xs
xsm
sm
md
lg

Spectre : เป็นเจมส์ บอนด์ ว่ายากแล้ว, ไม่เป็นเจมส์ บอนด์ กลับยากกว่า

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


นับตั้งแต่ออกปฏิบัติการบนจอเงินครั้งแรกเมื่อปี 1962 โดยมีฌอน คอนเนอรี่ สวมสูทเจมส์ บอนด์ นับจนถึงตอนนี้ ก็ล่วงเลยเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ กลายเป็นแฟรนไชส์ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าอายุยืนยาวมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เปรียบเป็นคนก็คงเริ่มเข้าสู่วัยชรา เฉกเช่นกับวันวัยทั้งของ MI6 รวมถึงสายลับเจ้าของรหัส 007 แห่งองค์กรอย่างเจมส์ บอนด์ ที่ดูเหมือนจะถูกสะกิดแรงๆ ขึ้นเรื่อยๆ ให้ตระหนักถึงความร่วงโรยและตกยุค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานภาคที่ผ่านมา อย่าง “สกายฟอลล์” (Skyfall) ซึ่งทั้งเจมส์ บอนด์ และองค์กร MI6 ดูจะกลายเป็นตัวละครที่พร้อมจะถูกเขี่ยตกเวทีได้ทุกเมื่อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ก็ได้ถูกนำมาขยี้บี้เค้นอีกครั้งในหนังภาคใหม่อย่าง “สเป็คเตอร์” (Spectre) องค์กรลับ ดับพยัคฆ์ร้าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครต่อใครในโลกของหนังจะพยายามกำจัดเจมส์ บอนด์ และองค์กรที่สังกัดให้พ้นไปจากปัจจุบัน แต่ทว่าในโลกของคนดูหนัง พยัคฆ์ร้ายอย่างเจมส์ บอนด์ คือตัวละครและภาพยนตร์ที่ยังคงได้รับความนิยมเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นที่เชื่อได้ว่า ต่อให้เปลี่ยนดาราตัวหลักไปอีกสักกี่ครั้ง คนดูก็ยังยินดีที่จะติดตามและตีตั๋วเข้าไปชมแฟรนไชส์ชุดนี้ ซึ่งถ้านับรวมภาคใหม่ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเรา ก็ถือว่าเป็นตอนที่ 24 ของหนังชุดนี้ และเป็นเรื่องที่ 4 ที่ดาราหนุ่มล่ำบึ้กอย่าง “แดเนียล เคร็ก” สวมบทของเจมส์ บอนด์ ซึ่งเท่าที่มีข่าว ฟังว่าภาคนี้ อาจเป็นภาคอำลาบทดังกล่าวของเขาด้วย

จุดโฟกัสซึ่งหนังภาคนี้ชี้ชวนให้เราเข้าไปร่วมส่องจ้องจับ คือองค์กรลับที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อเรื่อง ตามความจริง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของซีรี่ส์ชุดนี้ “สเป็คเตอร์” ถือเป็นนามที่ได้รับการกล่าวขานถึงมาแล้วบ่อยครั้ง นั่นยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า อย่างน้อย หนึ่งหรือสองครั้ง สเป็คเตอร์มีสถานะเป็นคู่ปรับตัวสำคัญของเจมส์ บอนด์ อย่างในตอนที่ชื่อ “ธันเดอร์บอลล์” (Thunderball, ปี 1965) ขณะที่อีกหลายๆ ตอน อย่างเช่น On Her Majesty's Secret Service, You Only Live Twice ก็ได้มีการเปิดเผยโฉมหน้าวายร้ายที่ชื่อ “เอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์” ผู้มีแมวเปอร์เซียสีขาวอยู่ข้างกาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ที่ผ่านมา ภารกิจของสเป็คเตอร์ มุ่งเน้นไปในด้านก่อการร้ายสร้างหายนะเป็นหลัก

แต่พอมาภาคนี้ ที่ต้องรู้ก่อนนะครับว่าตัวหนังนั้นไม่ได้ดัดแปลงมาจากนวนิยายของเอียน เฟลมมิ่ง โดยตรง หนังหยิบเอามาแค่คาแร็กเตอร์ ส่วนตัวเรื่องนั้นเขียนขึ้นใหม่ และทำให้สเป็คเตอร์กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง ภารกิจของสเป็คเตอร์ดูจะไปไกลกว่าที่คาดไว้มากมายนัก ขณะเดียวกัน การปรากฏตัวขึ้นมาของสเป็คเตอร์ในคราวนี้ ก็มีการย้อนกลับไปขุดรากเหง้าแห่งเงื่อนปมที่ถือเป็นใจความสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของ 007 เกี่ยวกับเรื่อง “หญิงสาวของเขา” ในแง่ที่ว่า เพราะอะไร เจมส์ บอนด์ ถึงได้พบเจอกับโศกนาฏกรรมความรักอยู่เรื่อยมา

คงไม่เป็นการสปอยล์เกินไปนัก หากจะบอกว่า การเข้ามาของ “คริสตอฟ วอล์ซ” กับบทบาทของ “เอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์” นั้น ไม่เพียงมีน้ำหนักเทียบเท่ากับหนามแหลมที่หวังจะมาทิ่มแทงแผลใจเก่าๆ ของพยัคฆ์ร้ายให้ปริแตกอีกครั้ง หากแต่ยังส่งเสียงคำรามคุกคามหนทางข้างหน้าที่จะเป็นไปด้วย และกล่าวสำหรับคริสตอฟ วอลซ์ ในบทนี้ ยิ่งตอกย้ำความเป็นมืออาชีพในแง่ตัวร้ายที่มาพร้อมสไตล์ยียวนกวนประสาทของเขา จาก Inglorious Basterds มาจนถึง Djungo Unchained แม้เมื่อเป็นเอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์ ในเรื่องนี้ เขาก็ดูร้ายแบบจิตๆ ทั้งหน้าตาท่าทางและพฤติกรรม และพูดตามความจริง เจมส์ บอนด์ ของแดเนียล เคร็ก หรือของผู้กำกับอย่างแซม เมนเดส มักจะต้องพบกับตัวร้ายลักษณะนี้ (ดูร้ายแบบจิตๆ) เช่นกับภาคที่แล้วอย่างสกายฟอลล์ บท “ซิลวา” ที่เล่นโดย “ฮาเวียร์ บาเด็ม” ก็มีคาแร็กเตอร์ไม่ไกลกันนักกับบทของคริสตอฟ วอลซ์ ในภาคนี้ แม้เมื่อจับเปรียบเทียบเคียงกันแล้ว บทของซิลวาจะดูล้ำลึกกว่าอยู่หลายระดับ

ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากการมาของเอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์ จะนำพา 007 ให้หวนคิดถึงแผลเก่าแห่งรักเก่า (รวมทั้งจะทำอย่างไรกับ “รักใหม่” ที่กำลังผลิดอกออกช่อ) ในแง่ความต่อเนื่องของเนื้อหา ผู้กำกับแซม เมนเดส ยังคงตามบี้เค้นประเด็นเดิมซึ่งถูกเปิดไว้ในภาคสกายฟอลล์ โดยเกี่ยวพันกับความเป็นจริงที่ว่า สุดท้ายแล้ว เอ็มไอซิก หรือแม้แต่เจมส์ บอนด์ จะอยู่หรือไป ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่สกายฟอลล์ใช้ข้อเสียเปรียบในสถานะของมนุษย์ที่ถึงจุดเสื่อมโทรมแห่งสังขาร แถมปฏิบัติการก็เริ่มแสดงความผิดพลาด อีกทั้งระบุว่าความอ่อนไหวและเปราะบางของมนุษย์นั้นคือพาหนะที่จะนำหายนะมาให้ภารกิจ พอมาถึง “สเป็คเตอร์” ตัวละครหน้าใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทแทนเจมส์ บอนด์ และเอ็มไอซิก คือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งถูกให้ค่าเหนือกว่าสายลับที่เป็นคนและมีเปอร์เซ็นต์แนวโน้มสูงที่จะทำงานผิดพลาด ยิ่งมุทะลุไร้ระเบียบแบบเจมส์ บอนด์ ด้วยแล้ว ยิ่งถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นเกทับสำหรับผู้ที่คิดจะปลดระวางเอ็มไอซิกออกจากสารบบของสายลับ

แต่ก็อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน “สกายฟอลล์”...เส้นเลือดแห่งสายลับดูเหมือนจะไม่วันดับไปจากตัวตนของเจมส์ บอนด์ เพราะถึงแม้จะถูกหักให้พักร้อน แต่เจมส์ บอนด์ ยังคงปฏิบัติภารกิจของเขาต่อไปแบบไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษที่อาจจะตามมาซ้ำเติม ด้วยเหตุนี้ เจมส์ บอนด์ ในภาคนี้จึงไม่เพียงเป็นเจมส์ บอนด์ ผู้โดดเดี่ยวเดียวดาย แต่ยังเป็นเจมส์ บอนด์ ซึ่งดูยากแค้นที่สุดในบรรดาทั้งหมด เพราะขณะปฏิบัติภารกิจ นอกจากจะไม่มีหน่วยเสริมใดๆ คอยช่วยเหลือ เพราะถือว่าอยู่นอกเหนือเวลางาน (อันเนื่องมาจากถูกสั่งให้พักร้อน) และด้วยเหตุนั้น อย่าได้คิดจะหวังพึ่งอุปกรณ์ไฮเทคไฮคลาสใดๆ สิ่งเดียวที่ติดตัวมาจริงๆ ก็ดูจะมีแค่เพียงนาฬิกาเรือนนั้นของ “คิว” (Q) พร้อมกับรถแอสตัน มาร์ติน ที่ลักมา (ซึ่งก็พังไม่เป็นท่าตั้งแต่ต้นๆ) และก็ด้วยเหตุผลนี้อีกนั่นเอง ทักษะปฏิภาณไหวพริบตลอดจนความถึกและอึดเฉพาะตัวของเจมส์ บอนด์ จึงจำต้องถูกดึงออกมาแสดงศักยภาพแบบเต็มที่

เมื่อไม่กี่วันก่อน เจ้าหน้าที่หน่วย MI6 ของอังกฤษ ได้ให้ความเห็นว่า แม้เจมส์ บอนด์ จะมีความสามารถชนิดเหนือมนุษย์ในหลากหลายด้าน แต่การทำอะไรด้วยอารมณ์, ชอบฉายเดี่ยว และไม่ค่อยทำงานร่วมกับใคร คือสิ่งที่ทำให้เขาขาดคุณสมบัติของสายลับที่ดีในชีวิตจริง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังระบุอีกว่า “ถ้าเจมส์ บอนด์ สมัครเข้า MI6 ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะทีมเวิร์กคือทักษะสำคัญสำหรับงานข่าวกรอง พวกทำตัวเป็นพระเอก ข้ามาคนเดียว คงทำอะไรได้ไม่เท่าไหร่”

ผมคิดว่าเหตุผลที่เอ็มไอซิกของอังกฤษออกมาพูดแบบนั้น ก็คงเป็นเพราะเห็นว่าเจมส์ บอนด์ ในภาคนี้ (หรือแม้แต่ภาคอื่นๆ ก่อนหน้า) ชัดเจนมากในแง่ของการเป็น “วัน แมน โชว์” ลุยเดี่ยวแบบไม่เอี่ยวกับใคร แน่นอนล่ะ ในโลกความจริง มันอาจจะจริงอย่างที่เจ้าหน้าที่ของเอ็มไอซิกคนนั้นว่าไว้ แต่ทว่าในโลกของหนัง ผมรู้สึกว่า นี่คือการยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่งในตัวตนของเจมส์ บอนด์

เราจะเห็นบอนด์ในแบบที่เป็นตัวเขา การไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือล้ำสมัยอันใดมาแบ็กอัพสนับสนุนภารกิจ ก็คล้ายๆ เป็นการตีโต้อยู่กลายๆ ต่อสิ่งใหม่ที่ถูกวางไว้เพื่อให้เข้ามาแทนที่เอ็มไอซิก นั่นก็คือเทคโนโลยี...และที่สำคัญ ประเด็นของหนังมันไปไกลถึงขั้นชวนตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริง เทคโนโลยีที่ว่าล้ำสมัยนั้น เชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน และเหนืออื่นใด มันตกอยู่ภายใต้การสั่งการหรืออำนาจของใคร เป็นบุคคลที่ไว้วางใจได้หรือไม่?

