xs
xsm
sm
md
lg

เหนื่อยเปล่า “ไทยแลนด์” !? หรือชาตินี้จะไม่มีหวังมงกุฎ “มิสเวิลด์”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เมญ่า” นนธวรรณ ทำดีที่สุดรอบ 11 คนสุดท้าย
เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการประกวด “มิสเวิลด์” พร้อมกับความผิดหวังของแฟนนางงามไทย จนเริ่มมีเสียงบ่นด้วยความเซ็งกันออกมาแล้วว่าชาตินี้สาวไทยคงไม่มีหวังสำหรับตำแหน่ง “มิสเวิลด์”

“เมญ่า” นนธวรรณ ทองเหล็ง เดินทางไปประกวด มิสเวิลด์ ที่ประเทศอังกฤษด้วยความหวังของคนไทยชนิดสูงลิ่ว ก่อนจะเข้าไปถึงรอบ 11 คนสุดท้ายด้วยเสียงโหวตของชาวเน็ต จนได้ตำแหน่ง People's Choice ที่ทำให้เข้ารอบไปโดยอัตโนมัติ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถเผ่าเข้าไปยืนเป็น 5 คนสุดท้ายอย่างที่ทุกๆ คนหวังได้

แม้จะทำผลงานได้ดีจนเข้ารอบ 11 คนสุดท้ายแต่ชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ติดตามการประกวดอย่างใกล้ชิด ก็ยังแสดงความผิดหวังออกมาอยู่ดี ทั้งกับการที่ เมญ่า พลาดการเข้ารอบ 25 คนสุดท้ายอย่างขัดสายตา นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงกติกาจากปีก่อนที่ผู้ได้ตำแหน่ง People's Choice จะได้เข้ารอบไปสมทบกับสาวงาม 5 คนสุดท้าย แต่ในปีนี้ที่ เมญ่า ได้ตำแหน่งกลับเปลี่ยนให้ People's Choice เข้าไปพร้อมกับ 10 คนสุดท้ายแทน

ซึ่งความ “ไม่สมเหตุสมผล” หลายๆ อย่างของการประกวดของทั้งปีนี้ และปีก่อนทั้งผลที่ค้านสายตา และการเปลี่ยนกติกาจำนวนผู้เข้ารอบ จนแทบจะไม่เหมือนกันซักปี จนทำให้เกิดความสับสนมาตลอด ได้ทำให้ มิสเวิลด์ ต้องตกเป็นที่วิจารณ์อีกครั้ง นอกจากนั้น และผู้ชมบางส่วนก็ยิ่งรู้สึกว่าการประกวดเวทีนี้ “ไม่น่าเชื่อถือขึ้นเรื่อยๆ”

ย้อนรอยสาวไทยบนเวที “มิสเวิลด์”

มิสเวิลด์ ได้ชื่อว่าเป็นเวทีประกวดความงามที่สำคัญที่สุดของโลก เทียบเท่ากับ “นางงามจักรวาล” ซึ่งประเทศไทยเริ่มส่งสาวงามไปประกวด มิสเวิลด์ เป็นครั้งแรกในปี 1985 (2528) พร้อมกับการจัดประกวด “มิสเวิลด์ไทยแลนด์เวิลด์” ซึ่งก็อย่างที่รู้กันยังไม่เคยมีสาวไทยคว้ามงกุฎในการประกวดเวทีนี้ได้แต่อย่างใด

โดย ปานเลขา ว่านม่วง เป็นสาวไทยคนแรกที่ไปขึ้นเวทีประกวด มิสเวิลด์ ส่วน “เฮเลน ปทุมรัตน์” และ “ แทน ธัญญา” คือ 2 คนที่ไปได้ไกลที่สุดบนเวทีนี้ ด้วยการคว้าตำแหน่งรองอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ นอกจากนั้นก็ยังมีตัวแทนไทยที่คว้ารางวัล เข้ารอบได้บ้างประปราย

1989: เฮเลน ปทุมรัตน์ วรมาลี - รองอันดับ 3, Continental Queen of Asia
1992: ลูกเกด เมทินี กิ่งโพยม - Continental Queen of Asia & Oceania
1997: แทน ธัญญา สื่อสันติสุข - รองอันดับ 4, นางงามมิตรภาพ
2010: หนูสิ สิริรัตน เรืองศรี - ข้ารอบ 25 คนสุดท้าย
2011: จูลี่ พัชริดา รอดคงคา - เข้ารอบ 31 คนสุดท้าย
2014: เมญ่า นนธวรรณ ทองเหล็ง - เข้ารอบ 11 คนสุดท้าย, People's Choice


