อีกเพียงไม่กี่ปี บทประพันธ์อันเป็นอมตะเรื่องนี้ก็จะมีอายุครบกึ่งศตวรรษหรือครึ่งร้อยปี ซึ่งที่ผ่านมา “มนต์รักลูกทุ่ง” ก็ได้รับการหยิบมาปรุงสร้างความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาแล้วเกือบสิบเวอร์ชั่น กระนั้นก็ตาม หากมองในเชิงเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะทำออกมากี่เวอร์ชั่น ทั้งหมดก็ยังเคารพขนบโครงสร้างแบบแผนเดิมไว้ค่อนข้างมั่นคง จะเปลี่ยนไปก็เพียงตัวแสดงและรายละเอียดลูกเล่นที่ขึ้นอยู่กับฝีไม้ลายมือในการปรุงรสของคนทำแต่ละคน และคงเพราะเห็นว่า ถ้าขืนทำไปแบบเดิม ก็คงจะเท่าเดิม ด้วยเหตุนี้ “มนต์รักลูกทุ่ง” เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ จึงมีการพลิกเปลี่ยนไปแทบทั้งหมด และนี่ก็นับเป็นความกล้าระดับหนึ่งของคนทำ ซึ่งก็คือ “ปริภัณฑ์ วัชรานนท์” หรือ “โต๊ะ พันธมิตร” ที่บิดตั้งแต่ชื่อเรื่องไปเป็น “มนต์เลิฟสิบหมื่น” อีกทั้งอารมณ์และบรรยากาศตลอดจนสถานการณ์เรื่องราว คาแรกเตอร์ตัวละคร ก็ถูกปรับแปลงแต่งปรุงใหม่ กลายเป็นรสชาติแห่งทุ่งรักที่ต่างไปจากเวอร์ชั่นก่อนๆ แทบทั้งสิ้น นี่ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนทำที่เห็นควรให้เครดิต แต่แม้กระนั้น ถึงจะบิดผันไปอย่างไร หนังเรื่องนี้ก็ยังให้เกียรติ แสดงความคารวะแก่ต้นฉบับ ดั่งเช่นถ้อยคำที่ขึ้นมาบนจอในตอนจบของหนังว่า “ด้วยความระลึกถึง รังสี ทัศนพยัคฆ์ และ อินทรีแดง” ขณะเดียวกัน ผมมองว่าการให้เกียรติที่งดงามกว่าถ้อยคำลงท้ายนั้น คือการที่ถึงแม้จะปรับแปลงรายละเอียด แต่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนที่ดีงาม ไม่เป็นการปู้ยี่ปู้ยำทำร้ายตำนานรักบทนี้ให้เสียหาย
ในย่อหน้าข้างต้น ทุกคนคงเห็น “อินทรีแดง” แว้บๆ และอาจเกิดคำถามว่าฮีโร่สวมหน้ากากผู้นั้นมาเกี่ยวพันอย่างไรกับมนต์รักลูกทุ่ง...เกี่ยวแน่นอนครับ เพราะนับย้อนไปยังจุดกำเนิดแห่งเรื่องราวนี้ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ผู้เป็นบรมครูแห่งผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ในอดีต ตอนที่ท่านคิดและเขียนเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ขึ้นมา ในนามปากกา “มหศักดิ์ สารากร” นั้น มีดาราชื่อดังแห่งยุคสมัยอย่าง “มิตร ชัยบัญชา” เป็นผู้มีส่วนร่วมในตัวเรื่องด้วย อีกทั้งมิตร ชัยบัญชา ยังเป็นพระเอกให้แก่หนังมนต์รักฯ เวอร์ชั่นแรก (แสดงคู่กับเพชรา เชาวราษฎร์) ซึ่งมิตร