xs
xsm
sm
md
lg

“วณิพก”...บทเพลงแจ้งเกิดอย่างสวยงามของ “คาราบาว”/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
วณิพก ปกสีแดง
“...จึงมาเป็น วณิพกพเนจร เที่ยวเร่ร่อน ร้องเพลงแลกเศษเงิน ที่เหลือกินเหลือเก็บเป็นส่วนเกิน จะนําเงินสะสม รักษาดวงตา...”

เพลง วณิพก : วงคาราบาว

ต้นปี พ.ศ. 2526 ในยุคที่เพลงป็อบรักหวานแหววยังได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเพลงบ้านเรา จู่ๆก็มีบทเพลงแหกคอกคือ“วณิพก”จากวงดนตรีแหกคอกนามว่า “คาราบาว”ออกมา ด้วยเนื้อหา-ดนตรีที่ผิดแผกจากบทเพลงทั่วไปในสมัยนิยม

นี่ถือเป็นอีกหนึ่งใบเบิกทาง(สำคัญ)ในการแจ้งเกิดของวงคาราบาว หัวหอกวงเพื่อชีวิตที่ยุคหนึ่งเคยได้รับความนิยมสูงสุดในบ้านเรา ซึ่งวันนี้ชื่อชั้นของคาราบาวได้ขึ้นหิ้งกลายเป็นหนึ่งในวงอมตะคู่ยุทธจักเพลงไทย อีกทั้งยังเคยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวงดนตรีสุดยิ่งใหญ่ของเมืองไทย

คาราบาว 3

ก่อนหน้าที่เพลงวณิพกจะแจ้งเกิด จุดชนวนให้วงคาราบาวในหลังจากนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง วงหัวควายเคยออกอัลบั้มมาแล้ว 2 ชุด คือชุดแรก “ขี้เมา”(2524) และชุดสอง “แป๊ะขายขวด”(2525) ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่ รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มเล็กๆเท่านั้น

แต่เมื่อผลงานเพลงชุดวณิพกทำคลอดออกมา เพลงวณิพกถูกเปิดเพลงแพร่ตามวิทยุและสื่อต่างๆ วงคาราบาวก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก่อนที่ต่อมาพวกเขาจะเดินหน้าสร้างชื่อจนกลายเป็นวงเพื่อชีวิตอันดับหนึ่งของเมืองไทยยังอยู่ในใจของใครหลายๆคนมาจนทุกวันนี้

วณิพก

สำหรับอัลบั้มชุดวณิพกที่เป็นอัลบั้มสร้างชื่อแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการให้วงหัวควาย แน่นอนว่าย่อมไม่ได้มาเพราะฟลุ๊คหรือโชคช่วย เพราะนี่ไม่ใช่เพลงตามกระแส(หวังดัง)ของยุคนั้น หากแต่มันเป็นผลงานอัลบั้มที่ทรงเสน่ห์มีคุณค่าในหลากหลายมิติอยู่ในตัว

อัลบั้มวณิพกออกวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2526 โดยสมาชิกคาราบาวในยุคนั้นประกอบด้วย 3 หนุ่ม นำโดย ยืนยง โอภากุล(แอ๊ด คาราบาว),กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร(เขียว คาราบาว) และปรีชา ชนะภัย(เล็ก คาราบาว)

นอกจากสมาชิกวง 3 หนุ่ม 3 หนุ่มแล้ว ในอัลบั้มชุดนี้ยังมีทีมนักดนตรีแบ็คอัพอย่างวงเพรสซิเดนท์(วงเก่าของเล็ก คาราบาว) และพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือ น้าหมู มาเป็นแขกรับเชิญ

อัลบั้มชุดวณิพกมีเพลงเอกที่โด่งดังที่สุดของอัลบั้มคือเพลง “วณิพก” ที่แต่งโดยน้าแอ๊ด คาราบาว อันเป็นบทเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม

วณิพกเป็นเพลงที่มีความผิดแผกแตกต่างไปจากบทเพลงทั่วไปในสมัยนิยมของยุคนั้น บทเพลงไม่ได้พูดถึงความรักหวานแหวว ฉันรักเธอ เธอไม่รักฉัน ถูกทิ้ง อกหักจะเป็นจะตาย ตามสูตรสำเร็จของบทเพลงพิมพ์นิยมในยุคนั้น

แต่นี่เป็นเพลงที่หยิบยกเรื่องราวของคนเล็กๆในสังคมที่หลายคนดูถูกเหยียดหยาม อย่างขอทานตาบอดที่ดำรงวิถีด้วยการเล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพที่มาพร้อมกับเนื้อร้องถ้อยคำภาษาที่เรียบง่าย สื่ออย่างตรงไปตรงมา แต่ว่ามีสัมผัสสวยงาม และเนื้อหากินใจยิ่งนัก แถมยังมีคำเด็ดๆที่หลายๆคนชอบกันมาก โดยเฉพาะในท่อนจบที่มีคำโดนๆอย่าง “...ใครจะว่าร้องเพลงให้ควายฟัง ฉันก็ยังมีคนที่เข้าใจ...”