เรียกว่าแม้จะเข้ารอบลึกๆ ได้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เคยมีสาวไทยคนใดคว้ามงกุฎของเวทีนี้ได้เลย

มนุษย์ป้า “จูเลียร์ มอร์ลีย์” ผู้ชี้ขาดตำแหน่ง “มิสเวิลด์”

ซึ่งเมื่อใดที่เกิดเสียงวิจารณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับผลการตัดสินตำแหน่ง “มิสเวิลด์” ชื่อของ “จูเลียร์ มอร์ลีย” เจ้าของตำแหน่งประธานบริหารของเวทีประกวดสถาบันนี้ก็จะถูกพูดถึงทุกครั้งเสมอ เพราะแม้เธอจะไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการตัดสินหรือให้คะแนนสาวงาม แต่หลายๆ คนก็เชื่อว่าเธอนี่แหละคือคนชี้ขาดผู้คว้ามงกุฏตัวจริง

จูเลียร์ มอร์ลีย ชาวอังกฤษ เคยทำงานเป็นนางแบบก่อนจะได้แต่งงานกับ อีริค มอร์ลีย นักธุรกิจเจ้าของแดนซ์ฮอลล์ Mecca Dancing ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการประกวด มิสเวิลด์ ขึ้นเมื่อปี 1951 ซึ่งเมื่อสามีเสียชีวิตเมื่อปี 2000 จูเลียร์ มอร์ลีย จึงได้โอกาสเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานของการประกวดแทน หลังจากช่วยงานมาตั้งแต่ยุค 60s แล้ว

หญิงชาวอังกฤษวัย 74 ปี บอกว่าตอนที่เริ่มเข้ามาทำงานกับกองประกวดมิสเวิลด์หลังแต่งงานกับ อีริค มอร์ลีย เธอเป็นแค่แม่บ้านที่แทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับธุรกิจเลย แต่ก็คิดว่าการประกวดที่ให้ผู้หญิงมาสวมชุดว่ายน้ำเดินหันหน้าหันหลัง ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พอเพียง จึงพยายามเริ่มนำเสนอแนวคิดที่ต่อมากลายเป็นคำขวัญประจำการประกวดที่ว่า “งามอย่างมีคุณค่า” ขึ้นมา (Beauty with a Purpose) และยังเน้นให้ มิสเวิลด์ เป็นการประกวดที่ส่งเสริมกิจกรรมการกุศลเป็นหลัก ซึ่ง มอร์ลีย์ ก็อ้างว่าเธอสามารถเรี่ยไรเงินในตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้ถึง 300 ล้านปอนด์เลยทีเดียว

แม้จะเป็นองค์กรที่ใหญ่มากไปแล้ว จูเลียร์ มอร์ลีย์ ก็ยอมรับว่าเธออยากจะให้การบริหารงาน มิสเวิลด์ อยู่ในรูปแบบเรียบง่ายเล็กๆ กะทัดรัดมากกว่า

“ฉันไม่ชอบให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่ๆ อะไรแบบนั้น เพราะมันทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรอย่างยืดหยุ่นได้” มอร์ลีย์ กล่าวยอมรับในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง พร้อมอ้างว่าตอนนี้เธอเป็นคนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของ มิสเวิลด์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีกรรมการบริหาร หรืออะไรที่อาจจะทำให้เกิดเรื่องไร้สาระขึ้นได้ง่ายๆ มอร์ลีย์ จึงเลือกที่จะบริหารงานทั้งหมดผ่านทีมเล็กๆ ที่คล่องตัวของเธอมากกว่า

จอมสร้างกระแส

นอกจากนั้นตลอดมาการบริหาร มิสเวิลด์ ของ จูเลียร์ มอร์ลีย์ กลับก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักเสมอมา

นอกจากประเด็นการเลือกผู้คว้ามงกุฎโดยอิงเรื่องธุรกิจ และการเมืองเป็หลักแล้ว มิสเวิลด์ ยังต้องตกเป็นที่วิจารณ์เกี่ยวกับการเลือกประเทศสำหรับการจัดประกวดที่มีโอกาสทำให้เกิดความอื้อฉาวขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นไม่ว่าจะเป็นการเลือกให้เมืองอบูจา ไนจีเรีย เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2002 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จนเกิดการประท้วงอย่างหนัก ถึงขั้นสุดท้ายกองประกวดต้องเหมาเครื่องบินเพื่อขนผู้เข้าประกวดหนีออกจากไนจีเรีย และเปลี่ยนไปจัดการประกวดที่อังกฤษแทน

ส่วนในปี 2012 มิสเวิลด์ก็เลือกกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของ อินโดนีเซีย ประเทศมุสลิมให้เป็นเจ้าภาพ จนเกิดการประท้วงอย่างใหญ่โตขึ้นในท้องถนนของกรุงจาการ์ตา สุดท้ายการประกวดจึงต้องย้ายกันไปจัดที่บาหลี เมืองท่องเที่ยว และในปี 2015 มิสเวิลด์ ก็จะขอกลับไปจัดประกวดกันที่บาหลีอีกครั้ง ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงมาก ว่าจะทำให้เกิดกระแสประท้วงขึ้นมาอีก

“ไทยแลนด์” ตลาดเล็ก-โอกาสน้อย

มิสเวิลด์ ภายใต้การนำของ จูเลียร์ มอร์ลีย์ ยังถูกวิจารณ์ว่าตัดสินการประกวดโดยอิงเรื่องธุรกิจเป็นหลักจนแทบจะทำลายความน่าเชื่อถือของการประกวด และสร้างความเบื่อหน่ายให้กับกองเชียร์ของประเทศต่างๆ อยู่เสมอ

โดยที่แล้วมาตัวแทนจากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตลาดหลัก” ก็มักจะได้ครองตำแหน่งสำคัญๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ที่ปีนี้ก็ยังเข้าถึงรอบ 5 คนสุดท้ายได้ แม้จะโดนวิจารณ์ว่าไม่ได้มีความเหมาะสมเลยก็ตาม, ส่วนจีนที่เป็นเจ้าภาพการประกวดถึง 7 ครั้ง (ทั้งรอบสุดท้าย และรอบอื่นๆ) ก็คว้ามงกุฏมิสเวิลด์ได้ถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปีหลัง โดยทั้งสองครั้งก็ยังเป็นการจัดประกวดที่จีนทั้งคู่ด้วย

หรือแม้แต่ แอฟริกาใต้ ที่เป็นเจ้าของตำแหน่งครั้งล่าสุด ก็ได้ชื่อว่าเป็นตลาดสำคัญของมิสเวิลด์เช่นเดียวกัน เพราะ มิสเวิลด์ เคยใช้แอฟริกาใต้เป็นสถานที่จัดการประกวดมาถึง 7 ครั้งเช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ตลาดสำคัญสำคัญสำหรับ “มิสเวิลด์” แถมกระแสธุรกิจประกวดสาวงามในประเทศก็ไม่ใช่ยุครุ่งเรืองเหมือนเพื่อนบ้านอย่าง “ฟิลิปปินส์” ที่เพิ่งจะคว้าตำแหน่งไปเมื่อปีก่อน นอกจากนั้นยังไม่เคยมีบริษัทไทยไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับการประกวด หรือทำธุรกิจร่วมกับองค์กรผู้จัด “มิสเวิลด์” มาก่อน จึงพูดได้ว่าโอกาสของ “ไทยแลนด์” บนเวทีนี้จริงนับว่าน้อยจริงๆ

…. แน่นอนว่าผู้ชมการประกวดความงามส่วนใหญ่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงนี้ แต่การตัดสิน และขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากขึ้นในทุกๆ ปี ก็เริ่มจะทำให้ผู้ชมเริ่ม “หมดสนุก” กับ “มิสเวิลด์” ไปเรื่อยๆ



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

แฟนๆ เห็นใจ “เมญ่า” ไม่ผ่านกระทั่งรอบ 25 คน ก่อนจะเข้ารอบ 11 คนด้วยเสียงโหวต
สาวงามตัวแทนอังกฤษที่เข้าไปถึงรอบ 5 คนสุดท้าย
“จูเลียร์ มอร์ลีย์”ผู้ชี้ขาดตำแหน่ง “มิสเวิลด์”?
ท่าทางของ “จูเลียร์ มอร์ลีย์” หลัง “เมญ่า” ซึ่งต่อมามีผู้อธิบายว่าเธอพยายามสั่งงานทีมงานเกี่ยวกับขั้นตอนของการประกวดเท่านั้น
สาวจีน เจ้าของมิสเวิลด์ เมื่อปี 2012 ในการประกวดที่จีนแผ่นดินใหญ่
“มิสเวิลด์”ไม่เคยกลัวความอื้อฉาว ทั้งการประกวดที่ไนจีเรียเมื่อปี 2002 และอินโดนีเซียเมื่อปีก่อน ที่ถูกกลุ่มเคร่งศาสนาในประเทศดังกล่าวประท้วงต่อต้านการประกวดอย่างหนัก
เจ้าของตำแหน่งประจำปีนี้ที่หลายฝ่ายก็มองว่าเหมาะสมดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า แอฟริกาใต้ คือตลาดใหญ่ของ มิสเวิลด์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น