ไม่ว่าจะอย่างไร นี่นับเป็นครั้งที่สองติดต่อกันซึ่งเจมส์ บอนด์ อยู่ในมือการกำกับของแซม เมนเดส ซึ่งถ้าจะให้เครดิต ผมเห็นว่าการทำงานของผู้กำกับคนนี้ยังมีน้ำหนักในการถ่ายทอดภาพยนตร์ให้มีความลุ่มลึกและหลากประเด็นเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเรื่องสกายฟอลล์ ซึ่งในสเป็คเตอร์ เราก็จะได้เห็นความทะเยอทะยานเช่นนั้นอยู่ และแต่ละส่วนแต่ละประเด็นก็พาดเกี่ยวเข้าหากัน

ตัวละครพุ่งมาจากหลายจุด และท้ายที่สุดก็โคจรมาพบกันในปมปัญหาร่วม ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทของ “มิสเตอร์ไวท์” และ “แมเดเลน สวอนน์” ไปจนถึงพาร์ทของ “แม็กซ์ เดนบี(ซี)” และ “เอิร์น สตาฟโร โบลเฟลด์” ทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวพันกัน ขณะที่เรื่องแอ็กชั่นก็ผสานเข้ากับการเป็นหนังเล่าเรื่องได้พอเหมาะพอดี พูดกันอย่างถึงที่สุด ผมเห็นว่าแซม เมนเดส นั้นลดทอนแง่มุมความลุ่มลึกลงไปด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับที่เคยทำไว้ในสกายฟอลล์ แต่การลดทอนนั้น ก็ถูกแทนที่ด้วยแอ็กชั่นแบบมุทะลุของเจมส์ บอนด์ เข้าไป ขณะที่มีฉากแอ็กชั่นฉากใหญ่ๆ อยู่หลายฉาก

มีบางฉากที่ผมเห็นว่าหนังทำได้ดี และมันคุกคามความรู้สึกในเชิงเขย่าขวัญ ทั้งฉากการเยี่ยมเยือนมิสเตอร์ไวท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือฉากเปิดตัวคริสตอฟ วอลซ์ ดูลึกลับน่าเกรงขาม เมื่อบวกเข้ากับดนตรีประกอบซึ่งทำหน้าที่ได้ดี ก็ยิ่งขับเน้นโทนอารมณ์ให้ดูขรึมขลังยิ่งขึ้นไป ขณะที่ฉากการเผชิญหน้าระหว่างตัวเอกกับตัวร้าย (ที่ตามธรรมเนียมตัวเอกต้องโดนกระทำก่อน) ก็เป็นฉากที่ทำได้ดี คริสตอฟ วอลซ์ แสดงได้ร้ายจิต แต่ถ้าจะมีอะไรที่ “ติดๆ ขัดๆ” อยู่บ้าง ก็คงประมาณว่า เขาน่าจะร้ายหรือโหดและเก่งกว่านี้ได้อีก และการปิดฉากก็น่าจะไม่ควรดร็อปหรือยิ่งหย่อนไปกว่าตอนเปิดตัวที่ดูยิ่งใหญ่มาก

อย่างไรก็ดี กล่าวอย่างถึงที่สุด ผมไม่มีอะไรผิดหวังกับหนังเจมส์ บอนด์ ภาคนี้ และลึกๆ ก็อาจเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับใครหลายคน คือได้ลุ้นเอาใจช่วย 007 ในภาวะที่ขาดแคลนและถูกคุกคามการดำรงอยู่ พูดตามจริง ตลอดระยะเวลาอันยาวไกลบนเส้นทางประวัติศาสตร์ของเจมส์ บอนด์ ตัวละครตัวนี้ถูกจัดวางไว้ในสถานะของตัวละครในอุดมคติแบบหนึ่งซึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่เกือบจะเรียกได้ว่าเพอร์เฟคต์ ทั้งหน้าตา บุคลิก ทักษะความสามารถ หรือแม้กระทั่งเครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิดที่จะช่วยให้ภารกิจลุล่วง แต่ถึงนาทีนี้ เราคงต้องยอมรับว่าอุดมคติแบบหนึ่งซึ่งเปล่งแสงโชติช่วงขึ้นมาในตัวตนของ 007 กลับแตกต่างออกไป

เพราะถึงแม้วันวัยจะถึงเวลาที่ต้องถูกโละออกจากสารบบในฐานะของสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ แต่เจมส์ บอนด์ ก็ยังเป็นเจมส์ บอนด์ ที่พร้อมจะลุยกับเหล่าร้าย เมื่อในสายตาของเขา เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติ การจะปลดรหัส 007 ออกจากบ่าของเจมส์ บอนด์ แล้วนิ่งนอนใจ ไม่ใยดีต่อสิ่งใดนั้น ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่ง




ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น