xs
xsm
sm
md
lg

“ฟรีแลนซ์” หนังตลกยอดเยี่ยมแห่งปี และ 13 สุดยอดภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การเก็บสะสม ปี 58

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คงถือเป็นธรรมเนียมของคนดูหนังที่ช่วงท้ายปีจะมาย้อนหลังนั่งนับภาพยนตร์ที่ตนเองได้ดูตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มันมีทั้งเรื่องที่น่าจดจำ และเรื่องที่แม้จะถูกบังคับให้จดจำ ก็ยังจำไม่ได้ หรือไม่มีพื้นที่ในความทรงจำ อย่างไรก็ตาม ในนามของคนดูหนังธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งย่อมมีทั้งชอบและไม่ชอบเป็นองค์ประกอบที่ตามมาหลังจากการดู นี่คือหนัง 14 เรื่องที่เห็นว่า “สนุก-ดี-มีคุณค่า น่าเก็บสะสม” หรือใครที่ยังไม่ได้ดู อาจหาเวลาไปรับชมย้อนหลังผ่านทางดีวีดีหรือบลูเรย์ที่ส่วนใหญ่ผลิตออกมาวางจำหน่ายแล้ว

 หนังตลก



1.ฟรีแลนซ์ / นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กำกับ
ผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับที่อำตัวเองได้เฮฮาว่าน่าจะเหมาะสำหรับงานรับทุบตึก เพราะทำหนังมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง สถานที่ถ่ายทำหรือโลเกชั่นก็มักจะถูกรื้อทุบหรือยุบทิ้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งหนังเรื่องที่สร้างภายใต้ชายคาจีทีเอชและออกฉายได้ไม่นาน บริษัทผู้พลิตที่ดำเนินงานมานาน 11 ปีก็ประกาศปิดบริษัท...แต่นั่นก็เป็นอารมณ์ขันของผู้กำกับ เพราะอะไรจะถูกยุบหรือทุบทิ้งก็ไม่เกี่ยวกับคุณภาพของหนังที่มีอยู่เปี่ยมล้นจนกระทั่งสามารถคาดหมายการได้ชิงหรือชนะรางวัลการประกวดภาพยนตร์ในช่วงต้นๆ ปี 2559 ได้ เพราะไม่ว่าจะมองในแง่ความตลกขบขันของตัวเรื่อง ตัวละคร หรือบทภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งประเด็นเนื้อหา ล้วนกล่าวได้ว่า สตรองมาก!

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



2.Spy / พอล ฟี้ค กำกับ
หนังสายลับที่มาพร้อมกับความฮาแทบไม่มีพักตลอดทั้งเรื่อง หนังนำแสดงโดย “เมลิสซ่า แม็คคาธีร์” ดาราสาวร่างท้วมความตลกเป็นเลิศ ถึงขั้นได้รับการบรรจุชื่อไว้ใน “ฮอลลีวูด วอล์ก อ๊อฟ เฟรม” ซึ่งไม่เพียงแค่เมลิสซ่าที่นำพาความฮาให้กับหนัง เพราะยังมีเจสัน สเตแธม ที่แจมความตลกได้เอร็ดอร่อยด้วยมุกที่เหลือจะคาดเดา ล่าสุด ตัวหนังได้ชิงรางวัลลูกโลกทองคำ (หนังยอดเยี่ยม สาขาตลก/เพลง) ขณะที่เมลิสซ่าก็ได้เข้าชิงในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเช่นกัน

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



3.kingsman the Secret Service / แม็ทธิว วอห์น กำกับ
นำทีมโดย “โคลิน เฟิร์ธ” ดารารุ่นใหญ่ดีกรีนักแสดงยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ ที่มาพร้อมกับบุคลิกของสายลับสุดเนี้ยบและเฉียบขาด ทักษะความสามารถเปี่ยมล้นสไตล์สายลับอังกฤษ อันที่จริง หนังมีความเป็นแอ็กชั่นอยู่ค่อนข้างสูง (ซึ่งจะดูเพื่อแอ็กชั่นก็มันส์เช่นกัน) แต่หลักๆ แล้ว เวลานึกถึงหนังเรื่องนี้ จะนึกถึงฉากที่ชวนขำก่อนอื่นใด ขณะที่ในฉากแอ็กชั่นก็มีอารมณ์ขันอยู่ในนั้นด้วย เช่น ฉากที่โคลิน เฟิร์ธ ปราบพวกเด็กเกรียนภายในร้านตอนต้นเรื่อง โดยรวมทั้งหมด “คิงส์แมน” เป็นหนังที่เนี้ยบและอยู่ในความทรงจำที่จะถูกบอกเล่ากล่าวถึงต่อไปอีกนาน