ชัยบัญชา นั้น ก็รู้กันว่าเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากการรับบทเป็น “อินทรีแดง” ด้วยเหตุนี้ ก็จึงไม่แปลก หากถ้อยคำลงท้ายของ “มนต์เลิฟสิบหมื่น” จะใช้คำว่าอินทรีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของมิตร ชัยบัญชา ยิ่งไปกว่านั้น ฉากพากย์หนังกลางแปลงในเรื่องมนต์เลิฟสิบหมื่น ยังหยิบเอาหนังเรื่อง “อินทรีแดง” มาให้ตัวละครในเรื่องพากย์ด้วย
บรรทัดสุดท้ายนั้นฟังไม่ผิดครับ มีการพากย์หนังด้วย เพราะไหนๆ จะปรับแปลงทั้งที ก็เล่นแบบสุดๆ ไปเลย “แว่น” เพื่อนรักของไอ้คล้าว กลายเป็นหนุ่มสุดเฟี้ยวและแพรวพราวด้วยมุกตลกอารมณ์ขัน เขาจากบ้านไปนานปี ก่อนจะกลับมาสู่หมู่บ้านเขตเทศบาลตับเต่าพร้อมกับรถบุโรทั่งคันหนึ่งซึ่งใช้เร่โฆษณาหนังกลางแปลง กลับบ้านมาคราวนี้ แว่นยังได้เห็นว่าความรักของเพื่อนรักยังไปไม่ถึงไหน เศรษฐีทองก้อนก็หึงหวงลูกสาวสุดสวยอย่างทองกวาวราวกับไข่ในหิน ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ไอ้เจิดก็ตามรังควานไอ้คล้าวและหมายปองทองกวาวอยู่ทุกวัน เรื่องรักระหว่างไอ้หนุ่มคนจนกับลูกสาวเศรษฐีเดินไปถึงจุดที่เห็นทีเป็นทางตัน เมื่อพ่อของทองกวาวยื่นคำขาดกับไอ้คล้าวว่าถ้าหาเงินสิบหมื่นมาสู่ขอได้ จะยกทองกวาวให้เป็นภรรยา แต่ประเด็นก็คือ แล้วไอ้หนุ่มบ้านนาที่แม้แต่ไร่นายังถูกยึด จะไปเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหนกันหนอ
ฟังๆ ดู เหมือนจะชวนไปหดหู่ในนาฏกรรมความรักที่ยากจะเป็นไปได้ เฉกเช่นที่เคยรับรู้มาในเวอร์ชั่นก่อนๆ กระนั้นก็ดี นั่นเป็นโครงหลักๆ ที่หนังยังคงรักษาไว้ เพราะอันที่จริง “มนต์เลิฟสิบหมื่น” ใช้แนวทางการดำเนินเรื่องที่ไม่ซีเรียสหรือเครียดๆ ด้วยดราม่าแม้แต่น้อย และเฮฮาสนุกสนานมาก ด้วยมุกตลกที่ต้องใช้คำว่า “ช่างคิด” และ “กล้าเล่น” อย่างเช่น ถ้าใครสักคนหนึ่งจะทำทีทำท่าว่าเครียดซึ้งดึงดราม่า หนังก็ฉีกอารมณ์ไปทางตลกทันที ผ่านมุกที่แทรกเข้ามาของตัวละครใกล้เคียง (หรือแม้กระทั่งฉากไอ้คล้าวทำเดินเท่กลางทุ่ง หนังก็ให้ลูกตาลหล่นใส่หัวซะ เหมือนกับจะบอกว่า จะเท่จะหล่อไปไหนกันเชียวเอ็ง! หรือจะทำทีเป็นซีเรียสเครียดเคร่งเซ็งซึมอะไรกันนัก! โลกมันยังไม่แตกสักหน่อย) มุกตลกทั้งหมดส่งผลลัพธ์ในทางที่ดีและสะอาดๆ แม้แต่การเล่นกับคำย่อ ก็เป็นความชาญฉลาดและไหวพริบ มุกแบบนี้มันก้ำกึ่งอย่างมีศิลปะในการเล่นและสะท้อนให้เห็นถึงความสัปดี้สีปดนในใจของคน แต่ไม่ลามกหยาบโลน ขณะเดียวกัน ตัวละครไม่ว่าจะฝ่ายดีหรือฝ่ายเกือบจะไม่ดี ล้วนแล้วแต่มีความน่ารักในแบบตัวเอง กระทั่งไอ้เจิดก็ยังดูไม่ใช่ผู้ชายโหดหินทมิฬชาติที่จะเอาแต่ดุ หากยังสามารถมองในฐานะตัวตลกตัวหนึ่งได้เช่นกัน เช่นเดียวกับเศรษฐีทองก้อนที่ก็หาใช่คนใจไม้ไส้ระกำแต่ถ่ายเดียว หากยังมีมุมขำๆ ที่แสดงความเซ่อซ่าออกมาด้วย มุมนี้ ถ้าจะมองผ่านสายตาของตลกตำนานอย่างชาร์ลี แชปลิน ไม่แน่ว่า มนต์เลิฟสิบหมื่น ก็อาจกำลังเอาใจช่วยบรรดาตัวละครที่ด้อยกว่าอยู่ ด้วยการ “ทำให้พวกคนมีอำนาจ กลายเป็นตัวตลก” ซึ่งมันก็ตลกได้ใจจริงๆ
ในวันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้ ฟังมาว่า “มนต์เลิฟสิบหมื่น” เป็นหนังที่ทำเงินได้เยอะกว่าใครเพื่อนในบรรดาหนังที่เข้าฉายร่วมสิบเรื่องในสัปดาห์นี้ นั่นป็นเรื่องของรายได้ แต่ถ้าในส่วนของหนัง สิ่งหนึ่งซึ่งผมชอบคือบรรยากาศโลเกชั่นที่ชวนให้รู้สึกรื่นเริงบันเทิงใจ หลายคนอาจจับไปเปรียบเทียบเคียงกับหนังรุ่นก่อนหน้า อย่าง “แหยม ยโสธร” ที่เล่นกับบรรยากาศความเป็นชนบทอีสาน ภาพเสื้อผ้าอาภรณ์และโทนสีเน้นความจัดจ้านมีชีวิตชีวา ถ้าจะบอกว่า มันคือ “แหยม ยโสธร เวอร์ชั่นภาคกลาง” ก็ไม่น่าจะผิดเท่าไรนัก เป็นวิถีชีวิตแบบบ้านๆ (เฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกับเรื่องไก่ชน) และที่สำคัญ คุณโต๊ะ พันธมิตร นั้นเป็นคนเก่าคนแก่ของวงการหนังไทยมาตั้งแต่ยุคหนังสายหนังพากย์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักกันดีในนามทีมพากย์พันธมิตรซึ่งมีวลีอันเป็นที่จดจำอย่าง “ให้เสียงภาษาไทยโดย พันธมิตร” ความผูกพันระหว่างเขากับอดีต แสดงออกอย่างเด่นชัดผ่านงานชิ้นนี้ เป็นทั้งการคารวะคนยุคเก่าและพาเราระลึกหวนสู่บันเทิงแห่งวันวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวัดที่มีทั้งฉายหนังกลางแปลง มีวงดนตรี มีโชว์มายากล มีชิงช้าสวรรค์ และมีของกินของเล่นนานาชนิดให้เลือกสำเริงบันเทิงใจในค่ำคืนแห่งงานวัดงานบุญ สิ่งเหล่านี้เสมือนเป็นความทรงจำของคนเก่าคนแก่ และสำหรับคนรักหนัง ยิ่งจะได้เห็นวิธีพากย์ตลอดวิธีทำเสียงประกอบฉาก อย่างบทของ “เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง” (นักพากย์หนังรุ่นเก๋าผู้มีเสียงพากย์อู๋ม่งต๊ะเป็นสัญลักษณ์) ซึ่งทำหน้าที่เคาะนู่นนี่นั่น หรือกระทั่งรินน้ำเพื่อทำเป็นเสียงน้ำตกน้ำไหล ประกอบการพากย์ ก็เป็นรสชาติเก่าแก่แบบที่คนซึ่งเติบโตมากับวันวาน น่าจะเห็นเป็นความทรงจำอันรื่นรมย์ ขณะเดียวกัน คนยุคนี้ก็สามารถที่จะชื่นชมไปกับความสำราญผ่านมุกตลกที่จัดวางไว้ตลอดรายทางของหนังตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่นักแสดงทุกคนก็เล่นเข้ากันดี และแต่ละคนก็มีมุกตลกที่ช่วยยกระดับความฮาให้แก่หนัง
ขณะที่รายละเอียดหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยน (แม้กระทั่งการเลือกใช้คำว่า “เลิฟ” ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า “รัก” ก็ดูจะได้ประโยชน์ทั้งสองด้าน ผมแน่ใจว่า ถ้าใช้ “มนต์รักสิบหมื่น” จะฟังดูเครียดกว่านี้และกดดันหนังไปด้วย การใช้ “มนต์เลิฟ” ฟังดูคลี่คลายผ่อนคลายมากกว่าและเข้าหาคนยุคใหม่ที่สนิทสนมกับคำว่าเลิฟ) เราจะพบว่า เพลงประกอบก็มีการฉีกออกไปเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด เพลงหลักของหนังมนต์รักลูกทุ่ง แต่ไหนแต่ไรมาก็คือเพลงที่มีชื่อเดียวกับชื่อหนัง ซึ่งประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ถ้าเป็นเวอร์ชั่นก่อนๆ โดยเฉพาะละครทางทีวี เพลงนี้จะถูกใช้บ่อยมาก แต่สำหรับเวอร์ชั่น “มนต์เลิฟสิบหมื่น” ที่มีจุดยืนในด้านการปรับแปลง เราอาจไม่ได้ยินคำร้องของเพลงนี้ตรงๆ หากแต่เป็นการใช้ซาวด์ดนตรีประกอบขับคลอในบางช่วงตอน เพียงเท่านั้นก็รู้สึกระลึกได้ถึงกลิ่นอายแห่งมนต์รักลูกทุ่ง ขณะเดียวกัน การตั้งชื่อเขตเทศบาลตำบล “ตับเต่า” ก็นับเป็นการแสดงคารวะแด่บทเพลงของครูไพบูลย์ไปด้วยในตัว ตามคำร้องของเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ท่อนหนึ่งที่ว่า “เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาย่านาง” ส่วนเพลงอื่นๆ อย่าง “สิบหมื่น” ก็เป็นเพลงสะท้อนประเด็นใหญ่ของหนังอันว่าด้วยเรื่องของพ่อตาหน้าเงิน รวมทั้งเพลงใหม่ๆ ที่เสริมใส่เข้ามา มีทั้งแบบเน้นความเฮฮาและแบบที่บอกกล่าวเล่าเรื่องในแต่ละสถานการณ์
“มนต์เลิฟสิบหมื่น” จึงเป็นความบันเทิงที่คารวะแด่วันวาน สะท้อนให้เห็นถึงการมีรากเหง้าทั้งของคนทำหนังและของสังคม ขณะเดียวกันก็ผสมผสานลีลาตลกแบบโลกร่วมสมัยเข้าไป มันมีทั้งความเก่าและความใหม่อยู่ในตัวเอง ผลลัพธ์ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความสนุกสนานเฮฮาหรือความกล้าที่จะคิดใหม่ ถือว่าประสบผลสำเร็จ
เป็นหนังแนะนำครับ สำหรับคนที่อยากใช้จ่ายเวลาราวๆ สองชั่วโมงบนความเบิกบานสำราญใจ
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม