ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับการประกาศผลผู้เข้าประกวด 8 คนที่เข้ารอบสุดท้ายของรายการ The Star ค้นฟ้าคว้าดาวปี 12
ในบรรดาผู้เข้ารอบที่ประกอบไปด้วย หมายเลข 1 "น้ำผึ้ง ธนัญญา", หมายเลข 2 "ตงตง กฤษกร", หมายเลข 3 "ปิ่น พรชนก", หมายเลข 4 "เจนนี่ รติพันธ์", หมายเลข 5 "เน็ท ปนัสยา", หมายเลข 6 "จัมโบ้ วรกฤต", หมายเลข 7 "พรีน รวิสรารัตน์" และหมายเลข 8 "บิ๊ก กฤษฎา" ดูเหมือนคนที่ถูกวิพาษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นในส่วนของหนุ่ม "ตงตง กฤษกร"
ทั้งนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาเจ้าตัวก็ถูกตั้งข้อสงสัยมาตั้งแต่การผ่านเข้ารอบออดิชันแล้วว่า...เข้ามาได้อย่างไร? (อ่าน สับเละ! หนุ่มออดิชันเข้ารอบเดอะสตาร์เพราะหล่อ)
ครั้นพอเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายคำถามดังกล่าวที่ส่งไปยังกรรมการชุดใหม่ที่ประกอบไปด้วย "อ๊อฟ ปองศักดิ์" "ลูกเกด เมทินี" และ "เต็ด ยุทธนา" ก็ยิ่งเพิ่มความเสียงดังขึ้นมาอีกเป็นทวีคูณ
พิจารณาอย่างไม่เอนเอียง ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าในบรรดา 16 คนสุดท้าย หนุ่ม "ตงตง" กับเพลง "พริกขี้หนู" เป็นคนที่ทำโชว์ออกมาได้อยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพที่ย่ำแย่เกือบที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องที่เพี้ยน เนื้อเพลงที่ผิด ท่าเต้นที่เรื่อยเปื่อย ฯ ซึ่งหากเวทีนี้มี "มาตรฐาน" มี "หลักเกณฑ์" ในการตัดสินจริงๆ เป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าตัวจะผ่านเข้ารอบ
แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ผ่านเข้ามาได้ด้วยเหตุผลจากกรรมการที่ว่าน่ารัก สนุก มีเสน่ห์ ดูแล้วมีความสุข จนชวนให้น่าคิดว่าหากใช้เกณฑ์การตัดสินเช่นนี้ ในกรณีเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็น "บี้ The Ska" เข้ามาประกวดแทนผลที่ออกมาหรือเสียงวิจารณ์จากคณะกรรมการจะเป็นอย่างไร?
และหากใช้เกณฑ์ตัดสินหนุ่ม "ตงตง" เช่นนี้ ในส่วนของผู้เข้าประกวดอย่าง "มิว ณัฐนรี" ที่ทำผลงานออกมาได้ในระดับมาตรฐานที่ต้องเรียกว่าพอๆ กัน หรืออาจจะดูดีกว่าด้วยซ้ำนิดๆ ในเรื่องของการร้องเพลง ก็น่าจะได้เข้ารอบเช่นกัน
แต่ไหงเจ้าตัวถึงกลับถูกวิจารณ์เสียยับเยิน ทั้ง ขาดเสน่ห์ น่าเบื่อ ฯ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วเกณฑ์ตรงนี้ใช้อะไรเป็นตัววัด? ความรู้สึก รสนิยม ความชอบท่าเด้าเป็นการส่วนตัว หรือเสียงกรี๊ดจากคนในห้องส่ง ซึ่งต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าผู้เข้าประกวดชายจะได้เปรียบนิดๆ เพราะคนดูส่วนใหญ่นั้นเป็นสตรี
ขณะเดียวกันในรายของหนุ่ม "กาย อันโทนี่ กวินท์" ที่มาพร้อมเพลง "นางฟ้าคนเดิม" ซึ่งผลงานโดยรวมนั้นเจ้าตัวก็ทำออกมาได้ค่อนข้างจะดีทีเดียว เสียงกรี๊ดที่ดังในห้องส่งหรือก็ไม่น้อย แต่เจ้าตัวก็ถูกกรรมการวิจารณ์ว่าไร้เสน่ห์, ใช้เทคนิคใช้สมองมากกว่าใช้อารมณ์และความรู้สึกในการร้อง, ร้องเพลงเศร้าแต่กลับมายืนยิ้มแฉ่งอย่างมีความสุข
ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้ามองไปยังความหมายของเพลง "นางฟ้าคนเดิม" เพลงนี้มีความหมายไปในทิศทางบวก เป็นเพลงที่คนๆ นึงรู้สึกยินดี รู้สึกดีใจ รู้สึกตื้นตัน รู้สึกประทับใจที่ตัวเองมีคนรักคอยอยู่เคียงข้าง ไม่ทอดทิ้งกัน ดังนั้นการที่คนๆ นี้จะร้องไปยิ้มไปด้วยความสุข ด้วยความปลาบปลื้มอิ่มเอิบหัวใจมันผิดหรือ หรือว่ามันแสดงว่าเขาเข้าไม่ถึงอารมณ์เพลงตรงไหน?
ด้วยเหตุผลของกรรมการที่ออกมากลายเป็นว่าปัญหาของหนุ่มกายคือดันทำเรื่องยากของคนอื่นให้เป็นเรื่องง่ายๆ ดันไม่ทำหน้าทำตาเจ็บปวดราวปวดขี้เวลาต้องเค้นเสียงร้องคีย์สูงๆ ดันไม่เลือกเพลงที่โชว์บั้นเอวให้สาวๆ สะดุ้ง ความสนุกเลยไม่บังเกิด ฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลในความผิดที่มีน้ำหนักเบาบางเหลือเกินถ้าเทียบกับ "ของดี" ที่เขามีอยู่ในตัว
ที่สำคัญเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยากเย็นอะไรเลยหากเขาได้รับโอกาสที่จะเข้าไปเรียนรู้ พัฒนาฝึกฝน
ขึ้นชื่อว่าการประกวด คำว่า "มาตรฐาน" และ "หลักเกณฑ์" ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแต่ก็จำเป็นต้องมี แต่ดูจากการทำหน้าที่ของกรรมการทั้ง 3 ดูเหมือนเวทีเดอะสตาร์ในปีนี้จะไร้สิ่งที่ว่าไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีคำวิจารณ์ออกมาก็จะมีคำอธิบายเชิงแก้ต่างในลักษณะที่ว่าเวทีนี้ไม่ใช่เวทีการประกวดเพื่อเฟ้นหา "นักร้อง" แต่เป็นการมองภาพโดยรวมถึงความเป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์ แต่ในเมื่อการโชว์มันอิงอยู่กับเรื่องของเสียงเพลงและการร้องเพลงเช่นนี้แล้ว ดังนั้นเรื่องของการร้องก็น่าจะเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถที่แม้อาจจะไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมดแต่ก็สมควรที่จะถูกพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ใช่หรือไม่?
เหตุผลที่อ้างถึงเสนห์ที่เกิดจากความเป็นธรรมชาติบนเวทีเวลาแสดง เอาเข้าจริงๆ ตรงนี้เป็นเรื่องยากพอควรที่จะใช้กฏเกณฑ์มาวัด เพราะในความเป็นจริง ลีลา ท่าทางที่ทุกคนทำบนเวทีล้วนแล้วแต่คือการแสดงทั้งนั้น เพียงแต่ใครแสดงออกมาแล้วมันดูขัด มันดูเคอะเขิน มันได้รับเสียงตอบรับเช่นไร
หรือถ้าจะบอกว่าเวทีนี้เน้นความหลากหลาย เช่น สายนักร้องเสียงดี สายหล่อ สายสวย สายน่ารัก สายฮา สายบ้า สายร็อค ฯ ถ้าเช่นนั้นตอนเปิดเวทีก็ควรจะระบุแยกแยะกันให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น วิธีการคัดเลือกก็ควรจะคนละวิธี คนละมาตรฐาน ไม่ใช่เอามาเหมารวมกันด้วยการใช้การร้องเพลง ที่สำคัญก็คือควรจะใช้กรรมการคนละชุดที่มีความชำนาญในทางของตนเองเพื่อพิจารณาในแต่ละสายๆ ที่จะเข้ารอบมาจะเหมาะสมกว่าหรือไม่?
ถึงตรงนี้เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการต่างก็เอารสนิยมและความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญหากพิจารณาคำตัดสินของกรรมการแล้วก็ต้องบอกว่าย้อนแยงในตัวเองมากๆ เช่นให้คนนึงเข้ารอบแม้จะไม่ขนลุก แต่กลับให้อีกคนตกรอบเพราะทำให้ตัวเองขนลุกไม่ได้, ให้คนหนึ่งเข้ารอบเพราะสนุกแม้ไม่มีความสามารถ ครั้นพอวิจารณ์อีกคนกลับบอกว่าโชว์สนุกนะแต่ความสามารถก็ต้องมีด้วย ดังนั้นไม่สมควรจะเข้ารอบ ฯ
จุดมุ่งหมายของการวิจารณ์คือการชี้ให้เห็นได้ว่าผู้ถูกวิจารณ์มีข้อดีตรงไหนที่ควรทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือมีข้อด้อยตรงไหนที่ควรไปปรับ ไปพัฒนา หาใช่วิจารณ์ไปเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือเพียงเพื่อหวังให้เกิดกระแสจากการเลือกใช้คำพูดแปลกๆ แรงๆ ฯ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่ดูเลวร้ายไปกว่าการที่กรรมการในฐานะคอมเมนเตเตอร์บางคนไม่สามารถยกหาเหตุผลอธิบายได้ว่าผู้เข้าประกวดทำโชว์ออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไร? ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็คงต้องถามไปยังผู้ผลิตแล้วล่ะว่าเสียเงินจ้างมาเพื่อให้เกิดประโยชน์อะไร?
คือถ้าแค่จะมานั่งบอกว่า "ไม่รู้สิแต่ชอบอ่ะ" "ไม่รู้สิไม่ชอบอ่ะ" "ไม่รู้สิไม่รู้จะบอกอะไรเหมือนกัน" "ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม" "เหมือนนักเรียนแสดงในงานโรงเรียน" ฯ ตรงนี้ใครๆ ก็ทำหน้าที่นี้ได้
เอาเป็นว่าครั้งต่อไปแนะนำตัดสินด้วยการวัดจากเสียงกรี๊ดของคนดูในห้องส่งเอาก็ได้...