัดสินจำคุก นาชีด เป็นเวลา 13 ปีด้วยข้อหาก่อการร้าย โดยเป็นคดีที่เชื่อมโยงกับคำสั่งจับกุมผู้พิพากษาฉ้อฉลคนหนึ่งในปี 2012 ขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ
การก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ นาชีด เมื่อปี 2008 ส่งผลให้ เมามูน อับดุล กายูม ซึ่งปกครองหมู่เกาะสวรรค์กลางมหาสมุทรอินเดียด้วยระบอบกำปั้นเหล็กมานานถึง 30 ปีต้องสิ้นอำนาจลง ซึ่ง เมามูน ผู้นี้เป็นพี่ชายต่างมารดาของประธานาธิบดี ยามีน
เมื่อเดือน พ.ย. รัฐสภามัลดีฟส์ได้ออกกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน และสั่งปลดรองประธานาธิบดี อาเหม็ด อาดีบ ซึ่งถูกจับกุมฐานมีส่วนพัวพันกับเหตุระเบิดบนเรือเร็วของประธานาธิบดี ยามีน ซึ่งรัฐบาลระบุว่าเป็นความพยายามลอบสังหารผู้นำ
ก่อนหน้านั้นไม่ถึง 4 เดือน ยามีน ก็ได้ปลดรองประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด ญามีล ด้วยข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาล