คงต้องใช้คำว่ามาได้ไกลมาก สำหรับหนังแฟรนไชส์ชุดนี้ที่สร้างมาจากนวนิยายของซูซาน คอลลินส์ ไม่ใช่เพียงในแง่ของหนังภาคต่อที่มีแฟนคลับติดตามคอยรออย่างเหนียวแน่น นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2012 หากแต่การมาได้ไกลมากสำหรับหนังชุดนี้ ยังเป็นเรื่องของประเด็นเนื้อหาด้วยส่วนหนึ่ง
เพราะก็อย่างที่ผู้ชมภาพยนตร์หรือหมู่คนที่อ่านต้นฉบับนวนิยาย จะทราบครับว่า เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ นั้นออกสตาร์ทจริงๆ ด้วยเรื่องราวของเกมไล่ล่าคร่าชีวิตซึ่งถูกคิดขึ้นมาโดยหัวโจกใหญ่ที่เป็นนายผู้ปกครองเหนือถิ่นทั้งหมด ลักษณะของเรื่องจึงชวนให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2543 เรื่อง Battle Royale (ซึ่งก็สร้างมาจากหนังสือเช่นกัน เพียงแต่เป็นหนังสือการ์ตูน) แม้สุดท้ายแล้ว ซูซาน คอลลินส์ จะปฏิเสธเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเธอไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของ Battle Royale มาก่อนเลย และนวนิยายของเธอก็ได้ไอเดียมาจากเทพปกรณัมของกรีก ผสมกับการต่อสู้ของนักรบแกลดิเอเตอร์ (Gladiator) และรายการเรียลิตี้โชว์ แต่ถึงกระนั้น ด้วยบรรยากาศและอารมณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในเล่มแรกนั้น มันทัดทานให้ผู้คนอดนึกถึงหนังและหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม...ภายหลังการเล่นกับความโหดของเกมสุดเหี้ยม ชนิดที่ ม.ม้าวิ่งตามแทบไม่ทัน เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ หรือ “เกมล่าชีวิต” ได้ขยายขอบเขตทางเนื้อหาให้ถ่างกว้างออกไป จากเรื่องของเกมที่คล้ายเทศกาลอันรื่นรมย์ของพวกผู้มีอันจะกินซึ่งจะได้ดื่มด่ำกับความสูญเสีย-ดิ้นรนของคนอื่น กลับกลายเป็นเกมแห่งอำนาจระหว่างประชาชนในเขตต่างๆ ที่คับแค้นขมขื่นกับการกระทำของผู้นำแห่งเมืองหลวงหรือแคปิตอล (สโนว์) โดยมีเด็กสาววัยแรกรุ่นซึ่งชนะในเกมการแข่งขันครั้งที่ 74 อย่าง “แคตนิส เอเวอร์ดีน” เป็นเสาหลักของฝ่ายประชาชน ดำรงสถานะดั่งแกนนำที่ปลุกให้ผู้คนลุกขึ้นขืนขัดต่อำนาจแห่งแคปิตอล
การกระทำของแคตนิสส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวง ชนิดที่ลุกลามไปทั่วเขตแคว้นแดนต่างๆ และที่ยิ่งไปกว่านั้น พลังของเธอยังทะลุออกมาจากหน้ากระดาษและจอหนัง ส่งทอดอิทธิพลให้คนบางกลุ่มหยิบฉวยมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองกันอย่างเอิกเกริกเฮฮา ด้วยการทำท่าชูสามนิ้ว (ก่อนจะถูกหิ้วไปตามระเบียบ) ซึ่งแต่เดิมในนวนิยาย ถูกใช้สำหรับแสดงความเคารพในงานศพของประชาชนในเขต 12 (เขตหนึ่งในหนัง) มีความหมายถึงการขอบคุณ ชื่นชม และสรรเสริญชื่นชม
ขณะเดียวกัน นอกจากตัวเรื่องที่มาได้ไกล เราจะพบว่าดาราตัวหลักของเรื่องก็เปล่งรัศมีรุ่งโรจน์โชติช่วงและมาไกลมากเช่นเดียวกัน เพราะพูดตามความจริง ถึงแม้ “เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์” จะเคยเล่นหนังมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่าง Winter’s Bone งานเรื่องแรกในชีวิตที่ดีงามถึงขั้นส่งให้เธอได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิง อีกทั้งหนึ่งปีหลังจากนั้นก็มีบทบาทในหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง X-Men : First Class กระนั้นก็ดี ต้องยอมรับว่า บทบาทของแคตนิส เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญที่ทำให้ชื่อของเธอกลายเป็นชื่อเสียงเรียงนามที่รู้จักในวงกว้างจริงๆ และที่ยิ่งไปกว่านั้น อีกเพียงสองปีหลังจากนั้น เธอก็คว้ารางวัลลูกโลกทองคำสาขาสมทบหญิงจากบทบาทใน American Hustle และชิงออสการ์ในสาขาเดียวกัน นับจากนั้นจนถึงบัดนี้ ก็ไม่อะไรที่จะกันนักแสดงสาวคนนี้ออกไปจากแสงสปอตไลท์อันเจิดจ้าได้อีกเลย
กล่าวอย่างถึงที่สุด นวนิยายของซูซาน คอลลินส์ นั้น ไม่เพียงแค่โด่งดังด้วยตัวของมันเอง หากแต่ยังได้ออกใบแจ้งเกิดให้กับภาพยนตร์ที่มีคนดูติดตามรอคอยเป็นแฟนคลับเหนียวแน่น อีกทั้งยังมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ชื่อของ “เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์” กลายเป็นอีกหนึ่งบิ๊กเนมสำหรับคนดูหนังวงกว้าง
ในหนังภาคนี้ที่ถือว่าเป็นภาคแยกที่สองของภาคสาม (หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ 2/3) เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ : ม็อคกิ้งเจย์ พาร์ท 2 เล่าต่อจากภาคที่แล้ว ซึ่งเดินทางมาถึงจุดที่ตึงเครียดเต็มที่ บรรยากาศแวดล้อมถูกโหมกระพือไปสู่การลุกฮือของประชาชนเขตต่างๆ ที่คั่งแค้นต่อ “สโนว์” นายใหญ่แห่งแคปิตอล เช่นเดียวกับ “ม็อคกิ้งเจย์” หรือ “แคตนิส เอเวอร์ดีน” ที่เป็นทั้งเสาหลักและสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ ก็มีเป้าหมายเดียวคือการฆ่าสโนว์ให้สำเร็จ ขณะที่อารมณ์อีกด้านก็อวลอาบไปด้วยความรักที่มี “พีต้า เมลลาร์ก” เป็นเงื่อนไขสำคัญ ภายหลังหลุดรอดออกมาจากแคปิตอล พีต้ายังคงมีภาวะที่ควบคุมได้ยากและถือเป็นอุปสรรคหนึ่งซึ่งรุมเร้าเอเวอร์ดีน ขณะที่ชายหนุ่มอย่างฟินนิกซ์ โอแดร์ ก็ยังดูมีทีท่าว่าจะไม่ยอม “ปล่อยมือ” จากความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อเอเวอร์ดีน และส่อเค้า “รักสามเส้า” ที่คล้ายไร้วันจบ...
หลังจากได้ดู ผมพบว่าหนังมีความพยายามที่จะเก็บประเด็นเหล่านี้ไว้จนครบ ก่อนพาเราไปสู่จุดจบบทสรุปได้สำเร็จตามที่ต้องการ ในความเป็นหนังบันเทิง โดยภาพรวม คงต้องบอกว่าเป็นหนังที่ดูได้เรื่อยๆ จนกระทั่งจบ แต่ถ้าถามถึงความสนุก ผมมีความเห็นว่าภาคหนึ่งกับภาคสองนั้นทำได้ดีกว่า และถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น ก็คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ภาค 3/1 ซึ่งก็คือภาคที่แล้ว
คงเป็นแรงเหวี่ยงของวัฒนธรรมภาคแยกที่ลุกลามไปในหลายพื้นที่ ที่นิยมแบ่งแยกแตกซอยเนื้อหาออกเป็นภาคย่อยๆ ไทยเราเองก็มี แม้กระทั่งญี่ปุ่น ปีสองปีนี้ก็มีถึงสองเรื่อง ทั้ง Attack on Titan และ Parasyte อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีของหนังญี่ปุ่นสองเรื่องนี้ (...สิ่งที่ดีนะครับ ไม่ได้สรุปว่าหนังดีหรือไม่ดี และถ้าจะพูดว่าคนที่แบ่งหนังเรื่องหนึ่งเรื่องให้เป็นหนังสองภาคแล้วทำได้ดีก็คงมีปีเตอร์ แจ็คสัน กับ เดอะ ฮอบบิท เป็นตัวอย่าง...) ก็คือการมีมวลสารเรื่องราวที่มากเพียงพอต่อการส่งไม้ให้กับภาคต่อ รวมทั้งการเว้นช่วงจากกันไม่นานนัก ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้อารมณ์ของการอยู่กับหนังไม่ถูกทิ้งให้ค้างเติ่งเนิ่นนานจนลืมเลือนและต้องมานั่งระลึกกันใหม่อีกรอบ
สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ อาจเป็นหรือไม่เป็นปัญหาก็ได้สำหรับแฟนคลับระดับ “แฟนาติก” ของซีรี่ส์ชุดนี้ประเภทที่...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ฉันก็ยังจดจำรายละเอียดได้ทุกเม็ด...แต่สำหรับผมซึ่งเป็นเพียงผู้ชมแบบขาจรอาจจะมีข้อติดขัดอยู่บ้าง เหตุผลนั้นก็คงเป็นเพราะระยะเวลาช่วงห่างระหว่างแต่ละภาค ทำให้เราหลงลืมอารมณ์จากเรื่องเดิมภาคเดิมไปค่อนข้างนาน ทำให้ความรู้สึกที่เคยอินกับเส้นทางการต่อสู้ของนางเอกมันเหมือนขาดช่วง พอมาตอนนี้ ความรู้สึกที่จะเต็มตื้นชื่นชมทำนองว่า แคตนิส คุณช่างผ่านอะไรมาเยอะเหลือเกิน จึงไม่ค่อยมีพลังเท่าไหร่ สิ่งนี้จะพบได้ชัดเจนเมื่อหนังเดินทางไปถึงบทพูดตอนสุดท้ายของเอเวอร์ดีน มันเป็นบทพูดที่ดีของคนที่ผ่านโลกมาอย่างกรากกรำมากที่สุดคนหนึ่ง เพียงแต่พลังความลึกซึ้ง มันน่าจะได้มากกว่านี้ในความรู้สึก และเชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้น่าจะแตกต่างจากการอ่านนวนิยายรวดเดียวจบหรืออ่านแบบต่อเนื่อง
ตรงกันข้ามกับภาค 3/1 ที่ผมเคยเขียนถึงว่าหนังเล่นกับความซาบซึ้งหรืออย่างน้อยก็ดึงและตรึงอารมณ์ได้หนักแน่นทรงพลัง เราจะรู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้รุนแรง บรรยากาศของหนังก็ควบแน่นไปด้วยความกดดันอันน่าอึดอัด อาจจะไม่ค่อยมีแอ็กชั่นการต่อสู้ แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นการแอ็กชั่นผ่านการแสดงออกหรืออารมณ์ของเรื่องและตัวละคร และก็เป็นไปตามความคาดหมายที่ว่า หนังเก็บฉากแอ็กชั่นมาใส่ไว้ในภาคนี้ และด้วยความจำเป็นที่จะต้องนำพาเรื่องราวไปให้ถึงจุดจบให้ได้ ส่งผลให้การดำเนินเรื่องจำเป็นจะต้องกระชับฉับไว บางฉากบางช่วงที่ควรทิ้งจังหวะให้หน่วงๆ อารมณ์หน่อย ขาดหายไป แต่ก็อีกนั่นแหละ มองแบบเข้าข้างหนังสักหน่อย ก็คงต้องบอกว่า ในภาวะวิกฤติแบบนั้น บางเรื่องควรละวาง เพื่อภารกิจใหญ่ที่รอคอยอยู่ข้างหน้า จะมามัวเสียน้ำตาคร่ำครวญ ก็คงจะใช่ที่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมทิ้งอรรถรสแห่งอารมณ์ไปบ้างอย่างที่ว่า
หลายคนคงรู้สึกเช่นกันว่าฉากต่อสู้กับพวกพรายในท่อระบายน้ำนั้น คือฉากแอ็กชั่นที่ให้ความรู้สึกระทึกใจได้ดี นอกจากฉากนี้แล้ว มันเหมือนแอ็กชั่นที่ไม่ใช่ Action แต่เป็น Situation หรือสถานการณ์มากกว่า อย่างเช่นฉากวิ่งหนีน้ำมันที่ไหลท่วม แม้กระทั่งฉากที่ดูเหมือนว่าจะเป็นสงครามในตอนท้าย เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เป็นการต่อสู้กันจริงๆ และเรียกว่า “จลาจล” น่าจะถูกต้องกว่า ยิ่งกว่านั้นยังมีการตัดบทข้ามไปแล้วเอ่ยถึงผู้แพ้ผู้ชนะในฉากถัดไป
ในซีรี่ส์ชุดนี้ ผมลองๆ สรุปเป็นภาพรวมสำหรับตัวผมเองไว้แบบนี้ครับ ภาค 1 และ 2 ได้ความสนุกแบบแอ็กชั่นและปูทางสู่การเมืองในภาคสอง ภาค 3/1 ได้ความดื่มด่ำลึกซึ้งในตัวเรื่องและคาแร็กเตอร์ตัวละคร ประเด็นการเมืองเริ่มทวีความร้อนแรงเช่นเดียวกับความรักที่รอคอยคำตอบ เน้นความแนบเนียนของบทและเนื้อหาไปจนถึงอารมณ์ ส่วนภาค 3/2 พยายามควบรวมสองกิจการ คือจะเอาแอ็กชั่นจาก 1 และ 2 มาผสมรวมกับความลึกซึ้งของ 3/1 แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดังคาด มันดูขาดๆ เกินๆ แบบไม่ดำดิ่งเต็มที่แม้สักทางหรือกระทั่งสักจุดจุดหนึ่ง จะแอ็กชั่นมันระทึกก็ไม่ถึง จะดึงอารมณ์ให้จมดิ่งกับตัวบทตัวเรื่องก็ได้ไม่สุด แต่ถามว่าติดตามเรื่องไปได้เรื่อยๆ หรือไม่ ก็ดูไปได้จนจบ
อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับเสาหลักของเรื่องอย่าง “แคตนิส เอเวอร์ดีน” ผมรู้สึกว่าหนังหาทางลงให้กับตัวละครตัวนี้ได้สวยงาม จากการติดตามเรื่องราวของแคตนิสมาอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นสิ่งๆ หนึ่งในตัวของผู้หญิงคนนี้ที่ถูกวางมาแล้วจากผู้ประพันธ์นั่นคือความอ่อนไหวและกล้าหาญในตัวคนหนึ่งคน หลายคนอาจมองเธอในฐานะ “โจน อ๊อฟ อาร์ค ภาคแฟนตาซี” นั่นเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก เนื่องจากวีรกรรมตลอดจนตัวตนสถานะที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมใจของประชาชนหลากหลายเขตแคว้น ขณะที่อีกหนึ่งด้าน คือความเป็นมนุษย์ธรรมดาวัยแรกรุ่นและมีความรักให้ต้องเลือก เทียบกับตัวละครอีกตัวในหนังแนวใกล้ๆ กันอย่างเรื่อง “ไดเวอร์เจนท์” ที่พยายามขานรับขับเน้นบทบาทของผู้หญิงเหมือนกัน แต่แคตนิสก็ยังดูแข็งแรงกว่าในแง่ของการเป็นตัวละครหญิง เพราะไดเวอร์เจนท์ (หรือแม้แต่ภาคต่อ อย่าง “อินเซอร์เจนท์”) ซึ่งดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นผู้แข็งแกร่ง เอาเข้าจริง กลับได้รับการค้ำชูโดยผู้ชายแทบจะตลอดเวลา (นั่นยังไม่นับรวมประเด็นเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ อย่างเรื่องหัวใจที่ดูเหมือนจะตกเป็นรองผู้ชายค่อนข้างมาก) ซึ่งผมรู้สึกว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ปรากฏในบทของแคตนิส
ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว ผมเห็นว่าตัวละครตัวนี้ก็ได้สำแดงอุดมคติแนวคิดอันเป็นแก่นแห่งชีวิตการต่อสู้ของเธอไว้แล้ว และผมมองว่าไม่ควรมองผ่าน อันดับแรกสุด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการที่แคตนิส (และผองเพื่อนร่วมเส้นทาง) ดำเนินมาโดยตลอดนั้นเกี่ยวพันกับการเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ทุกคนย่อมรู้ว่าเป้าหมายแห่งการต่อสู้ครั้งใหญ่นี้เป็นไปเพื่อความเป็นธรรมและการมีผู้นำที่ดี อย่างน้อยที่สุดคือเกิดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิ์เสียงที่จะเลือกผู้นำด้วยตัวของพวกเขาเอง ไม่ใช่เพียงแค่อำนาจเปลี่ยนมือจากคนคนหนึ่งไปสู่คนอีกคนหนึ่ง แล้วทุกสิ่งก็คงเดิม ผมคิดว่าจุดนี้สำคัญมาก
เพราะอย่างที่เกริ่นกล่าวไว้ในย่อหน้าแรกว่า จากภาพยนตร์ (รวมทั้งนวนิยาย) แนวแฟนตาซีที่เน้นความลุ้นระทึกผสมกับเรื่องรักที่ฟุ้งฟายด้วยบรรยากาศแบบสามเส้า เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ ยังเข้มข้นไปด้วยมวลสารทางการเมือง หรืออาจจะพูดได้ว่า นี่คือนวนิยายแบบ “ยัง อะดัลท์”( Young Adult) ที่ไปไกลมากในกลุ่มเดียวกัน นิยายในกลุ่มนี้โดยเป้าหมายที่เข้าใจกันก็คือถูกประพันธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในการก้าวเดินสู่โลกของผู้ใหญ่ ด้วยการฉายภาพความเป็นจริงอันโหดร้าย ความอยุติธรรม ฯลฯ เป็นการย้ำเตือนอยู่กลายๆ ว่ายังมีความเลวร้ายอะไรอีกมากมีที่จะต้องพบเผชิญในขวบปีที่พวกเขากำลังจะเติบโตไป ซึ่งพูดอย่างให้เครดิตแก่เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ ถือว่าหนังได้ใส่เข้ามาแบบเต็มที่ เพราะไม่เพียงเตรียมความพร้อมด้วยข้อมูลด้านมืดทางสังคม หากแต่ยังเพาะบ่มความกล้าหาญที่จะจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเข้ามาด้วย
สังคมการเมืองในเดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ เป็นการเมืองแบบทรราช แน่นอนว่า การโค่นล้มทรราชผู้อยุติธรรมเพื่อนำพาสังคมไปสู่ประชาธิปไตย เปรียบเสมือนหัวใจหลักของตัวเรื่อง อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่หนังเล่าแทรกซ้อนเข้ามาอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นการกล่าวถึงวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ผู้นำอย่างสโนว์นั้น อาจไม่ได้หมายถึงแค่เพียงชายชราผู้มีหนวดเคราสีขาว เพราะเอาเข้าจริง ในโลกแห่งอำนาจและการเมืองที่หิวกระหายนั้นพร้อมจะให้กำเนิด “สโนว์ 1 สโนว์ 2 สโนว์ 3” หรือสโนว์ใหม่ๆ ได้เสมอๆ ซึ่งนี่ก็คืออีกหนึ่งสารสำคัญที่นวนิยาย Young Adult ได้บอกกล่าวเล่าไว้ คล้ายคำย้ำเตือนถึงความจริงที่เป็นอยู่ในโลกของผู้ใหญ่
แต่ Young Adult ก็ต้องมีจุดจบ ไม่ว่าจะจบสวยแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง หรือจบทิ้งแบบโศกเศร้าสูญเสีย การจบของเดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ จัดอยู่ในหมวดหมู่แรก และเชื่อว่าหลายคนคงชอบการตัดสินใจของแคตนิส เอเวอร์ดีน ที่เมื่อสงครามกับ “สโนว์” พ้นผ่านไป...ท่ามกลางความคาดหวังของใครต่อใครที่อยากเห็นเธออยู่ในโหมดของผู้นำทางการเมือง แต่สุดท้าย ม็อคกิ้งเจย์กลับถอดทิ้งความเป็นม็อคกิ้งเจย์และเดินทางสู่บ้านเกิด ใช้ชีวิตเรียบง่ายในวงล้อมของธรรมชาติ
เราอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเธอคิดอะไร แต่บทพูดตอนสุดท้ายของเธอนั้นดี มันบอกกล่าวเล่าหมดถึงความรู้สึกของคนหนึ่งบนเส้นทางที่ผ่านมา ชีวิตที่ต้องฟันฝ่า เจ็บปวดและผ่านพ้น และผ่านการพังทลายของศรัทธาที่มีต่อใครบางคนซึ่งควรเป็นความหวัง ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องเล่าที่ราวกับความฝัน หลงเหลือไว้เล่าให้คนรุ่นหลังหรือลูกหลานได้รับฟัง
อำนาจนั้นน่าปรารถนา แต่อาจไม่ใช่สำหรับทุกคน
ม็อคกิ้งเจย์ ก็เช่นกัน...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม