.....หนู “เกลียด” ทีวีดิจิตอล ค่ะ.....
เจ้าของคำสบถดังกล่าว คือ “พัฒนะชัย อดิเรก" หรือที่หลายคนเคยคุ้นกับชื่อที่เรียกขานในวงการว่า “แจ็คเกอรีน" นักข่าวและพิธีกรสาวข้ามเพศ ลูกหม้อของ “ทีวีพูล” ที่เขียนโพสต์ข้อความร่ำระบายความอัดอั้นตันใจไว้
ยาวเหยียด
มูลเหตุสืบเนื่องมาจากกรณีที่มีข่าวว่าทางทีวีพูลซึ่งเป็นต้นสังกัด ประสบกับภาวะขาดทุนจากการทำช่องทีวีดิจิตอลไปกว่า 300 ล้านบาท จนถึงขนาดที่ว่าเจ้านายโดยตรง คือ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์” หรือ "เจ๊ติ๋ม " ประกาศกร้าวว่ายืนยันจะไม่จ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในปีนี้ตามที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์แน่นอน ภายหลังที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติไม่ให้เลื่อนการจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง จะต้องยื่นชำระภายในวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการ 22 ช่อง นำเงินมาจ่ายแล้วรวมทั้งหมด 8,404.422 ล้านบาท ขาดเพียงบริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของสัมปานช่อง “ไทยทีวี” และช่อง “LOCA” ที่ยังไม่ได้ชำระอีกจำนวน 288.472 ล้านบาท
ในฐานะที่เป็นเสมือนมือขวาของเจ๊ติ๋ม งานนี้ลูกหม้อดีเด่นอย่างแจ็คเกอรีน จึงขอมีเอี่ยวกับการโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจต่อกรณีนี้ โดยหลักใหญ่ใจความนั้น ส่อไปทางแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของทาง กสทช. โดยเปรียบเปรยว่าเหมือนโดนหลอกให้ซื้อตั๋วแพงๆ เพื่อเข้าไปในสวนสนุก แต่กลับไม่สนุกอย่างที่คิด โดยข้อความทั้งหมด มีดังนี้
"เชื่อแน่ว่า หลังจากที่มีข่าวนี้ไป หลายคนที่หมั่นไส้องค์กรหนู คงได้แสดงความคิดเห็นแบบมันระเบิดระเบ้อ เรียกได้ว่า ด่ากันสาดเสียเทเสียแน่นทั้งโลกโซเชียลและทุกหน้าหนังสือพิมพ์แน่
ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ (เน้นว่า “ส่วนตัว” ไม่มีใครบังคับให้เขียน) หนูว่า เรื่องนี้ไม่มีใครแพ้ ใครชนะนะคะ เพียงแค่เราเลือกที่จะไม่ไปต่อเอง เพราะเจ้านายหนูเลือกเอาความ “สบายใจ” มากกว่า “ศักดิ์ศรี” ที่ค้ำคอไว้
การเสียตังเยอะๆ แล้วไม่ได้อะไรกลับคืนมา แต่ต้องทำให้คนในครอบครัวอดตาย ถ้าเป็นหนูก็ต้องเลือกพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติๆ เราก่อน คำคนนะมันกินไม่ได้หรอก
มันก็เหมือนการเดินทางนั่นล่ะ คนเรา ถ้าขับรถหลงทาง ก็รีบหาทางยูเทิร์นกลับดีกว่า ดีกว่าขับไปเรื่อยๆ เปลืองน้ำมันเปล่าๆ
ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ หนูพูดจากใจ
หนู “เกลียด” ทีวีดิจิตอล ค่ะ
ถึงมันจะทำให้ภาพในทีวีคมชัด
แต่ส่วนตัวแล้ว มันทำให้ “ความรัก” ของคนในวงการมันถดถอยลงอย่างน่าใจหาย
เราเห็นการแก่งแย่งชิงดี การแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย ไร้ความเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อก่อนทำงานเคยเดินยิ้มแฉ่งไปไหนมาไหน อยู่กับใครก็ได้ แต่พอมี “ทีวีดิจิตอล” ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด
ไม่ต้องบอกว่า ใครแบนใคร ใครห้ามออกช่องไหน ยังไงนะคะ ...รู้กันอยู่แล้ว
แต่หนูเข้าใจทุกอย่างนะคะ เข้าใจว่า มันเป็นงาน มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ มันเป็นวิถีของการต่อสู้ในก้าวต่อไปของวงการทีวีในยุคดิจิตอล ..ที่ผ่านมาเลยเลือกที่จะเงียบ ไม่ค่อยไปตีกับใคร เพราะมันเหนื่อยใจ ที่เห็นคนรู้จักกันเองทั้งนั้น มาว่ากันหน้าจอ ซึ่งมันก็เรื่องของผลประโยชน์ทั้งนั้น หนูเข้าใจ
หนูก็ประชาชนตาดำๆ ละนะคะ มีสิทธิพูดเนอะ ว่าแอบน้อยใจหน่วยงานที่ดูแลนะคะว่า มาโพนทะนาว่าจะทำโน่นนี่ให้คนทำทีวีดิจิตอล เชื่อปะ? ทุกวันนี้บ้านหนูยังดูทีวีผ่านกล่องที่ให้ไม่ชัดเลย เหมือน พี่ๆ หลอกหนูให้มาเที่ยวสวนสนุกเพลิดเพลินใจ ว่าจะได้โน่นนี่นั่น มีเครื่องเล่นทันสมัยมากมาย แล้วสุดท้ายก็ลอยแพตามยถากรรม ใครจะตายไม่สนใจ หิวน้ำ หิวข้าว ก็ไม่รู้ไม่ชี้ เอาเงินค่าเข้าสวนสนุก (แพงๆ) อย่างเดียว ใจร้ายจริงๆ
หนูรู้ว่า คนทำทีวีดิจิตอลตอนนี้ กระอักกันหลายคน เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เหนื่อยยาก เลือดตาแทบกระเด็น หนูเป็นกำลังใจให้นะคะ และไม่ว่าจะยังไงก็ตามแต่ หนูในฐานะสื่อตัวเล็กๆ สื่อหนึ่ง ก็จะทำหน้าที่ผลักดันผลงานของ
ทุกช่อง ทุกสถานีแบบเต็มที่ แบบที่มันควรจะเป็น ใครดี ใครดัง ก็เชียร์คนนั้น แบบไม่แบ่งข้าง แบ่งฝ่ายอยู่แล้ว
ใครไม่ชอบหนู หนูไม่รู้ หนูรู้แต่ ทุกวันที่ก้าวออกจากบ้าน หนูจะมีรอยยิ้มให้ทุกคน เชียร์ทุกคนที่หนูรัก ด้วยอาชีพที่หนูรัก
เป็นกำลังใจให้คนทำทีวีดิจิตอล ทุกคนนะคะ
สู้ต่อไป (ขอให้คนที่เค้าหลอกพวกเรามาเที่ยว สำนึกบ้างเถอะนะคะ)
ขอบคุณค่ะ...”
จากนั้นทางเจ๊ติ๋มก็ได้ทำการยื่นหนังสือถึงกสทช. เรื่องขอยกเลิกทีวีดิจิตอล ทั้ง 2 ช่อง โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับ
นั้น ทางเจ๊ติ๋มพุ่งประเด็นไปว่า เหตุที่ทำให้ช่องดิจิตอลภายใต้สัมปทานของตนนั้น ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้า เป็นเพราะการดำเนินงานที่ผิดพลาดของทาง กสทช. ทั้งนี้ทั้งนั้นระบุว่าการขอยกเลิกใบอนุญาตและเลิกการประกอบกิจการตามใบอนุญาตนั้น ขอให้มีผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ กสทช.ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยตั้งเป้าจะกลับไปหาตลาดเดิมของตัวเอง คือช่องทีวีดาวเทียมที่เคยถูกทิ้งขว้างไปเพื่อหวังจะเติบโตบนตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าอย่างทีวีดิจิตอล
อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. ก็มีการเรียกทางเจ๊ติ๋มมาเข้าพบ เพื่อชี้แจงถึงข้อกำหนดในการรับใบอนุญาตดิจิตอลทีวีที่มีระบุไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ในกรณีที่เอกชนผู้รับ ยกเลิกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลก่อนกำหนดจะต้องถูกยึด “แบงก์ การันตี” ตามมูลค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตลอดทั้ง 6 ปี โดยค่าสัมปทานที่ไทยทีวี ต้องจ่ายให้กับกสทช. รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,976.00 ล้านบาท เท่ากับว่า แม้ว่าจะยกเลิกสัมปทานแล้ว แต่เจ๊ติ๋มก็ยังต้องจ่ายค่าสัมปทานเกือบ 2 พันล้านบาท รวมถึงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 4% ของรายได้ สิริรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับค่าเปลี่ยนใจในครั้งนี้
จากการประกาศขอถอนตัวจากสมรภูมิทีวีดิจิตอลของเจ๊ติ๋มในครั้งนี้ ถ้าจะนับเป็นกรณีศึกษา ก็ต้องขอแยกประเด็นเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก ก็เห็นด้วยกับเจ๊ติ๋ม ที่เมื่อรู้ว่าทิศทางของธุรกิจนี้สำหรับตัวเองดูไม่มีแนวโน้มว่าจะกำไร ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะยอมล่าถอยออกมาก่อน ดีกว่าดันทุรังชักเนื้อเถือหนังตัวเองไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่แจ็คเกอรีนโพสต์ไว้ว่า...การเสียตังเยอะๆ แล้วไม่ได้อะไรกลับคืนมา แต่ต้องทำให้คนในครอบครัวอดตาย ถ้าเป็นหนูก็ต้องเลือกพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติๆเราก่อน คำคนนะมันกินไม่ได้หรอก
“ศักดิ์ศรี” กับตัวเลขขาดทุนกว่า 300 ล้าน ก็มากพอที่จะทำให้เจ๊ติ๋มประกาศถอนยวงออกมา
แต่สำหรับส่วนที่เจ๊ติ๋มประกาศกร้าวว่าจะไปยอมจ่ายเงินค่าสัมปทาน โดนโบ้ยความผิดไปที่การดำเนินการที่ล้มเหลวของ กสทช. นั้น มันออกจะเกินไปหน่อยมั้ย ? คือมองแต่ความบกพร่องของคนอื่น แต่ไม่มองความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งที่เรตติ้งไม่กระเตื้อง โฆษณาไม่เข้า ก็อาจจะเพราะคอนเทนต์ไม่ดีพอหรือเปล่า ? ถ้าจะโยนบาปให้ความผิดพลาดของ กสทช. ทำให้ช่องตัวเองขาดทุน ทำไมช่องอื่นซึ่งก็อยู่ภายใต้การดำเนินการของ กสทช. เหมือนกัน ถึงได้มีกำไร หรือแม้แต่ช่องเล็กช่องน้อย ซึ่งก็อาจจะไม่ได้กำรี้กำไรมากนัก แต่ก็ยินยอมที่จะจ่ายเงินตามกติกา มีแต่เจ๊ติ๋มเองที่ดื้อแพ่ง
และพฤติกรามดังกล่าวของเจ๊ติ๋ม ก็ถูกถล่มจนยับเยินด้วยการแสดงความคิดเห็นผ่านกระทู้ในเว็บไซต์ www.pantip.com ในหัวข้อ
“เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ !!! หนังสือขอเลิกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลของเจ๊ติ๋ม”
โดยเฉพาะความคิดเห็นที่ 11 ที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งตัวเจ๊ติ๋ม และเนื้อหารายการในช่องได้อย่างถึงพริกถึงขิง
“เอิ่ม.... ป้าติ๋มจะขอหย่ากับ กสทช. แล้ว กสทช. ยอมหย่าให้ป่าวล่ะ?
ทำไมช่องป้าติ๋มมีปัญหาอยู่เจ้าเดียว ช่องอื่นๆ ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน ทำไมเขายังพยายามเดินกันไปต่อได้...
ทำไมป้าไม่มองถึงความผิดพลาดของตัวเองบ้าง แต่กลับไปโยนบาปให้ กสทช.เพียงฝ่ายเดียว ต่อให้ กสทช. ขยายโครงข่ายและแจก set top box ได้ทันตามกำหนดก็เหอะ ชาวบ้านเขาก็ไม่ดูช่องของป้าอยู่แล้ว
ป้าน่าจะรู้นะว่าเพราะอะไร ...
ป้าไม่รู้หรือว่า การลงทุนทำธุรกิจมันมีความเสี่ยง ป้าคิดผิดตั้งแต่แรกแล้วเพราะป้าหลงตัวเองว่า "เอาอยู่"
ป้าไม่มีวิสัยทัศน์อย่างนักบริหารแต่ป้าคิดแบบแม่ค้าไง มันเลยพัง
ไม่ได้จะมาทับถมอะไรหรอก แต่อยากจะบอกอะไรบางอย่าง เพราะดูทรงมาตั้งแต่แรกก็รู้แล้วว่า "ไม่น่ารอด"
บทเรียนราคาแพงนี้คงทำให้ป้าประเมินตัวเองได้ถูกซะที
1. ป้าบอกว่ารวย มีเงินเยอะและประสบความสำเร็จกับการขายนิตยสารดาราและช่องดาวเทียมมาแล้ว
เลยทำให้ป้าคิดว่าช่องดิจิตอลก็คงง่ายและทำกำไรได้เยอะเหมือนกัน ซึ่งมันผิดถนัด เพราะช่องฟรีทีวีมันต้องประมูลสูงมาก และต้องลงทุนในการสร้าง content ที่น่าสนใจจริงๆ ให้คนกลุ่มใหญ่กว่าดูถึงจะรอด ซึ่งต่างจากช่องดาวเทียมที่เสียแค่ค่าเช่าสัญญาณเดือนละไม่กี่แสน และเจาะคนดูเฉพาะกลุ่มก็อยู่ได้
2. ป้าประมูลช่องเด็กกับช่องข่าว แต่ป้าดันออกตัวว่าจะเป็นช่องละครอันดับต้นๆให้ได้ เหมือนป้าจะยังไม่เข้าใจเรื่องสัดส่วนภาคข่าวกับภาคบันเทิงว่าต้องมีเปอร์เซ็นต์เท่าไร แถมข่าวบันเทิงที่ป้าถนัดและมั่นใจว่าจะเป็นจุดขายหลักของช่อง ป้าก็ยังมิวายเข้าใจผิดอีกว่ามันเป็นประเภทข่าว จึงจัดเต็มแบบยาวๆ ได้โดยให้ทั้งแจ็คกาลีนและเต๋า ทีวีพัง เอ๊ย ทีวีพูล มาจัดรายการเรียกเร็ตติ้ง
แต่ กสทช. แจ้งว่ารายการข่าวบันเทิงเป็นภาคบันเทิง ไม่ใช่ประเภทข่าว แป่ว !! ป้าจึงต้องปรับผังรายการใหม่ ปรับลดเวลากันแทบไม่ทัน
3. การตั้งชื่อช่อง และการใช้โลโก้ก็แสนเชย และไม่มีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ โดยเฉพาะช่องไทยทีวี เพราะมันไปคล้ายของชาวบ้านเขา
แนวคิดในการทำโลโก้ก็พิสดาร ช่องอื่นเขาลงทุนจ้างนักออกแบบ creative หรือนักการตลาดเป็นคนออกแบบ ของเขาถึงดูดีและจำง่าย แต่ป้าดันให้ซินแสออกแบบ รูปทรงจึงออกมาอย่างที่เห็น
4. ช่องอื่นๆ เขาสู้กันด้วย content ที่ดึงดูด แปลกใหม่ หลากหลาย และเน้นคุณภาพ แล้วช่องของป้ามีอะไรบ้าง? รายการข่าวก็ธรรมดาๆ ป้าบอกจะทำละครเพื่อแข่งขันกับช่องหลักให้ได้ แต่ละครของป้าแต่ละเรื่องดูเหมือนไม่ลงทุนเลย ทั้งดารานักแสดงก็ไม่ดึงดูด ทั้งตกรุ่นบ้าง ทั้งเด็กใหม่ที่ไม่มีชื่อชั้น บางคนรูปลักษณ์ก็ไม่เหมาะกับการแสดงด้วยซ้ำ โปรดักชั่นก็บ้านๆ เรื่องก็ไม่น่าสนใจ ใครเขาอยากดู
5. ป้าจะ up level ธุรกิจทีวี ป้าต้องประเมินศักยภาพตัวเองและทีมงานว่าทำได้หรือไม่ ป้ามีบุคลากรที่เจ๋งพอจะขับเคลื่อนช่องใหม่ได้แค่ไหน ถ้าไม่ถนัดก็ต้องลงทุนจ้างมืออาชีพมาบริหาร มาทำรายการ ลูกน้องป้าส่วนใหญ่ถนัดแนวนั่งเม้าท์ข่าวดารา คงไม่ถนัดทำข่าวแบบสาระแน่ๆ
6. ป้าไม่ควรออกตัวแรง คุยโม้ อวดเก่งและอวดรวยตั้งแต่แรก เพราะถ้ามันพลาด ตัวเองจะเสียหายเปล่าๆ
.......แต่ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้ป้าติ๋มสู้ต่อไปนะ กลับไปทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและพอดีตัวนั่นแหละดีที่สุด ถ้าว่างๆ จะตามไปดูช่องดาวเทียมของป้าละกัน......”
อย่างไรต่อถาม ต่อกรณีดังกล่าว ทางทีมงานของทีวีพูล ได้มีการร่อนจดหมายเชิญสื่อมวลชนว่าทางเจ๊ติ๋มจะมีการเปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และรายละเอียดทั้งหมดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา งานนี้ทัพสื่อมวลชนจึงไม่พลาดที่จะไปเกาะติดสถานการณ์เพื่อนำข้อมูลกลับมารายงาน แต่พอถึงเวลา กลับต้องหงายเงิบไปตามๆ กัน เมื่อไม่เห็นแม้แต่เงาของเจ๊ติ๋มตามที่ นัดหมายว่าจะเป็นผู้ตอบข้อซักถามในเรื่องนี้ มีเพียง “ภิญโญ รู้ธรรม" ผู้อำนวยการช่องไทยทีวี , “โดม เจริญยศ” เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ “สุชาติ ชมกุล” ทีมที่ปรึกษาทนายความ ร่วมชี้แจงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยยืนยันว่าจะยุติการออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลทั้งช่อง 15 และ 17 และไม่จ่ายเงินค่าใบอนุญาตประกอบกิจการที่ค้างอยู่ พร้อมทั้งยืนยันว่า กสทช.ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทปี 2555 ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ยังผลให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก
โดยภิญโญกล่าวว่า
“ท่านก็ยังดูไทยทีวีอยู่ ณ ตอนนี้ผ่านกล่องผ่านจานผ่านสื่อต่างๆ ที่ท่านดูอยู่ปกติ ไทยทีวียังทำงานเต็ม 100% เหมือนเดิมทุกอย่าง สถานีไทยทีวียังอยู่ครับ เราไม่ได้เลย์ออฟพนักงาน ทุกคนเหมือนเดิม เราจะออกอากาศแบบนี้ไปเป็นปกติแต่ว่าในแพลตฟอร์มที่ท่านชมอยู่ ยกเว้นดิจิตอลทีวี หมายถึงกล่อง จานดำจานแดง มือถือ เว็บไซด์ แอพพิเคชั่นต่างๆ ท่านยังรับชมได้ปกติครับ
ถามว่าเจ๊งไหมเพราะตัวเลขขาดทุน 300 ล้าน ก่อนเข้าไปประมูลได้ศึกษาแล้ว ด้วยความหวังเหมือนที่นักธุรกิจต้องการก็คือกำไร ต้องบอกว่ามีความเจ๊งอยู่แต่ไม่ได้เจ๊งเลยนะ หนึ่งปีที่ผ่านมาพี่ติ๋มเป็นคนพูดตรงๆ ขาดทุนก็บอกขาดทุน แต่ไม่ถึงหมดตูดนะ ต้องบอกว่าผู้ประมูลทั้ง 17 เจ้าที่ประมูลได้ ต้องมีธนาคารที่จะการันตีเพื่อบอกว่าเมื่อคุณเบี้ยวธนาคารจะจ่ายให้ 1,750 ล้านอยู่ในธนาคาร พี่ติ๋มมีสินทรัพย์ที่อยู่ตรงนั้นพร้อมที่จะจ่าย ไม่ได้เจ๊งไม่เป็นท่า แต่เรากำลังจะเดินหน้าต่อไป เราพิจารณาแล้วว่ามันไม่ควรจะพุ่งตรงไปทางนี้ เรามีสติเราก็หยุด ก็หันไปหาทางใหม่เท่านั้นเอง”
ทั้งนี้ทางทนายสุชาติได้กล่าวเพิ่มเติม ว่า
“วันนี้ไปคุยกับทางกสทช. ก็มีหนังสือมานัดคุยกันเกี่ยวกับความไม่เข้าใจต่างๆ หรือว่าถ้าจะเลิกต้องทำยังไง
เป็นการทำความเข้าใจกันระหว่างเรากับ กสทช. เรื่องถอนสัญญาได้หรือไม่ได้ มันอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราบอกเลิกได้เลย ในทำนองเดียวกัน กสทช. ก็ไม่ได้มาบังคับหรือถอดถอนได้เลย เพราะตรงนี้ต่างฝ่ายต่างมีข้ออ้างอยู่เกี่ยวกับเรื่อง กสทช. ที่เคยให้คำมั่นไว้ตั้งแต่ก่อนการประมูล ว่าดูทีวีดิจิตอลดีอย่างไร บรรยายสรรพคุณดีอย่างโน้นอย่างนี้ ต่อมามีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล โดยหวังว่าจะดีอย่างที่ กสทช. บรรยายไว้ เรื่องระยะเวลาที่ผ่านมาเราประมูลตั้งแต่ปี 56 แต่แผนแม่แบบที่ กสทช. ต้องทำตั้งแต่ปี 55 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังได้ไม่ถึง 20% เพราะฉะนั้นช่องต่างๆ ที่เราเห็นว่าไปชำระ ทุกคนก็จะบอกว่าวันนี้เราชำระนะ แต่เราก็ต้องสงวนสิทธิที่จะต้องฟ้องร้องกับ กสทช. เรื่องความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดจากการบริหารงาน
จากการที่ได้คุยกับทางกสทช.ยังไม่มีข้อตกลงหรือข้อเสนอใดๆ เพียงแต่ว่าวันนี้เราไปนัดพูดคุยกันเกี่ยวกับการปฏิบัติข้อสัญญาเป็นยังไง ซึ่งเราก็รับฟัง เเต่ถามว่าวันนี้ได้อะไรบ้าง ก็ได้แค่เจรจาพูดคุยกันเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่มีแจ้งมาจาก กสทช. ว่าจะมีการนัดอะไรพูดคุยกันอีกไหม ส่วนถ้าพูดถึงเงินแบงค์การันตี 1,700 ล้านนะครับ ถ้าเราดูตามเงื่อนไขที่ทำไว้กับ กสทช. ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรที่ กสทช. จะมายึดได้ ตรงนี้เลยเป็นข้อกฎหมายที่เราต้องมาดูกันว่าใครเป็นคนผิดสัญญา ก็ต้องมานั่งดูก่อนว่า กสทช. ทำอะไรไปบ้างปฏิบัติตามแผนหรือยัง”
ก่อนที่ทางภิญโญจะกล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. ทำงานบกพร่อง เพราะฉะนั้นอย่าถามหามาตรการเยียวยา
“มาตรการเยียวยา ผมก็ต้องย้อนถามกลับไปว่าตอนนี้ประชาชนได้รับชมดิจิตอลมากแค่ไหน ในเมื่อยังไม่ได้สำรวจเลยว่าประชาชนได้รับชมหรือไม่ จะเยียวยายังไง ต้องย้อนถามไปว่า กสทช. จะเยียวยาให้ประชาชนยังไง ซึ่งก่อนจะประมูลทุกคนก็ศึกษาข้อมูลไว้ แต่นั่นมันหมายถึงภาวะปกติ ภาวะปกติคือ กสทช. ทำงานไม่ขาดตกบกพร่องอะไรเลย แต่นี้คือภาวะไม่ปกติคือในเมื่อคุณยังไม่ได้ทำอะไร แล้วมาบอกยึดๆๆ ประชาสัมพันธ์คุณก็ยังไม่ทำ กล่องคุณก็ยังแจกไม่ครบ ส่วนเรื่องฟ้องร้องตรงนี้คงยังไม่ตอบครับ ขอประชุมฝ่ายกฎหมายก่อนว่าขั้นตอนต่อไปเราจะดำเนินการอย่างไร หลังจากเจรจาแล้วไม่มีผลสำเร็จหรือความคืบหน้าไม่มี ฝ่ายกฎหมายต้องกลับไปดูแล้วว่าเราจะเริ่มจอดำ ไม่มีกำหนดเวลาครับ ส่วนเรื่องเพิกถอนใบอนุญาต ก็ต้องกลับไป ถาม กสทช.นะครับว่าเขาจะทำยังไง เรื่องเงื่อนไขผมไม่ตอบดีกว่า มันเป็นเรื่องระหว่างเราก็กสทช.”
ส่วนสาเหตุที่ทางเจ๊ติ๋มไม่มาร่วมตอบข้อซักถามในครั้งนี้ ได้รับการแจ้งว่าเพราะติดภารกิจในการไปร่วมงานเลี้ยง วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร)
งานนี้ก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่า ทิศทางการทำงานของไทยทีวี ภายใต้แกนนำของแม่ทัพหญิงอย่าง “เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย์” จะก้าวย่างไปทางไหน ? หลังจากถอดใจไม่สู้ต่อในสมรภูมิทีวีดิจิตอล !!!
ที่มา นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 291 30 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2558