สารภาพเบื้องต้นครับว่า ผมไม่ค่อยมีความอยากที่จะเขียนถึงหนังเรื่องนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากรู้สึกว่าถึงตอนนี้แล้ว มันเป็นหนังซึ่งไม่จำเป็นต้องมาเอ่ยคำ “ชาบู” (บูชา) อะไรให้มาก เพราะจากกระแสทั้งเมืองนอกและบ้านเรา ต่างก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะที่บ้านเรา ฟาสต์ฯ ภาคนี้ ก็คงจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราว “นอกบท” หรือ “นอกหนัง” ให้พูดถึงมากมาย อย่างไรก็ดี ถ้ากล่าวถึงสิ่งที่แฟนหนังชุดนี้ทั่วโลก “รู้สึกร่วม” แบบเดียวกัน ย่อมหนีไม่พ้นการเป็นผลงานสุดท้ายของดาราผู้เดินทางมาพร้อมกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ภาคแรกๆ อย่าง “พอล วอล์คเกอร์”
พอล วอล์คเกอร์ นั้นโด่งดังเพียงไหนในโลกภาพยนตร์ และความตายของเขาจากอุบัติเหตุรถยนต์ เป็นความสูญเสียโศกเศร้าเพียงใด คนดูหนังคงประจักษ์ชัด ขนาดว่า เมื่อเขาลาโลกได้ไม่นาน หนังบางเรื่องก็ถึงกับเอาชื่อของเขามาบอกขายว่านู่นนี่นั่นคือ “หนังเรื่องสุดท้ายของพอล วอล์คเกอร์” ซึ่งก็เป็นประจักษ์พยานชั้นดีที่สุดแล้ว ที่ยืนยันว่า ชื่อของดาราผู้นี้ โดดเด่นและโด่งดังเพียงใด และมันสามารถถูกเอ่ยขึ้นมาเป็นจุดขายเรียกคนดูได้
หลังจาก Brick Mansion ซึ่งเข้าฉายปีที่แล้ว ไล่เลี่ยกับการเสียชีวิตของพอล วอล์คเกอร์ ไม่นานนัก เราคงจะพูดได้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส ภาคเจ็ด (Furious 7) นี่คือหนังเรื่องสุดท้ายจริงๆ ที่เราจะได้เห็นดาราคนนี้ในภาพยนตร์ และนับจากนี้ ทุกเรื่องราวของเขาจะอยู่ในความทรงจำ และสำหรับฟิวเรียส 7 โดยตัวของมันเอง นอกเหนือไปจากความสนุกสนานที่กำนัลให้แก่คนดูผู้ชมอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นหนังแอ็กชั่นฟอร์มใหญ่ ในอีกหนึ่งหมุดหมาย ปลายทางของหนังเรื่องนี้ก็พาคนดูไปสู่จุดแห่งการระลึกนึกถึงนักแสดงผู้ล่วงลับ ในฐานะของผลงานที่เป็นดั่ง “จารึกสุดท้าย” ในโลกภาพยนตร์ของพอล วอล์คเกอร์ และตรงนี้ต้องยอมรับในศักยภาพของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยชุบชีวิตให้พอล วอล์คเกอร์ กลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้ง แบบเดียวกับตอนที่ฟิลลิปส์ ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน เสียชีวิต แล้ว เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ ม็อคกิ้งเจย์ ใช้ CGI ช่วยให้บทของฮอฟฟ์แมนดำเนินต่อไปได้
คล้ายๆ กับนักแสดงชื่อดังหลายคนที่เริ่มต้นบนทางสายนี้ตั้งแต่เยาว์วัย พอล วอล์คเกอร์ ออกสตาร์ทชีวิตการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย ถ่ายแบบและเล่นละครพวกซิทคอม รวมไปจนถึงหนังเกรดบีมาตั้งแต่ยุคปี 1980 ก่อนที่รัศมีแห่งการเป็นนักแสดงฝีมือดีจะเริ่มเปล่งปลั่งเมื่อเขารับบทในหนังเรื่อง Fast and Furious ภาคหนึ่ง ซึ่งในปีนั้น เขายังมีงานหนังอีกเรื่อง อย่าง Joy Ride เข้าฉายด้วย ทั้งสองเรื่องได้รับการพูดถึงในทางที่ดี เช่นเดียวกับที่ชื่อของพอลได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในสายตาของนักดูหนัง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็อาจกล่าวได้ว่าชีวิตของพอล วอล์คเกอร์ เป็นเสมือนหนึ่งตราสัญลักษณ์หรือนักแสดงคู่บุญของหนังสกุลนี้ อย่างน้อยสี่ห้าภาคที่เขาได้แสดงในหนังแฟรนไชส์ชุดฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส และก็อย่างที่เกริ่นไว้ครับว่า ฟาสต์ภาคนี้ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการเป็นผลงานแสดงความ “คารวาลัย” ให้แก่การจากไปของดาราผู้นี้