 หนังแอ็กชั่น



1.Mad Max / จอร์จ มิลเลอร์ กำกับ
การทำหนังแอ็กชั่นในวัย 70 ของผู้กำกับที่ได้รับการซูฮกด้วยฉายา “เดอะ มาสเตอร์มายด์” (The Mastermind) ไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่น้อย พูดง่ายๆ ว่าแม้แต่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่หลายคนก็อาจทำหนังแอ็กชั่นได้ไม่มันส์เท่ากับปู่จอร์จ มิลเลอร์ 120 นาทีแทบไม่มีพักในฉากการต่อสู้อันระห่ำบ้าพลัง ท่ามกลางความแห้งแล้งแผดเผาของทะเลทราย และไม่ใช่แอ็กชั่นเพื่อความมันส์เพียงอย่างเดียว หากแต่ในส่วนของบทหนังยังมีดีถึงขั้นได้รับการเลือกให้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) พร้อมด้วยผู้กำกับที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงผู้กำกับยอดเยี่ยม และมองทางไกลได้เลยว่า “กีตาร์เพลิง” ในหนังเรื่องนี้ก็จะดังกระหึ่มไปจนถึงเวทีออสการ์แบบไม่ต้องคาดเดา

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



2.Fast & Furious 7 / เจมส์ วาน กำกับ
เหมือนยิ่งทำภาคต่อ ยิ่งดีมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับหนังแฟรนไชส์ที่ออกสตาร์ทภาคแรกด้วยการเป็นหนังหวังเอาใจคนรักความเร็ว ฉากประลองความเร็วความแรงบนท้องถนน ขยายผลไปสู่โลกแห่งอาชญากรรมที่ห้ำหั่นกันด้วยความแกร่งอันเป็นที่มาของฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ที่มีทั้งบู๊และบุ๋นหรือเชิงชั้นการวางแผน และสำหรับภาคนี้ เติมอารมณ์ดราม่าหนักๆ หน่วงๆ คล้ายเป็นการให้เกียรติและระลึกนึกถึงหนึ่งในนักแสดงหลักของเรื่องผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ “พอล วอร์คเกอร์” และส่งผลให้เพลง See You Again มีรสชาติที่ไพเราะเศร้าสร้อยอย่างถึงที่สุด

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



3.Jurassic World / โคลิน เทรเวอร์โรว์ กำกับ
เป็นหนังที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “เข้าถึงกลุ่มคนดูทุกเพศทุกวัยได้ดีที่สุด” มันผสมผสานระหว่างความบันเทิงกับแก่นสารเนื้อหาเข้าด้วยกันได้อย่างพอเหมาะพอดี ชนิดที่เด็กรุ่นๆ ก็พอจะคิดได้เข้าใจได้ พอๆ กับที่ผู้ใหญ่เข้าถึง นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงความสนุกสนานบันเทิงที่เป็นสากล ซึ่งคนวัยเด็กไปจนถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็พร้อมจะลุ้นระทึกและรื่นเริงบันเทิงใจไปกับมัน และนั่นก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดสำหรับหนังแฟรนไชส์ชุดนี้ตั้งแต่ปีที่เริ่มสร้างภาคหนึ่งซึ่งคาดหวังให้มันเป็นความบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัวมาแล้วแต่แรกเริ่ม

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



3.สตาร์ วอร์ส / เจ.เจ.เอบรามส์ กำกับ
หนังบล็อกบัสเตอร์ระดับเทพอีกหนึ่งเรื่องของปีนี้ที่ดีงามด้วยองค์ประกอบทุกส่วนที่ส่งให้หนังสนุกน่าติดตามตั้งแต่นาทีแรกยันนาทีสุดท้าย เป็นผลลัพธ์ภาพรวมแห่งการผสมผสานระหว่าง “ของเก่า” กับ “ของใหม่” ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว โดยฝีมือการกำกับของคนทำหนังระดับแฟนพันธุ์แท้ของอัศวินเจได “เจ.เจ. เอบรามส์” ผู้กำกับที่มาจากสายทีวีซีรี่ส์ของอเมริกา ได้ทำให้หนังที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความทรงจำอันยิ่งใหญ่ในใจของคนดูผู้ชม กลับมายิ่งใหญ่ได้ถึง 2 เรื่องติด ไล่ตั้งแต่ “สตาร์ เทร็ก” ทั้งสองภาค (Star Trek และ Star Trek into Darkness) มาจนถึงโปรเจคต์ที่แฟนหนังพากันจับจ้องอย่าง “สตาร์ วอร์ส” ซึ่งห่างจอไปตั้งแต่ปี 2005 โดยเล่าเรื่องต่อในฐานะภาค 7 อย่างเต็มรูปแบบ

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่

 ดราม่า



1.Our Little Sister / โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ กำกับ
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ในฉากหน้า ฉาบทาไว้ด้วยตัวละครสาวๆ สี่คนที่เป็นพี่น้องกัน และแต่ละคนก็พูดได้ว่าสวยและน่ารักทั้งสิ้น ขณะที่ตัวเรื่องก็เปี่ยมไปด้วยความละเมียดละไม มีความเศร้าแต่ก็ซึ้งและสวย ขณะที่องค์ประกอบด้านโปรดักชั่นก็เนี้ยบเฉียบงามแบบงานฝีมือ ความสวยของฉาก ความน่ารักและน่าเศร้าของตัวเรื่อง ล้วนส่งผ่านถึงคนดูผู้ชมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และพูดได้ว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้ดูหนังสวยๆ แบบนี้

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



2.Sicario / เดนนิส วิลเลเนิฟ กำกับ
จุดเด่นที่มักจะพบเห็นได้ในหนังของ “เดนิส วิลเลเนิฟ” นอกเหนือไปจากการผูกเรื่องเล่าเรื่องซึ่งปลุกเร้าความอยากรู้และร่วมเดินทางไปกับหนังแบบไม่วางสายตา อันเปรียบเสมือนเคล็ดวิชาของหนังเชิงสืบสวนสอบสวนที่เดนิสทำได้สำเร็จ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทรงพลังอย่างแรงในหนังของผู้กำกับคนนี้คือการมาพร้อมกับบทสรุปอันได้แก่ “ความจริง” ที่เฆี่ยนตีความรู้สึกอย่างบาดลึกและร้าวราน...นี่คือหนังที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความสะเทือนอารมณ์ (ขณะที่ก็สมจริงด้วยฉากแอ็กชั่นการต่อสู้) เช่นเดียวกับการแสดงของดาราทุกคนในเรื่องล้วนทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบนนิชิโอ เดล โตโร

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่

 หนังผี



1.อาปัติ / ขนิษฐา ขวัญอยู่
เป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวใหญ่โตอยู่พักหนึ่ง ถึงขนาดถูกแบนไม่ให้ฉาย แต่สุดท้าย เมื่อปรับรายละเอียดบางประการ ผลงานหนังใหญ่เรื่องของผู้กำกับหญิง “ขนิษฐา ขวัญอยู่” เรื่องนี้ก็ได้ฉายโรง พร้อมเสียงชมที่ดังมาจากทั่วสารทิศ ด้วยบทภาพยนตร์ที่เป็นเลิศ มีลูกล่อลูกชนสูง ขณะที่ความหลอกหลอนในสไตล์หนังผีก็มาเต็มพิกัด นักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง “สรพงษ์ ชาตรี” นั้น ควรได้รับการคารวะหรือรับรางวัลจากบทบาทในหนังเรื่องนี้บ้าง

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



2.รุ่นพี่ / วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กำกับ
แม้จะมาในทางของหนังผีเชิงสืบสวนสอบสวนที่ดูคล้ายจะถูกใช้สอยไปจนหมดมุกแล้ว แต่ทว่า “รุ่นพี่” ก็คล้ายๆ กับหนังฝรั่งอีกเรื่องอย่าง “เดอะ คอนจูริ่ง” (The Cojuring) ที่นำเอาทักษะการเล่าเรื่อง จังหวะการหลอกที่ถูกใช้แล้วจนเกร่อเหล่านั้น มาใช้สอยใหม่ และด้วยความแม่นยำในการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ “รุ่นพี่” จึงเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จด้วยทักษะที่คนเกือบจะเบื่อไปแล้ว แต่กลับทำให้สนุกขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเก่าหรือใหม่เพียงใด สิ่งสำคัญนั้นยังอยู่ที่ “ฝีมือ” ของคนทำมากกว่าว่าจะทำมันออกมาได้ดีเพียงใด ด้วยมวลสารแบบเดิม ด้วยไวยากรณ์แบบเดิม

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



3. It Follows / เดวิด โรเบิร์ต มิตเชล กำกับ
อิท ฟอลโลว์ส เป็นหนังที่พูดได้ว่าทำได้ดีเกินหน้าเกินตาสถานะความเป็นหนังทุนน้อยของตัวเองอย่างปฏิเสธได้ยาก มีฉากระทึกขวัญที่ชวนขนลุกและตกใจอยู่หลายฉาก ซึ่งใครที่คิดว่าหนังผีอินดี้เรื่องนี้จะไม่มีอะไรแบบ...ตุ้งแช่หรือผ่างๆ นั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะมีหลายฉากเลยทีเดียวที่หนังหยิบเอาทักษะแบบหนังตลาดมาใช้อย่างได้ผล และที่สำคัญ ฉากท้ายๆ ตอนอยู่ในสระน้ำ นับเป็นความสยองล้ำช่างคิดอีกฉากหนึ่ง ดีเท่าที่หนังผีเรื่องหนึ่งจะทำได้

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่

 แอนิเมชั่น



1.Inside Out / พีท ด็อกเตอร์ กำกับ
อินไซด์ เอาต์ เป็นหนังที่เล่นท่ายาก แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนว่า ต่อให้ยากแค่ไหน พิกซาร์ ก็เอาอยู่ งานชิ้นนี้เป็นการกำกับร่วมระหว่าง “รอนนี่ เดล คาร์เมน” ชื่อนี้ไม่ค่อยคุ้น แต่เขาเคยผ่านงานด้านการทำสตอรี่บอร์ดให้กับ “อัพ ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up) และ “ระ-ทะ-ทู-อี่” (Ratatouille) และอีกหลายๆ เรื่อง ขณะที่อินไซต์ เอาต์ ถือเป็นการนั่งตำแหน่งไดเร็กเตอร์หนังใหญ่อย่างเต็มตัวเรื่องแรก ส่วนอีกคน คือ “พีท ด็อกเตอร์” ชื่อนี้อยู่คู่กับพิกซาร์มายาวนานตั้งแต่ยุคก่อตั้ง กับหนังเรื่องทอย สตอรี่ เมื่อปี 1995 เขากำกับ Up ร่วมกับบ๊อบ ปีเตอร์สัน เรื่องของคุณปู่นักฝันได้รางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่นในปีที่ออกฉาย และร่วมกำกับ Monster Inc.

ยิ่งกว่านั้น อีกส่วนที่ผมเห็นว่าน่าสนใจซึ่งหนุนให้อินไซด์ เอาต์ กลายเป็นงานที่เยี่ยมยอดก็น่าจะเพราะทีมเขียนบท ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายคิดเรื่องสองคน โดย “พีท ด็อกเตอร์” กับ “รอนนี่ เดล คาร์เมน” เป็นเจ้าของเรื่องเอง ส่วนทีมเขียนบทมีทั้งหมดสามคน นอกจากนั้น ยังมีทีมเขียนไดอะล็อกเพิ่มเติมอีกสองคน ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้อินไซด์ เอาต์ ครบครันในองค์ประกอบด้านเรื่องราวเนื้อหา ส่วนเรื่องโปรดักชั่นนั้น ไม่มีอันใดให้ต้องบรรยายมากไปกว่าใช้คำว่า “มันเลิศมาก” เป็นตัวอธิบาย

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



2.Monster Hunt / รามัน ฮุย กำกับ
ภาพยนตร์ไลฟ์แอนิเมชั่นที่สร้างรายได้ถล่มทลายในเมืองจีนแผ่นดินเกิด ออกฉายในสัปดาห์แรก เปิดตัวไปที่ 3,400 ล้านบาท ก่อนจะปีนขึ้นไปแตะหนึ่งหมื่นกว่าล้านบาทในเวลาต่อมา ซึ่งหลังจากที่ได้ดู ยอมรับครับว่า ศักยภาพของหนัง เหมาะควรจริงๆ ที่จะทำเงินได้มหาศาลขนาดนั้น

ด้วยตัวเรื่องที่เรียง่าย ไม่ยุ่งยากมาก หากแต่ลงตัวในแทบทุกองค์ประกอบ ทั้งบทหนัง การแสดง มีอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งตลก แอ็กชั่น และที่สำคัญ พอจะเข้าสู่ดราม่า หนังก็ทำได้ชนิดที่แทบจะตีต่อมน้ำตาของเราเลยก็ว่าได้

อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ที่



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น