xs
xsm
sm
md
lg

เชียร์ให้ดู “อัลเทอร์มาจีบ” หนังไทยดี๊ดี จ๊าบฝุดๆ เลยครัช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“2538 อัลเทอร์มาจีบ” คือหนังไทยฟีลกู๊ดที่ทำได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง ผลงานจากค่ายโมโนกรุ๊ปเรื่องนี้ให้อารมณ์ครบรสในความบันเทิง ตลก เศร้า ซึ้ง ไปจนถึงความรู้สึกดีๆ ที่ดีทั้งตัวละครในเรื่อง และดีต่อคนดูผู้ชม...

เปิดบทความมาแบบนี้ หลายคนคงจะคิดว่า ผมพูดเว่อร์ไปหรือเปล่า ซึ่งไม่ผิดหรอกครับที่จะคิดสงสัยเช่นนั้น อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวผม ก็ดูหนังไทยมาไม่น้อย และอย่างที่บางท่านคงจะรู้ว่า ในพื้นที่บทความของผมนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมเขียนถึงหนังไทยฉายโรงบ่อยมาก และด้วยประสบการณ์อันโชกโชนปนโชกเลือดนั้น (^^) ผมก็กล้ารับประกันได้ว่า อัลเทอร์มาจีบ แตกต่างไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ ซึ่งยืนอยู่ในฝั่ง “ดูไปทรมานไป” และ “ออกจากโรงหนังด้วยความเสียดายเงิน”

นี่คือผลงานของผู้กำกับหน้าใหม่ในโลกของหนังใหญ่ แต่ไม่ใหม่ในงานด้านงานโฆษณาและมิวสิกวิดีโอ “ยรรยง คุรุอังกูร” ซึ่งถือว่าเป็นงานแจ้งเกิดได้อย่างเต็มภาคภูมิ ผมพยายามเสาะหารายนามผู้เขียนบท แต่หาไม่เจอ กระนั้นก็ดี ก็ขอเอ่ยชมไว้ ณ ตรงนี้เลยว่า นี่คือหนึ่งในบทหนังดีๆ ที่สามารถหาได้แทบไม่ถึง 19.5 ในร้อยเปอร์เซ็นต์ของหนังไทยที่ทำๆ กันมา มันสามารถผสมผสานเอาอารมณ์อันหลากหลายหลอมรวมกันไว้ในเรื่องเดียวได้กลมกล่อมลงตัวชนิดที่พูดได้ว่า เกือบจะสมบูรณ์ ความลื่นไหลต่อเนื่องของเรื่องราว ทำให้หนังก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย และเป็นความเพลิดเพลินเจริญใจในการติดตามเนื้อเรื่อง

แน่นอนว่า จุดเด่นประการหนึ่งของหนังที่เราจะได้เห็นตั้งแต่ชื่อหนัง โปสเตอร์ ตลอดจนภาพยนตร์ตัวอย่าง ก็คือเรื่องของไอเดีย “2538 อัลเทอร์มาจีบ” ออกสตาร์ทที่ปี 2558 ก่อนจะพาคนดูกระโดดกลับไปยังปี 2538 ยุคสมัยที่บทเพลงอัลเทอร์เทนทีฟกำลังรุ่งเรืองสุดๆ ในด้านหนึ่ง หนังจึงทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากไทม์แมทชีนที่พาคนดูย้อนเวลาไปสู่วันวาน มองปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งเคยเป็นที่นิยมในช่วงปีนั้นหรือยุคนั้น พูดได้ว่า ถ้าหนังอย่าง “แฟนฉัน” พาคนดูย้อนวันวานผ่านอะไรต่างๆ อย่างบทเพลงรักคือฝันไปหรือกระทั่งร้านตัดผมบาร์เบอร์ ฯลฯ อัลเทอร์มาจีบ ก็เก็บรายละเอียดในยุคที่เรียกว่า “อินดี้เบ่งบาน” มาได้แทบจะครบทุกหมวด

ใครที่โตทันยุคนั้น ผมกล้ารับประกันครับว่า “อัลเทอร์ฯ” จะพาคุณเข้าไปอยู่ในชั้นบรรยากาศที่อบอวลด้วยกลิ่นอายความหลัง ทั้ง “แพ็คลิงก์” (เพจเจอร์), “รูปถ่ายสติ๊กเกอร์”, “กล้องฟิล์มป๊อกแป๊ก, “ทามาก็อตจิ”, คำพูดอย่าง “จ๊าบ” ซึ่งหมายถึงเจ๋งหรือสุดยอดอะไรแบบนั้น, “เทปคาสเส็ทท์” ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของบทเพลงประกอบที่หนังหยิบมาใช้ ก็เอาใจคนอัลเทอร์ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็น พราว, อรอรีย์, สไมล์บัฟฟาโล่, โมเดิร์นด็อก, เดอะ มัสต์, สี่เต่าเธอ ฯ

“ความหลังเหล่านี้” อบอวลอยู่ในชั้นบรรยากาศ ทั้งแบบที่มองเห็นและเพียงแค่ได้ยิน เรียกว่าเก็บได้ดีมาก ในแง่นี้ ผมชอบมากอยู่ฉากหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นไอเดียของหนัง คือตอนที่ครอบครัวของนางเอกดูทีวีอยู่ในบ้าน หนังไม่ถ่ายให้เราเห็นจอทีวี แต่เสียงที่ล่องลอยมาเป็นแบ๊กกราวน์ คือ ละครหลังข่าว “มนต์รักลูกทุ่ง” เสียงพี่คล้าว (ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) และ “ทองกวาว” (น้ำผึ้ง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) คุยกันอยู่เบาๆ เคล้าเสียงขับร้องเพลงมนต์รักฯ โดยคุณยอดรัก สลักใจ เอาเป็นว่าใครทันละครเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นนั้น จะรู้ว่าเป็นละครที่ฮิตมาก พอๆ กับ “เรยา” ในยุคหลัง ค่ำลงสองสามทุ่ม เดินผ่านบ้านไหนในวันที่มนต์รักฯ ออนแอร์ เป็นต้องได้เห็นคนดูละครเรื่องนี้...ที่เล่านี้ ผมเพียงแต่จะบอกว่า มันเป็น “ชั้นเชิง” ในการนำเสนอของหนังนะครับว่าเขาสามารถถ่ายทอดบรรยากาศแห่งยุคสมัยออกมาได้อย่างไรโดยไม่จำเป็นต้องให้เห็นภาพ

ผมไม่แน่ชัดว่าไอเดียในการนำยุคสมัยสองยุคโคจรมาพบกันในเรื่องเดียวของหนัง มีจุดประสงค์อย่างไรกันแน่ แต่มีบางแง่มุมที่หนังพยายามจับเปรียบเทียบเคียงแบบไม่สรุปว่ายุคไหนดีกว่ายุคไหน เรื่องที่เห็นชัดๆ ก็คือการที่ดาราเด่นของเรื่อง (ใบเฟิร์น) ชอบที่จะไปหาใครสักคนเพื่อบอกอะไรสักอย่าง ในความคิดของคนยุคนี้ อาจจะมองว่าเรื่องเท่านั้น ต้องเดินทางทำไมให้เสียเวลา โทรศัพท์มาบอกก็ได้ ซึ่งคำอธิบายของใบเฟิร์นก็เข้าท่าดีตรงที่บอกว่า บอกต่อหน้า มันได้เห็นหน้าเห็นตา เห็นปฏิกิริยาของอีกฝ่าย ไม่เหมือนกับโทรคุยกัน ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกยังไงจริงๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงการให้สัญญิงสัญญาต่อกันที่มีความสำคัญต่อความรู้สึกมากๆ และเพราะการยึดมั่นให้ความสำคัญแบบนั้น เราจึงจะเข้าใจในตัวละครหญิงของเรื่องทั้งสองคน (ใบเฟิร์น กับ ชลกาญจน์) ว่าทำไมถึงเจ็บปวดเพียงนั้นกับการที่ถูกละเมิดสัญญา

อีกจุดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าหนังทำออกมาได้เนียน คือเรื่องของกูเกิ้ลกับห้องสมุด หนังไม่ได้วิพากษ์อะไรนะครับ แต่ถ้าเราติดตามความเป็นไปในยุคนี้ ก็จะเห็นความแตกต่าง สมัยก่อนนั้น จะค้นหาข้อมูลอะไร ก็ต้องนู่นเลย ห้องสมุด แต่เดี๋ยวนี้ คลิกปุ๊บ อยากรู้อะไร “อาจารย์กู” (กูเกิ้ล) บอกได้ทุกอย่าง ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง ก็อย่างที่รู้กัน

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะนึกว่า อ้าว นี่มันภาพยนตร์ของคนแก่ๆ ที่ไปรำลึกความหลังกันหรือเปล่า ส่วนหนึ่งนั้นใช่ครับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะตัวบทหรือเรื่องราวของหนัง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในยุคไหนสมัยใด ก็น่าจะทำให้เข้าใจในสิ่งที่หนังสื่อออกมาได้ บางคนอาจจะบอกว่า เพราะผมโตทันยุคนั้น แต่จริงๆ แล้ว นอกไปจากปัจจัยนั้น ผมมีความสุขกับการดูหนังเรื่องนี้ ในฐานะที่มันเป็น “หนังเรื่องหนึ่ง” ผมรู้สึกว่าคนทำคนผลิตเขามีความตั้งใจดี และมีรสนิยมที่ดี

ความตั้งใจที่ดี เราจะมองเห็นผ่านสิ่งประกอบต่างๆ ของหนัง ตั้งแต่บท การแสดง และรู้ว่าจะเล่าหรือไม่เล่าอะไรอย่างไร มีอารมณ์ขัน พอๆ กับมีความรู้สึกซึ้งๆ นั่นยังไม่ต้องพูดถึง “รสนิยม” ที่ดี ที่สื่อผ่านการจัดวางองค์ประกอบทางศิลป์ การหยิบเอา “ของเก่า” มาใช้สอบได้อย่างมีรสนิยม เหนืออื่นใด คืออารมณ์ขันและมุกตลกที่ว่ากันจริงๆ ก็คือ ดูกันได้ทั้งครอบครัว สำหรับพ่อแม่ที่เกรงว่าลูกจะได้ยินคำหยาบ อะไรพวกนั้นไม่มีครับ หนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่งดงาม และมันงามตั้งแต่มุกตลก ไปจนถึงตัวเนื้อเรื่อง

“ก้อง” คือเด็กหนุ่มที่กำลังคิดว่าพ่อของเขา ช่างเป็นคนที่ก่อปัญหาความยุ่งยากใจให้แก่ครอบครัวเสียเหลือเกิน และในขณะที่ความรู้สึกเจ็บปวดคุกคามจิตใจ ก็มีเหตุการณ์ “ไซไฟ” นำเขากระโจนข้ามจากปี 2558 ไปสู่ปี 2538 อย่างงงๆ แต่ ณ ปีนั้น ทำให้เขาได้พบกับพ่อและแม่ในวัยหนุ่ม รวมไปจนถึง “ส้ม” หญิงสาวอีกคนที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการก่อความทุกข์ใจให้แก่ก้องมาโดยตลอด ณ ปีนั้น ก้องค่อยๆ เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของพ่อแม่และส้ม และถ้าพูดตามที่หนังพยายามสื่อก็คือ การย้อนเวลานั้น มันทำให้ก้องได้เรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง อันเป็นการนำทางไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านโลกทัศน์หรือมุมมองที่เคยมีต่อคนต่างๆ

เวลา ความหลัง ความทรงจำ ไปจนถึงการได้สำรวจตรวจสอบที่มาที่ไปของกันและกันอย่างถ่องแท้ คือเงื่อนไขที่หนังใช้เพื่อชักนำคนดูไปสู่ความรู้สึกลึกซึ้งเมื่อถึงบทสรุป หนังเรื่องนี้ เอาเข้าจริง ดังนั้นแล้ว จะว่ายุคสมัยสองยุคที่หนังเอามาผูกกัน ไม่ส่งอิทธิพลอะไรต่อกัน ก็คงไม่ถูกนัก เพราะหากเราเชื่อว่า โลกปี 2558 คือโลกที่พร้อมจะวิ่งเข้าหาการสรุปเพื่อเข้าใจกันอย่างรวดเร็ว ด้วยพลังของเทคโนโลยี (มือถือ ไลน์ เฟซบุ๊ก อะไรก็ว่าไป) แต่ความเข้าใจนั้น ถูกต้องเที่ยงตรงแล้วหรือไม่ หนังจึงให้ก้องได้กลับไปในยุคสมัยที่ “ช้าๆ” เหมือนชีวิตยังพอจะมีกลิ่นอายสโลว์ลี่ ไลฟ์ อีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยๆ มองรายละเอียดต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ ซึมซับ รับรู้และเข้าใจ โดยไม่ต้องพึ่งสามจีหรือสี่จี ไม่ใช่ว่าเห็นโพสต์ปุ๊บ คอมเมนต์ปั๊บ หรือเห็นรูปปุ๊บ กดไลค์ปั๊บ แล้วก็ลืมๆ กันไป

ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ คือความงดงามสดใสของหนังเรื่องนี้ และบทนี้ก็ดูจะเหมาะกับเธอมาก เป็นสาวน้อยช่างมโนที่เหมือนหนามแหลมค่อยทิ่มแทงจิตใจของก้อง ถือว่าใบเฟิร์นทำได้ดีมากครับ เวลาน่ารักก็น่ารักได้น่ารักมาก ขณะที่เวลาเศร้าก็เศร้าได้สุดๆ (แม้จะถูกก้องเปรียบเทียบว่าเหมือน “เรยา” น่ารักแต่แรด ก็ตามที ฮา)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถพูได้ว่าบทของเธอเป็นเสมือนเสาหลักที่ผลักหนังให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะเหตุผลของการมาจากโลกอนาคตของ “ก้อง” นั้น ภารกิจสำคัญประการหนึ่งก็คือ จะต้องทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ส้มพ้นไปจากทางรักของพ่อกับแม่ของเขา ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า หนังใส่เนื้อหาไว้เยอะพอสมควรในบทของไบเฟิร์น หรือถ้าจะพูดให้ตรงๆ ไปเลยก็คือ ถ้าไม่มีใบเฟิร์นหรือส้ม หนังก็เดินต่อไปไม่ได้เลย เพราะเธอคือเงื่อนไขตัวแปรที่จะต้องถูกปรับแปลงแก้ไข

ในอีกด้านหนึ่ง ใบเฟิร์นก็เหมือนสัญลักษณ์แห่งความงดงามของยุคอัลเทอร์เนทีฟ...ครั้งหนึ่งนั้น ภายหลังเด็กหนุ่มจากโลกอนาคตบอกกับเธอว่า อัลเทอร์เนทีฟ อีกไม่กี่ปีมันก็ล้มหายตายจาก กระแสอื่นๆ ก็จะมา และเธอบอกว่าต่อให้มันผ่านไป มันก็ยังเป็นความทรงจำที่งดงามอยู่ไม่คลาย และสุดท้าย ผมว่าก้องเองก็มาเข้าใจเช่นเดียวกันในตอนหลังๆ ของหนังว่า “ส้ม” สำหรับเขา ก็คล้ายเพลงอัลเทอร์ฯ ที่แม้จะเลือนจางไปจากโลกความเป็นจริง แต่ยังคงทิ้งอะไรบางอย่างในรูปรอยของวันเวลาไม่ลบเลือน...

ไม่ว่าจะ Now หรือ Never แต่ “อัลเทอร์ฯ” และก็ “เธอ” ล้วนมีที่ทางเสมอในความทรงจำนั้น...

อัลเทอร์มาจีบ เป็นหนังไทยดีๆ เรื่องหนึ่งครับ ส่วนใครจะซึมซับเก็บรับได้ ในประเด็นไหนอย่างไรบ้าง ก็เป็นพื้นฐานของแต่ละคน และถ้าถามผมว่า ดูอัลเทอร์มาจีบแล้วรู้สึกอย่างไร ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “สนุกฝุดๆ เลยครัช”



ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น