ผมขออนุญาตกล่าวข้ามเรื่องราวในหนัง และเชื่อว่า กว่าคุณจะมาเจอคอลัมน์นี้ คุณก็คงได้ดูหนังไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งการได้เห็นนักแสดงชาวไทยอย่าง “จา พนม” ในหนังดังระดับโลก แม้จะเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นฉากที่มีอะไรให้ลุ้นระทึกอยู่และสำหรับแฟนจาก็คงปลาบปลื้มยินดีกันไปตามสมควร แต่นอกจากนั้น และเป็นประเด็นหลักของบทความชิ้นนี้ คือผมรู้สึกชอบมุกที่หนังใช้เล่นกับตัวละครของพอล วอล์คเกอร์ รู้สึกว่าทีมงานเขาสามารถช้อนเอาเรื่องราวจากความจริงใส่ลงไปในหนังได้อย่างชาญฉลาด และผมเชื่อว่ามันน่าจะตรงข้ามกับความคาดหมายของเราๆ ท่านๆ อยู่พอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า หนังจะจัดการอย่างไรกับตัวละครอย่าง “ไบรอัน โอคอนเนอร์” หรือ พอล วอล์คเกอร์ ซึ่งจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าในฟาสต์ภาคต่อๆ ไป หรือหนังเรื่องอื่นใด
ผ่านการปูพื้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่หนังมุ่งเน้นประเด็นความเป็นครอบครัว ภาพครอบครัวของโอคอนเนอร์ที่อยู่สุขสบาย แม้ลึกๆ โอคอนเนอร์จะยังมิอาจสลัดหลุดจากการคิดถึงคืนวันเก่าๆ อย่างที่เขาบอกกับเมียรักว่ายังคิดถึงปืนอยู่เรื่อยๆ กระนั้นก็ดี ภาพของพ่อแม่ลูกก็น่าจะเป็นด้านที่สงบสุขตามประสา ไม่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนบนเส้นทางแห่งความเร็วหรือผู้ดีผู้ร้ายดังเก่าก่อน ขณะเดียวกัน คำพูดที่สะท้อนให้เห็นความเป็นครอบครัว ก็ดูจะถูกพูดออกมาหลายครั้งหลายครา ไม่ว่าจะเป็นการพูดออกมาตรงๆ (ฉันไม่มีเพื่อน มีแต่ครอบครัว) หรือผ่านคำอย่าง “พี่น้อง” ดังนั้น ความเป็นครอบครัวที่หนังเอ่ยอ้างมาโดยตลอดทั้งเรื่อง ก็เปรียบเป็นเช่นการปูทางไว้ให้พอล วอล์คเกอร์ ได้เดินไปในท้ายที่สุด
มันคือการพูดถึง “ความตาย” ในโลกความเป็นจริง ที่ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายในโลกของหนัง ทุกคนต่างเข้าใจในการจากไปของพอล วอล์คเกอร์ และสิ่งที่มันเป็นความงดงามก็คือ หนังให้ความหมายหนึ่งของความตาย เปรียบเสมือนการคืนสู่ “บ้าน” (เหมือนที่โบราณเราก็ชอบพูดคำว่า “กลับบ้านเก่า”) หรือใครจะบอกว่าเป็นการคืนสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าก็เหมือนกัน ฉากท้ายๆ ที่เป็นเหมือนการกล่าวคำลาให้แก่นักแสดงชื่อดัง ผมว่าหนังทำได้ดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป พอดีๆ และมันก็ “บิวตี้ฟูล” กรุ่นๆ ในความครุ่นคำนึงถึงบุคคลผู้จากไป ภาพของถนนหนึ่งสายที่โอคอนเนอร์ขับรถของเขาไป ค่อยๆ เคลื่อนมุมกล้องไปสู่ภาพท้องฟ้าเบื้องบน ที่เรืองรองฟุ้งฟายดูคล้ายแดนสวรรค์วิมาน เสมือนการ “ส่ง” เพื่อนร่วมอาชีพ ที่ไม่ใช่แค่นักซิ่งรถในหนัง หากแต่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพในฐานะนักแสดงคนหนึ่งด้วย ไปสู่สุคติภพ
ในขณะเดียวกัน หนังเรื่องนี้ภาคนี้ ดูเหมือนจะเล่นกับประเด็นความทรงจำและอดีตเยอะพอสมควร คนรักของดอมที่ต้องตามหาความทรงจำ หรือแม้แต่ตัวละครอย่างเจสัน สเตแธม ก็เป็นเหมือนฝันร้ายในวันเก่าก่อนที่ย้อนกลับมาเล่นงานบรรดาพี่น้องในเรื่อง ผมจำไม่ได้ชัดว่าดอมพูดอะไรเกี่ยวกับอดีตปัจจุบัน แต่มันมีคำทำนองว่าอดีตจะทำให้เราเข้าใจว่าควรทำอะไรอย่างไรในปัจจุบัน
ใช่ล่ะครับ หลังจากที่ลากพาคนดูผ่านภารกิจมันระห่ำอย่างต่อเนื่องนับสองชั่วโมง หนังก็พาตัวเองไปสรุปลงที่การจากลาที่งดงาม แบบไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำลา หรือ Never Say Goodbye ถนนของเราอาจแยกไปคนละทาง แต่เรื่องราวดีๆ ในวันเก่าก่อน มิเคยผันแปร
พูดภาษาเท่ๆ แบบหนังเท่ๆ ก็คงต้องบอกว่า ไบรอัน โอคอนเนอร์ หรือพอล วอล์คเกอร์ ไม่เคยจากไปไหน เพราะเขาจะอยู่ในความทรงจำของพี่น้องมิตรสหายไปตลอดกาล
แม้เขาจะเป็นอดีต เขาก็เป็นอดีตที่แจ่มชัดและสวยงามในความทรงจำ...
ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |