xs
xsm
sm
md
lg

คืนความสุขให้โนบิตะ...โดราเอมอน สแตนด์ บาย มี : ขี้แพ้ก็โตได้

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เสียงลือเสียงเล่าอ้างตั้งแต่หลายเดือนก่อนหน้านี้ หลังจากเปิดตัวฉายในบ้านเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น ตามข่าวที่ออกมาคือคนญี่ปุ่นเป็นปลื้มกับโดราเอมอนภาคนี้เป็นยิ่งนัก เสียงหัวเราะแห่งความสนุกสนานเฮฮาและน้ำตาแห่งความซาบซึ้ง กลายเป็นกระแสร่วมกระแสหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นสำหรับคนดูผู้ชมในดินแดนอาทิตย์อุทัย

ครับ, อันที่จริง นอกเหนือไปจากการ์ตูนทีวีที่อยู่ในความทรงจำสำหรับผู้ที่เป็นเด็กเมื่อหลายทศวรรษก่อน เรื่องราวของโดราเอมอนยังได้รับการนำมาถ่ายทอดในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ทุกๆ ปี จนอาจจะกล่าวได้ว่า แทบจะมีสถานะไม่ต่างอะไรกับวาระแห่งชาติอีกวาระหนึ่งแห่งแวดวงศิลปะของญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ถ้าใครที่รักชอบการดูหนัง จะพบว่า ในแต่ละปี เราจะมีแอนิเมชันเรื่องโดราเอมอนมาฉายให้ดูอยู่ไม่เว้น ต่างแต่ว่าผู้กำกับจะหยิบจับเอาประเด็นหรือตอนไหนมาบอกเล่าในเวอร์ชั่นหนังใหญ่

โดราเอมอนสำคัญอย่างไร สำหรับผู้ที่สูงวัยหน่อยๆ อย่างผม หรือเกินและน้อยไปกว่านั้นไม่มากไม่น้อย ย่อมจะระลึกได้ถึงความทรงจำในคืนวันอันเก่าก่อนตอนที่ยังเป็นเด็ก สารภาพตามตรง ผมรู้จักกับโดราเอมอนตั้งแต่สมัยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ให้ระลึกนึกถึงตอนนี้ว่าดูและอ่านโดราเอมอนตอนไหนไปบ้าง ก็คงตอบไม่ได้ ขนาดเรียกชื่อ ผมยังเรียกว่า “โดเรมอน” และหลายคนก็คงเรียกเหมือนๆ กัน แต่สิ่งที่จำได้แม่นยำไม่เคยลืมเลยก็คือ ไอ้กระเป๋าวิเศษของโดราเอมอนอันนั้น ที่มันวิเศษสมชื่อจริงๆ และสำหรับเด็กหลังห้องที่ไม่มีอะไรเจ๋งๆ อย่างคนอื่น ก็คงไม่มีอะไรที่น่าพิสมัยไปกว่าการได้มีเพื่อนเป็นแมวไม่มีหูและมาจากอนาคตพร้อมกับกระเป๋าที่มีของล้ำๆ บันดาลความปรารถนาได้ดั่งแก้วสารพัดนึกใบนั้น

ในขณะที่คนอย่างผมรู้สึกว่าโดราเอมอนเป็นความทรงจำอันงดงามในวัยฝันวันเยาว์ แต่สำหรับคนญี่ปุ่น โดราเอมอนนี่เปรียบเสมือนหมุดหมายทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเขาเลยก็ว่าได้ เหมือนอย่างที่ผมใช้คำว่า “วาระแห่งชาติ” เขาให้เกียรติกันขนาดนั้น เพราะนี่ไม่ใช่แค่เพียง “การ์ตูน” ในความหมายของความบันเทิงที่มีไว้เป็นยากล่อมประสาทหรือขนมลูกกวาดอันหอมหวานสำหรับเด็ก หากแต่ความหมายของมันถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องของการเรียนรู้ เติบโต พร้อมที่จะผจญเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ

อย่างที่เรารู้กันครับว่า ญี่ปุ่นนั้นเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาแล้วจากสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับผู้แพ้ ไม่มีอะไรที่จะพึงกระทำมากไปกว่าการประคับประคองจิตวิญญาณและการดำรงอยู่ของตัวเองไว้ให้ได้ สิ่งนี้กลายเป็นวิธีคิดที่ฝังรากอยู่ในจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นมาโดยตลอด การกอบกู้ตัวตน การฟื้นฟูเกียรติภูมิศักดิ์ศรี หรือกระทั่งการก่อร่างสร้างชาติขึ้นมาใหม่ เป็นแนวคิดที่เรามักจะสัมผัสได้แม้กระทั่งในงานสร้างสรรค์สายบันเทิงของญี่ปุ่น การ์ตูนเอย หนังเอย ซีรี่ส์เอย ล้วนแล้วแต่เคยหยิบจับเอาแง่มุมนี้มาถ่ายทอดนับครั้งไม่ถ้วน

หนึ่งในผลงานที่นับได้ว่าถ่ายทอดจิตวิญญาณแบบคนญี่ปุ่นได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งคนไทยเราก็คงจะคุ้นเคยกันอยู่ ก็คงจะได้แก่หนังเรื่อง Always : Sunset on the Third Street ของผู้กำกับทาคาชิ ยามาซากิ ซึ่งการที่หนังมีการทำต่อเนื่องรวมทั้งหมดสามภาค ก็ย่อมจะอธิบายขยายความได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วถึงความนิยมที่มีต่อหนังเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด หลากหลายเสียงที่พูดถึงหนังชุดนี้ด้วยความสุขใจก็คือ มันเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งการไม่ยอมแพ้แก่ชะตา ไม่จำนนต่อช่วงเวลาแห่งความตกต่ำย่ำแย่ ทั้งพยายามหาทางแก้และฟื้นฟูตนเองขึ้นมาจากหล่มหลุมแห่งความล่มสลายได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

ครับ, พูดมาถึงตรงนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า โดราเอมอนเวอร์ชั่นภาพยนตร์ภาคล่าสุด ก็เป็นผลงานของผู้กำกับคนนี้นี่เอง

ทาคาชิ ยามาซากิ นั้นเป็นเลิศอยู่แล้วในเรื่องของการลัดเลาะเตาะไต่ไปในมณฑลแห่งจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่น คนที่คุ้นเคยกับหนังอย่าง Always ทั้งสามภาค ก็คงสัมผัสได้ถึงความถ่องแท้ของผู้กำกับคนนี้ และที่สำคัญ สำหรับโดราเอมอนแล้ว โดยส่วนตัวของมันเอง ด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือจิตวิญญาณหรือรากเหง้าอีกอันหนึ่งของญี่ปุ่นดีๆ นี่เอง เพราะตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา นี่คือการ์ตูนที่หล่อหลอมกล่อมเกลี้ยงความรื่นรมย์และสาระให้กับคนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง จนก่อเกิดเป็นความผูกพัน การที่ต้องมีหนังการ์ตูนแอนิเมชันโดราเอมอนออกมาฉายทุกๆ ปี ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเสมือนหนึ่งเป็นการคารวะบูชาให้กับการ์ตูนที่ยืนยงคงกะพันและมีความผูกพันกับชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานเรื่องนี้

จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความยอดเยี่ยมของโดราเอมอนภาคนี้ รวมทั้งชื่อชั้นของผู้กำกับ ก็พอจะเดาทางได้ระดับหนึ่งครับว่า เพราะเหตุใด คนญี่ปุ่นถึงปลื้มปริ่มกับโนบิตะภาคนี้เป็นพิเศษ โดราเอมอนนั้นเหมือนสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามอะไรบางอย่าง และผู้กำกับทาคาชิ ยามาซากิ ก็ถ่ายทอดสัญลักษณ์ที่ว่านั้นออกมาได้งดงาม น่าประทับใจ

ขณะที่ Always เกาะเกี่ยวอยู่กับภาวะของผู้แพ้ที่พยายามทุกทางเพื่อฟื้นตัวเองขึ้นมาจากความล่มสลายเพราะภัยสงคราม โอราเอมอนก็คงเป็นภาพสะท้อนของยุคถัดมาอีกนิดในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวและเข้าสู่ยุคทุนนิยม ในเวอร์ชั่นการ์ตูนทีวีบางภาค เราจะเห็นภาพของผู้คนในยุคอุตสาหกรรม ผ่านภาพชีวิตของพ่อของโนบิตะที่ทำงานตัวเป็นเกลียว ในยุคแห่งการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตตามอุดมคติของชนชั้นกลางยุคใหม่ มีบ้านเดี่ยว มีรถขับ ฯลฯ และแน่นอนว่า สำหรับเด็กๆ ที่เติบโตมาในยุคนี้ก็จึงเลี่ยงไม่ได้ต่อการต้องอยู่ในวงล้อมของการแข่งขันตามไปด้วย

ชีวิตถูกชี้ขาดด้วยความต้องเป็นผู้เหนือกว่า เก่งกว่า เรียนหนังสือก็ต้องเรียนโรงเรียนดีๆ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มเพื่อนวัยเด็กด้วยกัน ก็ต้องผลักดันตัวเองให้ผู้อยู่เหนือเพื่อนร่วมรุ่น สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านออกมาอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนวัยเยาว์ ทั้งโนบิตะ ไจแอนท์ ไปจนถึงสุเนโอะ เราอาจจะมองว่ามันคือธรรมชาติของวัยเยาว์ก็เป็นเช่นนั้น และลึกๆ เพื่อนพ้องของโนบิตะก็ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร แต่ใครเล่าจะปฏิเสธว่า พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้มาจากส่วนหนึ่งแห่งการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคมที่สังกัด อย่างซูเนโอะนั้นดูจะชัดมาก เนื่องจากทางบ้านมีฐานะร่ำรวยกว่าคนอื่น เขาก็จะคุยโม้โอ้อวดเรื่องนี้กับเพื่อนๆ อยู่เรื่อยๆ

มันเหมือนยุคสมัยที่ผู้แพ้ ผู้อ่อนแอ จะเริ่มถูกทิ้งไว้ในรถไฟขบวนหลังๆ ดุจเดียวกับโนบิตะในหนังเวอร์ชั่นนี้...

ตัวเรื่องของสแตนด์ บาย มี เหมือนจะเล่าย้อนไปถึงจุดกำเนิดโดราเอมอนตอนแรกๆ ตั้งแต่แมวไร้หูจากโลกอนาคต เริ่มทำความรู้จักกับโนบิตะซึ่งเป็นเด็กชายที่ดูคล้ายจะแพ้พ่ายไปเสียทุกอย่าง โนบิตะที่เราเห็นจึงเป็นเด็กที่หงอและแถมไม่เอาอ่าวไปซะทุกเรื่อง ซ้ำมิหนำยังดูเป็นมนุษย์ตัวน้อยที่ไม่มีความสุขเอาซะเลย ลูกหลานในโลกอนาคตอดรนทนไม่ไหวกับการที่ต้องเห็นบรรพชนของตนเองเหลวเป๋วถึงเพียงนั้น จึงนั่งไทม์แมทชีนย้อนกลับมายังสมัยที่โนบิตะเป็นเด็ก แล้วฝากโดราเอมอนไว้เพื่อให้เป็นผู้ดูแลโนบิตะ โดยวางเงื่อนไขไว้ว่าโดราเอมอนจะกลับไปยังโลกอนาคตไม่ได้เป็นเด็ดขาด ตราบเท่าที่โนบิตะยังไม่มีความสุขกับชีวิตตนเอง

ด้วยความฉมังในแนวทางหนังฟีลกู๊ด ทาคาชิ ยามาซากิ สามารถผสมผสานเอาองค์ประกอบความเป็นหนังแนวนี้เข้ามาไว้ในโดราเอมอนได้อย่างงดงามน่าประทับใจ อารมณ์ของหนังมีทั้งสนุก สุขเศร้า เคล้าน้ำตา ดราม่าก็ถึง ความบันเทิงก็ผ่าน อันที่จริง สารภาพตามตรงครับว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมดูโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์แทบทุกจะปี แต่มันก็เหมือนกับโดราเอมอนภาคการ์ตูนทีวีสมัยก่อน ที่แม้จะสนุกสนานไปตามเรื่อง แต่ก็จะจำได้เพียงรางๆ ไม่แจ่มชัดนักว่าเนื้อหาเรื่องราวเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับโดราเอมอนภาคนี้ ผมว่ามันพิเศษออกไป ในแง่ที่ว่าส่วนตัวผมจะจดจำเรื่องราวของหนังรวมทั้งความรู้สึกที่มีต่อหนังได้อย่างยากจะลืมเลือน เหตุผลหนึ่งคือการที่ผู้ผลิตทำให้เรารู้สึกว่ามันคือหนังเรื่องหนึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่การ์ตูนที่เพียงทำตามธรรมเนียมเช่นทุกปี พูดแบบนี้ไม่ได้จะดิสเครดิตหนังภาคก่อนๆ นะครับ เพียงแต่ความรู้สึกมันขยับปรับเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

ยิ่งกว่าปฏิบัติการคืนความสุขอันแสนหวานในวันเก่าก่อน โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าโดราเอมอนภาคนี้สามารถเติมเต็มได้ทุกจุดที่เป็นใจความสำคัญของหนัง ความสนุกสนานเบิกบานตามประสาวัยฝันวันเยาว์นั้นไม่ต้องห่วง เพราะนอกเหนือไปจากตัวสถานการณ์เรื่องราวที่ชวนขบขัน ตลกจนกลั้นเสียงหัวเราะไว้ไม่อยู่ ท่าทีท่าทางของตัวละครยังเรียกเสียงฮาและรอยยิ้มได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเอกของเรื่องอย่างโนบิตะที่ทำท่าเขินอายและรู้สึกเฟลได้เก๋มากๆ แก้มแดงเรื่อ ขาเข่าอ่อนจนทรงตัวไม่อยู่ เซซ้ายเซขวาอย่างกับคนเมา น่าจะเป็นภาพจำที่เตือนย้ำให้เรายิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง

นอกเหนือจากความบันเทิง ในเชิงเนื้อหาสาระ สแตนด์ บาย มี ดูจะใส่อะไรมาให้คนดูได้เก็บเกี่ยวเยอะพอสมควร แต่ถ้าหากจะแบ่งออกเป็นสองสามส่วนหลักๆ แง่มุมแรกที่เปล่งประกายเฉิดฉายก็คงเป็นเรื่องของความรักและการลุกขึ้นยืนหยัดพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรักนั้น ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรักนั้นคือพลังอย่างสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้คนหนึ่งคนอัปตนเองขึ้นมา ดังที่เราจะเห็นว่า โนบิตะนั้นมีความปรารถนาต่อสาวน้อยชิสุกะอย่างล้นเหลือ แต่ด้วยความที่เป็นไอ้ขี้แพ้มาตลอด ทำให้ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของเขาล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งการเดินทางมาถึงของเพื่อนจากโลกอนาคตอย่างโดราเอมอน เนื้อหาในส่วนของมิตรภาพก็โค้งรับกับประเด็นความรักได้อย่างลงตัว เพราะเหตุว่า เพื่อนแท้อย่างโดราเอมอนนี่เองที่ทำให้โนบิตะได้เข้าใกล้กับความหมายของการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อคนที่ตนรัก

ชื่อย่อยของเรื่องอย่าง “สแตนด์ บาย มี” (Stand by Me) ความหมายก็สื่อความอย่างตรงไปตรงมา เพราะทันทีที่ได้ยินคำคำนี้ ไม่ว่าในที่ไหนๆ ไม่ว่าจะในบทเพลงของจอห์น เลนนอน หรือชื่อบทประพันธ์ของสตีเฟ่น คิง (ซึ่งถูกนำไปทำเป็นหนังที่ดังมากๆ เมื่อปี 1986 โดยผู้กำกับร็อบ ไรเนอร์) มาจนถึงสแตนด์ บาย มี ของโดราเอมอน ทั้งหมดทั้งมวลก็ล้วนแต่สื่อให้เห็นถึงความหมายของคำว่าเพื่อนหรือมิตรภาพ เราอาจไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป แต่ ณ ขณะหนึ่งขณะนั้น คำว่าเพื่อนแท้นั้นเกิดขึ้นจริง

รวมความแล้ว โดราเอมอน สแตนด์ บาย มี นำพาตัวเองไปถึงเป้าหมายปลายทางได้อย่างหมดจดงดงาม และในระหว่างทางก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นและรื่นรมย์ เรื่องราวความรัก มิตรภาพ เอิบอาบอิ่มใจให้ได้ซึ้งกันถ้วนทั่วสมบูรณ์ และเมื่อเมียงมองไปยังฝั่งของผู้กำกับ “ทาคาชิ ยามาซากิ” ที่มักจะสื่อเรื่องราวเชิงเชิดชู Human Spirit หรือจิตวิญญาณแห่งการเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมจำนน ก็แม่นยำในการใส่ประเด็นเช่นที่ว่านั้นลงไปในงานชิ้นนี้

ผมชอบฉากสั้นๆ ฉากหนึ่งซึ่งพ่อของชิกุสะพูดกับเธอ และพูดถึงความรักในแบบที่คนเป็นพ่อเป็นแม่เท่านั้นจะรู้สึกได้ถึงความรักแบบนั้น ผมชอบที่หนังพูดเรื่องความรักคือพลัง เปลี่ยนแปลงคนได้ และผมก็ชอบที่หนังพูดเรื่องของมนุษย์ ที่บ่อยครั้งก็ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อฉุดตัวเองขึ้นมาจากหล่มหลุมต่ำต้อย และบางที เมื่อทำได้แบบนี้ ชีวิตที่เคยรอคอยว่าจะมีสิ่งวิเศษมหัศจรรย์มาอุ้มชู ก็อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

กระเป๋าวิเศษของโดราเอมอน เป็นความรู้สึกนึกฝันอันงดงาม
แต่ความพยายามของคนแต่ละคน คือความจริงที่น่าชมเชย...




ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น