เรื่องของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม นับเป็นอีกหนึ่งแนวของเนื้อหาที่มักจะถูกนำมาบอกเล่ากล่าวถึงอยู่ไม่ขาดในโลกภาพยนตร์ หลายคนอาจจะนึกถึงหนังรักซึ้งๆ อย่าง The Notebook ที่สร้างมาจากนิยายของนิโคลัส สปาร์ค แต่นอกจากนั้นก็ยังมี Iris, Away From Her, Son of the Bride, On Golden Pond, Amour หรือหนังเกาหลีที่เดินทางมาถึงบ้านเราเมื่อปีสองปีก่อน อย่าง Chronicle of My Mother
นอกเหนือจากความตื่นตัวเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ซึ่งดูเหมือนจะมีอุบัติการณ์แห่งโรคเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยที่การสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2013 พบว่ามีประชากรมากกว่า 36 ล้านคนต้องผจญกับโรคชนิดนี้...ภาวะของอาการป่วยไข้ด้วยอัลไซเมอร์ยังมีหลากหลายมิติมุมมองให้จับต้องและนำมาถ่ายทอดได้ ไม่ใช่เพียงในมุมของผู้ป่วย หากแต่ยังรวมถึงคนที่แวดล้อมใกล้ชิดซึ่งจะต้องดำเนินชีวิตไปด้วยกัน และผมเห็นว่า นั่นก็คือสิ่งที่หนังอย่าง “สติล อลิซ” (Still Alice) นำเสนอออกมาได้ครบถ้วนงดงาม
จากนวนิยายของ “ลิซ่า เจโนวา” ผลงานเบสต์เซลเลอร์ที่พิมพ์ไปแล้วกว่าสองล้านเล่มและมีการแปลไปเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 25 ภาษาทั่วโลก สู่จอภาพยนตร์ที่ได้นักแสดงอย่าง “จูลี่แอนน์ มัวร์” มารับบทอลิสผู้ป่วยไข้ด้วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งกวาดรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีใหญ่ๆ มาแทบจะทุกเวที รวมไปจนถึงรางวัลลูกโลกทองคำ ขณะเดียวกันก็มีชื่อเข้าชิงออสการ์ที่จะประกาศในเดือนมีนาคมนี้ด้วย
บทนี้ของจูลี่แอนน์ มัวร์ ชวนให้นึกถึงอีกบทที่คล้ายคลึงกันของ “จูลี่ คริสตี้” ที่รับบทนักประพันธ์ผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ในเรื่อง Away From Her ที่ไม่เพียงโดดเด่นดีงามจนได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำในปี 2008 หากแต่ยังได้เข้าชิงออสการ์ด้วย แต่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะซ้ำรอยหรือไม่คงต้องรอลุ้นกันอีกที เพราะจูลี่ คริสตี้ ที่เคยชิงออสการ์ในปีนั้นก็พ่ายให้แก่ “มาริยง โกติลยาต์” (จากเรื่อง La Vie en Rose) ซึ่งปีนี้ “มาริยง โกติลยาต์” ก็ได้เข้ามาชิงอีกครั้งจากบทบาทในเรื่อง Two Days, One Night ซึ่งเป็นหนังคุณภาพอีกเรื่องหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในเชิงสังคม บทนี้ของจูลี่แอนน์ มัวร์ มีโอกาสสูงมากเหมือนกันสำหรับการที่คณะกรรมการออสการ์จะพิจารณาเป็นลำดับที่หนึ่ง เพราะหากมองไปถึงสังคมอเมริกันเอง ณ ตอนนี้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้จำนวนไม่น้อย ผลสำรวจเมื่อปี 2013 อเมริกันชนกว่า 5 ล้านคน ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นสาเหตุที่ 5 แห่งการเสียชีวิตมากที่สุดในอเมริกาด้วย ดังนั้นแล้ว บทนี้ของจูลี่แอนน์ มัวร์ ไม่เพียงจะสามารถสร้างความตื่นตัว ตระหนักรู้ กระทั่งวิธีการดูแลตนเอง (หรือคนใกล้ชิดที่มีญาติป่วยอัลไซเมอร์) และแน่นอนว่า ถ้าออสการ์จะใช้โอกาสวาระนี้ในการส่งผ่านความปรารถนาดีบางอย่างไปสู่สังคม จูลี่แอนน์ มัวร์ ก็มีความเป็นไปได้สูงตามเหตุผลนั้น
