xs
xsm
sm
md
lg

มีอะไร? ใน “โจหัวแตงโม”

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นความพยายามในการสร้างสรรค์อะไรที่แตกต่างออกไปจากสูตรสำเร็จเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังไทยในช่วงระยะเวลาร่วมหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ในเครื่องหมายคำพูดว่า หนังไทยที่ออกฉายตามโรงทั่วไปและผ่านการผลิตโดยสตูดิโอใหญ่ๆ ซึ่งจริงๆ เมืองไทยเราก็มีอยู่ไม่กี่เจ้า และหนึ่งในนั้นก็คือ เอ็มสามสิบเก้า (M ๓๙) หรือ “เอ็มเธอร์ตี้ไนน์” และในช่วงที่ผ่านมา สำหรับคนที่ติดตามหนังไทยจริงๆ จะเห็นภาวะดิ้นรนบางอย่างของค่ายหนังค่ายนี้อย่างน้อยก็หนึ่งหนมาแล้ว กับการทำหนังรูปลักษณ์ประหลาดๆ อย่าง “มันเปลี่ยวมาก” ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ปรากฏ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่รายรับ แต่ในเชิงไอเดีย คงต้องให้เครดิตว่าผู้ผลิตมีความกล้าพอสมควรที่จะ “ปล่อยของ” ซึ่งคนดูดูแล้วงงๆ ว่ามันคืออะไรยังไง เรียกว่างงกันตั้งแต่หนังตัวอย่าง กระทั่งหนังตัวเต็มที่คล้ายกำลังคลำทางไป หาเป้าหมายที่แน่นอนชัดเจน และถ้าเป็นเช่นนั้น คิดว่า สมการด้านเทคนิคที่พยายามผสมผสานระหว่างซีจีกับเข้าคนแสดงจริง น่าจะมาถึงจุดซึ่งเข้าที่เข้าทางพอสมควรแล้วกับหนังเรื่องใหม่นี้ “โจหัวแตงโม นักสืบออนไลน์”

อันที่จริง เอ็มเธอร์ตี้ไนน์จะยืนกระต่ายขาเดียวด้วยการทำหนังตลกที่คาดหวังได้ในแง่รายรับต่อไปก็คงไม่มีอะไรเสียหาย แบบเดียวกับหนังที่กำกับโดยผู้กำกับมือทองของค่ายอย่าง “ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์” ที่แม้หลายคนจะบ่นว่าเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ก็ไม่ทำให้เจ็บตัวด้านเงินทุนและรายได้ กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางคำพูดที่ว่า “ตลกบวกคำคมอีกแล้ว” หรือ “ฟีลกู๊ดบวกโลกสวยอีกแล้ว” ก็ยังมีหนังผีซีเรียสบ้างประปราย และมีหนังสไตล์ขายไอเดียเก๋ๆ อีกส่วนหนึ่ง นับตั้งแต่ “มันเปลี่ยวมาก” ก็มีเรื่องนี้ที่เพิ่งเข้าโรง

ในคอลัมน์นี้ ผมเคยเขียนถึงคุณเรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล หลายต่อหลายครั้ง และแต่ละครั้งที่เขียนถึง ก็ด้วยน้ำเสียงยอมรับนับถือในฝีมือความสามารถ ผลงานของเขาเคยเป็นที่ถูกใจตลาดและเก็บกวาดรายได้มาก็ไม่น้อย แม้จะเป็นงานยุคก่อนหน้าแห่งการก่อร่างสร้างค่ายเอ็มเธอร์ตี้ไนน์และทำภายใต้ชายคาอื่นๆ อย่างเช่น อาร์เอสฟิล์ม และฟิล์มบางกอก นึกถึง “เมล์นรกหมวยยกล้อ” นึกถึง “พรางชมพู กะเทยประจัญบาน” นึกถึง “อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม” ฯ และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ ที่ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้กำกับคนนี้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ หนังของเรียว-กิตติกร นั้น แม้จะเป็นหนังตลกในหลายต่อหลายเรื่อง แต่ก็เป็นตลกที่มีแก่นสารให้ควานค้นและตามคิดได้เสมอๆ เช่นเดียวกับงานชิ้นใหม่นี้ “โจหัวแตงโม” ที่โดยภาพรวมมันให้ความรู้สึกของการเป็นหนังตลกผสมกับแนวสืบสวนสอบสวน แต่โดยแก่นของหนังก็ยังเห็นความทะเยอทะยานที่จะส่งผ่าน “สาร” บางประการที่เชื่อมโยงกับฐานความจริงซึ่งดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัย

ชื่อรองของหนังที่มีคำว่า “ออนไลน์” รวมอยู่ด้วย ก็บอกกล่าวได้เป็นนัยๆ ว่ามันจะต้องมีอะไรที่พาดเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ผูกพันวิถีชีวิตอยู่กับโลกอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคโซเชียลเฟื่องฟูทุกวันนี้ ที่หนังเกริ่นนำแบบที่เราก็เข้าใจกันได้ดีว่า ใน “โลกใบนั้น” แต่ละคนสามารถจะเป็นใครก็ได้ ผ่านการปลุกเสกสร้างตัวตนปลอม ชื่อปลอม และกิจกรรมปลอมๆ อำพรางตัวตนที่แท้จริงในโลกความเป็นจริง นี่คือจุดที่ผมคิดว่าหนังเปิดมาได้น่าสนใจ และเมื่อหนังเล่าไป เราก็จะพบว่า ในโลกออนไลน์ใบนั้น ใช่เพียงจะมีแค่การเสกสรรปั้นแต่งคาแรกเตอร์เพื่อให้ตนกลายเป็น “คนยอดนิยม” สำหรับประชากรออนไลน์ในเครือข่าย ซึ่งถ้าตนจะหลงใหลในรูปลักษณ์แห่งตนที่ปั้นแต่งนั้น ก็ถือเป็นบาปกรรมส่วนบุคคล หากแต่หลายต่อหลายคน ยังใช้ “เครื่องมือ” ดังกล่าว ในการก่อกรรมทำเข็ญซึ่งเป็นการลวงโลกอีกแบบหนึ่ง การเสกสรรปั้นแต่งตัวตนในแบบแรกนั้นถือว่าลวงโลกหลอกตน แล้วก็หลงใหลได้ปลื้มดื่มกินภาพลักษณ์กันไป แต่แบบหลังมันไปไกลกว่าในแง่ที่นำพาความเดือดร้อนสู่ผู้อื่น และเมื่อ “ดาบนั้นคืนสนอง” ตนเองก็ต้องรับผลแห่งกรรมนั้นไปด้วย

คนในโซเชียลก็อย่างที่อย่างที่เรารู้ครับ ที่ประกอบสัมมาชีพก็มาก แต่ที่เป็นมิจฉาชีพก็มี และนั่นก็ดูเหมือนจะนำให้เกิดภารกิจของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งอุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาในโลกอินเตอร์เน็ทในชื่อ “โจหัวแตงโม” (เก้า-จิรายุ ละอองมณี) ตั้งตนเป็น “นักสืบออนไลน์” รับงานสืบค้นหาแหล่งที่อยู่ของเหล่าคนลวงโลก เรียกว่าใครเดือดร้อนประการใดอันเนื่องมาจากบุคคลในโลกโซเชียล โจหัวแตงโมจะรับหน้าที่ในการควานหาหลักแหล่งและตัวตนที่แท้จริงมาให้แล้วไปจัดการกันเอง แต่ภารกิจของโจหัวแตงโมก็เดินมาถึงจุดวิกฤติเข้าจนได้ เมื่อเขารับงานของคนคนหนึ่งให้ตามหาตัวการที่ทำให้คนคนนั้นสูญเงินหลายแสนบาทไปในพริบตา โดยหารู้ไม่ว่า ตนเองกำลังเล่นอยู่กับบุคคลระดับเจ้าพ่อผู้ลือลั่นแห่งย่านเยาวราช

