xs
xsm
sm
md
lg

หญิงก็ไลค์ เกย์ก็เลิฟ..ฮิปสเตอร์สุดเท่ “ซาเวียร์ โดลอง” ผู้กำกับหน้าหยก ดาวฤกษ์แห่งโลกภาพยนตร์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ใบหน้าที่คมคายหล่อเหลา รับกับหนวดและเคราที่ถูกตกแต่งพองาม บวกกับทรงผมแนวๆ ที่เซอร์แต่ดูเก๋ และแว่นตากรอบหนาในบางเวลา แบบคนที่ใส่ใจในเรื่องบุคลิกภาพ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์ตลอดทั้งร่างไปจนถึงรองเท้าที่ถ้าไม่ใช่คนซึ่งรักแฟชั่นจนลุ่มหลงและเข้าใจ ก็คงแต่งกายไม่ได้ “นิ้ง” ถึงเพียงนี้ และทั้งหมดทั้งมวลนั้นรวมกันเข้า สร้างเสน่ห์อันชวนหลง ทั้งต่อสาวแท้ หรือแม้กระทั่งไม่แท้ก็ตามที เขาคนนี้คือ “ซาเวียร์ โดลอง” ผู้กำกับภาพยนตร์อายุเพียง 25 แต่สร้างสิ่งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในวงการหนังมาตั้งแต่อายุ 19!

ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่าหนุ่มน้อยผู้มีเชื้อสายแคนาดาคนนี้ ได้ดึงดูดให้แสงสปอตไลท์จากสายตาคนดูหนังต่างประเทศสาดส่องไปที่ตัวเขาอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งถ้าจะไล่เรียงกันจริงๆ ก็คงนับตั้งแต่ตอนที่เขาส่งหนังเรื่องแรกในชีวิตเข้าไปตีสนิทกับเทศกาลหนังเมืองคานส์ และในปีนั้น 2009 “I Killed My Mother” ก็สร้างประวัติศาสตร์ที่คานส์เองต้องจารึก เพราะไม่เพียงงานชิ้นดังกล่าวจะได้ฉายเปิดเทศกาล หากแต่เมื่อหนังจบลง ผู้ชมในโรงยังพร้อมใจกันลุกยืนปรบมือให้เป็นเวลายาวนานถึง 8 นาทีอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการยกย่องให้เกียรติแก่ภาพยนตร์สักเรื่องที่ประทับจิตพิชิตใจ อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังชนะรางวัลถึง 3 รางวัลจากเทศกาลดังกล่าวในสาย Director’s Fortnight

ด้วยพลังที่พลุ่งพล่าน ด้วยความรักชอบในศิลปะภาพยนตร์ ทำให้ซาเวียร์ โดลอง (Xavier Dolan) ซึ่งในขณะนั้นอายุ 19 ปี มั่นอกมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อ หลังจากนั้นอีก 5 ปี เขาทำหนังปีละเรื่อง และไม่มีเรื่องใดไม่ได้รับคำชมหรือถูกประเมินค่าในเชิงลบ เขากลายเป็นคนรักของนักดูหนังไปแล้วเรียบร้อย...ไม่ว่าจะอย่างไร ก่อนหน้านี้ ชื่อของ “ซาเวียร์ โดลอง” ในบ้านเรา อาจดังอยู่ในแวดวงนักดูหนังนอกกระแส แต่ตอนนี้ อาจมีความจำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับเขาไว้ เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขากำลังจะมีหนังที่สเกลใหญ่และดูตลาดมากขึ้น เรื่อง The Death and Life of John F. Donovan ซึ่งมีชื่อดาราดังๆ อย่าง “เจสสิกา แชสเทน”, “นาตาลี พอร์ทแมน”, “นิคโคลัส ฮอลท์” รวมถึง “เคธี่ เบทส์” และ “ซูซาน ซาแรนดอน” ในฐานะนักแสดง แต่ถ้านั่นยังไม่เจ๋งพอ หนังยังมีศิลปินนักร้องชื่อดังเสียงดีนามว่า “อเดล” มาร่วมแสดงด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ โดลองเคยร่วมงานกับอเดลมาแล้วด้วยการเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพลง Hello ให้กับอเดล

จากเด็กหนุ่มที่เริ่มดูหนังจริงจังเมื่อตอนอายุ 16-17 โดยมีภาพยนตร์เรื่อง “ไททานิค” เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขาก้าวเข้าสู่วิถีของคนทำหนัง และเพียงสองปีหลังจากนั้นก็มีผลงานแจ้งเกิดจนโด่งดัง จาก I Killed My Mother ต่อด้วย Heartbeats (2010), Laurence Anyways (2012), Tom at the Farm (2013) และ Mommy (2014) ตามลำดับ กระแสความฮิตในซาเวียร์ โดลอง นั้นเริ่มลุกลามมาบ้านเราผ่านพยานหลักฐานคือการนำเข้าแผ่นหนังมาสเตอร์ของเขามาจำหน่ายให้นักดูหนังชาวไทยผู้สนใจได้สะสมแทบครบทุกเรื่อง

การจะพูดถึงหนังของซาเวียร์ โดลอง ให้ครบถ้วนครอบคลุมรอบด้านนั้น คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่หากเราได้ดูหนังของเขาหลายๆ เรื่องหรือทุกเรื่อง จะพบว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งในงานของผู้กำกับวัยหนุ่มคนนี้ ในระดับพื้นผิวหรือรูปลักษณ์อย่างที่ตาเห็นและสัมผัสจับต้องได้ง่ายที่สุด คงเป็นเรื่องของเทคนิคงานด้านภาพที่เอิบอาบด้วยพลังสร้างสรรค์ มีทั้งความสวยงามและลูกเล่นที่แพรวพราวจัดจ้าน เพราะเพียงแค่ในหนังเรื่องแรก อย่าง I Killed My Mother เขาก็ “ปล่อยของ” ชนิดที่พูดได้ว่าหวือหวาน่าตื่นตา ทั้งการเล่นกับฟุตเทจขาวดำที่ตัวละหลักของเรื่องถ่ายทำตัวเอง (หรือพูดง่ายๆ ก็คือเซลฟี่) การตัดต่อในสไตล์ “มองทาจ” (Montage) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งไม่กลมกลืนลงตัว เฉกเช่นความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง บ่อยจังหวะก็ตัดต่อแบบสโลว์โมชั่นสลับกับฟาสต์โมชั่นอันอาจแทนความหมายของภาวะอารมณ์ที่วูบไหวและพลุ่งพล่านยากต่อการจะควบคุม

นอกเหนือไปจากนั้น คือการจัดวางองค์ประกอบภาพที่ส่งเสริมให้ภาพดูเก๋มีรสนิยม ในหลายต่อหลายฉาก เราจะเห็นองค์ประกอบอย่างพวกโปสเตอร์หนัง ภาพศิลปะ ไปกระทั่งแผ่นเพลง รูปดารา หรืออะไรต่อมิอะไรที่คล้ายบอกกล่าวเล่าถึงความสนอกสนใจในศิลปะหรือแม้แต่แฟชั่นของซาเวียร์ โดลอง เอง รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่จะมาอยู่ในฉากแต่ละฉากก็ดูจะผ่านการคัดสรรมาเสร็จสรรพว่าจะต้องมีอะไรบ้างในฉากนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อบวกรวมกับการจัดแสงและจัดวางมุมกล้อง จึงก่อเกิดเป็นภาพความงามและดูเก๋ เท่ จัดจ้านด้วยสไตล์ (เหมือนครั้งหนึ่งที่หว่องกาไวถ่ายตัวละครสูบบุหรี่หรือยืนเหงาใต้แสงไฟริมทางแล้วยังดูเท่) บ่อยครั้งดูฟุ้งๆ คล้ายล่องล่อยอยู่ท่ามกลางหมอกม่านเบาบาง นั่นก็จึงไม่แปลก หากใครสักคนจะมองภาพเหล่านี้ด้วยสายตาแบบเดียวกันกับตอนที่มองภาพซึ่งถ่ายโดยเหล่าฮิปสเตอร์ สื่อหลายต่อหลายสื่อในเมืองนอกก็ถึงกับบอกกันตรงๆ ว่าซาเวียร์ โดลอง นี่คือฮิปสเตอร์ตัวจริงคนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะนิยามด้วยถ้อยคำแบบใด ภาพในหนังของโดลอง ก็จะก่อให้เกิดจินตนาการและสื่อความหมายบางประการออกมาเสมอๆ

พ้นจากงานด้านภาพ บทสนทนาของตัวละครก็มักจะพาดพิงถึงผลงานศิลปะแขนงต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ วรรณกรรม ไปจนถึงเพลง ภาพวาด หรือแม้กระทั่งแฟชั่นที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการในโปรดักชั่นของเขา และเขาก็มักจะจัดคอสตูมหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเอง การหยิบยกเอา “ของดีๆ” ที่มีอยู่ก่อน ถือว่าเป็นความกว้างขวางทางการรู้โลกของซาเวียร์ โดลอง มันสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดหูเปิดตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งสนใจใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในสิ่งที่โลกเห็นว่าดีว่างาม และหยิบจับปรับฉวยเอามาใช้ในงานของตัวเองได้อย่างถูกจังหวะ ถูกที่ถูกทาง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากถ้อยคำเชิงอรรถที่อ้างอิงลมปากของผู้อื่น เขาก็คิดถ้อยคำอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวของเขาไปด้วย ... พูดตามความรู้สึก ... บางครั้งผมรู้สึกเหมือนกำลังฟังตัวละครของหว่องการ์ไวในยุครุ่งเรืองกำลังพูดคุยกัน ยกตัวอย่างสักบทสองบทจากหนังเรื่อง “ฮาร์ตบีทส์”

“...ตอนที่ฉันอยู่ในจุดที่ตกต่ำที่สุด สิ่งที่ฉันทำได้ก็คือจุดบุหรี่และก็สูบบุหรี่ แล้วก็ดับ มันจะกลบเกลื่อนสิ่งแย่ๆ ความบุหรี่มันกลบเกลื่อนสิ่งแย่ๆ บุหรี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันไม่เป็นบ้า มันช่วยให้ฉันยังมีชีวิตอยู่ จนกว่าฉันจะตาย” ... พูดจบ ตัวละครหญิง (มารี) ก็หักบุหรี่ทิ้งทีละมวนๆ ดูเท่และอบอวลด้วยบรรยากาศแบบเคว้งคว้างล่องลอย

หรือ... “รักกับฉันหรือเลิกกับฉัน” คำพูดของเด็กหนุ่มนิโคลัสในภาวะที่อารมณ์ตกแตกกระจัดกระจาย กล่าวขึ้นมา มันฟังดูเท่ พอๆ กับไม่รับผิดชอบ นิโคลัสในหนังเรื่องฮาร์ตบีทส์ พูดตามจริง ชวนให้นึกถึง “หยกไจ๋” ในบางมุมในหนังหว่องการ์ไวเรื่อง Days of Being Wild คือเป็นนกไร้ขาที่เหินเวหาไปเรื่อยๆ และจะลงดินเพียงครั้งเดียวก็เมื่อถึงวันตาย

หรืออย่างในหนังที่จัดได้ว่าเป็นความทะเยอทะยานมากที่สุดเรื่องหนึ่งของซาเวียร์ โดลอง คือ Laurence Anyway ที่ยาวเกือบสามชั่วโมง คำพูดของตัวละครเอกในบางประโยคก็คล้ายถ้อยรำพึงซึ่งชวนให้รู้สึกเหงาจนเคว้งคว้าง...
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันเคยขว้างนาฬิกาทิ้งหมดเลย ฉันไม่อยากเห็นมันเดิน เดี๋ยวชั่วโมง เดี๋ยวก็ชั่วโมง”...

จะเรียกว่า “อาร์ต” จะขนานนามว่า “ติสต์” หรือจะพูดรวมกันว่า “อาร์ติสต์” หรืออะไรก็ตามที แต่เด็กหนุ่มคนนี้ได้ก่อร่างสร้างตัว สร้างยุคสมัยของเขาให้บังเกิดขึ้นแล้ว พลังที่พลุ่งพล่าน บวกทั้งความสดใหม่แบบวัยหนุ่ม เป็นดั่งขุมพลังงานที่ถ่ายโอนตัวตนและประสบการณ์ชีวิตความคิดความอ่านลงสู่ภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า นักวิจารณ์และนักวิชาการด้านภาพยนตร์หลายคนนิยามเขาด้วยถ้อยคำว่า “ออเตอร์” (Auter) หรือ “ประพันธกร” ซึ่งโดยมาก ผู้กำกับหนังที่ได้รับการเรียกขานแบบนี้ก็ล้วนแต่มีอายุอานามด้วยกันทั้งนั้น

แต่ไม่ว่าจะเรียกขานอย่างไร ผมคิดว่าการดูภาพยนตร์ของเขา เป็นความคุ้มค่าอย่างถึงที่สุด บางเรื่องอาจจะมาพร้อมกับเรื่องราวเนื้อหาน่าขื่นขม แต่ก็ขื่นขมบนความรื่นรมย์อย่างรับรู้ในพลังของศิลปะภาพยนตร์ ซาเวียร์ โดลอง ผู้ซึ่งยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์และอธิบายตัวตนด้านนี้ไว้อย่างหมดเปลือกในหนังเรื่อง I Killed My Mother ซึ่งถือเป็นงานกึ่งอัตชีวประวัติของเขาเอง เขาคือคนทำหนังรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงมีเสน่ห์ทางหน้าตาอย่างล้นเหลือ หากแต่ผลงานของเขาก็หล่อเหลาคมคายไม่แพ้บุคลิกหน้าตาเช่นกัน







ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น