กระนั้นก็ตาม ถ้าจะพูดถึงฝีไม้ลายมือล้วนๆ จูลี่แอนน์ มัวร์ ก็สามารถถ่ายทอดบทบาทการแสดงออกมาได้ชนิดที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบ คือการเล่นเป็นคนปกติทั่วไป ก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้วนะครับที่จะทำให้คนดูรู้สึกสัมผัสได้ถึงความสมจริงสมจัง แต่นี่ต้องบวกเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีกอย่าง คือความป่วยไข้ ยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่ที่จะทำให้คนดูเชื่อ อย่างกรณีของ “เอ็ดดี้ เรดเมย์น” กับบทสตีเฟ่น ฮอว์คิง ใน The Theory of Everything ว่ายากลำบาก ก็เป็นความยากลำบากทางด้านร่างกาย แต่ทว่าสำหรับการป่วยอัลไซเมอร์ในบทอลิซของจูลี่แอนน์ มัวร์ น่าจะยากเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า (หรือถ้าจะพูดแบบไม่ให้ใครดีหรือด้อยกว่าใคร ก็อาจจะบอกว่ายากกันไปคนละแบบ)
เพราะภาวะของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นอกเหนือจากสิ่งที่มองเห็น อย่างเช่น การหลงๆ ลืมๆ ซึ่งคนอื่นๆ พอจะดูออกได้ว่าตัวละครลืมนั่นลืมนี่ แต่ยังมีอีกอย่างคือภาวะ “ภายใน” ที่นักแสดงจะต้องสื่อสารออกมาให้เห็นถึงความยากลำบากของคนที่ต้องเผชิญกับโรคนั้น ซึ่งสำหรับจูลี่แอนน์ มัวร์ จุดเด่นที่สุดคือ สายตา ท่าทาง ซึ่งทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจราวกับว่าเธอคือคนที่กำลังป่วยไข้ด้วยโรคอัลไซเมอร์จริงๆ
ความยอดเยี่ยมของหนัง คือการแสดงให้เห็นถึงภาวะของผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ไล่ตั้งแต่จุดเริ่มเป็นในขั้นต้น ไปจนถึงระดับที่วิกฤติสุดๆ ในแง่นี้ หนังจึงมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ราวกับโลกทั้งโลกค่อยๆ ล่มสลายลงไป นั่นคือความน่าปวดร้าวในจิตใจของผู้ประสบโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของอลิซ ฮาวแลนด์ ที่มีสถานะระดับศาสตราจารย์ ความเก่งความเชี่ยวชาญนั้นเหมือนสิ่งที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของตัวตนของเธอ แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นค่อยๆ สูญสลายไปเพราะฤทธิ์แห่งอัลไซเมอร์ ตัวตนที่เคยมีค่าของเธอ ก็พลันจะสั่นคลอนสูญสลายตามไปด้วย
ขณะวิตกกังวล ขณะผจญกับสิ่งที่ยากลำบาก และขณะที่โลกแห่งความทรงจำกำลังเลือนหายไปทีละเล็กทีละน้อย แสงสว่างแห่งคุณค่าชีวิตที่แนบสนิทกับเรื่องความรักความเข้าใจ ก็เริ่มทอประกายขึ้นมา เราได้เห็นตัวของอลิซเองที่พยายามยอมรับและอยู่ร่วม หรือแม้กระทั่งจัดการกับโรคภัยที่ค่อยๆ รุกคืบมาคุกคาม หนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการถ่ายบันทึกวิดีโอไว้เพื่อเตือนความจำตัวเอง และวิดีโอชิ้นหนึ่งก็กลายเป็นที่มาของฉากที่ดีมากๆ ฉากหนึ่งของหนังซึ่งดูแล้วไม่แน่ใจว่าควรจะยิ้มขำ หรือร่ำไห้ดี...
"อย่าโกรธที่ผีเสื้อมีอายุสั้นอยู่ได้เพียงเดือนเดียว
แต่ให้รู้ว่า มันเป็น 30 วันที่สวยงามที่สุด"...
นั่นคือคำกล่าวของอลิซที่กล่าวกับลูก มันมีความหมายพอๆ กับกล่องโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์ที่เธอตั้งชื่อให้มันว่า “ผีเสื้อ” (Butterfly) ซึ่งเป็นโฟลเดอร์ที่รวบรวมบันทึกเรื่องราวรวมทั้งวิดีโอเตือนความทรงจำของตนเองไว้
มันคือเรื่องความหมายของชีวิต ที่แนบสนิทกับคุณค่าของวันเวลา “สติล อลิซ” ที่งดงาม บอกกล่าวกับคนดู ทั้งในแง่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรจะหยุดมีความหมายเพียงเพราะเงื่อนไขบางอย่าง คำว่า “สติล” (Still) ในชื่อหนัง บ่งบอกอย่างชัดแจ้งถึงความสำคัญที่ยังไม่สูญสิ้น แม้จะสูญเสียบางสิ่งไป
อลิซ ยังคง Alive
แม้จะ Alive อย่าง Alone แบบที่หลายคนไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึง ก็ตามที...
...ริชาร์ด แกล็ตเซอร์ หนึ่งในผู้กำกับร่วม (อีกคน คือ วอช เวซเมอร์แลนด์) บอกว่าเขามีความประทับใจมากกับหนังเรื่อง “โตเกียว สตอรี่” (Tokyo Story) ของ “ยาสึจิโร่ โอสุ” ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น ที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยของตัวละครหลัก โดยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นตัวบริบทแวดล้อมที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์สะเทือนใจ ซึ่งจะคล้ายคลึงกับสิ่งที่คนรอบข้างของอลิซต้องเผชิญในบทประพันธ์ของลิซ่า หนึ่งในนั้นก็คือลูกสาวของอลิซ ซึ่งได้ “คริสเต็น สจ๊วต” ดาราสาวจากเรื่อง “ทไวไลท์” มารับบท
บทนี้ของคริสเต็นมีบทบาทอย่างสำคัญต่อสถานการณ์ป่วยไข้ของอลิซ เธอรักและชอบศิลปะ มันมีมิติแง่มุมมากมายอันว่าด้วยเรื่องราวของ “แม่” กับ “ลูก” ระหว่างบทของจูลี่แอนน์ มัวร์ กับคริสเต็น สจ๊วต มีทั้งการเข้าใจไม่เข้าใจ มีทั้งการเข้าใกล้และออกห่าง ผมชอบตอนที่ทั้งสองคนคุยกันเรื่อง “ศิลปะแห่งการสูญเสีย” มันเหมือนนำโลกสองใบโคจรมาพบกัน ในจุดที่เป็นการรักษาบาลานซ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ลูกสาวรักชอบศิลปะ ฝ่ายแม่กำลังเผชิญกับการสูญเสียความทรงจำ ฉากสุดท้ายระหว่างแม่ลูกคู่นี้ คือฉากที่ถือเป็นอีกหนึ่งความงดงามโดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำใดให้มากความ อลิซ ฮาวแลนด์ ที่สูญเสียความทรงจำไปเกือบทุกถ้อยคำ แต่สิ่งที่มหัศจรรย์สำหรับโลกแห่งถ้อยคำก็คือ มันมีถ้อยคำจำนวนหนึ่งซึ่งแม้ไม่จำเป็นต้องเอ่ยออกมา แต่ทว่าก็สามารถสัมผัสได้ ด้วยใจ...
เพื่อความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคอัลไซเมอร์ นี่คือหนังที่ต้องดู
เพื่อการตระหนักรู้ในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ สติล อลิซ คือหนังที่ต้องดู
และเหนือเหตุผลอื่นใด สติล อลิซ คือหนังที่ต้องดู ก็เพราะนี่คือหนังดีๆ เรื่องหนึ่ง...
ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |