xs
xsm
sm
md
lg

10 ปี “เสือร้องไห้” ในห้วงคำนึงคิดถึงแม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คอลัมน์ : คนดูหนังไทย
__________________________________

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับในปีที่เข้าฉาย
แต่นี่คือหนังสารคดีไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งตั้งแต่เคยมีการสร้างกันมา
และถ้าจะถือเอาเวลาแห่งการพูดถึงหนังเรื่องนี้ในวาระนี้ ก็คงต้องบอกว่า มันเป็นหนังที่สามารถหยิบมาดูใหม่ได้ในวาระที่เสียงแห่งความรักความคิดถึงแม่ กำลังกึกก้องไปทั่วสารทิศ


“สันติ แต้พานิช” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ คือคนที่คลุกคลีอยู่กับการทำหนังสั้นมานับสิบเรื่อง ก่อนหน้าจะเกิดโครงการ “ยักษ์เล็ก” โปรเจคต์ผลิตหนังทุนต่ำ จากความร่วมมือระหว่างสหมงคลฟิล์ม/บาแรมยู กับ FAT RADIO ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีหนังนำร่องอยู่สองสามเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ “คน ผี ปีศาจ” ซึ่งแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะคนทำหนังฉายโรงให้แก่มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ขณะที่ “เสือร้องไห้” ก็เป็นการออกใบสูติบัตรให้แก่ “สันติ แต้พานิช” นักทำหนังหนังสั้นที่กำลังรุ่งมากๆ ในยุคนั้นให้ได้เกิดในหนังใหญ่ฉายโรง น่าเสียดายที่หลังจากเสือร้องไห้ออกฉายไปแล้ว คุณสันติ แต้พานิช ไม่ได้ทำหนังใหญ่อีกเลย แต่อย่างไรก็ตาม “เสือร้องไห้” ก็นับได้ว่าเป็นการประกาศถึงฝีมือชั้นเชิงแห่งการเป็นคนทำหนังที่ดีมีคุณภาพของผู้กำกับคนนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว

จำได้ว่า ก่อนหน้าที่หนังเรื่องนี้จะออกฉาย รายการสารคดีชีวิตคนอย่าง “คนค้นฅน” ซึ่งนำทัพโดย “สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ” กำลังรุ่งเรืองมาก หลังจากออกอากาศมาได้ปีสองปี ไม่แน่ใจว่าความนิยมที่ผู้ชมโทรทัศน์มีต่อรายการนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจในการทำหนังหรือไม่อย่างไร แต่เชื่อว่าโดยส่วนลึก มันเป็นพลังที่ไหลเอื่อยอยู่ในความคิดนึกของสันติ แต้พานิช ตลอดมา และรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสม ดังที่เขาเคยเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ว่า “ผมอยากทำสารคดีเกี่ยวกับคนธรรมดาๆ ที่มีความฝัน ก็เลือกมาทำ เลือกอาชีพ เลือกตัวละครมาทำ เราอยากลองทำแบบนี้”

ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เรียลิตี้ฟิล์ม” สารคดีตามติดชีวิตชีวิตคน 5 คน แต่เพียงได้ยินคำว่า “สารคดี” หลายคนก็อาจจะคิดว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่ “แห้งแล้งไร้อารมณ์” หรือกระทั่งยัดเยียดข้อมูลแบบที่คุ้นเคย และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ผมคิดว่าหนังสารคดีเรื่องนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก ใน พ.ศ.นั้น จะเรียกได้ว่ามันคือหนังที่มาก่อนกาลก็อาจจะว่าได้ เพราะไม่แน่ว่า ถ้าหากหนังออกมาฉายในยุคนี้ที่การเปิดรับในงานสารคดีมีมากขึ้นและการรับรู้ถ่ายเทข้อมูลของผู้คนกว้างขวางมากขึ้น “เสือร้องไห้” อาจจะไม่ร้องไห้กับรายรับดังเช่นใน พ.ศ.นั้น เพราะก็อย่างที่เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้ งานสารคดี ไม่เพียงมี “ที่อยู่ที่ยืน” อันหมายถึงโรงฉายชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน หากแต่ “พื้นที่ในใจของผู้คน” ก็พร้อมจะเปิดประตูต้อนรับงานแบบนี้กันมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะอย่างไร แม้หนังจะไม่สำเร็จด้านรายได้ในปีที่เข้าฉายนั้น แต่ทว่ากระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ล้วนเดินร่วมกันไปในทางบวกและคำชื่นชม และที่ต้องบอกไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้ก็คือ นี่ไม่ใช่สารคดีแห้งแล้งไร้อารมณ์แต่อย่างใด เพราะในความจริง มันคืองานที่เต็มตื้นด้วยอารมณ์ความรู้สึก หลายๆ ฉากพูดได้ว่าบาดลึกสะเทือนใจ แบบที่แม้กระทั่งหนังทั่วไปยังสื่อได้ไม่เท่าไม่ถึง หนังยอดเยี่ยมตรงที่รู้จังหวะจะดึงอารมณ์ของคนดูให้เศร้าให้สุขได้แบบอยู่หมัด อีกทั้งการตัดต่อซีนต่อซีน ฉากต่อฉาก ก็ถือว่ารื่นไหล ต่อเนื่อง และมีพลัง ไม่ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังสารคดีลุ่นๆ แต่ให้อารมณ์แบบเดียวกับการดูหนังชีวิตดีๆ เรื่องหนึ่ง ต่างก็แต่ว่า นี่คือหนังชีวิตของคน 5 คน

“เสือร้องไห้” โดยความรับรู้เข้าใจทั่วไป เป็นชื่อเรียกอาหารการกิน โดยเฉพาะบรรดานักดื่มน่าจะคุ้นเคยกับเสือร้องไห้ในฐานะกับแกล้มชั้นเลิศ ขณะที่อีกหนึ่งด้านก็เป็นที่รับรู้กันว่า อาหารชนิดนี้เป็นเมนูเลื่องชื่อของภาคอีสาน หนังหยิบเอาชื่ออาหารมาเป็นชื่อหนังเพื่อสื่อถึงเรื่องราวของคนห้าคนได้อย่างเข้ากัน เพราะไม่เพียงคนทั้งห้าที่ว่านั้นมีพื้นเพมาจากภาคอีสาน หากแต่เรื่องราวชีวิตของพวกเขาหลายส่วนก็ชวน “ร้องไห้” ได้เช่นกัน ขณะที่คำว่า “เสือ” ก็มีนัยยะโยงใยไปถึงการไม่ยอมพ่ายต่อโชคชะตาและพยายามดิ้นรนไขว่คว้าหาโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว เสือร้องไห้อาจมีบางมุมที่ชวนร้องไห้ แต่ลึกๆ ภายในแล้วพวกเขาคือนักสู้ แต่นักสู้หรือจอมยุทธก็มักมีจุดอ่อนไหวและเปราะบาง...

“ผมสนใจความอ่อนแอของมนุษย์
ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความอ่อนแออยู่แล้ว
แต่ความอ่อนแอมันจะเปิดเผยตอนเขาอยู่คนเดียว
ผมอยากเห็นช่วงเวลาเหล่านั้น"


นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ในบรรทัดถัดมาของผู้กำกับสันติ แต้พานิช จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เขาพาเราเข้าไปมองดูชีวิตของชีวิตทั้งห้าที่แม้ว่าจะแตกต่างกันโดยอาชีพการงาน แต่พื้นฐานเป็นคนที่มีสายเลือดอีสานเช่นเดียวกัน ไล่ตั้งแต่พรศักดิ์ ส่องแสง นักร้องลูกทุ่งหมอลำชื่อดังเจ้าของฉายา “ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร”, เหลือเฟือ ม๊กจ๊ก นักแสดงตลกหัวหน้าคณะเหลือเฟือ ม๊กจ๊ก, “แมน หัวปลา” พนักงานโบกรถลูกค้าเข้าสวนอาหารที่มีความฝันอยากจะเป็นนักแสดงตลก, เนตร อินทรีเหล็ก (เอกพล สมบูรณ์) สตันท์แมนผู้รับบทเสี่ยงตายและเคยร่วมงานกับจา พนม มาแล้ว และสุดท้าย “อ้อย สิงห์นักขับ” (รัตนกรณ์ สุทธิประภา) หญิงขับแท็กซี่ที่มีความฝันว่าอยากลองขับรถใหญ่ๆ อย่างพวกสิบแปดล้อสักครั้งในชีวิต

“ไม่มีบท” นั่นคือความจริงเกี่ยวกับวิธีการทำสารคดีเรื่องนี้ หนึ่งปีกับการถ่ายทำที่สันติ แต้พานิช พาเราติดตามความเป็นไปของตัวละครในเรื่อง หนังเล่าด้วยภาพและแทรกบทพูดเชิงสัมภาษณ์เป็นระยะๆ กระนั้นก็ดี ถึงแม้จะไม่มีบท ไม่มีสคริปต์อะไรให้นักแสดง ทว่าภาพรวมที่ออกมา คนดูผู้ชมจะสามารถสัมผัสได้ถึงพลังแห่งมวลสารองค์รวมทางความคิดที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดความฝันของคนที่จากถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน มาตะลอนหาบคอนความฝันบนถนนแห่งการงานในเมืองใหญ่ ที่จริง มันก็เหมือนเรื่องเล่าทั่วไปเกี่ยวกับคนต่างจังหวัดที่พลัดมาสู่เมืองหลวง เสี่ยงโชคเสี่ยงดวงไปตามที่โอกาสเอื้ออำนวย โดยมีความรักความผูกพันระหว่างตนกับคนที่จากมาและความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น เป็นพลังผลักดันให้มุมานะบนเส้นทางสร้างชีวิต

ตัวอย่างที่น่าจะเรียกได้ว่า ชัดเจนที่สุดในมุมนี้ น่าจะเป็นเรื่องของ “แมน หัวปลา” เด็กหนุ่มจากอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ (เมื่อก่อนยังเป็นจังหวัดหนองคาย) ที่หลังจากพ่อตาย ครอบครัวพี่น้องเกิดความระหองระแหงกัน ทำให้เด็กหนุ่มที่กำลังโตอย่างเขาไม่มีความสุขกับการอยู่บ้านอีกต่อไป จึงเดินทางสู่กรุงเทพฯ เป็นพนักงานโบกรถโบกคนเข้าร้านอาหารชื่อดัง บางขณะเราเห็นเขาร้องเพลงและเต้นรำร่วมกับเพื่อนพนักงานคนอื่นซึ่งมี “มงกุฎ” เป็นรูปกุ้งบ้างปลาบ้างสวมอยู่บนหัว และสำหรับเขา มีมงกุฎหัวปลาเป็นเอกลักษณ์จนเป็นที่มาของฉายาดังกล่าว เรื่องราวของ “แมน หัวปลา” เริ่มเข้าสู่จุดวิกฤตและนำมาซึ่งความประทับจิตในฐานะชีวิตแห่งนักสู้ผู้อดทน เมื่อเขาตัดสินใจพาตนเดินออกจากงานร้านดังกล่าวแล้วก้าวเข้าสู่วิถีแห่งการเป็นตลกในคณะเหลือเฟือ ม๊กจ๊ก ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นว่า กว่าที่ใครสักคนจะไปยืนอยู่บนเวทีแล้วทำสิ่งที่ “ตลก” ให้คนหัวเราะนั้น ต้องพ้นผ่านการทดสอบอย่างไรบ้าง ยิ่งในยุคสมัยที่ตลกคาเฟ่ฟูเฟื่องซึ่งมากมายด้วยนักแสวงโชคผู้มีทักษะที่อยากจะมารุ่งเรืองบนเส้นทางสายนี้ การเข้ามาของเด็กหนุ่มโนเนมจึงต้องอาศัยความอดทนเป็นเครื่องพิสูจน์ ระยะเวลากว่าที่เขาจะได้ไปยืนร้องเพลงที่เขารักเขาชอบและเขาบอกว่าเสียงเหมือน มันผ่านวันผ่านเดือนและผ่านการมองเมียงรุ่นพี่ตลกอยู่หลังเวทีกับการคอยเขียนป้ายกำหนดเวลาสำหรับการแสดง ถามว่า แมน หัวปลา เศร้าไหม ก็อาจจะเศร้า และจริงๆ ชีวิตของเขาก็เศร้าพอๆ กับเพลงที่เขาชอบร้องของแมน มณีวรรณ เพียงแต่แมน หัวปลา อาจจะไม่ได้ “เมาวันเขาหมั้น” เสียงร้องของเขาฟังคล้ายสุ้มเสียงแห่งความโศกศัลย์ในอะไรบางสิ่งที่เล็ดลอดออกมาทางร่องปล่องชีวิตที่เขาเพียรสร้างจะเติมมันให้เต็ม

ขณะเดียวกันกับที่ภาพชีวิตของแมน หัวปลา ดำเนินไป ละครมนุษย์อีกฉากหนึ่งก็เปิดม่านการแสดงควบคู่ไปด้วย นั่นคือเรื่องของ “เนตร อินทรีเหล็ก” กุ๊กเล็กประจำร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งกำลังถูกความฝันไล่ล่า จนกระทั่งตัดสินใจก้าวออกมาจากห้องครัว ทิ้งกระทะตะหลิวและกลิ่นหอมของเครื่องปรุง มุ่งสู่เส้นทางการแสดงในฐานะสตันท์แมน “รับจ้างโดนตีน” และ “อาสามาเจ็บ” ก็คงจะพูดได้เช่นนั้น “เสือร้องไห้” ในพาร์ทของเนตร อินทรีเหล็ก ดูจะเป็นพาร์ทที่เปี่ยมสีสันมากที่สุดทั้งในแง่อารมณ์และมิติเนื้อหา ชีวิตของคนที่จากบ้านมาไกล มีฝันใฝ่ที่งดงาม ถึงยามพักผ่อนก็นอนหลับไปกับเสียงลมพัดใบใผ่ที่ปลิวมาทางหน้าต่าง และเหนือหัวนอน มีรูปพ่อกับแม่แปะติดไว้กับผนัง ถึงยามทำงานเป็นสตันท์ ก็ลงทุนลงแรงราวกับไม่กลัวเจ็บกลัวตาย ความมานะอดทนของเนตร อินทรีเหล็ก คงเห็นเป็นที่ประจักษ์ในงานหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งความฝันของเขาที่ทำได้สำเร็จ คือการได้เข้าฉากต่อสู้กับจา พนม

กล่าวได้ว่า เรื่องราวของ “แมน หัวปลา” กับ “เนตร อินทรีเหล็ก” เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังทางเนื้อหาที่เด่นชัดมากที่สุด ส่วนเรื่องราวของอีกสามคนที่เหลือ ทั้งเหลือเฟือ ม๊กจ๊ก, อ้อย สิงห์นักขับ และพรศักดิ์ ส่องแสง จะมาเสริมในแง่มุมอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในแง่มุมนั้น น่าจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณความผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิด และสะท้อนความต่างระหว่าง “เมือง” กับ “ชนบท” ออกมา โดยเฉพาะเนื้อหาในส่วนของไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร ที่ค่อนข้างจะให้มุมมองที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของ “คนบ้านนอก” ที่แม้ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างไร เดินทางแสดงคอนเสิร์ตทั่วประเทศและทั่วโลก ถึงขั้นเคยประชันคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาหัวหมาก กับเบิร์ด ธงไชย แม็คอินไตย์ (ซูเปอร์สตาร์ขวัญใจวัยรุ่นยุคนั้นที่กำลังดังมากๆ จากเพลง “ด้วยรักและผูกพัน” ในชุด “หาดทราย สายลม และสองเรา ปี พ.ศ.2528) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ลึกๆ แล้ว แจ่วฮ้อน ลาบก้อยซอยแซ่และปลาร้าส้มตำและวิถีชีวิตแบบคนท้องถิ่นอีสาน ยังอยู่ในชีวิตจิตวิญญาณและก็ใช้ชีวิตเช่นนั้นเสมอมา ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้พรศักดิ์ ส่องแสง จะโชนแสงเป็นถึงระดับนักร้องดังของประเทศ แต่ทุกครั้งที่เขามากรุงเทพฯ เขาก็ยังพักโรงแรมเดิมที่เคยพักเมื่อสมัยเข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ ครั้งแรกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ภาพผ้าม่านเก่าขาดในห้องนอนห้องพักที่คุ้นเคย คล้ายกับจะบอกกล่าวเล่าถึง “จิตวิญญาณดวงเดิม” ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร

แต่จะว่าหนังแสดงให้เห็นความ “โรแมนติกอย่างเกินจริง” ของชนบทหรือวิถีชีวิตชนบทอีสาน ก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะอันที่จริง ชนบทก็มีปัญหาแบบชนบท ตามครรลองของมนุษย์ ถึงแม้ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกรจะสะท้อนออกมาว่า “หน้ากาก” หรือการสวมมงกุฎเข้าหากันเป็นวิถีแบบคนเมือง มันก็อาจจะจริงในแง่ที่ว่านั่นก็เป็นหนึ่งในปัญหาแบบเมืองๆ แต่ชนบทก็มีปัญหาเช่นกัน อย่างเช่นที่ถูกสะท้อนผ่านเรื่องระหองระแหงภายในครอบครัว หรือกระทั่งการเป็นหนี้เป็นสิน ดุจเดียวกับที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในครัวเรือนของแมน หัวปลา

ไม่ว่าจะอย่างไร ภาพความคิดสุดท้ายที่เจิดจ้าขึ้นมาจากเรื่องราวของพวกเขาและเธอเหล่านี้ มันเป็นอารมณ์ของคนที่จากถิ่นฐานบ้านเกิดและถวิลหามาตุภูมิและคนที่รักซึ่งตนจากมาอยู่ทุกขณะจิต “อยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนอยู่บ้านเรา” ถ้อยคำดังกล่าวของพรศักดิ์ ส่องแสง บอกกล่าวชัดเจนถึงประเด็นของบ้านเกิด และเราจะเห็นได้อีกจากการอยู่การพักของเขาในกรุงเทพฯ ที่ว่านอนที่ไหนยังไงก็ได้ไม่ต้องหรูหรา เพราะถึงยังไง มันก็ไม่ใช่บ้านของเรา นอกจากนั้น หนังยังให้ภาพของถิ่นฐานภูมิลำเนาในบางสถานะ เช่น การเป็นที่พิงพักรักษาแผล ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวของเนตร อินทรีเหล็ก ที่หลังจากท่องโลกสตันท์แมนมาหลายปีและผ่านพบเรื่องราวมามากมาย เขากลับบ้านไปพร้อมกับเพลง “เสียความรู้สึก” (สายัณห์ สัญญา) หอบความผิดหวังและการรู้สึกถึงธาตุแท้แห่งมนุษย์คืนกลับบ้านเกิดเพื่อเยียวยาจิตใจที่แตกสลายของตนเอง ขณะที่การขับรถพ่วงกลับบ้านของอ้อย สิงห์นักขับ ก็นับเป็นการกลับไปเยี่ยมเยือนความรักและคนที่รัก

หมายเหตุตัวโตๆ ไว้ในบรรทัดนี้ว่า ขณะที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทำไปจนถึงช่วงท้ายๆ แม่ของแมน หัวปลา ได้เสียชีวิตลง และหนังก็เก็บภาพงานศพและความรู้สึกแห่งการสูญเสียครั้งนั้นมาใส่ไว้ในหนังด้วย กับคืนวันที่ผ่านมา แมน หัวปลา สารภาพว่าเขาติดต่อกับแม่น้อยมาก ด้วยเหตุผลสองสามข้อ หนึ่งข้อนั้นคือเขารอวันที่ตัวเองจะได้ดิบได้ดีก่อนแล้วค่อยย้อนไปหาแม่ ข้อสองนั้นเหมือนเป็นปมชีวิตครอบครัวบางอย่างที่รอวันสะสางแก้ไข โดยมีความคิดที่ว่าถ้าทำงานหาเงินได้ จะกลับไปให้ที่บ้านชื่นใจ ความรู้สึกนึกถึงแม่ของแมน ก็คงคล้ายๆ กับเนตร อินทรีเหล็ก ที่คิดว่าเมื่อถึงวันที่มีแล้ว จะกลับไปหาและดูแลพ่อแม่ แต่ความรักไหนเลยเคยมีเงื่อนไขวันเวลา สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านชีวิตของแมน หัวปลา คล้ายๆ คำสารภาพทำนองว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาจะติดต่อหรือกลับไปหาแม่ให้มากกว่านี้ ไม่ “ทิ้งแม่ไว้ให้อยู่คนเดียว” อย่างที่เคยเป็นมา เสือร้องไห้ จึงเป็นทั้งอนุสติกระตุ้นเตือนให้ย้อนเยือนถึงคนที่อยู่ข้างหลัง เนตร อินทรีเหล็ก หรืออ้อย สิงห์นักขับ อาจโชคดีที่ยังมีคนที่รักรออยู่ให้ดูแล แต่สำหรับหลายคน อาจเป็นเช่นแมน หัวปลา ที่จะได้รู้สึกอย่างจริงจัง ก็ตอนเห็นควันไฟที่ปลายปล่องเมรุ

ว่ากันอย่างถึงที่สุด “เสือร้องไห้” แม้จะเป็นหนังเชิงสารคดี แต่ก็เป็นหนังสารคดีที่ดูสนุก มันครบรส สุข เศร้า ขมขื่น และชื่นจิต หนังเล่าเรื่องได้ทรงพลัง พร้อมทั้งการใช้เพลงประกอบก็ไพเราะและสื่อความหมายไปกับตัวเรื่อง โดยเฉพาะเพลง “แล้วแต่วาสนา” (ในหนัง ใช้ชื่อ “สุดแท้แต่วาสนา” เพราะวรรคแรกของเพลงเริ่มด้วยถ้อยคำนี้) ของพรศักดิ์ ส่องแสง ที่จ้วงแทงเนื้อในแห่งชีวิตของนักเสี่ยงโชคจากชนบทได้อย่างถึงแก่น ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าหนังจะใช้เพลง “คนไกลบ้าน” ของพรศักดิ์อีกสักเพลง เป็นเพลงปิด แทนเพลง “คิดถึงพี่ไหม” (ศรคีรี ศรีประจวบ) น่าจะยิ่งทรงพลังอย่างแรงมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าการเอาเพลงของศรคีรีมาเป็นเพลงปิด มันไม่ได้เลวร้าย แต่มันดูแปร่งๆ แปลกๆ อย่างไรชอบกล

...“ไม่อดทน...ก็อดตาย” นั่นคือสัจธรรมแห่ง “เสือร้องไห้”
และดูเหมือนว่า “น้ำตาไม่เคยแห้งเหือด” ตราบเท่าที่ความจริงยังเสนอความเป็นจริงอยู่เรื่อยมาว่ายังคงมี “เสือร้องไห้” ตัวใหม่ๆ จากป่าเข้าเมือง ไม่ขาดสาย...







ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น