ขณะที่งานในภาคดนตรีของวณิพกนั้นถือเป็นอีกหนึ่งความแปลกใหม่แห่งยุคสมัย(สมัยนั้น) กับดนตรีตะวันตก จังหวะสนุกๆโจ๊ะๆจากลีลา 3 ช่า หรือ ช่า ช่า ช่า อิทธิพล“ซานตาน่า” ที่ถูกน้าแอ๊ดนำมาประยุกต์ผสมท่วงทำนองแบบลูกทุ่งไทยๆเข้าไปได้อย่างลงตัว กับเมโลดี้ที่มีความเป็นป็อบอยู่สูง ฟังติดหูง่าย

นอกจากนี้เสียงของนักร้องอย่างน้าแอ๊ดก็ไม่ได้มาแนวนักร้องเสียงหล่อ หรือเก็กหล่ออ้อนสาว หากแต่เน้นน้ำเสียงคุณภาพตามธรรมชาติ จริงใจ ติดสำเนียงลูกทุ่ง สวนกระแสตลาดเพลงขึ้นมา

เพลงวณิพกขึ้นต้นมาด้วยเสียงกลองโจ๊ะๆในจังหวะ 3 ช่า ก่อนจะเข้าสู่ท่วงทำนองหลักของเพลงกับเสียงกีตาร์โซโลอันเมโลดี้ง่ายๆไม่กี่ตัวโน้ต(อิทธิพลซานตาน่า) แต่ว่าฟังติดหูดีแท้ ซึ่งวันนี้ท่อนทำนองหลักของกีตาร์ในเพลงวณิพกก็ยังคงมีคนร้องตามกันได้ และยังคงฟังคุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี ที่พอกีตาร์เล่นขึ้นมาปุ๊บก็ใช่เลย “วณิพก”

และด้วยความมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ ความแปลกใหม่ เนื้อหาที่แตกต่างแต่ว่าเข้าถึงจิตใจคนฟังจำนวนมาก และที่สำคัญคือโดน!!! ส่งผลให้เพลงวณิพก โด่งดังสวนกระแสตลาดเพลงป็อบในบ้านเราขึ้นมา

เพลงวณิพกยังมีอีกหนึ่งความสำคัญคือเป็นบทเพลงที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จักเพลงเพื่อชีวิตกันอย่างแพร่หลาย สามารถเดินขึ้นจากใต้ดินขึ้นสู่กระแสหลัก พร้อมๆกับเกิดการต่อยอด(สำคัญ)ในแนวทางเพื่อชีวิตของวงคาราบาว จากศิลปินรุ่นพี่ๆอย่างวง คาราวาน กงล้อ กรรมมาชน ต้นกล้า ฯลฯ ซึ่งในยุคนั้นแนวเพลงชีวิตบ้านเราได้ถือกำเนิดและเติบโตมาได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันยังไม่มีอิทธิพลต่อคนฟังส่วนใหญ่ เป็นบทเพลงกระแสรองในกลุ่มเล็กๆแคบๆ(โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา กลุ่มนักกิจกรรม NGO)

นอกจากนี้วณิพกยังเป็นเพลงสำคัญที่ช่วยหนุนส่งให้บทเพลงในจังหวะ 3 ช่า กลายเป็นหนึ่งในจังหวะคุ้นเคยของชาวไทย โดยเฉพาะบรรดาขาเหล้า ร้านเหล้า คาราโอเกะ และงานเทศกาลบันเทิงรื่นเริงทั้งหลาย ที่มักจะมีบทเพลงจังหวะ 3 ช่า มาร่วมสร้างสีสันให้พี่ไทยเราสนุกครึกครื้น สนุกเต็มที่ แด๊นซ์กระจาย และเมากระจาย

ส่วนอีกหนึ่งความสำคัญอย่างยิ่งยวดของบทเพลงวณิพกก็คือนี่เป็นบทเพลงแจ้งเกิดให้วงคาราบาวเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย สามารถถีบตัวจากวงที่มีแค่คนรู้จักกันในวงแคบๆสู่วงดนตรีมีชื่อ(ในกระแสหลัก)ของบ้านเรา ก่อนที่วงหัวควาย คาราบาว จะตามต่อความสำเร็จด้วยการส่งอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” (ชุด 4) ออกมาในปีเดียวกัน และมาประสบความสำเร็จสูงสุดกับผลงานเพลงชุด “เมดอินไทยแลนด์”(ชุด 5 - 2527) กับการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการเพลงพร้อมหนุนส่งให้วงคาราบาวครองความยิ่งใหญ่เป็นวงดนตรีอันดับหนึ่งของเมืองไทยอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

และยังคงความเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน ที่แม้ว่าวันนี้จะไม่ใช่ยุคของพวกเขาแล้วก็ตาม

*****************************************

รายชื่อบทเพลงทั้ง 10 เพลง ในอัลบั้มชุด วณิพก

1. "วณิพก", 2. "ถึกควายทุย ภาค 3", 3. "หรอย" , 4."ไม้ไผ่", 5. "ดอกจาน", 6."บวชหน้าไฟ", 7. "Summer Hill", 8. "หัวลำโพง", 9. "จับกัง" และ 10. "ล้อเกวียน"

เพลงวณิพกมีการนำไปคัฟเวอร์ใหม่ โดย มัม ลาโคนิคส์ และวงทีโบน
ฟังเพลง วณิพก


กำลังโหลดความคิดเห็น