xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์มาแล้ว Fifty Shades of Grey: เฉดสีที่ซับซ้อน เร่าร้อนหวามไหวในโลกเร้นลับ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หนังกระแสที่แรงสุดๆ สำหรับสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นผลงานที่สร้างมาจากนิยายยอดนิยมเรื่องนี้ ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ เพราะไม่เพียงกระแสที่บอกต่อๆ กันมาจากต่างประเทศเรื่องการจัดเรตติ้ง หากแต่ในบ้านเรา ยังภูมิใจนำเสนอในเรต “ฉ20+” ชนิดที่ต้องมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนการซื้อตั๋ว

แน่นอนว่า เหตุผลสำคัญของการจัดเรตติ้งดังกล่าว ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า เพราะเนื้อหาของหนังนั้น มีฉากเลิฟซีนที่ไม่ใช่แค่ฉากเลิฟซีนธรรมดาๆ เพราะมีเรื่องของความซาดิสม์หรือรุนแรงอยู่ในนั้นค่อนข้างเยอะ ซึ่งในฐานะของคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อนและฟังแต่กระแสที่เขาว่ากันมา ผมเองยังนึกว่ามันจะดูโหดร้ายทารุณกรรม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มันมีแง่มุมอะไรที่ลึกเกินไปกว่าคำว่า “ซาดิสม์” หรือ “ทารุณกรรมทางเพศ” จะใช้อธิบายได้ด้วยซ้ำ

ในนิยามแห่งนิยายที่หลายคนมอบให้ ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ นั้นคือนิยายเอาใจแม่บ้านซึ่งมีฐานรองรับเหมือนกับละครน้ำเน่าทั่วไปที่วันๆ ตัวละครไม่ทำอะไรนอกจากเล็งแต่จะนับ “หนึ่ง สอง ซั่ม” กันเป็นหลัก นิยายแนวนี้ต้องอาศัยความเพียบพร้อมของตัวละครนำในการโน้มนำผู้อ่านสู่จินตนาการอันใกล้เคียงกับคำว่าฟุ้งฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวนำของเรื่อง คือ “คริสเตียน เกรย์” ที่แทบจะกล่าวได้ว่าเพอร์เฟคต์ไปซะทุกด้าน หน้าที่การงานใหญ่โตถึงขั้นเป็นเจ้าของบริษัท บวกกับหน้าตาที่หล่อเหลาขนาดสาวๆ ได้เห็นเป็นต้องเม้มปากกัดริมฝีปากด้วยแรงขับบางอย่าง เขาคือคนที่มองภายนอกแล้วคือสุดยอดแห่งความปรารถนาในทุกประการ อย่างไรก็ดี ก็อย่างที่ชื่อนามสกุลของบอกไว้ “เกรย์” นั้น อาจมีอะไรที่เซอร์ไพรส์อยู่อีกเยอะ เบื้องหลังรูปลักษณ์และความเป็นจริงที่เห็นในภายนอก...

ราวกับว่า ฟ้าเบื้องบนดลบันดาล ในวันที่เพื่อนของเธอไม่สบาย หญิงสาวนักศึกษาวิชาวรรณคดีอังกฤษ “แอนัสเตเซีย สตีล” ต้องเป็นตัวแทนของเพื่อนในการเข้าสัมภาษณ์นักธุรกิจหนุ่มผู้ร่ำรวย “คริสเตรียน เกรย์” เพื่อนำเรื่องราวของเรามาลงหนังสือ ซึ่งนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเหนือความคาดหมาย ดั่งเฉดสีที่หลากหลายละลานตา พร่ามัว และชวนสับสน เหมือนกับชื่อหนัง (หนังสือ) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นการทำ “สัญญาทางวรรณกรรม” กับผู้อ่านว่า เนื้อหาที่จะปรากฏทั้งหมดถัดจากนี้ สามารถมองได้จากหลากหลายมุม เหมือนเฉดที่มีถึง 50 เฉดสี และที่สำคัญ คำว่า “เกรย์” ซึ่งเป็นทั้งชื่อเรียกของสีสีหนึ่ง (สีเทา) และชื่อสกุลของตัวละครหลัก ก็บอกกล่าวอยู่กลายๆ ถึงภาวะตัวตนของตัวละครที่จะพาคุณโลดแล่นเข้าไปในโลกที่ปะปนทั้งความวาบหวามและน่าหวาดหวั่นนั้น

“อี.แอล.เจมส์” ผู้แต่งนิยายเรื่องดังกล่าวได้ เป็นผู้ที่มีความรักความหลงใหลในนิยายเรื่อง “ทไวไลท์” อย่างรุนแรง และนั่นก็คือเหตุเหลหลักที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาแต่งฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ บรรยากาศอันฟุ้งฝันนั้นเหมือนผ่องถ่ายกันมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ ความน่าลุ่มหลงของตัวละครอย่างเกรย์ เอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากความรู้สึกที่เบลล่าและสาวๆ หลงใหลในหนุ่มแวมไพร์เอ็ดเวิร์ด ความรู้สึกสับสนของเบลล่าที่ไม่แน่ชัดว่าจะเลือกใครเหมือนว่าอยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน ดูไปก็คล้ายความสับสนลังเลใจของแอนัสตาเซียที่จะ “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นั้น” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ไปไกลกว่าทไวไลท์อย่างสุดกู่ ก็อย่างที่เราๆ ท่านๆ พอจะรู้นั่นล่ะครับว่าคือเรื่องฉากเซ็กส์ที่โจ๋งครึ่ม ชนิดที่หลายคนอาจจะอ่านไปเล็บจิกแผ่นกระดาษไป

รับรู้มาว่า ในส่วนของนิยายนั้น เติมเติมจินตนาการผู้อ่านด้วยถ้อยคำบรรยายฉากพวกนี้แบบจัดเต็มและมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทว่าเมื่อถูกถ่ายทอดในภาษาของภาพยนตร์ จะทำให้ทำเช่นนั้นคงไม่ไหว อย่างไรก็ดี ผมเห็นว่าฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์กลับทำออกมาได้ดีกว่าที่คิด ไม่ได้ทำให้ดูน่าเกลียดหรือต้องหลบตา ด้วยเทคนิคมุมกล้องและแสงเงาได้สวยงาม ผมคงคิดแทนคนอื่นไม่ได้ว่าดูแล้วจะรู้สึกกระสันต์หรือเปล่า แต่ผมว่าภาพที่ออกมา มันให้ความรู้สึกเย้ายวนวาบหวามมากกว่าจะให้รู้สึกถึงความซาดิสม์โรคจิตของตัวละครเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่นักเกี่ยวกับประเด็น “ทารุณกรรมทางเพศ” (Sex Abuse) เพราะหนังเองค่อนข้าง “เปิดทางกว้าง” ด้วยการให้ทั้งสองตัวละครกระทำสัญญาต่อกันก่อนที่จะเพริดไปในห้วงแห่งเซ็กส์อันเร้นลับ ประกอบกับความจริงอีกทางหนึ่ง ฝ่ายตัวละครหญิงเองก็ดูเหมือนจะมีความปรารถนาอยู่ลึกๆ ที่จะ “แอดเวนเจอร์” ผจญภัย ไปในเส้นทางสายนั้นด้วย

ที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้าไม่แกล้งหลับหูหลับตาหรือปิดตาข้างเดียว จะพบว่า “อี.แอล.เจมส์” ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ เคยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกเมื่อปี 2012 จากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ ด้วยแง่ที่ว่ามันเป็นการเปิดโอกาสและให้พื้นที่แก่ผู้หญิงด้วยซ้ำตามนิยามของคำยกย่อง เขาถึงกับใช้คำว่า “ปฏิวัติเรื่องเซ็กส์ของผู้หญิง” โลกร่วมสมัยที่ผู้หญิงเองก็สามารถที่จะสื่อแสดงความปรารถนาหรือความต้องการของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มปากเต็มคำ (สังเกตวงสนทนาของสาวๆ ข้างตัวคุณดูสิ “ผู้ชายคนนั้นคนนี้น่ากินจัง” อะไรทำนองนั้น) ซึ่งในแง่นี้ หนังมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งดูเหมือนไม่สำคัญ แต่มันกลับสะท้อนถึงตัวตนเชิงลึกของตัวละครออกมาจนเปิดเปลือยล่อนจ้อนยิ่งกว่าตอนที่ไร้อาภรณ์เสื้อผ้าด้วยซ้ำ

นั่นคือบทสนทนาระหว่างเกรย์กับแอนัสตาเซีย ซึ่งหญิงสาวนั้นเป็นนักศึกษาวิชาวรรณคดี ฝ่ายชายจึงถามเธอว่าชอบบทประพันธ์ของใครเป็นพิเศษ และคำตอบของหญิงสาวก็ทำให้เขารู้สึกแปลกใจเล็กน้อย เพราะเขานึกว่าเธอน่าจะชอบ “เจน ออสติน” แทนที่จะเป็น “โธมัส ฮาร์ดี้” กระนั้นก็ดี ไม่ว่าจะชอบเจนหรือฮาร์ดี้ นักประพันธ์ทั้งสองก็ได้รับการจดจำทั้งในฐานะผู้ที่สะท้อนภาพชีวิตผู้หญิงในยุควิคตอเรียนออกมาได้อย่างสมจริงสมจังเช่นกัน ขณะที่ก็เสนอภาพของผู้หญิงที่เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะผลงานและตัวของโธมัส ฮาร์ดี้ นั้น รุนแรงถึงขั้นที่เรียกว่าขบถต่อขนบประเพณีเดิมๆ อย่างรุนแรง และแน่นอนว่า บุคลิกลักษณะเช่นนี้ เราจะมองเห็นได้ในตัวของแอนัสตาเซีย ที่ว่ากันตามจริง แม้จะยังเวอร์จิ้นอ่อนใสในเรื่องอย่างว่า แต่ความคิดที่ก้าวไปข้างหน้าหลายก้าว ก็เหนี่ยวน้าวให้เธอเข้าไปสู่โลกอันเร้นลับของนักธุรกิจหนุ่ม

มันมีทั้งการผลักออกและดึงรั้ง มีทั้งยึดยื้อยืดเยื้อและเหมือนไร้เยื่อใย ฟิฟตี้เชดส์ออฟเกรย์ผสมผสานความรู้สึกแห่งความหวามไหวและหวั่นไหวเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว มีความเซ็กซี่พอๆ กับที่มีความเป็นเซ็กส์ หลายๆ ฉากและหลากอิริยาบถของตัวละคร ทำออกมาเพื่อให้ดูมีความเย้ายวนและชวนหวั่นใจยิ่งกว่าฉากรักบทเตียงด้วยซ้ำ หญิงสาวที่เอาดินสอมาแนบริมผีปาก (ถ้าไม่เบบี๋จนเกินไปก็คงจะรู้ความหมายที่ซ่อนอยู่ของดินสอ) ท่วงท่าที่เม้มกัดริมฝีปาก สายตาในการมองกันและกัน โดยเฉพาะสายตาของเกรย์ที่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นสายตาที่ถอดเสื้อผ้าของหญิงสาวไปแล้วครึ่งตัว นั่นยังไม่นับรวมบทสนทนาในหลายๆ ครั้งที่เร่งเร้าให้เร่าร้อนชวนตัวละครฝั่งตรงข้ามเคลิ้มฝันอยู่ในที

ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับที่ตื่นเต้นระทึกใจว่าจะได้เห็นฉากอย่างว่า คุณจะสมปรารถนาตามสมควร และบรรยากาศโดยรวมมันก็อบอวลไปด้วยมวลแห่งแรงปรารถนาอย่างว่าอยู่แล้วตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเปลื้องหรือไม่เปลื้องเสื้อผ้าก็ตามที แต่ก็อีกนั่นแหละ นอกเหนือจากความฉ่ำแฉะ ผมคิดว่าเรื่อง “เฉด” ก็ควรจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า เพราะนี่คือผลงานที่เล่นกับความรู้สึกอันซับซ้อนของตัวตนและความสัมพันธ์ได้ดีระดับหนึ่ง ก็เหมือนอย่างที่แอนัสตาเซียตอบแม่ของเธอเมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ว่าเป็นอย่างไร เธอตอบอย่างจริงใจว่ามันซับซ้อน

สุดท้ายแล้ว คล้ายๆ ว่าเราต่างก็ดำรงอยู่ในตัวตนที่หลากหลายไปด้วยเฉดสี มีมุมที่เปิดเผยและปกปิด มันเป็นสีเทาๆ เหมือนกับชื่อหนังและตัวละคร และเอาเข้าจริง เราๆ ท่านๆ ไม่ว่าจะชื่อ “นันท์” ชื่อ “นัท” หรือชื่อ “นินา” แต่ในมุมที่มองไม่เห็น เราอาจจะมีชื่อ “เกรย์” รวมอยู่ในตัวตนของเรานั้นด้วย ใครจะไปรู้

แต่ถ้าใครอยากจะรู้จริงๆ ก็คงจะต้อง... “เซ็นสัญญากันก่อนสิ”...


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น