ประเด็นของหนังนั้นน่าสนใจแน่นอนครับ และภาพรวมก็เหมือนจะหยอกเอินกับวิถีร่วมสมัยได้แสบๆ คันๆ รายละเอียดปลีกย่อยที่หนังใส่เข้ามาก็เสริมทัพให้แก่เนื้อหาหลักได้ลงตัว โดยเฉพาะเรื่องของการตบคนในอินเตอร์เน็ต แง่มุมนี้คือความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวมากในโลกยุคที่ทุกคนพร้อมจะ “เสียหาย” ทางออนไลน์ได้ง่ายๆ เพียงเพราะโพสต์หนึ่งโพสต์ (แม้ว่าจะมีกฎหมายทางออนไลน์ก็ตามที แต่ที่เสียหายไปแล้ว ก็ยากจะกู้กลับคืน) เรื่องราวโดยรวมของโจหัวแตงโม เปรียบเสมือนคติสอนใจทั้งวัยรุ่นและไม่รุ่นเพื่อจะครุ่นคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์อย่างไร้ปัญหาและไม่นำพาความยุ่งยากมาสู่ชีวิตจริง หลายคนแม้จะใช้ชื่อปลอมในโลกโซเชียล แต่หารู้ไม่ว่า การกระทำแบบนี้ หาใช่ความลึกลับอีกต่อไปแล้วในโลกที่ก้าวไกลอย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น ทุกการกระทำในโลกออนไลน์ สามารถส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในโลกความเป็นจริงได้เช่นกัน

ฟังคล้ายๆ ว่าจะเครียดแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ เพราะประเด็นของหนังนั้นเล่าผ่านเรื่องราวสบายๆ และเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักสองตัว ทั้ง “โจหัวแตงโม” (เก้า-จิรายุ) และ “เม็ดฟ้า” (ยิปโซ-อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์) หนังมีความตลกแบบตลกสถานการณ์ตามแนวทางที่เราจะพบเห็นได้บ่อยครั้งในหนังของเรียว กิตติกร (เมล์นรกหมวยยกล้อ, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม ฯ) เช่น ถ้าตัวละครคาดหวังแบบหนึ่ง เหตุการณ์จริงมักจะเป็นไปอีกแบบ ผิดความคาดหมาย บวกกับความน่ารักของบทบาทนักแสดง ก็ทำให้การเดินทางร่วมไปกับหนังตลอดระยะเวลา 85 นาที มีความเพลิดเพลินไม่มีติดขัดอะไร มองว่าเป็นหนังเบาสมอง แทรกคติสอนใจในแง่มุมที่ต้องการ ก็ถือว่าโจหัวแตงโมประสบความสำเร็จในตนเอง

อย่างไรก็ดี ถ้าจะพูดกันแบบสัตย์ซื่อจริงใจ ท่ามกลางประเด็นของหนังที่ตั้งฐานมาน่าสนใจ ท่ามกลางรายละเอียดที่ห้อมล้อมและหนุนส่ง และท่ามกลางเทคนิคไอเดียในการเล่นกับเครื่องไม้เครื่องมืออย่างคอมพิวเตอร์กราฟฟิก สิ่งที่หนังเรื่องนี้ดูจะทำตกหล่นไปอย่างน่าเสียดาย เป็นเรื่องความแข็งแรงของตัวเรื่องที่จะเปล่งพลังให้เป็นที่ประทับใจ เราอาจจะเพลินเพลินเจริญใจไปกับหนังได้จนจบ แต่สุดท้าย เราจะพบว่าที่ปลายทางนั้น กลับแสดงอาการเลื่อนลอยไปซะอย่างนั้น พูดง่ายๆ ว่า ถึงเวลาที่หนังจะฮุก หมัดฮุกของหนังไม่จะจังเพียงพอ ส่งผลให้สเกลที่ดูเหมือนจะตั้งไว้ใหญ่โตในตอนต้น กลับกลายคล้ายๆ เป็นเรื่องล้อกันเล่น แต่ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าองก์ท้ายๆ ของหนังมันจะพุ่งไปทางซีเรียสขนาดนั้นแล้ว องก์จบก็ควรจะแสดงให้เห็นผลกระทบที่รุนแรงได้กว่านี้

ถ้อยคำที่ดีที่สุดสำหรับผมในการนิยามหนัง “โจหัวแตงโม นักสืบออนไลน์” คือมันเป็นหนังที่ดูสบายๆ คล้ายกับการดูละครซิทคอมทางจอแก้ว ตัวอย่างอาจทำออกมาไม่น่าสนใจ แต่ตัวหนังจริงๆ นั้นมีมวลสารองค์ประกอบที่น่าสนใจ แต่ว่าจะประทับจิตพิชิตใจใครได้หรือไม่นั้น ก็คงเป็นเรื่องของแต่ละคน









ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม


กำลังโหลดความคิดเห็น