xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิดจากจิ๊มิ กับท่วงทำนองของสิทธิตรี : Pitch Perfect 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ต้องออกตัวตั้งแต่ต้นถึงเหตุผลที่มาของชื่อบทความซึ่งมีถ้อยคำอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องใต้สะดือ เพราะถ้าพูดกันตามเนื้อผ้า จะพบว่า “อวัยวะใต้ร่มผ้า” นี้นี่แหละที่นับเป็นต้นทางแรกๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราว กระนั้นก็ดี ในรูปลักษณ์เท่าที่มองเห็น Pitch Perfect เป็นหนังตลกที่ทำได้ดีเกินมาตรฐานในหนังกลุ่มเดียวกันอันว่าด้วยการเดินตามฝันของกลุ่มเด็กวัยรุ่นมหา’ลัยที่ต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านความสามารถอย่างการการร้องรำทำเพลง หนังเรื่องนี้ในภาคที่หนึ่งได้รับกระแสชื่นชมอย่างท่วมท้นจนกระทั่งมีภาคสองตามออกมาในช่วงระยะเวลาเพียงสองสามปี และจากที่ผมได้ดูภาคสองมาแล้ว ก็เกิดความมั่นใจไม่น้อยว่างานชิ้นนี้จะต้องได้เดินทางต่อไปอีกแน่นอน อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากความบันเทิงในการรับชม สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำออกมาได้น่าสนใจ คือการเล่นกับรายละเอียดที่หากมองผ่านๆ มันก็จะเป็นเพียงสายลมที่ผ่านเลย แต่ถ้าลองมานั่งวิเคราะห์ อาจจะคิดไปถึงขั้นที่ว่า นี่มันเป็นความคิดของผู้กำกับหรือคนเขียนบทที่จงใจวางสิ่งเหล่านี้ไว้ใน “ระหว่างบรรทัด” หรือเปล่า

เพราะอย่างที่เราจะได้เห็นว่า หนังเรื่องนี้เดินเรื่องด้วยตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงชุดหนึ่ง นั่นคือกลุ่มนักศึกษาหญิงที่กำลังจะจบมหาวิทยาลัย พวกเธอคือสมาชิกแห่ง “บาร์เดนส์ เบลล่า” วงอะแค็พเพล่าระดับแชมป์สามสมัย แต่เปิดเรื่องมา พวกเธอก็ทำในสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า “น่าละอายขายหน้า” จากโชว์การแสดงที่พังกลางเวที เมื่อเกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ที่ไม่เพียงจะทำให้การแสดงดำเนินต่อไปไม่ได้แล้ว คนหนึ่งในทีม (ซึ่งก็คือเจ้าของฉายา “Fat Girl” หรือ “สาวอ้วน”) พลาดหนักกว่าใครเพื่อน เมื่อกางเกงที่รัดติ้วของเธอดันฉีกขาด และเปิดเผยจุดซ่อนเร้นต่อหน้าธารกำนัลและคนดูผู้ชมที่มีกระทั่งประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า และภรรยา ร่วมชมด้วย จุดโฟกัสแห่งความผิดพลาดจึงผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนไปจากที่ควรมองว่ามันเกิดมาจากสาเหตุอะไร (เช่น ความไม่พร้อมในการเตรียมงาน เป็นต้น) กลับกลายเป็นว่าทุกคน ตั้งแต่ประชาชนคนทั่วไป ไปจนกระทั่งถึงสื่อมวลชน กลับพากันวิเคราะห์เรื่องราวนี้อย่างเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับน้อง “จิ๊มิ” ของแฟตเกิร์ล และแง่มุมหนึ่งในบรรดาแง่มุมซึ่งวิจารณ์กันไปต่างๆ นานานั้น บางคนบอกว่า “น่าละอายจัง ทำไมไม่ใส่กางเกงใน” ด้วยเหตุนี้แล้ว การใส่หรือไม่ใส่อาภรณ์ห่อ...ขอโทษ..จิ๋ม จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา คำถามก็คือว่า ถ้าเธอใส่กางเกงใน มันอาจจะไม่เลวร้ายเพียงนี้ ทั้งที่จริงๆ การใส่หรือไม่ใส่ มันก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักแห่งความพังพินาศของการโชว์ครั้งนี้แต่อย่างใด

คือความสนุกในการดูหนังฝรั่ง โดยเฉพาะพวกสายหนังคอมิดี้ นี่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะได้เห็นการนำเสนอมายาคติบางอย่างที่ผ่านการพูดถึงแบบไม่เข้มข้นจริงจัง เพราะบางทีตัวละครก็เหมือนเผลอหลุดพูดหรือกระทำออกมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เรื่องการเหยียดสีผิวเอย การเหยียดเชื้อชาติเอย ไล่เลยไปจนกระทั่งการเหยียดเพศ มีอยู่ให้เห็นประจำ แม้จะนำเสนอด้วยท่าทีที่ดูแล้วขำๆ แต่มันก็ทำให้เราได้คิดว่าบางที พวกฝรั่งหรืออย่างอเมริกา (ขอย้ำว่า เจตนาของหนังไม่ได้จงใจจะเหยียดเรื่องพวกนั้น แต่เป็นการเสียดสีพวก “ช่างเหยียด” อีกทีหนึ่ง) แม้จะเรียกตัวเองว่าประเทศผู้เจริญหรือศิวิไลซ์แล้ว ก็ยังมีความคิดล้าหลังแฝงฝังอยู่ในสังคมไม่น้อย อย่างเช่นเรื่องกางเกงในตัวจิ๋วของสาวร่างอวบที่เป็นประเด็นซึ่งคนพูดถึงไม่รู้จบรู้สิ้น มันจึงดูเป็นเรื่องตลกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเห็นว่าคนที่มักบอกตัวเองและชาวโลกว่าตนเองเจริญแล้ว ได้แสดงความดัดจริตออกมา โดยหารู้ไม่ว่า การใส่กางเกงใน แท้จริงก็เพิ่งจะเกิดมีราวๆ ร้อยปีมานี่เอง (เฉพาะกางเกงในที่เราเรียกกันว่า “ชุดชั้นใน” อย่างที่เรียกว่า Lingerie หรือ Underwear ที่พัฒนามาอย่างที่เราเห็นเช่นทุกวันนี้) นั่นหมายถึงว่า แต่กี้แต่ก่อน การไม่ใส่กางเกงในเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาเนิ่นนาน แต่เมื่อสังคมอุตสาหกรรมผลิตกางเกงในออกมาพร้อมกับถ่ายทอดความคิดครอบงำว่าการใส่กางเกงในดีอย่างนั้นอย่างนี้ (เพราะอยากจะขายของด้วยส่วนหนึ่ง) ที่สุดก็จึงกลายเป็นความจำเป็นต่อการที่คนจะต้องสวมใส่กางเกงใน และไม่ใช่เพียงแค่นั้น ในหลายสังคม กางเกงในยังถูกนำไปผูกติดกับความเป็นผู้ดีมีศีลธรรมไปโน่นเลย ใครไม่ใส่กางเกงในและเผลอทำพลาดโชว์น้องจิ๊มิให้คนอื่นเห็น ก็จะกลายเป็นประเด็นให้คนพูดถึงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป เช่นเดียวกับ “สาวอ้วน” ในหนังเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมและเชื่อว่าคนอื่นๆ คงรู้สึกชอบเหมือนๆ กันก็คือ ถึงแม้ว่าเธอจะตกเป็นขี้ปากของชาวบ้านร้านช่องอันมีสาเหตุมาจากน้องจิ๊มิ แต่แฟตเกิร์ลก็ไม่ได้เก็บมาใส่ใจแม้แต่น้อย ก็ปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถึงยังไงมันก็เป็นแค่อุบัติเหตุ แต่ไอ้สังคมปากว่าตาขยิบนั่นต่างหากที่ควรถูกตั้งคำถาม เพราะอย่าลืมว่า ท้ายๆ เรื่อง ยังมีวกเรื่องจิ๊มิของเธอกลับมาอีกรอบ และใครคนหนึ่งนั้น ถึงกับเก็บภาพน้องจิ๊มิหลุดของสาวอ้วนไว้และนำไปเป็นภาพหน้าจอเดสก์ท็อปอีกต่างหาก!

จากการหลุดของน้องจิ๊มิ ไปจนถึงอาภรณ์ห่อหุ้มน้องสาว ที่หนังขับเน้นถึงกับให้เป็นหนึ่งในสาเหตุร่วมแห่งปฐมบทของเรื่องราว นั่นยังไม่นับรวมความจริงว่าหนังเรื่องนี้เดินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลัก จึงยากปฏิเสธได้ว่านี่ไม่ใช่หนังที่พิงหลังอยู่กับเรื่องหญิงๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นการจะมาพูดจาเพื่อเอาใจสตรี หากแต่ผมรู้สึกว่าท่าทีโดยรวมของหนังนั้น เป็นการพูดถึงผู้หญิงในแง่มุมที่ให้เกียรติและพัฒนาตัวละครผู้หญิงไปในทิศทางที่ดี และประเด็นนี้อย่าหาว่าเป็นการวิเคราะห์แบบจับแพะชนแกะนะครับ เพราะถ้าดูหนัง เราจะได้ยินถ้อยคำและได้เห็นพฤติกรรมที่สังคมกระทำต่อผู้หญิงอยู่เรื่อยๆ อย่างมีนัยยะ ครั้งหนึ่ง คุณผู้ชายนักพากย์ของเราพูดว่า “นี่แหละคือโทษของการให้ผู้หญิงเรียนสูงๆ” หรือแม้แต่ตอนที่เบคก้ากับสาวน้อยร่วมทีมโปรดิวซ์เพลงออกมาและเอาไปให้โปรดิวเซอร์มืออาชีพฟัง โปรดิวซ์คนนั้นเป็นผู้ชายและเขาพูดกับเธอว่าเขาเกลียดเธอ เขาเกลียดคนที่ทำงานได้ดี เพราะมันจะเท่ากับเป็นการมาแย่งงานของเขาทำ และที่สำคัญ คนคนนั้นกลับเป็นผู้หญิงเช่น “เธอ” ด้วย การเน้นย้ำแบบนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกกลัวว่าจะมีคนมาแย่งอาชีพทำ หากแต่หมายถึงความหวาดระแวงในการ “โดนแย่งพื้นที่” ของผู้ชายไปด้วยอย่างแยบยล

ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งดูเหมือนไม่มีความหมายอะไร นั่นคือตอนที่เบ็คก้า (แอนนา เคนดริก) กลับมาเจอเพื่อนๆ เล่นเอาหมอนฟาดกัน (ภาพตอนนี้ถูกทำให้ดูฟรุ้งฟริ้งมาก) แล้วเบ็คก้าพูดกับเพื่อนๆ ว่า พวกเธอรู้ไหม การทำแบบนี้ทำให้ผู้หญิงดูย้อนหลังไปถึง 30 ปี! อะไรที่ทำให้เบ็คก้าพูดเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับที่จะขยับตัวละครของตนเองให้ก้าวเดินไปข้างหน้า กรณีหนึ่งซึ่งเห็นเด่นชัดที่สุดและจำต้องพูดถึงเป็นลำดับแรกก็คือ “แฟตเกิร์ล” ของเรา (เรเบล วิลสัน) ซึ่งนับเป็นดาวเด่นคนหนึ่งของกลุ่ม ผมจะยกตัวอย่างฉากที่สุดแสนจะดีงามของหนังเรื่องนี้สักฉาก นั่นคือตอนที่แฟตเกิร์ลถูกไอ้หนุ่มหน้ามนคนหนึ่งนัดหมายให้ไปเจอในซุ้มอาหารติดกับแม่น้ำซึ่งประดับประดาด้วยไฟดวงน้อยดูวอมแวมชวนให้รู้สึกวาบหวามหวั่นไหวในนามของความโรแมนซ์ และเขาคนนั้นก็ขอที่จะเป็นแฟนของเธอ แต่มันไม่ได้ง่ายดายอย่างนั้นหรอกนะ! เพราะสำหรับแฟตเกิร์ลของเรา แม้ลึกๆ จะมีความรู้สึกดีๆ ต่อหนุ่มน้อยคนนั้น แต่เมื่อยังไม่แน่ชัดในตนเองเพียงพอ ก็ชะลอไว้ก่อนดีกว่า และสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกฮามากขึ้นไปกว่าเดิมก็คือว่า สุดท้ายแล้ว จากสถานะที่ดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นผู้ “ถูกกระทำ” (คือเป็นฝ่ายต้องคอยยอมรับสิ่งที่ผู้ชายนำเสนอ) เธอม้วนตัวกลับมาเป็นฝ่าย “กระทำ” ได้อย่างงดงามในตอนท้ายๆ เรื่อง เมื่อแน่ชัดในเสียงแห่งความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างแท้จริงแล้ว

“การฟังเสียงของตัวเอง” ของผู้หญิง แบบนี้ สอดรับกับภาพรวมของผู้หญิงในหนังทั้งเรื่องเป็นอย่างดี เมื่อตอนต้นๆ เรื่อง เราจะพบว่า วงบาร์เดน เบลล่าส์ นั้นได้เจอวง DSM ซึ่งนับเป็นวงคู่แข่งที่สำคัญมาก ทางเลือกแรกๆ ที่บาร์เดน เบลลาส์ นึกออกก็คือ หาเพลงอะไรสักเพลงแบบเดียวกับที่วงดีเอสเอ็มใช้ในการแสดงโชว์ เหมือนกับว่าเป็นการเอาสิ่งที่คู่แข่งถนัดนั่นแหละไปย้อนฟัดกับคู่แข่ง แต่สุดท้าย ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเธอกำลังกระทำอยู่ กลับเป็นการทำร้ายตัวเองเสียมากกว่าและหนีออกไปจากตัวเองมากกว่า เพราะเหตุว่า มันไม่มีทางที่พวกเธอจะเอา “เสียง” ของคนอื่นไปสู้กับเสียงของคนอื่นซึ่งเป็นความถนัดของเขาอยู่แล้วได้ ในทำนองเดียวกันนี้ ทำให้นึกถึงเบ็คก้าสาวสวยที่ไปฝึกงานในบริษัททำเพลงแห่งหนึ่ง ซึ่งบรรยากาศของที่ทำงานแห่งนั้นก็เหมือนโลกใบหนึ่งซึ่งล้อมรอบไปด้วยผู้ชาย แล้วหัวหน้าก็คือผู้ชาย แม้เธอจะแสดงความเก่งกาจให้หัวหน้าได้เห็นด้วยการเพิ่มมิติทางเสียงลงไปในเพลงคริสต์มาส แต่โดยผลงานส่วนตัวแล้ว เธอกลับถูกมองจากหัวหน้าผู้ชายว่าทำได้ไม่ดีพอ และโดนคำพูดของหัวหน้าผู้ชายคนนั้นเหยียบย่ำให้ช้ำจิตอีกต่างหาก จนกระทั่งว่าเธอได้ร่วมกันกับน้องผู้หญิงสมาชิกหน้าใหม่ในวงบาร์เดน ความโดดเด่นจึงค่อยโดดเด้งออกมา นั่นเป็นเสมือนสัญญาณว่า เธอได้หลุดพ้นไปแล้วจากโลกที่ล้อมรอบและล้อมกรอบด้วยผู้ชาย และแสดงศักยภาพของตัวเองออกมา

“เสียงของตัวเอง” “เสียงของผู้หญิง” ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งในเพลงส่งท้ายที่บาร์เดน เบลลาส์ ใช้ในการแสดงโชว์ คือเพลง Run the World (Girls) ซึ่งต้นฉบับนั้นขับร้องโดยป๊อปสตาร์ชื่อดัง “บียอนเซ่” เนื้อหาของเพลงนั้นสื่อสารอย่างชัดเจนให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นตัวของตัวเอง มีความแข็งแกร่งในตนเอง นั่นยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า ป๊อปสตาร์อย่างบียอนเซ่ก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับสัญลักษณ์แห่งเจ้าแม่เฟมินิสต์ (สิทธิสตรี) คนหนึ่ง ถ้ายังจำกันได้ ในบทเพลง Flawless บียอนเซ่ได้นำเอาถ้อยคำของ “ชิมาแมนด้า นโกซี อดิชิ” ผู้เป็นทั้งนักเขียนนิยายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวไนจีเรีย มาแทรกไว้ในเนื้อเพลงแบบยาวเหยียด และด้วยเหตุดังนี้ การที่ Pitch Perfect 2 หยิบยกเอาบทเพลงนี้มาคัฟเวอร์ประกอบ จึงเท่ากับเป็นการส่งเสียงบอกเป็นนัยๆ ถึงการให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงและความหมายของผู้หญิงในนิยามแห่งนามเฟมินิสต์ไปด้วยในตัว

ฉากที่ดีมากๆ ฉากหนึ่งในหนัง คือตอนที่สมาชิกสาวๆ แห่งวงบาร์เดน เบลลาส์ นั่งล้อมวงคุยกันแล้วเปล่งเสียงร้องต่อเนื่องกันออกมา นั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความสามัคคี แต่นี่คือการค้นพบ “เสียงของตัวเอง” อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ พวกเธอไต่ถามกันว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไรต่อ ทุกคนก็พูดเล่าความฝันของตัวเองได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม มีความหมายเท่ากับการตอกย้ำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความรู้สึกหรือปรารถนาที่แท้จริงของตนเองของผู้หญิง การฟัง “เสียงของตัวเอง” ของผู้หญิง แบบไม่มีอะไรให้ต้องกลัวหรือเป็นกังวล...

แต่ฟังเสียงของผู้หญิงแล้ว ก็อยากจะให้ลองฟังเสียงของผู้ชายบางคนดูบ้าง
“สนุกมากๆ ครับ หนังเรื่องนี้” ผู้ชายคนนั้น ว่า...



ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น